มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

พิธีกรรมสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์

พิธีกรรมสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์

สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์เป็นช่วงเวลา 1 สัปดาห์ก่อนวันสมโภชปัสกา ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ พระศาสนจักรเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกการไถ่กู้ที่พระคริสตเจ้าทรงปฏิบัติในวันสุดท้ายที่ทรงพระชนม์อยู่ในโลกนี้ เริ่มตั้งแต่การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า (วันอาทิตย์ (ใบลาน) พระทรมานของพระเยซูเจ้า ตรงกับสัปดาห์ที่ 6 ของเทศกาลมหาพรต)

     จะเห็นได้ว่าวันอาทิตย์ (ใบลาน) พระทรมานของพระเยซูเจ้าซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์จนถึงวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ยังอยู่ในเทศกาลมหาพรต ส่วนมิสซาเย็นของวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ซึ่งระลึกถึงการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ พิธีตื่นเฝ้าปัสกาในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ไปจนถึงทำวัตรเย็นของวันอาทิตย์ปัสกาเป็นตรีวารปัสกา

     สิ่งที่พระศาสนจักรเน้นในการฉลองพิธีกรรมในวันอาทิตย์ (ใบลาน) พระทรมานของพระเยซูเจ้า คือ การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า (บทนำของพระทรมาน และภาพล่วงหน้าของการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า) และพระทรมานของพระคริสตเจ้า

     การแห่ใบลาน เป็นการแสดงว่าเรารับพระเยซูเจ้าเป็นกษัตริย์ของเรา และเราพร้อมที่จะร่วมการถวายบูชาของพระองค์บนไม้กางเขนในพิธีมิสซา ใบลานเป็นสิ่งคล้ายศีล ไม่ใช่เครื่องรางที่มีอำนาจในตัวเอง แต่การที่คริสตชนเก็บใบลานไว้ที่บ้าน เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อในพระเยซูเจ้า กษัตริย์และพระเมสสิยาห์ และในชัยชนะปัสกาของพระองค์

     พระเยซูเจ้าทรงเป็นสันติราชา และไม้กางเขนเป็นพระบัลลังก์ที่พระองค์ทรงใช้ในการปกครองโลก ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการอ่านพระทรมานเป็นส่วนที่สำคัญของพิธีกรรมในวันนี้ และเป็นที่มาของชื่อของวันอาทิตย์นี้ คือ วันอาทิตย์พระทรมานของพระคริสตเจ้า ภาพของการฉลองในพิธีกรรมวันนี้ แม้จะเน้นที่พระทรมาน แต่ก็เป็นพระทรมานที่นำไปสู่การกลับคืนพระชนมชีพ คือ ชัยชนะของพระเยซูเจ้าในฐานะกษัตริย์ ผู้ปกครองในดวงใจของเราคริสตชนทุกคน

     พิธีกรรมของวันจันทร์ อังคาร พุธในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายอย่างมาก เพราะทำให้เราเห็นภาพของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเชื่อฟังพระบิดาเจ้า ทรงยอมรับความทุกข์ทรมาน สิ้นพระชนม์ และจะทรงได้รับชัยชนะในที่สุด ดังนั้นธรรมล้ำลึกแห่งพระทรมาน และการยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน โดยเฉพาะเหตุการณ์ก่อนพระทรมาน จึงเป็นศูนย์กลางของการรำพึงของคริสตชนตลอด 3 วันนี้


     ในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ตอนเช้ามีมิสซาและพิธีเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ 3 ชนิด คือ น้ำมันคริสมา น้ำมันสำหรับคนไข้ และน้ำมันสำหรับผู้เตรียมเป็นคริสตชน การเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศีลมหาสนิทกับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ (มีศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องใช้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธี ได้แก่ ศีลล้างบาป ศีลกำลัง ศีลบวช และศีลเจิมคนไข้) และพิธีกรรมยังเน้นที่การเป็นสงฆ์สูงสุดของพระเยซูเจ้า และให้ความหมายของศีลบวชว่าเป็นของประทานจากความรักของพระเยซูเจ้า และเพื่อรับใช้พระศาสนจักรด้วยการอุทิศตนตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า ในพิธีกรรมจึงมีการรื้อฟื้นคำสัญญาของพระสงฆ์ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงความเป็นสงฆ์แห่งศีลล้างบาปของประชากรพระเจ้าด้วย

     ตรีวารปัสกา ถือเป็นหัวใจของปีพิธีกรรม ตรีวารปัสกาเป็นการฉลองปัสกาประจำปี ธรรมล้ำลึกปัสกาหมายถึง “พระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า” โดยใช้เวลาสามวัน

     การตั้งศีลมหาสนิท (วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์) เป็นการล่วงหน้าถึงการฉลองปัสกา พระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของปัสกาของพระเยซูเจ้า (วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งสมบูรณ์ด้วยการกลับคืนชีพของพระองค์ (มิสซาตื่นเฝ้าในคืนวันเสาร์และมิสซาสมโภชปัสกาในวันอาทิตย์) จึงขอเชิญชวนพี่น้องทุกท่านมาร่วมพิธีกรรมตรีวารปัสกาทุกวัน และขออธิบายพิธีกรรมแต่ละวันโดยสรุปดังนี้ ครับ

     ธรรมล้ำลึกที่ฉลองในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ คือ การตั้งศีลมหาสนิท การตั้งศีลบวช และพระบัญชาของพระคริสตเจ้าให้เรารักกันและกัน ในการตั้งศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าทรงตรัสว่า “จงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” ซึ่งให้ความหมาย 2 ประการแก่เรา คือ 1. การปฏิบัติตามแบบอย่างชีวิตที่รักและเสียสละของพระองค์ และ 2. การที่พระองค์ทรงมอบพิธีมิสซาเพื่อเราจะได้ฉลองธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์ พิธีล้างเท้าทำให้เราเข้าใจคำสอนของพระองค์เรื่องความรักและการรับใช้ได้เป็นรูปธรรม และความรักนี้ยังสามารถทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นได้จากการแห่เครื่องบูชาของพี่น้อง นอกจากปังและเหล้าองุ่นที่พี่น้องจะนำมาถวายแล้ว เราอาจรวบรวมเงินที่อดออมในเทศกาลมหาพรต เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบูชาเพื่อร่วมส่วนในบูชาแห่งรักของพระเยซูเจ้า และเพื่อใช้ในกิจการแห่งความรักต่อเพื่อนพี่น้องผู้ยากไร้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย

     หลังจากบทภาวนาหลังรับศีล จะมีการแห่ศีลมหาสนิทไปยังที่พักศีล และการเฝ้าศีลมหาสนิท เป็นโอกาสที่พี่น้องจะได้รำพึงถึงความรักของพระเยซูเจ้าผู้ประทับอยู่ในศีลมหาสนิท และร่วมส่วนกับพระทรมานของพระองค์ เปรียบเหมือนพี่น้องเป็นศิษย์ที่ตื่นเฝ้าและภาวนาอยู่ในสวนเกทเสมานีกับพระองค์

     วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ระลึกถึงพระทรมานของพระเยซูเจ้า วันนี้ไม่มีพิธีมิสซา โครงสร้างของพิธีกรรมวันนี้แบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ 1. ภาควจนพิธีกรรม ซึ่งเน้นที่การประกาศพระทรมาน (จากบทอ่านและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น) การรำพึงถึงพระทรมาน และการภาวนาวอนขอให้ผลของพระทรมานบังเกิดผลแก่มนุษย์ทุกคน (บทภาวนาเพื่อมวลชน) 2. ภาคนมัสการกางเขน เป็นการนมัสการองค์พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน ผู้ทรงรักเรา จนถึงกับมอบชีวิตของพระองค์เพื่อกอบกู้พวกเราให้พ้นจากบาป 3. การรับศีลมหาสนิท ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า และเจริญชีวิตบนทางกางเขนที่พระองค์เป็นแบบอย่างแก่เรา

     ข้อสังเกต การเดินรูป 14 ภาค เป็นกิจศรัทธาที่ดีที่พระศาสนจักรสนับสนุน แต่สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธีกรรมระลึกถึงพระทรมานของพระคริสตเจ้า ดังนั้นการกำหนดเวลาต้องแสดงให้เห็นว่า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์มีความสำคัญมากกว่าการเดินรูป และวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นวันชดเชยใช้โทษบาปโดยบังคับทั่วพระศาสนจักร โดยการอดเนื้อและจำศีลอดอาหาร และไม่มีการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นใดในวันนี้ นอกจากศีลอภัยบาป ศีลเจิมคนไข้และศีลเสบียง ถ้ามีพิธีฝังศพต้องทำโดยไม่มีการขับร้อง และไม่มีการตีระฆัง

     วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูเจ้าถูกฝังไว้ในคูหา ในวันนี้พระศาสนจักรรำพึงถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ทรงอยู่ในพระคูหา และเสด็จลงไปยังแดนผู้ตาย ไม่มีพิธีมิสซา และพี่น้องสามารถอดอาหารเพื่อเตรียมสมโภชปัสกาตามที่พระศาสนจักรแนะนำ

     คืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ พิธีตื่นเฝ้าปัสกา พิธีกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย 4 ภาค คือ 1. พิธีแสงสว่าง เสกไฟ เตรียมเทียนปัสกา แห่เทียนปัสกา และประกาศสมโภชปัสกา ซึ่งให้ความหมายว่า พระคริสตเจ้าทรงเป็นความสว่างที่มาทำลายความมืดของบาปและความตาย 2. ภาควจนพิธีกรรม โดยการอ่านพระวาจาของพระเจ้า เป็นการระลึกถึงเหตุการณ์แห่งความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานให้มนุษยชาติในประวัติศาสตร์แห่งความรอด และงานแห่งความรอดพ้นอันเปี่ยมด้วยความรักของพระเจ้านี้ สำเร็จโดยอาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า 3. การเสกน้ำ พีธีศีลล้างบาป และการรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งศีลล้างบาป ชี้ให้เห็นว่าโดยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เราได้รับชีวิตใหม่ที่พระเจ้าประทานให้ (โดยศีลล้างบาป) 4. ภาคศีลมหาสนิท ชี้ให้เห็นว่าชีวิตใหม่ที่พระคริสตเจ้าประทานให้มุ่งไปสู่ความสมบูรณ์ โดยการเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในศีลมหาสนิท

     วันอาทิตย์สมโภชปัสกา พิธีกรรมในวันนี้แสดงถึงความชื่นชมยินดีแห่งการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า สัญลักษณ์สำคัญของเทศกาลปัสกา คือ เทียนปัสกาซึ่งหมายถึงพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ จะตั้งอยู่ใกล้แท่น หรือ บรรณฐาน เฉพาะในเทศกาลปัสกา หลังจากจบเทศกาลปัสกา (วันสมโภชพระจิตเจ้า) เทียนปัสกาจะถูกเก็บไว้อย่างมีเกียรติในที่โปรดศีลล้างบาป และจุดเทียนของผู้รับศีลล้างบาปจากเทียนปัสกานี้ด้วย ในพิธีศพก็ควรตั้งเทียนปัสกาไว้ใกล้กับหีบศพ เป็นการแสดงว่าความตายของคริสตชนเป็น “ปัสกา” (การผ่านไปรับชีวิตนิรันดร) ของเขาด้วย

 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown