ที่มา จาก เว็บหอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  
                               โดย ...บาทหลวงสุรชัย  ชุ่มศรีพันธุ์

การแพร่ธรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

               ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1782 สถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน (1768-1782) จะได้ขับไล่พวกมิชชันนารีออกนอกประเทศด้วยเหตุผลบางประการ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ก็ได้เชิญพระสังฆราชกูเดและบรรดามิชชันนารีกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่นั้นมางานแพร่ธรรมก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่ส่งผลใหญ่โตนัก แต่ก็ต้องนับว่าเป็นความพยายามที่น่าชมของพระสังฆราชและบรรดามิชชันนารีทุกท่าน ในปี ค.ศ. 1785 เมื่อกองทัพสยามกลับมาจากประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนาม หลังจากที่ได้ไปช่วยรบต่อต้านพวกไต้ซ้อง ก็ได้นำคริสตังโปรตุเกสจากประเทศกัมพูชามาเป็นจำนวน 450 คน พร้อมกับชาวกัมพูชาที่ต้องหลบหนีพวกไต้ซ้องอีก 100 คน นอกจากนี้ยังมีคริสตังอีก 250 คนซึ่งได้มาลี้ภัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา ในปี ค.ศ. 1793 พระมหากษัตริย์ไทยได้ส่งคนไปตามคริสตังกลุ่มนี้พร้อมกับครอบครัวของเขากลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ คริสตังทั้งหมดที่กล่าวมานี้ได้มาตั้งรกรากอยู่ในละแวกวัดคอนเซปชัญ

 ในสมัยพระสังฆราชการ์โนลต์ (Garnault 1786-1811) ต้องนับว่าเป็นสมัยฟื้นฟูมิสซังสยามโดยแท้ พระสังฆราชการ์โนลต์เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในปลายปี ค.ศ. 1795 หรือต้นปี ค.ศ. 1796 เมื่อท่านเดินทางมาถึงในเวลานั้น มีคริสตังอยู่ในเมืองหลวงประมาณ 1,000 คน คริสตัง 400 คน เป็นพวกดั้งเดิมที่อยู่ในประเทศสยาม และอีก 600 คน เป็นพวกที่ลี้ภัย ในปี ค.ศ. 1796 นั้นเอง พระสังฆราชการ์โนลต์ได้จัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัดซางตาครู้ส โรงพิมพ์แห่งนี้ได้พิมพ์หนังสือคำสอน ซึ่งนับเป็นหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศสยาม หนังสือเล่มนี้พิมพ์ด้วยอักษรโรมัน แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทย หรือที่เรียกว่า "ภาษาวัด" หนังสือนี้มีชื่อว่า คำสอนคริสตัง (Khanson Christang) นอกจากนี้พระสังฆราชการ์โนลต์ยังได้ก่อตั้งบ้านเณรขึ้น ใช้ชื่อว่า บ้านเณรซางตาครู้ส เพื่อเป็นสถานฝึกอบรมชายหนุ่มที่สมัครใจจะบวชเป็นพระสงฆ์ และยังได้ฟื้นฟูคณะภคินีรักไม้กางเขนขึ้นอีกด้วย ตลอดสมัยที่พระสังฆราชการ์โนลต์เป็นพระสังฆราชท่านได้ทำพิธีบวชพระสงฆ์ 8 องค์

ในสมัยพระสังฆราชฟลอรังส์ (Florens 1811-1834) มิชชันนารีมีจำนวนลดน้อยลง อันเนื่องมากจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ต้องรอคอยเป็นเวลานานถึง 14 ปี จึงมีโอกาสได้ต้อนรับมิชชันนารีองค์แรก และต้องรอคอยอีก 4 ปี จึงได้ต้อนรับมิชชันนารีองค์ที่สอง พระสังฆราชฟลอรังส์ได้ย้ายบ้านเณรจากวัดซางตาครู้สมาอยู่ที่วัดอัสสัมชัญในปี ค.ศ. 1820 และดำรงตำแหน่งอธิการของบ้านเณรด้วย นอกจากสร้างบ้านเณรแล้ว ท่านยังได้สร้างวัดอัสสัมชัญขึ้นในปี ค.ศ. 1820 ในสมัยของพระสังฆราชฟลอรังส์นี้ พระศาสนจักรในประเทศสยามไม่ได้ก้าวหน้าเท่าไรนัก สาเหตุมาจากการขาดแคลนมิชชันนารี การแพร่ธรรมส่วนใหญ่กระทำในหมู่ของชาวจีน

ในปี ค.ศ. 1827 พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 12 ได้ออกกฤษฎีกากำหนดให้ประมุขมิสซังสยามมีอำนาจการปกครองเหนือประเทศสิงคโปร์ และอาณานิคมของอังกฤษ

ในสมัยพระสังฆราชกูรเวอซี (Courvezy 1834-1841) จำนวนคริสตังและมิชชันนารีได้เพิ่มมากขึ้น ท่านจึงได้ขอให้ทางกรุงโรมแต่งตั้งพระสังฆราชผู้ช่วยองค์หนึ่ง ซึ่งทางกรุงโรมก็เห็นสมควร และได้แต่งตั้งพระสังฆราชปัลเลอกัว (Pallegoix) เป็นพระสังฆราชผู้ช่วย ได้รับการ อภิเษกวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1838 ต่อมาโดยอาศัยเอกสารฉบับหนึ่งจากกรุงโรม ชื่อว่า "Universi Dominici" ลงวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1841 กรุงโรมได้แบ่งแยกเขตปกครองในส่วนของประเทศมาเลเซียออกจากส่วนของมิสซังสยาม โดยก่อตั้งเป็น 2 มิสซังแยกจากกัน คือ มิสซังสยามตะวันออก ได้แก่ ประเทศสยามและประเทศลาว มีพระสังฆราชปัลเลอกัวเป็นผู้แทนพระสันตะปาปา ทำหน้าที่ปกครอง และมิสซังสยามตะวันตก ได้แก่ แหลมมาละยา, เกาะสุมาตรา และประเทศพม่าทางใต้ มีพระสังฆราชกูรเวอซีเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาทำหน้าที่ปกครอง
               บุคคลที่มีชื่อเสียงมากในมิสซังสยามเวลานั้นก็คือ พระสังฆราชปัลเลอกัว (1841-1862) ท่านเป็นผู้มีความสามารถ มีความรู้สูงในด้านวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์ และด้านภาษาต่างๆ เมื่อครั้งที่ท่านประจำอยู่ที่วัดคอนเซปชัญ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับวัดราชาธิวาส อันเป็นวัดที่เจ้าฟ้ามงกุฏ (รัชกาลที่ 4) ทรงผนวชอยู่ ท่านได้มีโอกาสถวายการสอนภาษาลาตินแด่พระองค์และพระองค์ก็ทรงสอนภาษาบาลีแก่ท่าน ทำให้พระสังฆราชปัลเลอกัวมีความรู้อย่างแตกฉานในภาษาสยามและภาษาบาลี และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรอย่างแน่นแฟ้นกับเจ้าฟ้ามงกุฏ ความสัมพันธ์อันนี้เองที่ช่วยให้ท่านสามารถเทศน์สอนศาสนาได้โดยเสรีในเวลาต่อมา พระสังฆราชปัลเลอกัวได้แต่งหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยมีชื่อว่า "Description du Royaume Thai ou Siam" ตีพิมพ์ที่กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1854 และยังได้จัดทำพจนานุกรมเป็นภาษาต่างๆ ถึง 4 ภาษาด้วยกันมีชื่อว่า "สัพะ พะจะนะ พาสา ไท" พจนานุกรมเล่มนี้ใช้เวลาในการทำถึง 10 ปี ด้วยความมานะ พยายามของท่าน นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลต่อประวัติศาสตร์ของชาวไทยโดยเฉพาะในเรื่องภาษาศาสตร์ นอกจากนี้ท่านยังแต่งหนังสืออีกหลายเล่ม ทั้งหนังสือคำสอน และหนังสือที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาไวยากรณ์ไทย พระสังฆราชปัลเลอกัวปกครองมิสซังสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ในปี ค.ศ. 1849 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้ทรงขับไล่มิชชันนารีฝรั่งเศส 8 องค์ ออกจากประเทศ เนื่องจากพวกท่านเหล่านั้นไม่ยอมร่วมมือในงานพระราชพิธีงานหนึ่งที่พระองค์ทรงจัดขึ้น ซึ่งขัดต่อข้อความเชื่อของคริสตศาสนา
              

มิชชันนารีเหล่านี้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1851 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในปี ค.ศ. 1856 ประเทศสยามได้ทำสนธิสัญญากับประเทศฝรั่งเศส สนธิสัญญานี้อนุญาตให้ชาวสยามมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา อนุญาตให้บรรดามิชชันนารีประกาศศาสนาโดยเสรี ให้สร้างบ้านเณร ก่อตั้งโรงเรียน และโรงพยาบาล และสามารถเดินทางไปในที่ต่างๆ ในประเทศได้ สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9 ทรงทราบเรื่อง จึงทรงมีพระสมณสาสน์ฉบับแรกลงวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1852 ส่วนฉบับที่สองลงวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1861 มาแสดงความขอบพระทัยที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อบรรดาคริสตังไทยเป็นอย่างดียิ่ง ตลอดสมัยการปกครองของพระสังฆราชปัลเลอกัว มิสซังได้รับสันติสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมิสซังและต่อพระสังฆราช พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการให้จัดงานศพของพระสังฆราชอย่างสมเกียรติที่สุด
             พระสังฆราชดือปองด์ (Dupond 1865-1872) ปกครองมิสซังสยามเป็นเวลา 7 ปี จำนวนคริสตังได้เพิ่มขึ้นทุกแห่ง ท่านได้สร้างวัดใหม่ 8 แห่ง จำนวนมิชชันนารีทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศสยามในสมัยของท่านมีถึง 21 องค์ เนื่องด้วยพระสังฆราชดือปองด์เป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้น และสามารถพูดภาษาสยามและภาษาจีนพื้นเมืองได้ดี ท่านสามารถทำงานท่ามกลางชาวสยามและชาวจีนได้ดี มีการกลับใจมากมายโดยเฉพาะจากบรรดาชาวจีน มีการเปิดกลุ่มคริสตชนในที่ใหม่หลายแห่ง โดยเฉพาะในย่านที่มีคนจีนอาศัยอยู่ เมื่อพระสังฆราชดือปองด์ถึงแก่มรณภาพในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1872 มิสซังสยามมีคริสตชนจำนวน 10,000 คน มีมิชชันนารีชาวยุโรปจำนวน 20 องค์ และมีพระสงฆ์พื้นเมือง 8 องค์
               ประเทศสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูป มีการนำเอาความรู้ทางตะวันตกใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ เรียกได้ว่ามีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ประเทศชาติกำลังเจริญก้าวหน้าขึ้น ในสมัยเดียวกันนี้ พระสังฆราชยัง หลุยส์ เวย์ (Jean Louis Vey 1875-1909) เป็นผู้ปกครองมิสซังสยาม นอกจากพระสังฆราชเวย์จะมีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าแผ่นดินและกับทางราชการแล้ว การแพร่ธรรมของมิสซังก็เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมากด้วย ท่านได้ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมีอยู่ในประเทศโดยก่อตั้งโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ก่อตั้งวิทยาลัย และโรงเรียนต่างๆ ได้เชิญคณะนักบวชต่างๆ เข้ามาทำงาน เช่น คณะแซงต์โมร์, คณะเซนต์ ปอล เดอ ชาร์ตร, คณะเซนต์คาเบรียล เข้ามาช่วยงานในมิสซัง นับเป็นความคิดริเริ่มที่บังเกิดผลอย่างมหาศาลต่อมิสซัง มีการพิมพ์หนังสือขึ้นใช้ในการสอนศาสนาจำนวนมาก พระสังฆราชเวย์ได้แต่งหนังสือขึ้นมาหลายเล่ม และส่งเสริมให้บรรดามิชชันนารีแต่งหนังสือเพิ่มขึ้นด้วย
              

พระสังฆราชเวย์มีความรู้ความสามารถทางด้านภาษา ท่านจึงได้นำหนังสือ "สัพะ พะจะนะ พาสา ไท" ของพระสังฆราชปัลเลอกัวมาแก้ไขปรับปรุงใหม่ นับเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีคุณค่าทั้งต่อมิสซังสยามและต่อประเทศไทย หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า "ศริพจน์ภาษาไทย์" พิมพ์ในปี ค.ศ. 1896
              

อุปสรรคประการสำคัญในการทำงานประกาศศาสนาในสมัยของพระสังฆราชเวย์ ได้แก่ การเผชิญหน้ากับสมาคมลับของชาวจีน ซึ่งเรียกกันว่า "อั้งยี่" หรือ "ตั่วเฮีย" ทำให้การประกาศศาสนากับชาวจีนต้องประสบกับปัญหาอยู่เสมอๆ นอกจากนี้ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งคือ ประเทศสยามมีปัญหาทางการเมืองกับประเทศฝรั่งเศสด้วยเรื่องการเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในปี ค.ศ. 1894 (ร.ศ. 112) เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวสยามถือว่าชาวฝรั่งเศสเป็นศัตรู รวมทั้งคริสตศาสนาซึ่งเป็นศาสนาของชาวฝรั่งเศสก็เป็นศาสนาของศัตรูด้วย ประเทศสยามและประเทศฝรั่งเศสต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 1907 ประเทศสยามได้ยกดินแดนพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมราฐ ให้แก่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหมายความว่าตลอดช่วงสมัยของพระสังฆราชเวย์ มิสซังสยามต้องประสบกับความกดดันทางการเมืองเหล่านี้อยู่เสมอมา ต้องทำงานกับประชาชนซึ่งมองดูมิชชันนารีด้วยสายตาแห่งความเป็นศัตรู
              

การเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งที่ทำให้เห็นว่ามิสซังสยามเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมากได้แก่การแต่งตั้งมิสซังลาว แยกออกจากการปกครองของมิสซังสยามในปี ค.ศ. 1889 มีพระสังฆราชกืออาส (Cuaz) เป็นผู้แทนพระสันตะปาปา ทำหน้าที่ปกครองดูแลมิสซังใหม่นี้เป็นองค์แรก นอกจากนี้พระสังฆราชเวย์ยังได้เริ่มบุกเบิกงานแพร่ธรรมไปสู่ส่วนต่างๆ ของประเทศมากขึ้นทั้งทางภาคเหนือและภาคใต้ งานต่างๆ เหล่านี้ได้รับการส่งเสริมอย่างดียิ่งและบังเกิดผลมากขึ้นในสมัยพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส (Ren้ Perros 1909-1947) เรียกได้ว่ามิสซังสยามเจริญก้าวหน้าขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ช้าๆ แต่มั่นคง
 

ในสมัยของพระสังฆราชแปร์รอสนี้เอง ได้มีการขยายงานแพร่ธรรมออกไปอย่างกว้างขวางทั้งทางภาคเหนือและภาคใต้ เขตปกครองทางราชบุรีได้ถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นดินแดนอิสระ และได้มอบให้พระสงฆ์คณะซาเลเซียนเป็นผู้ทำงานในเขตใหม่นี้ในปี ค.ศ. 1930 ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี มิสซังราชบุรีได้รับการยกขึ้นเป็นกิ่งมิสซังมีพระสังฆรักษ์เป็นผู้ปกครอง (Apostolic Prefecture) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1934 และที่สุดได้รับการยกขึ้นอีกครั้งเป็นมิสซังหรือเทียบสังฆมณฑลเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1941 เขตปกครองทางจันทบุรีก็ได้รับการยกขึ้นเป็นมิสซังหรือเทียบสังฆมณฑลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1944
              

พระสังฆราชแปร์รอสมีความคิดที่ว่าเมื่อมีวัดคาทอลิกที่ไหน ก็ต้องมีโรงเรียนที่นั่นด้วย เพื่อเป็นสถานที่สำหรับอบรมสั่งสอน และให้การศึกษาแก่ลูกหลานคริสตังและลูกคนต่างศาสนา ดังนั้นในสมัยของท่านจึงมีโรงเรียนต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะโรงเรียนของวัด นอกจากนี้ยังมีคณะนักบวชต่างๆ จากต่างประเทศเดินทางเข้ามาทำงานอย่างมากมายหลายคณะ เช่น คณะอูรสุลิน เข้ามาในปี ค.ศ. 1924 จัดตั้งโรงเรียนมาร์แตร์เดอี และโรงเรียนวาสุเทวีขึ้นที่กรุงเทพฯ จัดตั้งโรงเรียนเรยีนาเชลีขึ้นที่เชียงใหม่ ต่อมาในปี ค.ศ. 1925 ภคินีคณะคาร์เมไลท์เดินทางเข้ามาทำงานในด้านต่างๆ คณะซาเลเซียนเข้ามาในปี ค.ศ. 1927 เป็นต้น การเข้ามาของคณะนักบวชต่างๆ เหล่านี้ ทำให้งานทางด้านการศึกษาเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้พระสังฆราชแปร์รอสมีบุคลากรเพิ่มขึ้น และสามารถขยายงานออกไปยังที่ต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สงครามอินโดจีนซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นอุปสรรค สำคัญที่ทำให้งานประกาศพระศาสนาต้องหยุดชะงักลง ชาวไทยมองดูมิชชันนารีฝรั่งเศสและคริสตศาสนาเป็นศัตรูอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้มีเหตุการณ์รุนแรงมาก คณะเลือดไทยซึ่งต่อสู้อย่างเต็มที่กับอิทธิพลของฝรั่งเศสในประเทศไทยได้ทำหน้าที่ในการปกป้องประเทศคริสตศาสนาอ่อนแอลงมาก บรรดามิชชันนารีฝรั่งเศสหลายองค์ต้องเดินทางออกนอกประเทศ และถูกห้ามทำการเผยแพร่ศาสนา เหตุการณ์ในครั้งนั้นคริสตชนชาวไทยหลายคนถูกจับ พระสงฆ์ 5 องค์ ถูกจำคุกเพราะความเข้าใจผิด คริสตชนบางคนถูกฆ่าตาย แต่พระสังฆราชแปร์รอสก็มิได้ท้อถอย พยายามที่จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น คอยดูแลเอาใจใส่บรรดามิชชันนารีและพระสงฆ์พื้นเมืองไม่ให้เสียกำลังใจ มิสซังสยามได้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ในครั้งนั้นมาได้ด้วยดี เนื่องจากความชราภาพ ท่านได้ลาออกจากประมุขมิสซังในปี ค.ศ. 1947 และเลือกไปทำงานกับกลุ่มคริสตชนเล็กๆ ที่เชียงใหม่ต่อไป

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2010