สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน  หลังจากที่ได้ทราบข่าวใหญ่ว่า ทางวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ จะจัดฉลอง 60 ปีพระโต   ผมได้มองปฏิทิน และจดบันทึกว่า วันนี้ 7-8 มีนาคม ค.ศ. 2009 นี้ เรามีนัดสำคัญ จะมา่ร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณพระเป็นเจ้า โอกาส ฉลองความเชื่อ ความศรัทธา ของชุมชนคริสตชนบ้านญวน ที่มีต่อพระโต ( รูปพระเยซูเจ้ารักษาคนตาบอด ) วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน ครับ

ถามใคร ใครก็รู้จัก วัดญวนแห่งนี้ จากการอ่านประวัติ บ้านญวนสามเสน : ชุมชนนักต่อสู้
(  ฐานข้อมูล ชุมชนหัตถกรรม แหล่งเก็บข้อมูล ฝ่ายสารนิเทศพิเศษ T) ทำให้รู้ข้อมูลว่า

“ นับแต่แรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ราชธานีแห่งนี้เป็นที่อาศัยคนหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้ง จีน มอญ แขก เขมร ญวน ฯลฯ ชุมชนเหล่านี้ไม่เพียงมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ยังคงมีร่องรอยวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์

ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร มีชุมชนเก่าแก่ของชาวญวนแห่งหนึ่งที่รู้จักกันในนาม บ้านญวนสามเสน บ้านญวนแห่งนี้อยู่มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ดังปรากฏในนิราศพระบาท ของสุนทรภู่ ซึ่งกล่าวถึงสภาพของบ้านญวนไว้ว่า

“ถึงบ้านญวน ล้วนแต่โรงแลสะพรั่ง
มีข้องขังกุ้งปลาไว้ค้าขาย
ตรงหน้าโรงโพรงพางเขาวางราย
พวกหญิงชายพร้อมเพียงมาเมียงมอง”

จากกลอนบทนี้ทำให้ทราบว่าชาวญวนสมัยก่อนมีอาชีพทำประมง จับสัตว์น้ำมาขาย แต่อาชีพนี้ก็มิได้เป็นอาชีพหลัก ชาวญวนโดยมากรับราชการเป็นทหารปืนใหญ่บ้างก็เป็นช่างฝีมือ ค้าขาย ทำไร่ทำนา

นอกจากนี้ในสมัยก่อนชาวญวนสามเสนยังมีอาชีพต้มกลั่นสุราด้วย อันที่จริงชาวญวนที่นี่ ไม่ใช่กลุ่มแรกที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ชาวญวนใช้เวลาอันยาวนานในการเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย

นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหมู่บ้านญวนที่เกิดจากการอพยพลี้ภัยการเมืองในกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายแห่ง ชาวญวนเหล่านี้เข้ารับราชการประจำกองทหารปืนใหญ่ กองทหารเรือญวน จนกระทั่งถึงแผ่นดินรันตโกสินทร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีชาวญวนอพยพเข้ามาอีกหลายกลุ่ม บ้างก็อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนที่อยู่ต่างจังหวัดก็มีทั้งที่จังหวัด จันทบุรี ชลบุรี นครปฐม อยุธยา ฯลฯ บ้านญวนแห่งแรกบนเกาะรัตนโกสินทร์ คือบ้านญวนในแถบท่าเตียนถึงพาหุรัด เรียกวาญวนฮาเตียน ซึ่งภายหลังเพี้ยนจากฮาเตียนมาเป็น “ท่าเตียน”

ญวนที่พาหุรัดมีความต่อเนื่องมาถึงแผ่นดินรัตนโกสินทร์ คือหลังจาก องเชียงลือ ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารหนีไปกู้ชาติ เนื่องจากชัยภูมิแถวพาหุรัดท่าเตียน สามารถใช้เรือเดินทางออกจากแม่น้ำได้เร็ว พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดให้ญวนที่เหลือย้ายไปอยู่ที่สามเสน ครั้นเมื่อถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 3 มีญวนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีก ญวนเข้ารีตคาทอลิค ทรงโปรดให้ไปอยู่สามเสนเนื่องจากนับถือศาสนาเดียวกัน บ้านญวนสามเสนจึงกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ยังดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน

คนเฒ่าคนแก่ที่นี่เล่าว่า แต่ไหนแต่ไรมาชาวญวนได้ชื่อว่าเป็นทหารที่มีฝีมือและกล้าหาญ ช่วยทำการสู้รบป้องกันประเทศหลายครั้ง ทุกคนล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยและแผ่นดินไทย สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยังเหลืออยู่ในชุมชน และเป็นสัญลักษณ์แห่งศรัทธาของคนญวนสามเสนก็คือ วั ดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ วัดของนักบุญ ฟรังซิสเซเวียร

เมื่อแรกสร้าง โบสถ์แห่งนี้ทำด้วยไม้ไผ่เป็นการชั่วคราว ภายหลังด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านจึงได้สร้างขึ้นใหม่อย่างสวยงาม  (
ประวัติวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน )

ปัจจุบันชาวญวนสามเสน ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปมากแล้ว มีการแต่งงานกับคนต่างชุมชน เหมือนกับคนชาติพันธุ์อื่นๆ จนไม่ สามารถที่จะแบ่งได้ชัดว่าเป็นญวน เป็นจีน หรือเป็นไทย
แต่สิ่งที่ทำให้คนทั่วไปยังคงรู้จักบ้านญวนสามเสน ก็คือ “แหนมเนือง” อาหารพื้นบ้านของคนญวนนั่นเอง สำหรับภาษาญวน ซึ่งถือเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เด่นชัดที่สุด ทุกวันนี้มีเพียงผู้สูงอายุไม่กี่คนเท่านั้นที่ยังคงพูดได้ เนื่องจากนโยบายกลืนชาติในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่รัฐบาลได้ นำลัทธิชาตินิยมมาใช้กับชาวญวน มีการห้ามไม่ให้เปิดโรงเรียนสอนภาษาญวน ห้ามไม่ให้ใช้บทสวดภาษาญวน หรืออย่างน้อยไม่ให้เขียนด้วยภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทย จนต้องมีการใช้ภาษาไทยถอดสำเนียงญวน และในที่สุดภาษาญวนก็ถูกกลืนหายไปเช่นเดียวกับเอกลักษณ์ของชุมชนญวนอีกหลายอย่าง  ( ต้ิองขอขอบคุณข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จาก สำนักวิทยบริการ สถาบันราชภัฎสวนสุนันทาครับ)

และ สิ่งที่ควบคู่กับชุมชนวัดญวนแห่งนี้ ก็คือ
รูปพระโต ( พระเยซูเจ้ารักษาคนตาบอด ) ที่มีความหวัง และความเชื่อ ของวิถีคนในชุมชนวัดผสมผสาน กับการวอนขอด้วยความศรัทธา ผ่านรูปปั้นรูปนี้  ( ประวัติพระโต ) จากเสียงของผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการสภาอภิบาล วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์   ท่านได้เขียนประโยคหนึ่งที่ทำให้ผมประทับใจ ก็คือ “พระโตเปรียบได้ว่าเป็นพระรูปคู่วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ หลายคนขอพรพระโตมากกว่าขอนักบุญองค์อุปถัมภ์ของวัด ทุกบ้านจะเคยได้เข้ามากราบขอพรพระโต โดยเฉพาะนักเรียน ต่างๆเช่น จากโรงเรียนโยนออฟอาร์ค โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซีสซาเวียร์ และเซ็นต์คาเบรียล จะเข้ามาขอพระพรให้สอบได้ ทั้งมัธยม และม ปลาย หลายคนขอเรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย หลายคนขอตำแหน่ง ขอให้รักษาโรคภัย ขอสุขภาพที่ดี ขอให้ครอบครัวรักกัน ขอให้ลูกให้หลาน และทุกคนจะได้รับเสมอ

ท่านบอกว่า “
ศาสนาคาทอลิกมิได้สอนให้ “รอ หรือ พึ่งอัศจรรย์” แต่ทุกวันนี้ “พระรูปพระโต” ได้สอนและรักษาบรรดาพี่น้องต่างๆมิใช่เฉพาะคริสตชนคาทอลิกเท่านั้น โดยเขาทั้งหลายได้ “ขอและเชื่อ” ว่า พระเยซูเจ้าจะทรงรักษาให้เขาทั้งหลายให้หายได้  พระเยซูเจ้า ทรงรักษาทุกคนด้วยความเชื่อ ดังนั้นผู้ที่ได้รับพระพร คือผู้ที่มีความเชื่อ  นี่แแหละครับเป็นประโยคเด็ด ที่ผมอยากจะบอกทุกท่านที่จะมาร่วมงานฉลอง 60 ปี พระโต “พระเยซูเจ้าทรงรักษาทุกคนด้วยความเชื่อครับ”

มาฉลอง 60 ปี พระโตแล้ว ก็อย่าลืมซื้อของฝากติดไม้ติดมือ กลับบ้านนะครับ อุดหนุน คนในชุมชนให้มีอาชีพครับ   อาหารขึ้นชื่อเวลามาแถวนี้ก็ได้แก่ นี่เลย อาหารญวณ เป็นต้น “แหนมเนือง “ ซึ่งเราหาทานได้จากร้านของป้าเก๋ และอาหารเวียดนาม ญวณ จากร้านคุณอรวรรณ ( ไม่ได้ค่าโปรโมทอะไรหรอกนะครับ เพียงแต่บอกต่อ ๆ กันไป ) ซึ่งก็เดินมาไม่ห่างจากวัดเท่าไหร่ เห็นมุมสี่แยก ก็ใช่เลยครับ

แถมด้วยขนมอร่อย ที่พลาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ บัวลอยญวณ อร่อยสมชื่อต้นตำรับเลย ใครผ่านไปก็เชื้อเชิญให้ไปลองทานกัน และขนมอร่อยใกล้่ๆ กันที่คนแถวนี้เขาบอกผม อีกอย่างคือขนมคอฟฟี้เค๊กและขนมฝอยทองของสวนดุสิต อร่อยไม่แพ้กัน ส่วนไส้กรอกวุ้นเส้น หรือ แม้แต่ หมูทอด และ ข้าวเหนียวมหัศจรรย์ก็มี น่าทาน และอร่อยมากครับ อยู่ใกล้ๆ วัด  ถามคนแถวนั้น ก็รู้จักกันดีครับ ( ได้ทำบุญ อิ่มใจ แล้วก็ อิ่มท้องบ้าง ดีจริง ๆครับ )

ส่วนการเดินทางก็มาได้หลายเส้นทางครับ ไม่ว่จะเป็นทางรถ หรือ แม้แต่ทางเรือ การเดินทางด้วยเรือ ก็ไม่ยากอย่างที่คิด แม้จะลงตรงฝั่งตรงข้ามกับวัด ก็ให้ลงตรงท่าสะพานกรุงธน หรือ ท่าซังฮี้  เดินขึ้นมาอีกเล็กน้อย แล้วร อรถสาย สาย 56 ,18 , 28 , 108 , ปอ 16 พอลงสะพานแล้วให้ลงตรงป้ายแรกแล้วให้ข้ามสะพานลอยมาเข้าซอยไชยยศ สังเกตดูว่า ตรงนั้นจะมีธนาคารกรุงเทพฯ เดินเข้ามาถามเขาก็ได้ว่าวัดสามเสนตรงไหน แต่สังเกตได้ชัด ๆ ก็เป็นโรงเรียนโยนออฟอาร์ค หรือ โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์คอนแวนต์ ซึ่งก็วัดสามเสนตั้งอยู่ตรงกลาง สังเกตกันง่ายๆ

ถ้ามาด้วยรถยนต์ส่วนตัว ก็เข้าซอย ก่อนถึงโรงเรียนเซนต์คาเบรียลครับ สังเกตง่าย ๆ จะเป็น เซเว่น หน้าปากซอยครับ

พูดกันมาแบบยืดยาว ที่จริงก็อยากจะเชิญทุกท่าน มาร่วมฉลองพระโตกัน หล่ะครับ ก็หวังว่า เราจะช่วยกันประชาสัมพันธ์ ให้มากันมาก ๆ นะครับ มีฉลอง 2 วันนะครับ วันเสาร์ และวันอาทิตย์

วันเสาร์ที่ 7 มีนาึคม 2009 นั้นเป็นการฉลองภายใน โดยมีพระคุณเจ้าฟรังซิสซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ ( ลูกวัด ) เป็นประธานในพิธี และเป็นการฉลองตามธรรมดา กล่าวคือเป็นงานวันเสาร์ที่วัดได้ฉลองมาทุกปี และจะเพิ่มการเลี้ยงข้าวต้ม หลังมิสซา 19:00 น

ส่วนวันอาทิตย์ คุณพ่อประทีป กีรติพงศ์ เจ้าอาวาส และคณะกรรมการการจัดงาน ฯ พร้อมด้วยสภาอภิบาล ฯ ได้เชิญพระคุณเจ้า พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พระอัครสังฆราช แห่งอัครสังฆมณฑล กรุงเทพ มาเป็นประธานในมิสซาขอบพระคุณในการฉลองพระรูป 60 ปี  วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม 2009   เวลา 10.00 น. และหลังมิสซาจะมีการแห่พระรูปไปรอบวัด และเลี้ยงอาหารเหมือน กับการฉลองวัด ด้วย จึงได้เชิญชวนพี่น้องคริสตชนต่างๆ มาร่วมงาน พร้อมขอบพระคุณและขอพระพร ด้วย อ้อ และหากท่านใดไม่สามารถมาได้จริง ๆ  ก็อย่าลืมติตามรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางเว็บไซต์ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้นะครับ www.catholic.or.th ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไปครับ

วัีนนี้ บ้านญวนชวนคุย ก็ขอให้ทุกท่านได้รับพระพรแห่งความเชื่อ ความหวัง และความรักจากพระโต เสมอ “ ถ้าท่านมาด้วยความเชื่อ ทุกอย่างที่เชื่อ ท่านก็จะได้รับ ตามสิ่งที่ท่านวอนขอครับ ” สวัสดีครับ