ที่มา จาก เว็บหอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  
                               โดย ...บาทหลวงสุรชัย  ชุ่มศรีพันธุ์

ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย

ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกไทยฉบับนี้เป็นฉบับย่อ เขียนขึ้นจากงานเขียนที่ทำไว้ก่อนแล้ว มีเนื้อหาเพิ่มเติมมากขึ้นเล็กน้อย การที่นำเอาประวัติศาสตร์นี้มาลงในหนังสืออนุสรณ์ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย และนครรัฐวาติกัน ครบรอบ 25 ปีนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเหมือนกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

การศึกษาประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกไทยของเรายังไม่สมบูรณ์ มีอีกหลายเรื่องหลายประเด็นที่ยังคงเปิดกว้างให้ทำการศึกษากันต่อไปได้ เวลาเดียวกันการศึกษาที่ผ่านมาแล้วนี้ ก็ยังอาจจะมีอีกบางประเด็นที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและเพิ่มเติม งานเขียนนี้จึงเปิดกว้างรับความคิดเห็น รวมทั้งรับข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งอาจจะมีจากบรรดาผู้รู้หลายๆ ท่าน  ข้อมูลบางอย่างในบทความนี้เป็น  ข้อมูลที่ยอมรับกันแล้ว ผู้เขียนก็จะไม่อ้างอิงไว้ที่นี้ แต่จะอ้างอิงเฉพาะเท่าที่เห็นว่าเหมาะสมเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อมิให้เนื้อหามากจนเกินไป

1.การเข้ามาครั้งแรกของคำสอนคริสตัง
               นักประวัติศาสตร์ชาวซีเรียและอาหรับ ซึ่งศึกษาถึงเส้นทางการค้าที่เชื่อมโยงระหว่างเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางทะเล ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า พระชาวอียิปต์รูปหนึ่งชื่อ คอสมา (Cosmas) พบรายงานต่างๆ ซึ่งเขียนขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 520-525 ว่า มีกลุ่มคริสตชนในเอเชียอาคเนย์ โดยรวมถึงอินเดีย ศรีลังกา พม่าทางใต้ โคชินจีน สยามและตังเกี๋ย
               นักประวัติศาสตร์อีกผู้หนึ่งชื่อ คอลเลส (Colles) ได้กล่าวว่า ลูโดวิโก ดิ วารทิมา (Ludovico di Varthima) ชาวโบโลญ ได้เดินทางเข้ามาในเอเชียอาคเนย์ในปี ค.ศ. 1503 หรือ ค.ศ. 1504 บอกว่าเขาได้พบกับพ่อค้าชาวเนสตอเรียนที่มาจากอยุธยาในเบงกอล เนสเตอเรียนเป็นคริสตชนแบบหนึ่งซึ่งมีข้อคำสอนบางข้อที่ฝ่ายคาทอลิกไม่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม ในความเชื่อถึงพระเยซูคริสตเจ้านั้นมีเหมือนกัน ถือเป็นคริสตชนกลุ่มหนึ่ง เป็นอันว่าข้อมูลเบื้องต้นนี้เราอาจสรุปได้ว่า มีความเป็นไปได้ว่าพวกเนสตอเรียนจะเข้ามาในดินแดนสยามตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 หรือไม่ก็ราวๆ ศตวรรษที่ 13 แล้ว และต่อมาก็ไม่ปรากฏร่องรอยของพวกเขาอีกเลย

เป็นที่ยอมรับกันว่าคริสตศาสนานั้นเข้ามาในแผ่นดินสยามพร้อมๆ กับการเข้ามาของฝรั่งชาติแรกคือโปรตุเกส นับตั้งแต่อาโฟโซ ดาลบูเคอร์ก (Alfoso d'Albouquerque) ยึดมะละกาได้ในปี ค.ศ. 1511 และได้ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์สยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นับตั้งแต่นั้นมาชาวโปรตุเกสได้รับราชการอยู่ในแผ่นดินสยามและมีกลุ่มชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยามด้วย ชาวโปรตุเกสนั้นนับถือศาสนาคริสต์ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่จะมีมิชชันนารีติดตามกลุ่มคริสตชนเข้ามาทำหน้าที่อภิบาลในท่ามกลางชาวโปรตุเกส แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานใดๆ ยืนยันถึงเรื่องนี้ 
              

อาจารย์บุญยก ตามไท ได้เขียนไว้ในวารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 9 เกี่ยวกับเรื่องการเข้ามาของชาวโปรตุเกสในประเทศสยามไว้อย่างน่าสนใจ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า "มีเกล็ดประวัติศาสตร์บันทึกโดยฝรั่งว่า เมื่อปี พ.ศ. 2087 (1544) อันโตนิโอ เด ปายวา (Antonio de Paiva) ชาวโปรตุเกสได้เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชาธิราช และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าและสนทนาเรื่องราวเกี่ยวกับคริสตศาสนากับพระองค์จนเลื่อมใส และพระองค์ทรงได้รับพิธี Baptise (พิธีล้างบาป) ได้รับพระราชทินนามเป็นภาษาโปรตุเกสว่า Dom Joao ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์พิเศษอย่างยิ่ง"  เรื่องนี้แม้จะไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่าเป็นความจริงด้วยเหตุผลบางประการ แต่หากว่าเราติดตามเรื่องนี้ให้ดีก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน เพราะว่าหนังสือประวัติศาสตร์ไทยบางฉบับได้วงเล็บการสิ้นพระชนม์ของพระชัยราชาว่า ถูกลอบวางยาพิษสิ้นพระชนม์
              

นอกจากนี้ในหนังสือ Documenta Indica ซึ่งมีอยู่ 2 เล่ม รวมทั้งนักศึกษาที่เป็นชาวยุโรปบางท่าน ได้ให้หลักฐานที่บอกไว้อย่างชัดเจนว่า คนที่ชื่อ อันโตนิโอ เด ปายวา ได้โปรดศีลล้างบาปให้กษัตริย์ไทย ตั้งชื่อให้ด้วยว่า Dom Joใo หรือนักบุญยวงที่เราเรียกกัน เราคงตามเรื่องนี้ต่อไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

ต่อมาประเทศสยามเกือบจะได้รับเกียรติจากท่านนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ เมื่อท่านได้เขียนจดหมาย 4 ฉบับ ถึงเพื่อนของท่านที่มะละกา ในปี ค.ศ. 1552 ท่านได้เขียนจดหมายแสดงเจตจำนงว่าท่านปรารถนาจะเดินทางมาที่ประเทศสยาม เพื่อร่วมเดินทางไปกับเรือสินค้าของประเทศสยามเข้าสู่ประเทศจีน แต่ที่สุดแล้วท่านก็ไม่ได้มาเพราะท่านเสียชีวิตในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1552 นั้นเอง แม้ว่านักบุญฟรังซิส เซเวียร์ จะไม่ได้เดินทางเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาโดยตรง แต่เซอร์ จอห์น เบาวริ่ง ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่เขียนเกี่ยวกับอาณาจักรและประชาชนชาวสยามว่า ผู้ที่ได้รับเกียรติเป็นผู้สอนศาสนาคริสต์ในประเทศสยามเป็นคนแรก ได้แก่ ท่านนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ผู้ซึ่งได้ประกาศศาสนาในมะละกา และสิงคโปร์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นประเทศราชของประเทศสยาม ประโยชน์ประการหนึ่งที่เราได้รับจากการศึกษาจดหมายทั้ง 4 ฉบับนั้นคือ ทำให้เราทราบว่าคำว่า สยาม นั้น พวกโปรตุเกสใช้เรียกแผ่นดินของเราก่อนปี ค.ศ. 1592 ตามที่ประวัติศาสตร์กล่าวไว้

หลักฐานที่เราพบแน่ชัดชี้ให้เห็นว่า คณะมิชชันนารีคณะแรกที่เข้ามาเมืองไทยนั้น ได้แก่ มิชชันนารีคณะโดมินิกัน 2 ท่าน คือ คุณพ่อเยโรนิโม ดา ครู้ส (Jeronimo da Cruz) และคุณพ่อเซบาสติอาว ดา กันโต (Sebastiใo da canto) ชื่อของท่านทั้งสองนี้ไม่มีข้อสงสัยอะไร เพราะจากหนังสือต่างๆ ได้ให้ชื่อนี้ไว้ตรงกัน แต่ปีที่ท่านทั้งสองเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยานั้นมีข้อสงสัยกันอยู่ว่า เป็นปีใดแน่ หนังสือต่างๆ หลายเล่มเขียนไว้ว่าเป็นปี ค.ศ. 1555 ผู้เขียนพยายามหาหลักฐานเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้นโดยติดตามข้อเสนอของคุณพ่อร็อคโก (Rocco) ที่เขียนลงในวารสารแสงธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 บอกว่า ปีที่มิชชันนารีทั้งสองเข้ามาเมืองไทยนั้นได้แก่ปี ค.ศ. 1567 เอกสารของคณะโดมินิกันที่ผู้เขียนได้ไปค้นคว้ามา ได้พูดไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นปี ค.ศ. 1567 รวมทั้งประวัติของคณะโดมินิกันที่พูดถึงเรื่องนี้ก็ได้ระบุปีไว้ว่า เป็นปี ค.ศ. 1567 จึงไม่น่าที่จะสงสัยกันอีกต่อไปว่า ปีที่ท่านทั้งสองเข้ามาในประเทศสยามนั้นเป็นปี ค.ศ. 1567 นี้เอง

นอกจากนี้ประวัติเรื่องราวของท่านทั้งสองยังสอดคล้องกับปีที่กล่าวมานี้อีกด้วย คุณพ่อเยโรนิโมถูกฆ่าตายเพราะความอิจฉาของกลุ่มคนบางกลุ่ม ในขณะที่คุณพ่อเซบาสตีอาวถูกทำร้ายบาดเจ็บ แต่คุณพ่อได้ทูลขอพระกรุณาจากพระมหากษัตริย์ให้ยกโทษผู้กระทำผิดต่อท่าน ทั้งยังได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตให้นำเอามิชชันนารีมาเพิ่มเติม ซึ่งในที่สุดก็มีมิชชันนารีใหม่อีก 2 ท่าน เดินทางเข้ามาในประเทศสยาม พม่าบุกเข้าทำลายกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1569 ซึ่งจากหลักฐานของ ดา ซิลวา (Da Silva) บอกว่าคุณพ่อทั้งสามได้ถูกพม่าฆ่าตายขณะที่กำลังสวดภาวนาพร้อมกันในวัดของท่าน

ดังนั้นปีที่เราน่าจะถือว่าเป็นปีทางการที่คำสอนคริสตังเข้ามาในประเทศสยาม น่าจะเป็นปี ค.ศ. 1567 หลังจากนี้มิชชันนารีคณะโดมินิกันและคณะฟรังซิสกันก็ทยอยกันเข้ามาในประเทศ สยามเป็นระยะๆ มีทิ้งช่วงอยู่บ้างหลายตอน คณะฟรังซิสกันเริ่มเข้ามาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1582 ปีนี้ก็เช่นกันแต่เดิมเราเชื่อกันว่าคณะฟรังซิสกันเข้ามาในประเทศสยามครั้งแรกปี ค.ศ. 1585 แต่จากหลักฐานที่เขียนขึ้นโดยคณะฟรังซิสกันเอง ซึ่งเขียนขึ้นจากเอกสารของคณะ ระบุว่าปีที่เข้ามานั้นเป็นปี ค.ศ. 1582

เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับการแพร่ธรรมขอมิชชันนารีทั้งของคณะโดมินิกันและคณะฟรังซิสกันในประเทศสยาม หลักฐานของคณะเองจึงเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากที่สุด ปีสุดท้ายที่เราพบมิชชันนารีคณะฟรังซิสกันในประเทศสยามก็คือปี ค.ศ. 1755 มิชชันนารีที่เข้ามาในประเทศสยามอีกคณะหนึ่ง ได้แก่ คณะสงฆ์เยสุอิต ซึ่งกำลังทำงานแพร่ธรรมอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างขยันขันแข็งและได้ผลดียิ่ง จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก คุณพ่อองค์แรกที่เข้ามาในประเทศสยาม ได้แก่ คุณพ่อบัลทาซาร์ เซเกอีรา (Balthasar Segueira) ซึ่งเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาระหว่างวันที่ 19-26 มีนาคม 1607  ต่อมาก็ค่อยๆ มีพระสงฆ์เยสุอิตทยอยกันเข้ามาเรื่อยๆ จนในที่สุดได้มีการจัดสร้างที่อยู่อย่างถาวร วัด โรงเรียน และวิทยาลัยซึ่งมีชื่อว่า ซาน ซัลวาดอร์ (San Salvador) ขึ้นในประเทศสยาม โดยส่วนใหญ่พวกมิชชันนารีคณะเยสุอิตนี้จะทำงานกับชาวญี่ปุ่นที่มีค่ายของตนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับชนชาติอื่นๆ ในสมัยนั้นงานแพร่ธรรมของพวกท่านได้ถูกบันทึกโดยพวก มิชชันนารี และมีการจัดพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นมาหลายเล่ม น่าสนใจมาก แต่งานแพร่ธรรมก็มีอุปสรรคอยู่เสมอ และเนื่องจากพวกพระสงฆ์เยสุอิตมีบทบาทสำคัญอยู่ทั่วไปในขณะนั้น อุปสรรคจึงดูเหมือนว่ามีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1767 แล้ว พวกมิชชันนารีต่างๆ เหล่านี้ก็ขาดระยะการทำงานไป

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2010