Logo

สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสโอกาสเทศกาลมหาพรต ค.ศ. 2019

หมวด: สารปี 2019
เขียนโดย Caritas Thailand
ฮิต: 410

 

สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสโอกาสเทศกาลมหาพรต ค.ศ. 2019

“เพราะสรรพสิ่งต่างกำลังรอคอยอย่างกระวนกระวาย เพื่อพระเจ้าจะได้ทรงบันดาล

ให้บรรดาบุตรของพระองค์ ปรากฏในพระสิริรุ่งโรจน์” (รม  8: 19)

 

พี่น้องชายหญิงที่รัก
    แต่ละปีอาศัยพระศาสนจักรผู้เป็นมารดา พระเจ้า  “ประทานเทศกาลอันน่าชื่นชมยินดีนี้มาให้เรา ในขณะที่เรากำลังเตรียมเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกาด้วยจิตใจที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่... เฉกเช่นเมื่อเรารำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่มอบชีวิตใหม่ให้เราในองค์พระคริสตเจ้า (Preface of Lent I)  ดังนั้น เราจึงสามารถเดินทางจากปัสกาหนึ่งไปสู่อีกปัสกาหนึ่ง สู่ความสมบูรณ์แห่งความรอด ซึ่งเราได้รับในฐานะที่เป็นผลแห่งพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า “เพราะเราได้รอดพ้นเพียงในความหวัง” (รม  8 : 24)  รหัสธรรมล้ำลึกแห่งความรอดนี้ทำงานอยู่แล้วในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ เป็นขบวนการทรงพลังซึ่งรวมเป็นประวัติศาสตร์และปรากฏในสิ่งสร้างทั้งปวง ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “เพราะสรรพสิ่งกำลังรอคอยด้วยความกระวนกระวาย เพื่อพระเจ้าจะได้ทรงบันดาลให้บรรดาบุตรของพระองค์ปรากฏในพระสิริรุ่งโรจน์” (รม 8 : 19)  ในมิตินี้ข้าพเจ้าใคร่ที่จะเสนอการไตร่ตรองบางประการเพื่อเป็นเพื่อนร่วมเดินทางในการกลับใจของเรา ในช่วงเทศกาลมหาพรตที่กำลังใกล้เข้ามานี้
1.    การไถ่กู้สิ่งสร้าง
ในการฉลองตรีวารพระทรมานการสิ้นพระชนม์และการเสด็จกลับคืนพระชนมชีพของ
พระคริสตเจ้าซึ่งเป็นจุดสูงสุดของปีพิธีกรรม เรียกร้องให้เราเตรียมเดินทางโดยความเข้าใจว่าชีวิตของเราต้องสอดคล้องกับพระคริสตเจ้านั้น (เทียบ รม  8 : 29) คือพระพรล้ำค่าแห่งพระเมตตาของพระเจ้า
    เมื่อเราดำเนินชีวิตดุจบุตรของพระเจ้า ได้รับการไถ่กู้นำโดยพระจิต (เทียบ รม  8 : 14) และสามารถยอมรับและนบนอบเชื่อฟังบัญญัติของพระเจ้า โดยเริ่มจากบัญญัติที่จารึกอยู่ในหัวใจเราและในธรรมชาติ เราก็ได้รับประโยชน์จากสิ่งสร้างโดยอาศัยการร่วมมือในการไถ่กู้ของสิ่งเหล่านั้นด้วย  นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมนักบุญเปาโลจึงกล่าวว่า สิ่งสร้างกำลังรอคอยอย่างกระวนกระวาย เพื่อพระเจ้าจะทรงบันดาลให้บรรดาบุตรของพระองค์ปรากฏในพระสิริรุ่งโรจน์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ทุกคนที่ได้รับพระหรรษทานแห่งพระธรรมล้ำลึกปัสกาแห่งพระคริสต-เจ้า  จะได้ประสบกับความสำเร็จแห่งการไถ่กู้ของกายมนุษย์นั่นเอง   เมื่อความรักของพระคริสตเจ้าเปลี่ยนชีวิตของนักบุญทั้งจิตใจ กายและวิญญาณ พวกเขาก็ถวายการสรรเสริญแด่พระเจ้า  อาศัยการสวดภาวนา การพิศเพ่ง และศิลปะ พวกเขายังรวมสิ่งสร้างอื่นๆในการแซ่ซ้องสรรเสริญของพวกเขาด้วย ดังที่มีการแสดงให้เห็นอย่างน่าพิศวงในบท “เพลงสรรเสริญแห่งสรรพสัตว์” (Canticles of the Creatures) โดยนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี (เทียบ Laudato Si’, 87) ทว่าในโลกเรานี้ความกลมเกลียวสมานฉันท์ที่เกิดจากการไถ่กู้ มักจะถูกคุกคามอยู่เสมอจากอำนาจมืดแห่งบาปและความตาย
2.    อำนาจทำลายแห่งบาป
อันที่จริง เมื่อเราล้มเหลวที่จะดำเนินชีวิตในฐานะบุตรของพระเจ้า บ่อยครั้งเรามี
พฤติกรรมในเชิงทำลายต่อเพื่อนบ้านของเรา และต่อธรรมชาติ ไม่เว้นแม้แต่ตัวเราเอง   เพราะเราเริ่มคิดโดยรู้ตัวไม่มากก็น้อยว่า เราสามารถใช้มันตามที่เราปรารถนา  การไม่รู้จักพอรุนแรงขึ้น  เราเริ่มดำเนินชีวิตเกินขอบเขตสภาพมนุษย์และธรรมชาติ  เรายอมแพ้ต่อความอยากที่ไม่รู้จักจบสิ้น อย่างที่หนังสือปรีชาญาณบอกว่าเป็นรูปแบบของคนที่ไม่มีพระเจ้า คนที่ทำอะไรโดยไม่คิดถึงพระเจ้าหรือเผื่อความหวังสำหรับอนาคต (เทียบ 2 : 1-11) หากเราไม่มุ่งหน้าไปยังปัส-กาซึ่งเป็นขอบฟ้าใหม่แห่งการเสด็จกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า จิตตารมณ์ที่แสดงออกในคำพังเพยที่ว่า “ข้าพเจ้าต้องการทุกอย่าง และต้องการเดี๋ยวนี้” และ “มากเกินไปก็ยังไม่พอ” ก็จะมีอำนาจเหนือเรา
    ดังที่เราทราบรากเหง้าของความชั่วทุกอย่างคือบาป  ซึ่งตั้งแต่ครั้งแรกแล้วได้ทำลายความเป็นหนึ่งเดียวของเรากับพระเจ้า กับคนอื่น และกับสิ่งสร้าง ซึ่งเรามีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด การขาดสะบั้นในความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้านี้ ทำลายความสัมพันธ์แห่งความสมานฉันท์ของเรากับธรรมชาติ  ซึ่งเราถูกเรียกร้องให้ต้องดำเนินชีวิตร่วมกันจนทำให้สวนอีเดนกลายเป็นถิ่นกันดารรกร้าง (เทียบ ปฐก 3 : 17-18)  บาปทำให้มนุษย์ถือว่าตนเองเป็นพระเจ้าแห่งการสร้าง เห็นตนเองเป็นเจ้านายสูงสุดที่จะใช้มันไม่ใช่ตามพระประสงค์ของพระผู้สร้าง แต่เพื่อผลประโยชน์ฝ่ายตน ทำให้เกิดความเสียหายให้กับสรรพสัตว์อื่นๆ
    เมื่อบัญญัติของพระเจ้าซึ่งเป็นบัญญัติแห่งความรักถูกละเลย เมื่อนั้นกฎของผู้แข็งแรงกว่าผู้อ่อนแอก็จะเข้ามาแทนที่  บาปที่ซุกซ่อนอยู่ในใจมนุษย์ (เทียบ มก  7 : 20-23)  ก็จะปรากฏออกมาในรูปความโลภและการแสวงหาความสะดวกสบายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  จะไม่มีการสนใจถึงความดีของคนอื่นแม้กระทั่งของตัวเอง  มันนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบสิ่งสร้างไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพราะความไม่รู้จักพอที่มองความต้องการทุกอย่างของตนว่าเป็นความชอบธรรม ซึ่งไม่เร็วก็ช้าจะทำลายทุกสิ่งที่ตกอยู่ในอุ้งมือของตน
3.    อำนาจการเยียวยาของการเป็นทุกข์เสียใจและการให้อภัย
สิ่งสร้างต้องการเร่งด่วนเพื่อการไขแสดงแห่งบุตรของพระเจ้า ซึ่งถูกทำให้เป็น“สิ่งสร้าง
ใหม่”  เหตุว่า “ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสตเจ้า ผู้นั้นก็เป็นสิ่งสร้างใหม่ สภาพเก่าผ่านพ้นไป สภาพใหม่เกิดขึ้นแล้ว” (2 คร  5 : 17)  อันที่จริงแล้วอาศัยสิ่งที่ถูกเผยแสดงออกมา สิ่งสร้างเองสามารถเฉลิมฉลองปัสกา โดยเปิดให้ตนเองเข้าถึงขอบฟ้าใหม่และโลกใหม่ (เทียบ วว  21 : 1)  หนทางสู่ปัสกาเรียกร้องให้เรารื้อฟื้นโฉมหน้าและจิตใจของเรา ในฐานะที่เป็นคริสตชน อาศัยการเป็นทุกข์เสียใจ การกลับใจ และการให้อภัย เพื่อเราจะได้เจริญชีวิตอย่างสมบูรณ์ในพระหรรษทานแห่งพระธรรมล้ำลึกปัสกา
    “ความปรารถนาอย่างแรงกล้า” ซึ่งเป็นความหวังของสิ่งสร้างเหล่านี้จะสำเร็จลุล่วงไปในการไขแสดงแห่งบุตรของพระเจ้า กล่าวคือ เมื่อบรรดาคริสตชนและทุกคนตั้งใจเดินเข้าสู่ “มิติ” ที่เป็นการกลับใจ  สิ่งสร้างทั้งหลายรวมถึงตัวเราเองด้วยถูกเรียกร้องให้ออกจาก “พันธนาการแห่งความเสื่อมและรับอิสรภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรของพระเจ้า” (รม  8 : 21)      เทศกาลมหาพรตเป็นเครื่องหมายคล้ายศีลแห่งการกลับใจนี้ เชิญชวนให้คริสตชนต้อนรับพระธรรมล้ำลึกปัสกาอย่างดื่มด่ำและเป็นรูปธรรมในชีวิตส่วนตัว ในครอบครัว และในชีวิตสังคม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งด้วยการจำศีล สวดภาวนา และการทำบุญให้ทาน
    การจำศีล คือการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนทัศนคติของเราต่อผู้อื่นและสิ่งสร้างทั้งปวง ละทิ้งการหลอกลวงที่จะ “บริโภค” ทุกสิ่ง เพื่อสนองความละโมบของตนและพร้อมที่จะทนทุกข์เพื่อเห็นแก่ความรักซึ่งสามารถเติมเต็มให้กับดวงใจที่ว่างเปล่าของเรา  การสวดภาวนา คือการสอนเราให้รู้จักสลัดทิ้งการนับถือสิ่งเท็จเทียม รู้จักเพียงพอในตัวตนเอง อีกทั้งยอมรับถึงความจำเป็นของเราที่ต้องการพระเจ้าและพระเมตตาของพระองค์  การทำบุญให้ทาน ที่เราหลีกจากความบ้าคลั่งที่จะเอาทุกสิ่งไว้เป็นของตน ด้วยการหลงเชื่อว่าเราสามารถสร้างอนาคตที่มั่นคงซึ่งไม่ได้เป็นของเรา  ดังนั้น การที่จะค้นพบความชื่นชมยินดีแห่งแผนการของพระเจ้า สำหรับสิ่งสร้างและสำหรับเราแต่ละคน คือการรักพระองค์ รักบรรดาพี่น้อง และรักษ์โลก เพื่อจะได้พบกับความสุขแท้จริงของเราในความรักนี้
    พี่น้องชายหญิงที่รัก  เทศกาล “มหาพรต” 40 วันที่พระบุตรของพระเจ้าเจริญชีวิตในทะเลทรายแห่งสิ่งสร้าง มีเป้าหมายที่จะทำให้ทะเลทรายเป็นสวนอีเดนแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนบาปแรก (เทียบ มก  1 : 12-13 ; อสย  51 : 3)  ขอให้เทศกาลมหาพรตปีนี้เป็นการเดินไปในเส้นทางเดียวกัน โดยนำความหวังของพระคริสตเจ้าไปยังสิ่งสร้าง  เพื่อมันจะได้เป็น “อิสระจากเครื่องพันธนาการสู่ความเสื่อมและได้รับอิสรภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรของพระเจ้า” (รม  8 : 21)  ขอให้เราอย่าปล่อยให้เทศกาลแห่งพระหรรษทานนี้ผ่านไปอย่างว่างเปล่า  ขอให้เราวิงวอนพระเจ้าโปรดช่วยเราให้เดินทางไปในหนทางแห่งการกลับใจที่แท้จริง  ขอให้เราทิ้งไว้เบื้องหลังซึ่งการเห็นแก่ตัว การเอาแต่ใจตนเอง แล้วหันกลับไปยังปัสกาของพระเยซูเจ้า  ขอให้เรายืนอยู่เคียงข้างพี่น้องของเราที่มีความต้องการ แบ่งปันสิ่งดีๆ ที่เป็นทั้งวัตถุและเป็นเรื่องฝ่ายจิตใจให้กับพวกเขา  อาศัยวิธีนี้ โดยการต้อนรับอย่างเป็นรูปธรรมกับชัยชนะของพระคริสตเจ้าต่อบาปและความตายที่เข้ามาในชีวิตของเรา  เราก็จะเปล่งรัศมีในอำนาจแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งสร้างทั้งหลายด้วย

จากนครวาติกัน 
วันที่ 4 ตุลาคม 2018
วันฉลองนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี