ที่มา จาก เว็บหอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  
                               โดย ...บาทหลวงสุรชัย  ชุ่มศรีพันธุ์

จุดเริ่มต้นของพระศาสนจักรในเมืองไทย

มีเหตุผลบางประการ ที่ทำให้ต้องแยกเรื่องราวนี้ออกจากการเข้ามาครั้งแรกของคำสอนคริสตังในประเทศสยาม นั่นคือการเข้ามาของมิชชันนารีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ามาอภิบาลชนชาติของตนเองที่อยู่ในประเทศสยาม ทั้งการเข้ามาก็ขาดระยะ ไม่ต่อเนื่อง จุดมุ่งหมายหลักของพวกนี้จึงเป็นแค่เพียงให้ประเทศสยามเป็นทางผ่าน เพราะการปกครองของชาวสยามไม่เบียดเบียนศาสนา ทางผ่านนี้เพื่อมุ่งหน้าไปทำงานที่ประเทศอื่นๆ เช่น โคจินจีน, ตังเกี๋ย, จีน, กัมพูชา, ลาว อีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อคณะสงฆ์คณะใหม่เข้ามาในประเทศสยาม ได้แก่  คณะสงฆ์พื้นเมืองมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ได้มีพระสังฆราชเข้ามาด้วยเพื่อทำหน้าที่ปกครอง และยังได้เป็นผู้ก่อตั้งมิสซังสยามขึ้นมาอย่างเป็นทางการ โดยขออนุญาตจากทางกรุงโรม จนทำให้มิสซังสยามเป็นมิสซังแรกของการทำงานของคณะนี้ด้วย พระสงฆ์คณะนี้จึงมีความสำคัญและมีบทบาทอย่างต่อเนื่องในมิสซังสยามนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบทความนี้เพียงแต่ต้องการสรุปเหตุการณ์ที่สำคัญๆ เท่านั้น จึงยังไม่ได้ให้รายละเอียดทั้งหมดไว้
              

บรรดามิชชันนารีคณะโดมินิกัน, คณะฟรังซิสกัน หรือ คณะเยสุอิตก็ตาม ต่างเข้ามาในประเทศสยามในฐานะมิชชันนารีที่ถูกส่งมาโดยกษัตริย์ของประเทศโปรตุเกสและประเทศสเปน เพราะทั้งสองประเทศนี้ได้รับอภิสิทธิ์จากพระศาสนจักรที่จะเข้าครอบครองดินแดนใหม่ๆ และมีอภิสิทธิ์ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียวในการเผยแพร่พระวรสาร ซึ่งเรียกกันทั่วๆ ไปว่าอภิสิทธิ์ปาโดรอาโด (Padroado) ต่อมาพระศาสนจักรเห็นว่า อภิสิทธิ์นี้ทำให้สิทธิ์ในการเผยแพร่พระวรสารซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงและสำคัญมากนี้ของพระศาสนจักรลดน้อยลง และมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย สมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 15 จึงทรงสถาปนากระทรวงหนึ่งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1622 มีชื่อว่า สมณกระทรวงว่าด้วยการเผยแพร่ความเชื่อ หรือที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า โปรปากันดา ฟีเด (Propaganda Fide) เพื่อให้พระศาสนจักรได้รับอำนาจการเผยแพร่ศาสนากลับคืนมา สมณกระทรวงใหม่นี้ทำหน้าที่แพร่ธรรมโดยตรง คำว่า มิสซัง (Mission) ก็ถูกใช้โดยสมณกระทรวงนี้ตั้งแต่แรกๆ เพราะคำว่ามิสซังนี้หมายถึงการส่งออกไป อันได้แก่การส่ง ผู้แทนพระสันตะปาปา (Apostolic Vicars) ออกไปทำงานในนามของพระสันตะปาปา โดยพยายามอย่างเต็มที่ที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประเทศโปรตุเกสและประเทศสเปนด้วย แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาได้ ในเวลานั้นมีพระสงฆ์คณะเยสุอิตองค์หนึ่งคือ คุณพ่ออเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ (Alexandre de Rhodes) ได้ขอให้จัดส่งพระสังฆราชไปตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อบวชพระสงฆ์พื้นเมือง และให้พวกเขาทำหน้าที่แพร่ธรรมในหมู่ประชาชนของตนได้ ในที่สุดด้วยความร่วมมือและช่วยเหลือของหลายๆ คน คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสจึงได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1659 และเป็นผู้นำพระวรสารไปยังดินแดนต่างๆ ของโลกในเวลาต่อมาอย่างมีปะสิทธิภาพ หลังจากการแต่งตั้งประมุขมิสซังต่างๆ แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1663 สามเณราลัยมิสซังต่างประเทศก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการที่กรุงปารีส เพื่อเป็นสถานที่อบรมและส่งมิชชันนารีใหม่ไปยังภาคตะวันออกไกลต่อไป

 

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2010