มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

การปรับปรุงอาสนวิหารอัสสัมชัญ

เดือนธันวาคมนี้อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เตรียมเปิดปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม และจะมีพิธีเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิหารในกรุงโรม และพิธีเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ของสังฆมณฑลต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ด้วย ในวันที่ 13 ธันวาคม ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงขอรายงานถึงอาสนวิหารอัสสัมชัญที่มีการปิดปรับปรุงไปได้ประมาณสองปีแล้ว


สาเหตุของการปรับปรุงอาสนวิหารอัสสัมชัญ เนื่องจากตัวอาสนวิหารฯหลังนี้มีอายุการใช้งานมาเกือบ 100 ปี คือตั้งแต่ปี ค.ศ.1919 มีการปรับปรุงบูรณะบ้างหลายครั้งตามกาลเวลา แต่เป็นการบูรณะตามความจำเป็น ต่อมาในระยะหลังๆ นี้ ตัวอาสนวิหารฯ มีการชำรุดหลายแห่ง และมีการทรุดตัวบ้างดังที่เห็นอยู่ ทำให้เกิดการแตกร้าวหลายแห่ง เพื่อเป็นการเตรียมการฉลองครบ 100 ปีอย่างเหมาะสม ในปี ค.ศ.2019 ที่จะมาถึง ประกอบปีนี้เป็นปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม จะมีพิธีเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ด้วย ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นโอกาสเหมาะพอดี

คณะกรรมการจึงกำหนดกรอบเวลาสำหรับการบูรณะซ่อมแซมไว้ประมาณ 2 ปี คือตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ.2013 -สิงหาคม ค.ศ. 2015 โดยระยะแรกก็ได้ทำการสำรวจและซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ทำได้ และยังคงเปิดใช้อาสนวิหารฯตามปกติ จนกระทั่งหลังจากฉลองอาสนวิหารฯประจำปี 2014 (วันที่ 15 สิงหาคม 2014) จึงทำการซ่อมและบูรณะในส่วนโครงสร้างทั้งภายในและภายนอก ทำให้ต้องปิดการใช้อาสนวิหารฯทั้งหมด



ภายในอาสนวิหารฯ มีการปรับปรุงบูรณะเกือบทั้งหมด กล่าวคือ
- บริเวณพระแท่นประกอบพิธี มีการเปลี่ยนพระแท่นกลางและที่อ่านพระคัมภีร์ใหม่ทั้งหมด พร้อมกับอาสนะของพระสังฆราช และบริเวณที่นั่งของพระสงฆ์ผู้เข้าร่วมพิธี ทำการย้ายตู้ศีลไปไว้ด้านข้าง



- พระแท่นใหม่ ที่อ่านพระคัมภีร์ และอาสนะของพระสังฆราชทำจากหินอ่อนทั้งหมด ตัวพระแท่นมีขนาด กว้าง 1.60 เมตร ยาว 3.00 เมตร สูง 0.98 เมตร รอบๆ ของพระแท่นเป็นช่องประดิษฐานรูปพระเยซูเจ้าและนักบุญอัครสาวก ทั้ง 12 องค์ ซึ่งหมายถึงรากฐานของความเชื่อ และความมั่นคงของพระศาสนจักร



- ชั้นใต้พระแท่นซึ่งเป็นที่บรรจุศพของบรรดาพระสังฆราชและพระสงฆ์หลายท่านได้ทำการปรับปรุงให้เป็นวัดน้อย และนำพระธาตุของบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ลงไปบรรจุไว้ที่พระแท่นในวัดน้อยนี้ด้วย วัดน้อยนี้สามารถที่จะถวายบูชาขอบพระคุณได้ แม้จะมีความสูงของเพดานไม่มากก็ตาม



- ทำการปรับพื้นใหม่ทั้งหมด โดยเสริมให้มีระดับเดียวกัน เพราะก่อนหน้านี้มีการทรุดตัวของพื้นทำให้ระดับต่างกันมาก พร้อมทั้งปูพื้นใหม่ด้วยหินแกรนิตและพยายามที่จะรักษาสีสันและลวดลายของเดิมให้มากที่สุด



- จัดทำม้านั่งในวัดใหม่ทั้งหมดให้เข้ากับศิลปะตัวอาสนวิหาร ซึ่งมีทั้งหมด 80 ตัว สามารถนั่งได้ตัวละ 4 คน รวม 320 คน และสามารถเสริมเก้าอี้บริเวณด้านข้างของวัดได้อีกประมาณ 200 คน

- ระบบไฟฟ้าจัดทำให้เหมาะสมกับศิลปะของวัด โดยโคมไฟเลียนแบบจากธรรมาสน์ที่ใช้เทศน์ของพระสงฆ์ซึ่งยังคงประดิษฐานอยู่ในอาสนวิหารนั่นเอง

- ปรับปรุงชั้นลอยทั้ง 2 ข้างให้เป็นที่นั่งสำหรับผู้เข้าร่วมพิธีได้อีกประมาณ 200 คน

- ติดตั้งระบบปรับอากาศทั้งหมด เพื่อความสงบจากเสียงรบกวนขณะมีพิธี ที่จะมีสมาธิในการร่วมพิธีกรรมต่างๆ ได้อย่างดี

- ปรับปรุงระบบเสียงใหม่ให้ดีขึ้น

- สำหรับกระจกสีและลวดลายฝาผนังคงจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร

ภายนอกอาสนวิหารฯ
- ติดตั้งระฆังชุด จำนวน 12 ใบ สำหรับตีเป็นเสียงเพลงตามเทศกาลต่างๆ



- ปรับภูมิทัศน์รอบๆ อาสนวิหาร ด้วยการปรับระดับพื้นใหม่ทั้งหมดพร้อมทั้งทำการพิมพ์ลายและสีในพื้นทั้งหมดด้วย พร้อมทั้งจัดต้นไม้บริเวณลานหน้าอาสนวิหารทั้งหมด 12 ต้น

- ทำระบบระบายน้ำให้คล่องตัวยิ่งขึ้น

- ติดตั้งเสาไฟรอบวัด และไฟส่องตัวอาสนวิหารในเวลากลางคืน

สุดท้ายขอยืนยันว่าวัดหรืออาสนวิหารที่เป็นวัตถุตัวอาคารแม้จะสวยงามอย่างไร ก็คงจะไม่เทียบเท่าการทำให้ตัวเราแต่ละคนเป็นวิหารเป็นวัดเป็นที่ประทับของพระเป็นเจ้า เพราะพระองค์จะทรงพอพระทัยในชีวิตที่เป็นวิหารของเรามากกว่า... แต่อย่างไรก็ดี มนุษย์เราก็พยายามอย่างเต็มที่เหมือนกันที่จะทำให้วัดหรือวิหารภายนอก สวยงามเหมาะสมกับเป็นที่ประทับของพระองค์

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown