ผู้สืบตำแหน่งแทน เซนต์ปีเตอร์ ที่กรุงโรม

1. หลักฐานที่สำคัญที่ปรากฏอยู่ชัดคือ เซนต์ปีเตอร์เป็นมรณสักขีที่กรุงโรมและที่ตรงนั้นเองได้กลายเป็นศูนย์กลางพระศาสนจักร และยังคงยืนยันถึงการเป็นพยานของพระวาจาพระเจ้าจนถึงทุกวันนี้

เป็นความจริงที่ว่าเซนต์ปีเตอร์ได้ย้ายศูนย์กลางการเป็นประจักษ์พยานในพระคริสต์จากกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นพระศาสนจักรแม่มาสู่กรุงโรม และยกฐานะโรมเป็นศูนย์กลางแห่งพระศาสนจักรแห่งใหม่  ซึ่งนักบุญเคลเมนท์และนักบุญอิกญาซีโอแห่งอันทิโอ๊ก ได้บอกในจดหมายของท่านถึงความสำคัญแห่งพระศาสนจักร  ณ กรุงโรม  และคริสตชนในยุคแรก  ที่ให้ความสำคัญสูงสุดแก่ศูนย์กลางแห่งนี้

2. กรุงโรม  กลายเป็นศูนย์กลางพระศาสนจักรแห่งอัครสาวก  "มีฐานะพิเศษและเที่ยงแท้ที่สุด"  เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีผู้สืบตำแหน่งอัครสาวกแบบต่อเนื่อง  ตั้งแต่เริ่มแรกก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือกว่าสองพันปีมาแล้ว

3. ตามคำอ้างอิงของ เอ็วซีนีอุสแห่งเซซารีอา  นักประวัติศาสตร์ในยุคแรก  ซึ่งเป็นชาวปาเลสไตน์กล่าวไว้ว่า ความจริงมีศูนย์กลางพระศาสนจักรที่ตั้งโดยเซนต์ปีเตอร์ 3  แห่งด้วยกันคือ  กรุงโรม  กรุงอันทิโอ๊ก และกรุงอเล็กซานซานเดรียแห่งอิยิปต์ (ซึ่งตั้งโดยเซนต์มาร์คแต่รับรองและสนับสนุนโดยเซนต์ปีเตอร์)  แต่ว่ากรุงโรมเป็นที่ที่เซนต์ปีเตอร์เป็นมรณสักขีและเป็นศูนย์กลางศาสนจักรที่เด่นที่สุดในระหว่าง 3  แห่งที่กล่าวมา  ผู้ที่เป็นพยานเรื่องนี้คือ  เซนต์อีเรนีอุส  (ปี ค.ศ. 180)ซึ่งเขียนไว้ว่า  ศูนย์กลางพระศาสนจักร  ณ กรุงโรม  เป็นต้นหลักแห่งการใช้อำนาจอัครสาวก  หรือเรียกว่า  "POTENTIOR PRIN CIPALITAS"

4. ศูนย์กลางพระศาสนจักร  ณ กรุงโรม  และการพัฒนาพระศาสนจักรมีลำดับขั้นตอนเป็นมาดังนี้ : การบริหารงานและการใช้อำนาจแห่งฐานพระสันตะปาปาในระยะเริ่มแรก ณ  กรุงโรมพัฒนาขึ้นตามลำดับ แต่เดิมศูนย์กลางอันนี้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานมากมายโดยเฉพาะทางการกุศลและทางสังคมสงเคราะห์ อันเป็นเครื่องหมายแห่งความรักเพื่อนมนุษย์  มากกว่าการใช้อำนาจสั่งการหรือแทรกแซงในหน่วยงาน แต่จากทีละเล็กทีละน้อย การใช้อำนาจของศูนย์กลางนี้ก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ตัวอย่างเช่น จดหมายของนักบุญเคลเมนต์  ที่เขียนถึงชาวโครินทร์  ในช่วงปลายศตวรรษแรก เป็นกรณีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากชาวโครินทร์  (ประเทศกรีซ)  เมื่อเกิดการพิพาท ฐานะอำนาจบัลลังก์ที่กรุงโรมถูกยอมรับมากขึ้น  และศูนย์กลางนี้เองก็ตระหนักดีถึงความรับผิดชอบที่มีต่อกลุ่มศาสนจักรในที่อื่นๆ  เมื่อเกิดกรณีขัดแย้ง  หรือเกิดสถานการณ์ตึงเครียด  การไม่เข้าใจต่อกันและกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในกรณีที่มีข้อโตแย้งเกิดขึ้นในศาสนจักรท้องถิ่น  อันนำมาซึ่งความแตกแยกในหมู่คริสตชน  ทุกกลุ่มจะมุ่งไปหาความยุติธรรม และการตัดสินปัญหาจากกรุงโรมทันที ตัวอย่างเช่น ในศตวรรษที่  4  เซนต์ เยโรมเขียนจดหมายถึงพระสันตะปาปาเซนต์ดามาซุสดังนี้  "ข้าพเจ้าไม่ติดตามใครทั้งสิ้นในฐานะผู้นำ  นอกจากพระเยซูคริสต์ผู้เดียวดังนั้นข้าพเจ้าจึงต้องการให้คงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวในศาสนจักรกับตัวท่าน นั่นคือ  คงอยู่แห่งบัลลังก์แห่งอัครสาวกปีเตอร์ ข้าพเจ้าตระหนักดีว่าบนศิลาแผ่นนี้พระศาสนจักรถูกก่อตั้งขึ้น" (ปีเตอร์ แปลว่า ศิลา) ส่วนเซนต์อัมโบรส ซึ่งอยู่ในสมัยเดียวกันเขียนไว้อย่างกระทัดรัดว่า  "เซนต์ปีเตอร์ อยู่ที่ใดก็ตาม ณ  ที่นั้นคือพระศาสนจักร"

ส่วนทางด้านเทววิทยาเกี่ยวกับการใช้อำนาจสูงสุดในตำแหน่งของพระสันตะปาปานั้น  มีการพัฒนาความคิดหลังจากศตวรรษที่ 4  (เนื้อหาสาระในเรื่องนี้อาจจะพบได้จากจดหมายของพระสันตะปาปาซีรีซีอุส ส่งไปยังปรเทศสเปนในปี  ค.ศ.  385 เนื้อหาสาระสำคัญมากเพราะเป็นหลักฐานการศึกษาด้านเทววิทยาของตำแหน่งพระสันตะปาปา ถ้าหากจะค้นคว้าให้ลึกซึ้งควรจะไปดูช่วงระหว่างพระสันตะปาปาซีรีซีอุส พระสันตะปาปาเลโอที่  1 (ค.ศ.410 - 461)  ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เริ่มถกเถียง และอภิปรายกันมากมายเทววิทยาและกฎหมาย ถึงอำนาจของพระสันตะปาปา  ณ กรุงโรม  และการพัฒนาความคิดในยุคแรกๆ  ของพระศาสนจักร

5.เกี่ยวกับพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม  และพระสังฆราชแห่กรุงโรม การพัฒนาและความสัมพัน์กันระหว่างตำแหน่งเอกของพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม  -  พระสังฆราชแห่งกรุงโรม หรือพระสันตะปาปามีหลักฐานปรากฏดังนี้

ก.นักบุญเคลเมนท์ เขียนจดหมายถึงชาวโครินทร์ที่กรีซ โดยท่านเริ่มคำนำของจดหมายว่าดังนี้  "พระศาสนจักรแห่งกรุงโรม ถึงพระศาสนจักรแห่งเมืองโครินทร์"

ข.นักบุญอีเรนุส  เขียนข้อความยืนยันดังนี้  "ขนบธรรมเนียมและการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ของอัครสาวกถูกเก็บไว้ในพระศาสนจักรต่างๆ โดยอัครสาวกเอง และผู้สืบตำแหน่งแทน"

ค.นักบุญอิกญาซีโอแห่งอันทิโอ๊ก เน้นในขณะที่ท่านต้องเป็นมรณะสักขี  (ปี ค.ศ.107) เขียนไว้ว่าคริสตชนแห่งโรม  มีชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น เนื่องมาจากอัครสาวก  2 ท่านคือ  เซนต์ปีเตอร์  และเซนต์ปอล ทั้งสองมิอาจแยกออกจากกันได้  ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายคือพระศาสนจักรของพระคริสต์ ซึ่งจะต้องโดดเด่นในเรื่องความรักซึ่งกันและกัน

ง.ธรรมเนียมการอวยพรของพระสันตะปาปาที่มอบให้กับ"กรุงโรม"  และแก่โลกทั้งมวล  (Urbi  et Orbi)  ในโอกาสฉลองสำคัญๆ ของพระศาสนจักรปฏิบัติต่อมาอย่างไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน  พระสันตะปาปาจะกล่าวอวยพรว่าดังนี้   "ในนามและพร้อมกับอำนาจของเซนต์ปีเตอร์  และเซนต์ปอล ตลอดจนบรรดาอัครสาวกและบรรดามรณสักขี…"นอกนั้นตามปฏิทินของพระศาสนจักร  เราจะฉลองเซนต์ปีเตอร์และเซนต์ปอลพร้อมกัน  ในวันที่  29  มิถุนายน  ของทุกๆ ปี

เอกลักษณ์เฉพาะของพระศาสนจักรแห่งโรมและตำแหน่งเอกหรือพระสันตะปาปา ก็คือตำแหน่งของพระสังฆราชแห่งโรมนั่นเอง  ในฐานะที่เป็นผู้นำเนื่องจากว่าท่านเป็นพระสังฆราชแห่งพระศาสนจักรกรุงโรมท่านจึงเป็นบุคคลหมายเลขหนึ่งหรือตพแหน่งเอกในบรรดาสังฆราชทั้งหลาย ท่านจึงมีสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ ที่ได้รับพระคุณของพระจิตเจ้า และท่านต้องเป็นผู้นำชีวิตของพระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ ด้วย

สังเกตว่าวิวัฒนาการตำแหน่งพระสันตะปาปานั้น พิจารณาและเน้นจากตำแหน่งพระสังฆราชแห่งกรุงโรม พระสันตะปาปาองค์หนึ่ง  มิใช่สืบตำแหน่งจากพระสันตะปาปาองค์หนึ่ง แต่พระสันตะปาปาแต่องค์สืบตำแหน่งมาจากเซนต์ปีเตอร์  เราต้องใช้คำให้ถูกต้อง  เช่น  พระสันตะปาปา  จอห์น ปอล  ที่  2 มิได้สืบตำแหน่งจากพระสันตะปาปา จอห์น  ปอล ที่  1 แต่สืบตำแหน่งจาก "เซนต์ปีเตอร์" ผู้ทรงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรก