www.catholic.or.th

มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 กับงานประกาศข่าวดี

กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 กับงานประกาศข่าวดี

“ศิษย์พระคริสต์เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่” หัวข้อของสมัชชาใหญ่ในประเทศไทย ปี ค.ศ. 2015 เป็นผลสืบเนื่องมาจากสมัชชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ค.ศ. 1664 หรือเมื่อประมาณ 350 ปีที่ผ่านมา ทำให้พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยเติบโตเรื่อยมา จนได้รับพระฐานานุกรม เมื่อ ค.ศ. 1965

     โอกาสครบรอบ 350 ปี แห่งสมัชชาอยุธยานี้ ทำให้พระศาสนจักรแห่งประเทศไทย ได้ไตร่ตรองตนเองในฐานะ “ศิษย์พระคริสต์เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่” อันเป็นความท้าทายของโลกสังคมปัจจุบัน ที่ประชุมของสมัชชาครั้งนั้ใช้แนวทางตามคำสอนของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 รวมทั้งจากคำสั่งสอนของพระสันตะปาปาในพระสมณสารต่างๆ และคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร

     พ่อจึงอยากที่จะอธิบายแบบง่ายๆ เพื่อสมาชิกของพระศาสนจักรแห่งกรุงเทพฯ จะได้สามารถนำกฤษฏีกานี้ลงมาสู่ชีวิตจริง โดยเฉพาะชีวิตแห่งการเป็นศิษย์พระคริสต์ ผู้นำข่าวดีของพระเยซูเจ้า ไปสู่มนุษย์ทุกคน เป็นพิเศษ นำข่าวดีนี้ไปสู่บุคคลที่ยังไม่รู้จักพระเยซูเจ้า

     อันที่จริงกฤษฎีกาฉบับนี้พูดถึงคำสามคำด้วยกัน “ศิษย์พระคริสต์”, “เจริญชีวิต”, “ประกาศข่าวดีใหม่” คำทั้งสามนี้มีความหมายอันลึกซึ้ง เป็นแนวทางสำหรับพวกเราคริสตชนในประเทศไทย (พ่ออยากเน้นเป็นพิเศษถึง พวกเราสมาชิกของพระศาสนจักรแห่งกรุงเทพฯ)

     เริ่มต้นที่คำว่า “ศิษย์พระคริสต์” ใครคือศิษย์พระคริสต์? ศิษย์พระคริสต์ หมายถึง คริสตชนทุกคน โดยอาศัยศีลล้างบาป พวกเขามีส่วนร่วมกับพระตรีเอกภาพ กลับกลายเป็นบุตรของพระเจ้า มีส่วนร่วมกับพันธกิจของพระเยซูเจ้า และเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้า ถ้าพูดให้ง่ายก็คือ พวกเราคริสตชนทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปนั่นเอง

     เอกสารนี้ยังพูดถึงเอกลักษณ์ของศิษย์พระคริสต์ว่า คริสตชนทุกคน จะต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความเชื่อ โดยปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้าที่เราได้รับฟัง ด้วยการมีชีวิตที่เป็นประจักษ์พยานแห่งความรักถึงพระเยซูเจ้า (ใครมองเห็นคริสตชนแล้วมองเห็นพระเยซูเจ้า) รวมทั้งดำเนินชีวิตด้วยรูปแบบหมู่คณะ ดำเนินชีวิตเป็นพระศาสนจักร อันเป็นชุมชนแห่งความเชื่อในพระเยซูเจ้า
     ชีวิตหมู่คณะนี้เรียกร้องให้คริสตชนทุกคน มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตามแบบอย่างของคริสตชนกลุ่มแรก สำหรับประเทศไทย ชีวิตหมู่คณะของบรรดาคริสตชนนี้ มีพื้นฐานอยู่ที่ “คริสตชนกลุ่มย่อย”
คำที่สอง “เจริญชีวิต” พระเยซูเจ้าเป็นต้นแบบของพวกเราคริสตชน เป็นต้นแบบแห่งความรักและการอุทิศตนทั้งครบตามพระประสงค์ของพระบิดา นอกจากนั้นคริสตชนไทยยังต้องเลียนแบบอย่างจากคริสตชนกลุ่มแรก ตามที่มีบันทึกไว้ในหนังสือกิการอัครสาวกด้วย นั่นคือ รวมตัวกันเพื่อภาวนา ร่วมในพิธีบิปัง (พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ) ฟังคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก (เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระศาสนจักร) พวกเขาดำเนินชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกัน

     ปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตคริสตชน คือ การพบปะส่วนบุคคลกับพระเยซูเจ้า อันหมายถึง การมีประสบการณ์ชีวิตที่สัมผัสกับพระเยซูเจ้า เป็นประสบการณ์ที่เราทราบถึงความรักของพระเจ้าในชีวิตของเรา การพบปะส่วนบุคคลกับพระเยซูเจ้านี้ เป็นส่วนสำคัญในการประกาศข่าวดี พวกเราคริสตชนบอกเล่าเรื่องราว และประสบการณ์ต่างๆ ที่สัมผัสกับความรักของพระเยซูเจ้า ให้เพื่อนต่างศาสนาฟัง จะมีพลังมากกว่าการเล่าชีวประวัติของพระเยซูเจ้า หรือการเล่าประสบการณ์ของคนอื่นๆ
การประกาศข่าวดีจะเกิดผล เป็นความประทับใจครั้งแรกของผู้ฟัง ก็ต่อเมื่อคริสตชนได้เล่าถึงการพบปะส่วนบุคคลกับพระเยซูเจ้า ให้เพื่อน (โดยฉพาะเพื่อนต่างศาสนา)ได้ฟัง

     ปัจจัยถัดมา คือ การกลับใจ เมื่อคริสตชนพบปะกับความรักของพระเจ้า เขาจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตน ให้เป็นเครื่องหมายแห่งความรักต่อหน้าเพื่อนมนุษย์ทุกคน เปิดตัวเองออกสู่ผู้อื่นรอบข้าง ช่วยเหลือคนยากจนและบุคคลชายขอบสังคม
อีกปัจจัยหนึ่งคือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของหมู่คริสตชน ซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์ คริสตชนทุกคนคือพระศาสนจักร เป็นชุมชนที่มีชีวิตชีวา ประกอบด้วยกลุ่มคริสตชนย่อยๆ และมีการรวมตัวกันจนกลายเป็นชุมชนวัด
ปัจจัยต่อมา คือ ศิษย์ธรรมทูต คริสตชนทุกคนเป็นศิษย์ธรรมทูต คือ เป็นทั้งศิษย์ และเป็นทั้งธรรมทูต ผู้ประกาศข่าวดี อาศัยวิถีชุมชนวัด อันเป็นแนวทางหลักที่พระศาสนจักรในประเทศไทยเลือกใช้ ก้าวออกปสู่การประกาศข่าวดี อันเป็นการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พระอาณาจักรของพระเจ้า อาณาจักรแห่งความรัก ความยุติธรรมและสันติ

คำที่สาม “ประกาศข่าวดีใหม่” มีกลุ่มบุคคลเป้าหมายดังนี้

     ผู้ที่ยังไม่รู้จักพระเยซูเจ้า พระศาสนจักร จำเป็นต้องแสวงหาวิธีใหม่ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อนำเสนอข่าวดีแก่พวกเขา ให้พวกเขาพบและมีประสบการณ์แห่งความรักกับพระเยซูเจ้า
คริสตชนผู้ปฏิบัติศาสนกิจเป็นประจำ พระศาสนจักรต้องอภิบาลดูแลพวกเขาให้ได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์ ด้วยแบบอย่างแห่งชีวิตคริสตชนยุคแรกเริ่ม จะทำให้เขาเจริญชีวิตด้วยการเป็นประจักษ์พยาน อย่างกล้าหาญถึงพระคริสตเจ้า พร้อมที่จะเป็นศิษย์ธรรมทูตอย่างเข้มแข็ง

     ผู้รับศีลล้างบาปแต่ไม่ได้ดำเนินชีวิตตามความเชื่อ ถือเป็นพันธกิจเร่งด่วนของพระศาสนจักร ที่จะช่วยให้ผู้รับศีลล้างบาปเหล่านี้ ให้สัมผัสกับความรักของพระเจ้า สามารถเป็นเชื้อแป้งและแสงสว่างส่องโลก
บทบาทของผู้มีส่วนร่วม พระสังฆราช ต้องเป็นผู้อภิบาลและเป็นธรรมทูต เป็นหัวหน้าและเป็นศูนย์กลางของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นผู้ชี้แนะและเป็นผู้ประสานงานในการประกาศข่าวดีพระสังฆราช ต้องเป็นแบบอย่าง เป็นประจักษ์พยานถึงความยากจน เรียบง่าย และสมถะ

     พระสงฆ์ และ สังฆานุกร ต้องมีจิตใจและสำนึกว่าตนเป็นผู้ประกาศข่าวดี ต้องอุทิศตนและเสียสละด้วยใจกว้างต่อการประกาศข่าวดี ต้องให้ความสำคัญกับการเทศน์สอน มีความกระตือรือร้นในงานอภิบาล ประกาศข่าวดีในโรงเรียนและในงานสังคมสงเคราะห์ เพื่อผู้ยากไร้ ต้องแสวงหาติดตามลูกแกะที่พลัดหลง

     ผู้รับเจิมถวายตน ต้องพร้อมอย่างเต็มที่ ที่จะรับใช้มนุษย์และสังคม ในสนามงานประกาศข่าวดี และซื่อสัตย์ต่อจิตตารมณ์ของคณะ ปฏิบัติงานประกาศข่าวดี โดยร่วมมือกับพระศาสนจักรท้องถิ่น
โดยใช้สนามงาน วิถีชุมชนวัด เป็นวิถีและวิธีการหลักในการดำเนินชีวิตของพระศาสนจักรประเทศไทย โดยเน้นมิติด้านชุมชน สะท้อนภาพของคริสตชนกลุ่มแรก วิถีชุมชนวัด จะต้องเป็นเครื่องหมายอันมีชีวิตชีวาของพระศาสนจักร และเป็นเครื่องมือในการอบรม รวมทั้งฟื้นฟูชีวิตและพันธกิจการประกาศข่าวดี

     จะเห็นว่า วิถีชุมชนวัดนี้ ไม่ใช่กลุ่มแบ่งปันพระวาจา แต่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคริสตชน เป็นกลุ่มย่อยๆ ในละแวกถิ่นที่อยู่ เพื่อประกาศข่าวดี นำความรักของพระเยซูเจ้า ไปแบ่งปันให้กับเพื่อนพี่น้องต่างศาสนารอบข้าง โดยการช่วยเหลือ เอาใจใส่ แบ่งปัน โดยเริ่มจากคนยากจน และบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก

     สนามงานที่สอง คือ ครอบครัวคริสตชน (พระศาสนจักรระดับบ้าน) เป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศข่าวดี เป็นสถานที่เพาะบ่มความเชื่อ ศรัทธา รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ความเชื่อที่หลากหลาย

สนามงานถัดมา คือ การศึกษาคาทอลิก ต้องเป็นสนามและฐาน แห่งการประกาศข่าวดีอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องยึดคุณค่าพระวรสารเป็นที่มั่น

ผู้บริหาร คณะครูและบุคลากร ต้องเป็นแบบอย่างแก่ทุกคน การศึกษาคาทอลิกต้องสอน และอบรมในทุกสิ่งทีเป็นความจริง ความดีงาม และสถานศึกษายังต้องช่วยเหลือครอบครัวของผู้เรียน ให้รู้จักวิธีการ แนะนำความเชื่อแก่ลูกๆ ของตน

     บรรยายมาอย่างยืดยาว พ่อเพียงต้องการให้พี่น้องคริสตชน ได้ไตร่ตรองตนเอง แล้วตั้งคำถามดูสักหน่อยว่า ตนเป็นเครื่องมือของพระเยซูเจ้า เป็นผู้ประกาศความรักของพระองค์อย่างดีแล้วรึยัง? หากยังไม่ดี เราจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อจะทำให้ตนเอง เป็นผู้ประกาศข่าวดี ประกาศสารแห่งความรักของพระเจ้า อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าคิดว่า การประกาศข่าวดีเป็นหน้าที่ของพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชเท่านั้น การประกาศข่าวดีเป็นหน้าที่ของคริสตชนทุกคน หน้าที่ประการนี้ อาศัยศีลล้างบาปที่เราได้รับ พระเยซูเจ้ามอบหน้าที่นี้ให้แก่เราด้วยตัวของพระองค์เอง ฝากการประกาศข่าวดีนี้ไว้ในอ้อมใจของพี่น้องทุกท่านด้วยนะครับ