หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

Don Daniele    เขียน  / Tartaruga      ภาพ

กล่าวกันว่าเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่กรุงโรมอากาศดีที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นเดือนแม่พระแห่งสายประคำแล้ว  ยังเป็นเดือนที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดปีการศึกษา นั่นหมายความว่าช่วงเวลาแห่งความยากลำบากสำหรับบรรดานักศึกษาทั้งหลายในโรมได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือและให้กำลังใจซึ่งกันและกันจึงมีธรรมเนียมการพบปะและมีพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณร่วมกัน แต่ปีการศึกษาใหม่นี้ดูจะพิเศษกว่าทุกปีเพราะมีเป้าหมายที่ซานโจวานนี โรตอนโด (San Giovanni Rotondo) เพื่อไปแสวงบุญคุณพ่อปีโอร่วมกัน

ปีการศึกษา 2008-2009 กลุ่มพระสงฆ์ไทยในโรมมีสมาชิกใหม่ ได้แก่ คุณพ่อวรศักดิ์  โคธิเสน จากสังฆมณฑลอุดรธานี เรียนวิชากฎหมายพระศาสนจักรที่มหาวิทยาลัยอูร์บานีอานา, คุณพ่อพรศักดิ์ ชื่นจิตอภิรมย์ จากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เรียนวิชาการอภิบาลครอบครัวที่มหาวิทยาลัยลาเตลัน, คุณพ่อสันติ  ปิตินิตย์นิรันดร์ จากสังฆมณฑลนครสวรรค์ เรียนวิชาการอบรมที่มหาวิทยาลัยซาเลเซียน และนางสาวอรุณประภา  สุขกสี จากสังฆมณฑลนครราชสีมา เรียนวิชาคำสอนที่มหาวิทยลัยอูร์บานีอานา  อีกคนคือคุณพ่อวินัย เปลี่ยนบำรุง ที่ปรึกษาคณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่กรุงโรม เรียนวิชากฎหมายพระศาสนจักรที่มหาวิทยาลัยเกรโกเรียน รายหลังนี้ลงเรียนในสาขาใหม่เพิ่มอีกใบตามคำแนะนำของ มองซินญอร์ วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการ สมณกระทรวงว่าด้วยการเสวนาระหว่างศาสนา สมาชิกใหม่รายล่าสุดและเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่ม

การเดินทางไปแสวงบุญในครั้งนี้ นับเป็นความโชคดีของพวกเราที่มีพระสังฆราชโจเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล ประมุขสังฆมณฑลสุราษฏร์ธานี ผู้แทนสภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทย และอาจารย์ชัยณรงค์  มณเฑียรวิเชียรฉาย ที่มาประชุมสมัชชาพระสังฆราชครั้งที่ 12 เรื่อง “พระวาจาของพระเจ้าในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร” ระหว่างวันที่ 5-26 ตุลาคม ค.ศ. 2008 ที่วาติกันร่วมเดินทางไปด้วย โดยกำหนดเวลานัดหมายรวมตัวกันใกล้สถานีรถไฟแตร์มินี (Termini) ใจกลางกรุงโรม เวลา 06.00 น.  แต่กว่าทุกคนจะพร้อมและออกเดินทางได้ก็เกือบเจ็ดโมงเช้า

ซานโจวานนี โรตอนโด

คณะของพวกเรามุ่งหน้าสู่ซานโจวานนี โรตอนโด เมืองอันเป็นที่ตั้งของอารามแม่พระแห่งพระหรรษทาน (La Madonna della Grazia) ของคณะภราดาน้อยกาปูชินบ้านของคุณพ่อปีโอ ไปตามทางด่วนเลียบชายฝั่งทะเลอาเดรียติกมุ่งหน้าลงใต้  จนกระทั่งถึงซานโจวานนี โรตอนโดตอนใกล้เที่ยงมองเห็นโรงพยาบาลที่คุณพ่อปีโอสร้างแต่ไกล แต่เนื่องจากมีผู้มาแสวงบุญเป็นจำนวนมากต้องเข้าคิวรอขึ้นรถตู้ไปอีกทอดหนึ่ง คุณพ่อเอกมัย เหลือหลาย คณะภราดาน้อยกาปูชิน ในฐานะผู้ประสานงานต้องทำงานหนักกว่าที่ทุกคนจะรวมตัวกันและไปถึงที่หมาย เมื่อไปถึงก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคุณพ่อแซร์โจ อันตริอ๊อตโต (Sergio Antriotto) ซึ่งเคยเป็นมิชชันนารีที่ประเทศไทยหลายปี

ซานโจวานนี โรตอนโด เป็นเมืองหนึ่งในจังหวัดฟอจจา (Foggia) แคว้นปูเลีย (Puglia) ทางภาคใต้ของประเทศอิตาลี  หากเราดูแผนที่ประเทศอิตาลีซึ่งมีลักษณะเหมือนรองเท้าบูท ซานโจวานนี โรตอนโดอยู่ตรงส่วนที่เป็นสันของส้นรองเท้านั่นแหละ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ สามารถย้อนไปถึงศตวรรษที่ 11 ซึ่งชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวปีเจียน หลังจากกลับใจเป็นคริสตชนได้ตั้งชื่อเมืองตามนามนักบุญยอห์น (San Giovanni) เพื่อเป็นองค์อุปถัมภ์ ส่วนคำว่า “โรตอนโด” เรียกขานตามลักษณะของโบสถ์เล็กๆ หลังแรกที่สร้างอุทิศแด่ท่านนักบุญซึ่งมีลักษณะกลมมน (Rotondo)

คุณพ่อแซร์โจได้พาคณะของพวกเราเข้าทางประตูข้างของอารามไม่ต้องเบียดเสียดผู้คนที่เข้าแถวยาวเหยียด ผ่านห้องที่คุณพ่อปีโอเคยอยู่มองเห็นสัญลักษณ์กางเขนสีขาวที่ชั้นสองของอาราม ถัดไปอีกสองห้องจะเห็นสัญลักษณ์กางเขนสีดำคุณพ่อบอกว่านั่นคือห้องที่คุณพ่อปีโอสิ้นใจ และได้นำพวกเราเข้าไปยังห้องซาคริสเตียของวัดแม่พระแห่งพระหรรษทานซึ่งอยู่ติดกันเพื่อเตรียมตัวถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณในเวลา 12.30 น. ส่วนพี่น้องสัตบุรุษที่ไปด้วยคุณพ่อได้จัดให้นั่งตรงที่นั่งด้านข้างพระแท่น

พิธีมิสซาเริ่มต้นด้วยภาษาไทยมีพระคุณเจ้าประธาน ศรีดารุณศีล เป็นประธาน ร่วมกับพระสงฆ์ไทยอีกสิบสององค์ ทำให้เห็นภาพงานเลี้ยงของพระเยซูเจ้ากับอัครสาวกทั้งสิบสองชัดขึ้นท่ามกลางพี่น้องผู้แสวงบุญเต็มวัด พระคุณเจ้าได้ทักทายและเทศน์เป็นภาษาอิตาเลียนเพื่อสื่อความหมายกับพี่น้องชาวอิตาเลียน โดยได้เท้าความถึงบทพระวรสารที่พูดถึงนิทานเปรียบเทียบเรื่อง อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับกษัตริย์พระองค์หนึ่งซึ่งทรงจัดงานอภิเษกสมรสให้พระโอรส ทรงส่งผู้รับใช้ไปเรียกผู้รับเชิญให้มาในงานวิวาห์ แต่พวกเขาไม่ต้องการมา โดยอ้างความจำเป็นเร่งด่วนสารพัด

พระคุณเจ้าได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ในชีวิตของคนเรามีสิ่งที่สำคัญกับสิ่งจำเป็นเร่งด่วน  สิ่งที่สำคัญได้แก่ความรอดนิรันดร  ส่วนสิ่งจำเป็นเร่งด่วนได้แก่หน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ ที่แต่ละคนมี  แต่ที่สุดเราจะต้องเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุดได้แก่ ความรอดนิรันดร เหมือนอย่างพวกท่านทั้งหลายได้เลือกสิ่งสำคัญด้วยการมาที่นี่ แทนที่จะเลือกสิ่งจำเป็นเร่งด่วนมากมายที่ต้องทำ” ซึ่งสร้างความประทับใจและเรียกเสียงปรบมือจากทุกคนในวัดอย่างยาวนาน พิธีมิสซาได้ดำเนินต่อไปในภาคภาษาอิตาเลียน  และได้รับเสียงปรบมืออีกครั้งเมื่อพระคุณเจ้ากล่าวอวยพรปิดพิธี

ชีวิตของคุณพ่อปีโอ

นักบุญปีโอแห่งปิเอเตรลชินา หรือที่เรียกกันติดปากว่า “คุณพ่อปีโอ” (Padre Pio) เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1887 ที่ปิเอเตรลชินา (Pietrelcina) เมืองเล็กๆ ในอัครสังฆมณฑลเบเนเวนโต (Benevento) เขตปูเลียทางภาคใต้ของประเทศอิตาลี  เป็นบุตรของ กราซีโอ มารีโอ ฟอร์โจเน (Grazio Mario Forgione) กับ มาเรีย จูเซปปา เด นุนซิโอ (Maria Guiseppa de Nunzio) บิดามารดาได้พาไปรับศีลล้างบาปในวันต่อมาที่วัดแม่พระแห่งทูตสวรรค์ (La Madonna degli Angeli) ใกล้บ้าน โดยได้ชื่อว่า “ฟรันเชสโก” (Francesco) ตามชื่อของพี่ชายที่ตายตั้งแต่ยังเล็ก มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน พี่ชายหนึ่งคนชื่อ มิเกลเล (Michele) และน้องสาวอีกสามคนคือ เฟลิชิตา (Felicita), เปลเลกรินา (Pellegrina) และกราเซีย (Grazia)

ครอบครัวฟอร์โจเน เป็นคริสตชนที่ศรัทธาและเคร่งครัดไปร่วมพิธีมิสซาทุกวัน สวดสายประคำร่วมกันทุกคืน และอดเนื้ออาทิตย์ละสามวันเพื่อถวายเกียรติแด่แม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล แม้ว่าบิดามารดาจะอ่านหนังสือไม่ออกแต่รู้พระคัมภีร์ดีมาก จดจำได้ขึ้นใจและเล่าเรื่องราวในพระคัมภีร์ให้ลูกๆ ฟังเป็นประจำ ทำให้เมล็ดพันธ์แห่งความเชื่อได้รับการปลูกฝังในตัวของเด็กชายฟรันเชสโกตั้งแต่ยังเล็ก ขณะอายุได้ห้าขวบได้ปวารณาตัวที่จะอุทิศตนเพื่อพระเยซูเจ้า อายุ 12 ปี ได้รับศีลมหาสนิทและศีลกำลัง มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นพระสงฆ์ ต่อมาได้เข้าคณะภราดาน้อยกาปูชินที่มอร์โคเน (Morcone) พออายุได้ 16 ปีได้สวมเครื่องแต่งกายของคณะกาปูชินเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1903  และเข้าเป็นโนวิส โดยได้ชื่อว่า “ปีโอ” (Pio) เพื่อเป็นเกียรติแด่นักบุญปีโอที่ 5 องค์อุปถัมภ์ของเมือง และเป็นที่รู้จักในชื่อ “ปีโอ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภราดาปีโอ ได้ปฏิญาณตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1904  จากนั้นได้เดินทางไปเมืองอัสซีซี เพื่อศึกษาและเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์และได้ปฏิญาณตนตลอดชีพที่นั่นเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1907 หลังเรียนจบได้บวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1910 โดยพระอัครสังฆราชเปาโล  สกิโนซี (Paolo Schinosi) ที่อาสนวิหารเบเนเวนโต ต่อมาเนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพจึงได้พักอยู่กับครอบครัวจนถึงปี ค.ศ. 1916  เดือนกันยายนปีเดียวกันได้ถูกส่งตัวมาอยู่ที่อารามที่ซานโจวานนี โรตอนโด และอยู่ที่นั่นจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

ผู้มีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์และญาณหยั่งรู้
 
หลังจากเป็นพระสงฆ์ได้ไม่ถึงเดือน พระเยซูเจ้าและแม่พระได้ปรากฏมาและให้รอยแผลศักดิ์สิทธิ์กับคุณพ่อปีโอเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ขณะภาวนาหลังจากถวายมิสซาที่ปิอานา โรมานา (Piana Romana)  คุณพ่อได้ขอพระเยซูเจ้าให้ขจัดมันออกไป กระทั่งวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1918 คุณพ่อได้รับรอยแผลนี้อีกครั้งขณะที่กำลังภาวนาในวัดน้อยของอาราม คุณพ่อต้องเจ็บปวดมากและมีเลือดไหลที่มือและเท้าจนต้องพันผ้าไว้ รอยแผลนี้ได้อยู่กับคุณพ่อเป็นเวลา 50 ปี  และค่อยๆ จางหายไปในวันที่คุณพ่อมรณภาพ

คุณพ่อปีโอได้ยึดเอางานธรรมทูตและไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าเป็นพลัง ปรีชาญาณและเกียรติสำหรับตัวเองเหมือนนักบุญเปาโล ความรักของพระเยซูเจ้าเร่งเร้าทำให้คุณพ่อกลายเป็นเหมือนกับพระองค์ในการทนทรมานเพื่อความรอดของโลก คุณพ่อได้ติดตามและเลียนแบบพระคริสต์ผู้ถูกตรึงบนกางเขนด้วยการเจริญชีวิตในความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์  ซึ่งแสดงออกในการแนะนำวิญญาณผู้คนมากมายที่มาหา ในการฟังแก้บาป การภาวนา และการถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณ  คุณพ่อแซร์โจเล่าว่า คุณพ่อปีโอใช้เวลาถวายมิสซานานนับชั่วโมง และฟังแก้บาปวันละ 15 ชั่วโมง

คุณพ่อปีโอเป็นผู้ที่มีชีวิตจิตที่ลึกซึ้งมาก ได้รับพระพรพิเศษในการรู้จิตใจคนสามารถรู้ก่อนที่คนนั้นจะบอกบาปหรือมาหาเสียอีก และสามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า พระคาร์ดินัล อัลฟอนส์ สติ๊กเลอร์ (Alfons Stickler) แห่งออสเตรียเล่าว่าในปี ค.ศ. 1947  คุณพ่อคารอล วอยติยา ซึ่งต่อมาคือพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ขณะเป็นนักศึกษาในกรุงโรมได้ยินเรื่องของคุณพ่อปีโอและปรารถนาจะพบจึงได้เดินทางไปที่ซานจีโอวานนี โรตอนโด ระหว่างที่พบกันคุณพ่อปีโอได้ยืนยันกับคุณพ่อวอยติยาว่า “วันหนึ่งท่านจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงที่สุดของพระศาสนจักร” พระคาร์ดินัลสติ๊กเลอร์ เล่าต่อไปว่าคุณพ่อวอยติยาเชื่อว่าคำทำนายนี้เป็นจริงเมื่อท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลไม่ใช่พระสันตะปาปา  เล่ากันว่าวันนั้นคุณพ่อปีโอได้เห็นคุณพ่อวอยติยาแต่งกายด้วยเครื่องแบบของพระสันตะปาปาและมีรอยเลือดสีแดงเปื้อนอยู่บนผ้าคลุมไหล่สีขาว ข่าวนี้แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วภายหลังจากที่พระคาร์ดินัลวอยติยาได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาแล้ว

นักบุญร่วมสมัย ผู้มีความศรัทธาต่อแม่พระ

สิ่งที่คุณพ่อปีโอใช้เป็นอาวุธในการประจญคือ การภาวนา  คุณพ่อน้อมรับพระประสงค์ของพระอย่างไม่มีเงื่อนไข ตัวอย่างในช่วงปี ค.ศ. 1931-1933 พระสันตะปาปาปิอุส ที่ 11 ได้มีคำสั่งห้ามคุณพ่อฟังแก้บาป ห้ามถวายมิสซาในที่สาธารณะเนื่องจากมีพระสังฆราชและพระสงฆ์ไปรายงานว่า งานอภิบาลของคุณพ่อไม่โปร่งใส แต่คุณพ่อได้กล่าวว่า "ลูกจะตอบแทนพระคุณพระองค์ได้อย่างไร ในงานอภิบาลอย่างแสนสาหัสครั้งนี้" นี่เป็นลักษณะความนบนอบของคุณพ่อ

คุณพ่อปีโอใช้เวลาหลายชั่วโมงในการสวดภาวนาต่อหน้าพระรูปแม่พระมหาการุณย์ วิงวอนขอการช่วยเหลือจากแม่พระเพื่อผู้ที่มาหาคุณพ่อ เมื่อพบปัญหาที่ยากเป็นพิเศษคุณพ่อจะพูดว่า "เราจำเป็นต้องพึ่งแม่พระ" พระนางเป็นผู้ที่คุณพ่อมักคิดถึงเป็นบุคคลแรกเสมอ เพราะพระนางจะทรงแนะนำและทำให้คุณพ่อมีใจร้อนรน  คุณพ่อชอบที่จะจินตนาการถึงพระนางขณะที่อยู่ใต้ไม้กางเขนและพูดถึงพระนางว่า "แม่พระทรงรับความทุกข์เพื่อพวกเรา พระนางมีความสามารถที่จะเข้าใจในความทุกข์ทุกอย่าง อย่างลึกซึ้งภายใต้ธรรมล้ำลึกแห่งกางเขนเพราะพระนางทรงร่วมรับความทุกข์ทรมานกับพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระนาง” คุณพ่อได้บอกผู้มาหาเสมอว่า แม่พระคือช่องทางที่ทำให้เราไปหาพระเยซูเจ้า ผู้เป็นแหล่งน้ำทรงชีวิต

คุณพ่อปิโอแสดงความศรัทธาต่อแม่พระด้วยการสวดสายประคำไม่หยุดหย่อน มีสายประคำติดมือตลอดเวลาเพราะตระหนักว่านี่เป็นอาวุธอันทรงอานุภาพที่จะต่อสู้กับปีศาจ เพื่อเอาชนะการประจญ เป็นที่สบพระทัยพระเจ้าและรับพระหรรษทานต่างๆ  แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิต คุณพ่อถือสายประคำในมือแต่ไม่มีแรงพอที่จะสวดบทวันทามารีอา นอกจากคำว่า “เยซู มารีอา” ก่อนมอบคืนดวงวิญญาณแด่พระเจ้าอย่างสงบหลังจากได้รับศีลอภัยบาปเป็นครั้งสุดท้ายและรื้อฟื้นคำปฏิญาณในคณะฟรังซิสกัน ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1968 เวลา 02.30 น. เป็นการปิดฉากชีวิตผู้ศักดิ์สิทธิ์ในโลกนี้ด้วยวัย 81 ปี ร่างของคุณพ่อได้รับการฝังไว้ใต้โบสถ์ในอีกสามวันต่อมา มีผู้คนมาร่วมพิธีศพมากกว่าแสนคน

วันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982 พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้ลงนามในการเริ่มกระบวนการสอบสวนเพื่อดำเนินเรื่องว่าคุณพ่อปีโอสมควรได้รับการพิจารณาให้เป็นนักบุญหรือไม่ หลังจากนั้น 7 ปี คือในปี ค.ศ. 1990 คุณพ่อปีโอได้รับการประกาศเป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการประกาศเป็นนักบุญ วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1998 ได้รับการประกาศเป็น “ผู้น่าเคารพ” และวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 ได้รับการประกาศเป็น “บุญราศี”  ที่สุด พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้ประกาศให้คุณพ่อปีโอเป็น “นักบุญปีโอแห่งปิเอเตรลชินา” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 2002  มีผู้คนมากกว่า 3 แสนคนไปร่วมในพิธีแต่งตั้งเป็นนักบุญในวันนั้น วันฉลองประจำปีคือวันที่ 23 กันยายน ของทุกปี

สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นที่สุดที่ซานโจวานนี โรตอนโดคือวิหารใหม่ของคุณพ่อปีโอ ใช้เวลาก่อสร้าง 10 ปี สร้างเสร็จและเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2004 นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่ล้ำสมัยโดยการออกแบบของเรนโซ ปิอาโน (Renzo Piano) ผู้ออกแบบสนามบินนานาชาติที่ฮ่องกง ภายใต้แนวคิดที่ว่า “พระเยซูเจ้าทรงเป็นศิลา” จะเห็นขื่อครึ่งวงกลมที่เป็นหินชนิดต่างๆ เพื่อสื่อให้เห็นว่า พระเยซูเจ้า ศิลาหัวมุมได้มอบอำนาจให้สาวกในการสร้างพระศาสนจักร และพ่อปีโอเป็นหินก้อนหนึ่งที่สร้างพระศาสนจักร  คุณพ่อปีโอเคยกล่าวว่า “พันธกิจที่แท้จริงของข้าพเจ้าจะเริ่มหลังความตาย” ซึ่งเป็นความจริงเพราะปัจจุบันมีกลุ่มภาวนาของคุณพ่อปีโอมากกว่า 4 แสนคนทั่วโลก ในแต่ละปีมีผู้มาแสวงบุญมากกว่า 8 แสนคน  และเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2007 ได้มีการนำร่างของคุณพ่อปีโอจากหลุมขึ้นมาไว้ในโลงแก้วให้ผู้แสวงบุญได้เคารพสักการะ
 

หลังจากรับประทานอาหารร่วมกันและเยี่ยมชมหลุมฝังศพ พิพิธภัณฑ์ และอาสนวิหารใหม่ของคุณพ่อปีโอจนพอใจแล้ว  คณะของพวกเราได้เดินทางกลับ  แม้ไม่ได้คารวะศพของคุณพ่อปีโอเนื่องจากคนเยอะ แต่พระคุณเจ้าประธาน ศรีดารุณศีล ซึ่งได้เข้าไปคารวะบอกว่าได้ภาวนาเพื่อทุกคนแล้ว  กระนั้นก็ดี เพียงแค่ได้มาก็สุขใจและเชื่อว่าคุณพ่อปีโอรับรู้ความในใจทุกอย่าง  ทุกคนจึงเดินทางกลับด้วยความเบิกบานใจ จะมีก็เพียง คุณพ่อวีรชัย อุตะมะชะ จากอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ที่สีหน้าไม่เป็นสุขนัก เพราะจะต้องเดินทางกลับประเทศไทยในวันรุ่งขึ้น (13 ต.ค.) พร้อมกับครูเหมียว สุดหทัย  นิยมธรรม ครูคำสอนจากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  ทำไงได้ “เรียนจบแล้วก็ต้องนำความรู้กลับไปใช้” พระคุณเจ้าบอกอย่างนั้น

ข่าวคุณพ่อปีโอ: ผู้มีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์