- รายละเอียด
-
หมวด: เดือนสิงหาคม
-
-
เขียนโดย itbkk
-
ฮิต: 2025
6 สิงหาคม ฉลองพระเยซูเจ้าทรงจำแลงพระวรกาย

สำหรับพระศาสนจักรตะวันออก วันที่ 6 สิง หาคม เป็นวันฉลอง ปัสกาของฤดูร้อน เพราะเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระองค์ได้ทรงจำแลงพระวรกายของพระองค์ดังที่ได้มีเล่าไว้ในพระวรสาร สำหรับพวกเขาแล้วเหตุการณ์นี้มีความสำคัญมาก
ในการจำแลงพระวรกายของพระเยซูเจ้าบนภูเขาทาบอร์นั้น พระองค์ได้ทรงแสดงพระองค์เองในความรุ่งเรืองสุกใสทั้งครบแห่งชีวิตพระที่มีอยู่ในพระองค์ ให้สานุศิษย์ทั้ง 3 คนได้แลเห็น ความรุ่งเรืองสดใสนี้เป็นเพียงแต่บทนำของความรุ่งเรืองสุกใสของพระองค์ในคืนวันปัสกาเท่านั้น คืนที่พระองค์ได้ทรงกลับคืนชีพ และที่พระองค์ จะทรงประทานให้แก่เราโดยบันดาลให้เราเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น ชีวิตคริสตชนของเราจึงเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ ดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ในพระคริสตเจ้า จนกว่าจะถึงรูปแบบของการจำแลงพระวรกายของพระสวามีเยซูคริสตเจ้าผู้รุ่งเรืองสุกใส
การฉลองการจำแลงพระวรกายของพระเยซูคริสตเจ้าในพระศาสนจักรตะวันตกนั้นเป็นพระสันตะปาปากัลลิสตุส ที่ 2 ได้ทรงนำเข้ามาในปี1456 เพื่อเป็นการระลึกถึงชัยชนะของพระศาสนจักรที่มีต่อพวกอิสลาม
แสงสว่างหรือความสว่างเป็นรูปแบบของการร่วมในความสัมพันธ์ ที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะทำให้เรามนุษย์สามารถมีความรู้และความเข้าใจซึ่งกันและกันได้อย่างดี โดยนัยนี้เราจึงนำมาใช้เปรียบเทียบกับศีลมหาสนิทซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ให้ความหมายมากที่สุดของรูปแบบของแสงสว่างนี้ นักบุญ ยอห์น อัครธรรมทูต ในหนังสือวิวรณ์ซึ่งเป็นหนังสือพิธีกรรมชั้นเลิศบรรยายถึงพระเยซูเจ้าว่าเป็นเหมือน “ดาวรุ่งที่ส่องสว่างสุกใสของยามเช้าตรู่” (วว 2, 28 ; 22, 16 ) พระคริสตเจ้าทรงเป็นท่อธารที่ประทานให้กับพระศาสนจักรเพื่อให้พระศาสนจักรได้ชำระล้างตัวเองให้บริสุทธิ์ ให้กลับใจ ทั้งปร ะทานให้กับคริสตชนแต่ละคนซึ่งได้ทำการชำระล้างเสื้อผ้าอาภรณ์ของตนให้ขาวสะอาดผุดผ่องในพระโลหิตของพระชุมพาน้อย และได้ดำเนินตามรอยพระคริสตเจ้าในชุดสีขาวบริสุทธิ์นี้
เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากนักว่าทำไมเรื่อง “การจำแลงพระวรกาย” นี้พร้อมกับความหมายที่นำไปเปรียบเทียบกับ “แสงสว่าง” นั้น พระศาสนจักรได้เลือกและนำมาใช้เป็นบทอ่านขั้นพื้นฐานสำหรับการสอนคำสอนทางพิธีกรรมในการเตียมศีลล้างบาป (สัปดาห์ที่ 2 ของมหาพรต) และพระศาสนจักรตะวันออกได้ขับร้องบทเพลงที่มีความหมายมากหลังรับศีลว่า “เราแลเห็นแสงสว่าง”
สำหรับพวกเราทุกๆ ครั้งที่เรามาร่วมถวายบูชามิสซา “เราก็ได้แลเห็นแสงสว่าง” นี้ เป็นต้นโดยการเข้าไปรับองค์พระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท เช่นเดียวกับที่โมเสสได้แลเห็นแสงสว่างของพระยาห์เวห์ที่พุ่มหนามอันลุกโชติช่วงหรือบนภูเขาซีนัย หรือเช่นเดียวกับการที่ประชากรซึ่งได้รับเลือกสรรที่กำลังเดินทางอยู่ภายใต้กลุ่มเมฆที่สว่างโชติช่วง หรือการที่ประกาศก เอลียาห์ได้ถูกดึงตัวให้ขึ้นไปบนรถม้าเพลิง หรือการที่ผู้เฒ่าซีเมออนได้แลเห็นองค์ความสว่างที่พระวิหารกรุงเยรูซาเลม หรือว่าเช่นเดียวกับเปโตรยากอบและยอห์นที่ภูเขาทาร์บอร์ หรือว่าเหมือนกับพวกอัครธรรมทูตกับพระนางมารีอาในห้องประชุมสวดในวันพระจิตเสด็จลงมา หรือเหมือนกับนักบุญเปาโลที่กำลังเดินทางมุ่งหน้าไปยังกรุงดามัสกัส...โดยมีความหวังและรอคอยว่าเราจะได้รับการไขแสดงให้เป็นเหมือนกับ“บุตรแห่งแสงสว่าง” ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองสวรรค์ เมื่อพระเจ้าจะทรงเป็น “ทุกๆ สิ่งในทุกๆ คน”