วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2018 คุณพ่อเปโตร เชษฐา ไชยเดช พร้อมด้วย คุณพ่อยอแซฟ จินตศักดิ์ ยุชัยสิทธิกุล คุณพ่อเปโตร ธีรพล กอบวิทยากุล คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ สมเกียรติ ตรีนิกร คุณพ่อเปโตร ประยุทธ ศรีเจริญ คุณพ่อเบเนดิก ถนอมศักดิ์ เลื่อนประไพ เป็นประธานพิธีบูชาขอบพระคุณ โอกาสฉลอง 160 ปี การประจักษ์ของแม่พระที่เมืองลูร์ด ณ วัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด บางสะแก โอกาสนี้ ทางวัดได้ร่วมแสดงความยินดี โอกาส 25 ปี ชีวิตสงฆ์ แด่คุณพ่อทั้ง 6 มีสัตบุรุษมาร่วมเป็นจำนวนมาก
บทเทศน์ของคุณพ่อ เชษฐา ไชยเดช
โอกาสฉลองวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด บางสะแก
" 1. ความสำคัญของพิธีมิสซา (พลังของชีวิตคริสตชนอยู่ที่พิธีมิสซา)
- อัศจรรย์เกิดขึ้นในมิสซา เล่าเรื่องที่คุยกับพ่อโมลิ่ง
- ก่อนการประจักษ์แบร์นาเด็ตไปยังที่สบายกว่า (ที่บาร์แตร๊ส กับนางมารี อาราวัง แม่นม) แต่กลับมาที่ cachot เพราะอยากรับศีลมหาสนิท จึงทำให้ได้พบกับการประจักษ์ของแม่พระครั้งแรก เพราะที่บ้านหนาว จึงต้องไปหาฟืนที่ถ้ำมัสซาเบียล
- หลังจากการประจักษ์ครั้งที่ 17 เมื่อวันพุธที่ 7 เมษายน 1858 วันที่ 3 มิถุนายน แบร์นาแด็ตได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก มีคนถามท่านว่า “อะไรทำให้เธอมีความสุขมากกว่ากัน การได้รับศีลมหาสนิท หรือการได้พบแม่พระที่ถ้ำ” ท่านตอบว่า “หนูไม่ทราบ สองอย่างเป็นของคู่กันและจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่หนูทราบดีว่าหนูมีความสุขมากมากยทั้งสองคราวนี้”
- มิสซาเป็นหัวใจของชีวิตคริสตชน เราเฉลิมชุมชนแห่งความเชื่อของเราด้วยมิสซา ขอให้มิสซาเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้พบพระเยซูเจ้า ผ่านทางพระวาจา และการรับศีลมหาสนิท และการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมที่ดีที่สุดก็คือการรับศีลมหาสนิท และรับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจา
2. อธิบายพระวรสาร
- พระนางมารีย์พระมารดาอยู่ที่นั่น พบสองครั้งที่นี่ และแทบเชิงกางเขน
- เหล้าองุ่นถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในงานเลี้ยงของชาวยิว พวกรับบีถึงกับสอนว่า “ปราศจากเหล้าองุ่น ก็ปราศจากความยินดี” (เหล้าองุ่นหมายถึงความยินดี)
- บทบาทของแม่พระอยู่ที่นั่น ทูลเสนอความต้องการของเราต่อพระเยซูเจ้า เป็นบทบาทที่สำคัญ เขาไม่มีเหล้าองุ่นเขาขาดความสุข บทบาทของแม่พระห่วงใยความสุขของคนที่อยู่ในงาน แม่พระห่วงใยเราทุกคน (การประจักษ์มาของแม่พระบอกเราอย่างดีว่าแม่พระห่วงใยเรา)
- พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง
- “หญิงเอ๋ย อะไรแก่ฉันและแก่ท่าน” คำ “หญิงเอ๋ย” ตรงกับภาษากรีก gunai (กูนาย) เป็นคำเดียวกับที่พระเยซูเจ้าตรัสจากไม้กางเขนว่า “หญิงเอ๋ย นี่คือลูกของท่าน” (ยน 19:26) เพราะฉะนั้น “หญิงเอ๋ย” จึงไม่ใช่คำพูดที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่เป็นคำที่ใช้พูดกับผู้เป็นที่รักและเคารพสูงสุด
- แต่หากพูดด้วย “น้ำเสียงอ่อนโยน” ความหมายคือ “อย่ากังวลเลยแม่ ปล่อยให้เป็นธุระของลูกเถิด ลูกจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยตามวิธีของลูก”.... และนี่คือสิ่งที่พระมารดารับรู้และวางพระทัยในพระองค์อย่างเต็มเปี่ยม จนกล้ากล่าวแก่บรรดาคนรับใช้ว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” (ยน 2:5)
- บทเรียนที่เราได้จากแม่พระ คือ
- พระมารดาหันไปหาพระเยซูเจ้าทันทีที่เกิดปัญหา การประจักษ์ของแม่พระชี้ไปที่พระเยซูเจ้าทุกครั้ง ในการประจักษ์ครั้งที่ 13 วันอังคารที่ 2 มีนาคม 1858 แม่พระขอให้สร้างวัดน้อย วัดคือสถานที่ที่เราจะพบกับพระเยซูเจ้าเป็นพิเศษ (เมื่อเราเกิดปัญหาในชีวิตเราหันไปหาใคร บางครั้งสิ่งที่เราหันไปหาอาจจะเพิ่มปัญหาให้กับเรา เหล้า ยาเสพย์ติด ฯลฯ) ชีวิตคริสตชนที่มีพลังคือชีวิตที่ติดสนิทกับพระเจ้าเหมือนฟืนกับกองไฟ (ให้เราหันไปหาพระเยซูเจ้าทุกครั้งแม้ไม่มีปัญหา เพื่อเราจะได้ชิดสนิทกับพระองค์ มีทัศนคติ มุมมอง คำพูด การกระทำ ด้วยหัวใจที่เหมือนกับพระองค์
- พระมารดาทรงวางพระทัยในพระเยซูเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม พระนางเชื่อและวางใจ แม้ไม่เข้าใจ ผู้ที่ยังเชื่อและวางใจพระเยซูเจ้าในห้วงเวลาเช่นนี้ ย่อมเป็นสุข เหตุว่าเขากำลังเจริญรอยตามพระนางมารีย์พระมารดาของพระเจ้า
- พระคาร์ดินัลเหวียนวันทวนเคยไปแสวงบุญที่ลูร์ดตอนที่เป็นเณรใหญ่ขณะเรียนอยู่ที่กรุงโรม ท่านสะกิดใจกับคำพูดของแม่พระที่ตรัสกับนักบุญแบร์นาแด๊ตในการประจักษ์ของแม่พระครั้งที่สาม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1858 “ฉันสัญญาว่าหนูจะมีความสุข ไม่ใช่ในโลกนี้ แต่เป็นในโลกหน้า (สวรรค์นิรันดร)” ท่านไม่คิดว่าคำพูดนี้จะเป็นจริงในชีวิตของท่าน หลังจากกลับไปที่ประเทศเวียดนาม ท่านได้ดำเนินชีวิตพระสงฆ์อย่างดีและศักดิ์สิทธิ์ ท่านได้รับศีลบวชเป็นพระสังฆราช หลังจากนั้น 8 ปี ท่านถูกจำคุกถึง 13 ปี สิ่งที่เป็นความบรรเทาใจของท่านคือศีลมหาสนิท การสวดสายประคำ ท่านสวดขอแม่พระให้ท่านถูกปล่อยในวันฉลองแม่พระ และในวันที่ 21 พฤศจิกายนซึ่งเป็นวันฉลองแม่พระถวายตัวที่พระวิหาร ท่านได้รับการปล่อยตัวจริงๆ ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เราในฐานะบุคคลที่ฝากความวางใจในพระเจ้าโดยมีแม่พระเป็นแบบฉบับ
- บทเรียนที่เราได้จากพระเยซูเจ้า คือ
- ทรงเข้าถึงจิตใจ ทรงเห็นอกเห็นใจ และทรงเมตตาผู้เดือดร้อนขัดสน พระเยซูเจ้าทรงช่วยเหลือคู่บ่าวสาวชาวชนบทให้รอดพ้นจากความอัปยศอดสูที่สุด
- (ถ้ำมัสซาเบียลสกปรกเป็นที่อยู่ของหมู แบร์นาแด็ตยากจน ขี้โรค สติปัญญาไม่ดี แต่พระเจ้าทรงรักและเรียก การเป็นนักบุญของท่านช้าเพราะผู้ดูแลโนวิสคือคุณแม่วาซูไม่เห็นด้วย ขอให้กระบวนการนี้เกิดหลังจากท่านตาย เพราะไม่เชื่อว่านักบุญจะมีชีวิตที่เรียบง่ายเหมือนแบร์นาแด็ต แต่สุดท้ายผู้ที่ต่ำต้อยด้อยค่าในสายตาของโลก แต่รักพระอย่างสุดหัวใจ เป็นคนซื่อ ไม่หวังผลประโยชน์จากการประจักษ์มาของแม่พระ ก็เป็นนักบุญที่ยิ่งใหญ่แถมพระเจ้ายังอวยพรให้ร่างกายที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้วกลับไม่เน่าเปื่อย )
- เรื่องนี้สอนเราอย่างมากให้เรามีใจเมตตาเหมือนพระเยซูเจ้าต่อผู้เดือดร้อนขัดสน และมีความยากลำบากในชีวิต ขณะเดียวกันก็อย่าน้อยใจถ้าเราจะเป็นคนเล็กๆ ดูเหมือนว่าไม่สำคัญในสังคม ขอให้เรารักษาจิตใจที่ดีและรักพระเหมือนท่านนักบุญแบร์นาแด็ต เราก็สามารถเป็นนักบุญที่ยิ่งใหญ่ในสวรรค์ได้
- จะเห็นว่าทุก “เวลา” ของพระองค์ล้วนเป็นการตระหนักว่า ภารกิจของพระองค์คือการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา ไม่ใช่การทำตาม “อำเภอใจ” ของพระองค์
- บทเรียนจากแบร์นาแด็ต ในการประจักษ์ครั้งที่ 9 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 1858 ท่านได้ขุดลงไปในดินที่ถ้ำตามคำสั่งของแม่พระ และนี่เป็นต้นกำเนิดของน้ำพุที่ลูร์ด ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระหรรษทานของพระที่สามารถเอาชนะบาปได้ และเป็นเครื่องหมายของการรักษาจากสวรรค์ เว็ปไซต์ทางการของสักการสถานแม่พระเมืองลูร์ดได้รายงานว่า มีกรณีการหายจากโรค จำนวน 7,000 รายที่ส่งเข้ามาที่สักการสถาน จนถึงปัจจุบันนี้มีจำนวน 69 คน ที่พระศาสนจักรรับรองอย่างเป็นทางการว่าการหายป่วยที่เกิดขึ้นเป็นอัศจรรย์ มีเพียง 6 คน ที่ได้รับการรักษาให้หายอย่างอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนของแม่พระเมืองลูร์ดโดยไม่ได้ไปแสวงบุญที่สักการสถานที่ลูร์ด ส่วนใหญ่ได้รับอัศจรรย์การรักษาให้หายจากการไปแสวงบุญที่สักการสถานแม่พระเมืองลูร์ด (จำนวนมากถึง 50 คนที่ได้รับการรักษาจากการอาบน้ำที่สักการสถานแม่พระเมืองลูร์ด) ทำสำคัญคือการรักษาฝ่ายจิตใจ คนที่ออกไปมีพลังที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือสบาย ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์
- เมื่อต้องจากลูร์ดไป เธอยินดีไป เธอบอกว่าลูร์ดไม่ใช่สวรรค์ (ความยินดีในมิสซาต้องออกไปเป็นภาคปฏิบัติในชีวิต โดยการรักพระเจ้า และเพื่อนพี่น้อง ผ่านทางการปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้า
3. ความยากลำบากในชีวิตและความเจ็บป่วยมีคุณค่า เพราะเรากำลังแบกกางเขนของเราและมีส่วนร่วมกับพระเยซูเจ้าในการกอบกู้มนุษย์ให้รอดพ้น (นอกจากน้อมรับความทุกข์แล้ว เรายังสามารถทำความดีเพื่อพระ แม้ตัวเราจะต้องเผชิญความทุกข์)
- หลายคนคิดว่าตนเองไม่มีคุณค่าเมื่อเจ็บป่วย หลายคนรู้สึกว่าพระไม่รักเมื่อต้องทนทุกข์ทรมานและมีความยากลำบาก
- นักบุญแบร์นาแด็ตเป็นนักบุญที่มีโรคร้ายในตัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด วัณโรคที่กระดูกซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้แก่ท่านมาก ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเมื่ออายุ 35 ปี ท่านน้อมรับ ไม่เคยบ่น ตรงกันข้ามกับร่าเริงแจ่มใส ปลอบใจคนอื่น เพราะป่วยท่านจึงเข้าใจผู้ป่วย ท่านสอนให้โนวิสดูแลผู้ป่วยอย่างดี แต่กลับท่านเองท่านมีความเกรงใจเมื่อท่านป่วยและสังเกตว่า ซิสเตอร์ที่มาเฝ้าบางคนจะกังวล นอนไม่หลับ ท่านขอผู้ใหญ่ให้เลือกคนที่หลับง่ายๆ มาเฝ้าท่าน ท่านเกรงใจไม่อยากให้คนที่มาเฝ้าท่านต้องอดนอน จึงเตือนใจเราว่าทุกสิ่งที่พระอนุญาตให้เกิดกับชีวิต แม้มันจะดูไม่ดี ยากที่จะรับได้ แต่ถ้าเราน้อมรับพระประสงค์ของพระเจ้า ยอมรับสิ่งเหล่านี้ พระเยซูจะเปลี่ยนให้สิ่งนี้มีคุณค่าเสมอ ทั้งกับเราและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเรา (ภาวนาเพื่อผู้ป่วย และให้กำลังใจผู้ป่วย)
- หลายคนรู้สึกว่าพระไม่รักเมื่อต้องทนทุกข์ทรมานและมีความยากลำบาก แต่เมื่อมีความยากลำบากในชีวิตคุณแม่เทเรซาภาวนาว่า ดังนี้ ครับ
- พระเจ้าข้าโปรดส่งใครสักคนมาให้ลูก
พระเจ้าข้า เมื่อลูกหิวโหย โปรดส่งใครสักคนที่ลูกจะเลี้ยงอาหารเขา
พระเจ้าข้า เมื่อลูกกระหาย โปรดส่งใครสักคนที่ลูกจะให้น้ำแก่เขา
พระเจ้าข้า เมื่อลูกรู้สึกหนาว โปรดส่งใครสักคนที่ลูกจะให้ความอบอุ่นแก่เขา
พระเจ้าข้า เมื่อลูกรู้สึกเจ็บปวด โปรดส่งใครสักคนให้ลูกบรรเทาใจเขา
เมื่อกางเขนของลูกหนักอึ้ง โปรดประทานกางเขนของอีกคนให้ลูกช่วยแบก
เมื่อลูกยากจน โปรดนำทางให้ลูกไปหาคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ
เมื่อลูกไม่มีเวลา โปรดประทานใครสักคนที่ลูกสามารถช่วยเขาได้สักช่วงขณะหนึ่ง
เมื่อลูกถูกสบประมาท โปรดประทานใครสักคนที่ลูกจะชื่นชมยกย่อง
เมื่อลูกหมดกำลังใจ โปรดประทานใครสักคนที่ลูกจะให้กำลังใจ
เมื่อลูกต้องการความเข้าใจจากคนอื่น โปรดประทานใครสักคนที่ต้องการความเข้าใจจากลูก
เมื่อลูกต้องการดูแลเอาใจใส่ตนเอง โปรดประทานใครสักคนที่ลูกต้องดูแลเอาใจใส่
เมื่อลูกคิดถึงแต่ตนเอง โปรดหันความ
คิดของลูกไปสู่ผู้อื่น
- ขอจบบทเทศน์วันนี้ด้วยถ้อยคำจากจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย
“ผู้ที่หว่านความดีในพระจิตเจ้า ก็จะเก็บเกี่ยวชีวิตนิรันดรจากพระจิตเจ้า อย่าท้อแท้ในการทำความดี เพราะถ้าเราไม่หยุดทำความดี เราก็จะได้เก็บเกี่ยวเมื่อถึงเวลา ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีโอกาส จงทำความดีต่อทุกคน โดยเฉพาะต่อพี่น้องผู้ร่วมความเชื่อของเรา” (กท 6:8-10) "
ที่มา บทเทศน์
- บทอ่านที่ 1 อสย 66:10-14
- บทอ่านที่ 2 ฮบ 10:4-10
- พระวรสาร ยน 2:1-11