Logo

Lectio Divina กันยายน 2017

หมวด: Lectio Divina 2017
เขียนโดย พระคุณเจ้าประธาน ศรีดารุณศีล
ฮิต: 1115

Lectio Divina: กันยายน 2017 ความเมตตาในสายพระเนตร The Gaze of Mercy - 1

 

“ทรงระลึกถึงพระกรุณา”

ความเมตตาของพระเจ้าเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์

 

Lectio : พระเจ้าตรัส

ลูกา 1 : 46-56 บทเพลงสรรเสริญของพระนางมารีย์

 

46พระนางมารีย์z ตรัสว่า วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า

47จิตใจของข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้าพระผู้กอบกู้ข้าพเจ้า

48เพราะพระองค์ทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์

ตั้งแต่นี้ไปชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข

49พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า

พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์

50พระกรุณาต่อผู้ยำเกรงพระองค์แผ่ไปตลอดทุกยุคทุกสมัย

51พระองค์ทรงยกพระกรแสดงพระอานุภาพทรงขับไล่ผู้มีใจมักใหญ่ใฝ่สูงให้กระจัดกระจายไป

52ทรงคว่ำผู้ทรงอำนาจจากบัลลังก์และทรงยกย่องผู้ต่ำต้อยให้สูงขึ้น

53พระองค์ประทานสิ่งดีทั้งหลายแก่ผู้อดอยากทรงส่งเศรษฐีให้กลับไปมือเปล่า

54พระองค์ทรงช่วยเหลืออิสราเอลผู้รับใช้พระองค์โดยทรงระลึกถึงพระกรุณา

55ดังที่ทรงสัญญาไว้แก่บรรพบุรุษของเราแก่อับราฮัมและบุตรหลานตลอดไป

56พระนางมารีย์ประทับอยู่กับนางเอลีซาเบธประมาณสามเดือนจึงเสด็จกลับ

 

Meditatio : เข้าใจความหมายในพระวาจา

1.    นวัตกรรมแห่งการเสด็จมารับสภาพมนุษย์

        พระวรสารเปิดตัวด้วยเสียงสรรเสริญความเมตตาของพระเจ้าจากหลายบุคคลเรื่องปฐมวัยของพระเยซูเจ้าในพระวรสารของลูกาเริ่มต้นเช่นนี้พระนางมารีย์ตรัสสรรเสริญความเมตตาของพระเจ้าซึ่งแผ่ไป “ตลอดทุกยุคทุกสมัย” พระนางกล่าวว่าพระเจ้าทรงกระทำการ “โดยทรงระลึกถึงพระกรุณาดังที่ทรงสัญญาไว้แก่บรรพบุรุษของเราแก่อับราฮัมและบุตรหลานตลอดไป” (ลก 1:50, 54-55) เศคาริยาห์ก็ทำเช่นนี้ในเพลงสรรเสริญของเขาเขาบอกว่าพระเจ้า “ทรงแสดงพระกรุณาแก่บรรพบุรุษของเรา” และ “ทรงระลึกถึงพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” (1:72) เขายังกล่าวด้วยว่า “เดชะพระเมตตากรุณาของพระเจ้าของเราพระองค์จะเสด็จมาเยี่ยมเราจากเบื้องบนดังแสงอรุโณทัย” (1:78)

        เพื่อให้เข้าใจนัยสำคัญของนวัตกรรมในการแสดงออกเหล่านี้เราต้องเข้าใจว่าชาวอิสราเอลผู้ศรัทธากำลังรอคอยอะไรและเขากำลังภาวนาอย่างไรต่อพระเจ้าระหว่างช่วงเวลาก่อนพระคริสตเจ้าเสด็จมาเราโชคดีที่พบหนึ่งในบทภาวนาเหล่านี้ได้ในหนังสือบุตรสิรา (36:1-17)

โปรดทรงยกพระหัตถ์ของพระองค์ขึ้น ... ทรงแสดงเครื่องหมายครั้งใหม่และทำอัศจรรย์ต่อไป ... โปรดทรงเร่งวันคืนและทรงระลึกถึงเวลาที่ทรงกำหนดไว้และให้ประชากรบอกเล่ากิจการอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ... ข้าแต่พระเจ้าโปรดทรงเมตตาประชากรผู้เรียกตนเองด้วยพระนามของพระองค์ต่อชาวอิสราเอล ... และโปรดทรงปฏิบัติตามคำพยากรณ์ที่กล่าวไว้ในพระนามของพระองค์ (บสร 36:3, 6, 8, 12, 15)

        ครั้งหนึ่งประชาชนเคยพูดว่า “โปรดทรงยกพระหัตถ์ของพระองค์ขึ้น” แต่บัดนี้พระนางมารีย์ตรัสว่า “พระองค์ทรงยกพระกรแสดงพระอานุภาพ” ประชาชนเคยพูดว่า “และทำอัศจรรย์ต่อไป” บัดนี้พระนางมารีย์ตรัสว่า “พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่” ประชาชนขอให้ “ทรงระลึกถึง” แต่บัดนี้พระนางมารีย์ทรงบอกว่าพระเจ้า “ทรงระลึกถึง” ประชาชนร้องขอว่า “โปรดทรงเมตตาประชากรของพระองค์” และบัดนี้ “พระองค์ทรงช่วยเหลืออิสราเอลผู้รับใช้พระองค์” ประชาชนขอให้พระเจ้า “ปฏิบัติตามคำพยากรณ์” และบัดนี้พระองค์ “ทรงระลึกถึงพระกรุณาดังที่ทรงสัญญาไว้” สองข้อความนี้แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวจากเวลาที่รอคอยเข้าสู่เวลาที่เหตุการณ์อันตกาลได้เกิดขึ้นจริง

        แต่อะไรคือนวัตกรรมหรือความแปลกใหม่เมื่อพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมก็เคยกล่าวถึงความเมตตากรุณาของพระเจ้าไว้อย่างน่าซาบซึ้งใจแล้ว? เราพบคำตอบได้ในตอนต้นของจดหมายถึงชาวฮีบรู “ในอดีตพระเจ้าตรัสกับบรรพบุรุษของเราโดยทางประกาศกหลายวาระและหลายวิธีครั้นสมัยนี้เป็นวาระสุดท้ายพระองค์ตรัสกับเราโดยทางพระบุตร” (ฮบ 1:1-2) พระเจ้าผู้เคยตรัสถึงความเมตตาของพระองค์ผ่านเสียงของประกาศกบัดนี้พระองค์ตรัสกับเรา “โดยทางพระบุตร” พระเจ้าไม่ตรัสผ่านคนกลางอีกต่อไปแต่ตรัส “โดยพระองค์เอง” เพราะพระบุตรทรงเป็น “รังสีแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าทรงเป็นภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ของพระเจ้า” (1:3)

        ความเป็นจริงกลับน่ายินดียิ่งกว่าอุปมาเรื่องบิดาผู้เมตตากรุณาในเรื่องอุปมานั้นบุตรคนโตอยู่ที่บ้านและไม่พอใจที่น้องชายกลับมาแต่ในเหตุการณ์จริงพี่ชาย (พระเยซูเจ้า) ทรงออกไปตามหาน้องชายที่หลงทางและนำเขากลับมาหาพระบิดาพระเอกบุตรของพระเจ้าเสด็จลงมายัง “ประเทศห่างไกล” (ลก 15:13) แต่ในกรณีนี้พระองค์เสด็จมาเพื่อ “รวบรวมบรรดาบุตรของพระเจ้าที่กระจัดกระจาย” และนำพวกเขากลับมาหาพระบิดา (ยน 11:52)

        พระบุตรไม่เพียง “ตรัส” ถึงความเมตตาของพระเจ้ากับเราแต่พระองค์เองคือความเมตตาที่มีตัวตนนักประพันธ์ยุคโบราณคนหนึ่งกล่าวถึงยอห์น 1:14 โดยใช้คำพูดของตนเองว่า “ความรัก [ของพระบิดา] ลงมารับธรรมชาติมนุษย์ในพระองค์” ก่อนที่พระคริสตเจ้าจะทรงกระทำ “กิจเมตตา” ใดๆและก่อนพระองค์จะทรงเล่าเรื่องอุปมาเกี่ยวกับความเมตตาได้เกิด “เหตุการณ์” แห่งความเมตตาขึ้นแล้วคือการเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้าสำหรับผู้ที่สงสัยว่าพระวจนาตถ์ทรงนำอะไรที่แปลกใหม่มาด้วยเมื่อพระองค์เสด็จมายังโลกนักบุญอิเรเนียสตอบว่าพระคริสตเจ้า “ทรงนำความแปลกใหม่ทั้งปวงด้วยการนำพระองค์เองมายังโลก” นี่คือความจริงพระองค์คือนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่การที่ทรงกลายเป็นมนุษย์

2.    การถ่อมพระองค์ของพระเจ้า

        เราจะพิจารณาว่าการเสด็จมาเกิดเป็นมนุษย์ของพระวจนาตถ์ทำให้เกิดเหตุการณ์แห่งความเมตตาของพระเจ้าอย่างไรนักบุญออกัสตินเขียนว่า “มีความเมตตาต่อสิ่งสร้างที่น่าเวทนาอย่างเราครั้งใดที่มากยิ่งกว่าความเมตตาที่บังคับให้พระผู้สร้างสวรรค์ต้องเสด็จลงมาจากสวรรค์และพระผู้สร้างโลกต้องสวมร่างกายมนุษย์ที่รู้จักตาย? ในนิรันดรกาลพระองค์ทรงอยู่ในฐานะเท่าเทียมกับพระบิดาแต่พระองค์ทรงทำให้พระองค์เท่าเทียมกับเราในธรรมชาติที่รู้จักตายของเราความเมตตาเดียวกันนี้ชักนำองค์พระผู้เป็นเจ้าของโลกให้ทรงสวมธรรมชาติของผู้รับใช้”

        สำหรับนักบุญอิเรเนียส “แกะหลงทาง” ในเรื่องอุปมาของลูกาหมายถึงมนุษยชาติที่มีอาดัมผู้ตกในบาปเป็นตัวแทนและการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์เป็นห้วงเวลาที่พระคริสตเจ้าเสด็จมาตามหาและนำแกะนั้นกลับไปเข้าฝูงโดยทรงแบกไว้บนบ่าของพระองค์ปิตาจารย์หลายคนของพระศาสนจักรไม่เพียงเสนอความหมายเชิงอุปมาแต่รวมถึงความหมายเชิงอภิปรัชญาด้วยปิตาจารย์เหล่านี้เสนอว่าเมื่อพระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์พระองค์ไม่เพียงยอมรับธรรมชาติของมนุษย์คนหนึ่งแต่อาจกล่าวได้ว่าทรงรับธรรมชาติของมนุษยชาติทั้งมวลเมื่อมองในแง่นี้ซึ่งเป็นทรรศนะที่สำคัญสำหรับปิตาจารย์ชาวกรีกหลายคนความรอดพ้นของคริสตชนจึงเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนแล้วในรูปของเมล็ดพันธุ์ในเวลาที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับธรรมชาติมนุษย์และประทานเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตอมตะไว้ในตัวมนุษย์

        การเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรยังเป็นการแสดงความเมตตาของพระเจ้าในอีกด้านหนึ่งด้วยเมื่อโมเสสภาวนาว่า “ขอให้ข้าพเจ้าแลเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์เถิด”        (อพย 33:18) พระเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านจะดูหน้าเราไม่ได้เพราะไม่มีมนุษย์คนใดที่เห็นหน้าเราแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้” และพระองค์ตรัสต่อไปว่า “ที่นี่มีก้อนหินใหญ่อยู่ข้างเราท่านจงยืนบนนั้นเถิดเมื่อเราผ่านไปและสำแดงสิริรุ่งโรจน์ของเราเราจะเอาท่านซ่อนไว้ในซอกหินนั้นและจะใช้มือของเราบังท่านไว้จนกว่าเราจะผ่านพ้นไปแล้วเราจะเอามือของเราออกท่านจะได้เห็นด้านหลังของเราแต่ท่านจะไม่เห็นหน้าของเรา” (33:20-23) ด้วยการเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์พระเจ้าทรงบังพระพักตร์ของพระองค์ไว้เพื่อให้มนุษย์มองเห็นได้และไม่ตายพระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์โดยทรงบังพระองค์เองไว้เพราะเหตุนี้หลังจากยอห์นกล่าวว่า “พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์” แล้วเขาจึงกล่าวด้วยว่า “เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” (ยน 1:14) ปิตาจารย์ชาวกรีกกล่าวถึงความเมตตาของพระเจ้าในด้านนี้ด้วยคำว่า synkatabasis แปลว่า “การถ่อมตัวลงมา (condescension)” พระสันตะปาปาคลีเมนต์ทรงบันทึกเกี่ยวกับประเด็นนี้ในศตวรรษที่ 3 ว่า

ข้าพเจ้ายืนยันว่ามนุษย์ผู้รู้จักตายไม่สามารถมองเห็นรูปที่ไม่มีตัวตนของพระบิดาและพระบุตรได้เพราะรูปนั้นส่องสว่างด้วยแสงอันเจิดจ้ามนุษย์ที่มีร่างกายไม่สามารถมองเห็นพระเจ้าได้มิใช่เพราะพระเจ้าทรงอิจฉาเขาแต่เพราะพระองค์ทรงสงสารเขาเนื่องจากมนุษย์ที่เห็นพระเจ้าไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เพราะแสงที่จ้าเกินไปนี้สลายเนื้อหนังของผู้ที่มองเห็นเว้นแต่ว่าด้วยพระอานุภาพเร้นลับของพระเจ้าเนื้อหนังจะถูกเปลี่ยนให้มีธรรมชาติเดียวกับแสงสว่างเพื่อให้สามารถมองเห็นแสงสว่างได้หรือเปลี่ยนแสงสว่างให้กลายเป็นเนื้อหนังเพื่อให้เนื้อหนังสามารถมองเห็นได้

        การเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรทำให้สมมุติฐานข้อที่สองนี้เกิดขึ้นจริง

3.    ปิรามิดได้พลิกกลับหัว

        มนุษย์คิดเสมอมาว่าการขึ้นไปหาพระเจ้าจะเหมือนกับการปีนป่ายขึ้นไปบนปิรามิดคือต้องพยายามไปให้ถึงยอดปิรามิดด้วยความพยายามทางสติปัญญาหรือการบำเพ็ญพรตแต่มนุษย์ก็ไม่ประสบความสำเร็จพระเยซูเจ้าตรัสแก่นิโคเดมัสว่า “ไม่มีใครเคยขึ้นไปบนสวรรค์นอกจากผู้ที่ลงมาจากสวรรค์คือบุตรแห่งมนุษย์” (ยน 3:13) เมื่อพระเจ้าเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์พระองค์ทรงพลิกเส้นทางขึ้นปิรามิดนั้นกล่าวคือบัดนี้พระองค์ลงมาอยู่ที่ฐานของปิรามิดพระองค์ทรงพยุงเราลุกขึ้นและบัดนี้ทรงแบกเราไว้บนบ่าของพระองค์เหมือนกับคนเลี้ยงแกะที่แบกแกะหลงทางบัดนี้เราสามารถเข้าถึงพระองค์ได้เพราะพระองค์เสด็จมาหาเราก่อน

        ระหว่างยุคพันธสัญญาใหม่ภาพของพระเจ้าในความคิดของผู้มีความรู้ก็คือพระเจ้าของนักปรัชญาเพลโตยืนยันว่า “พระเจ้าไม่ทรงคบหาสมาคมกับมนุษย์” และอริสโตเติลกล่าวว่าพระเจ้า “ทรงเคลื่อน [เอกภพ] ด้วยการได้รับความรัก [มิใช่เพราะพระองค์ทรงรัก]” ความคิดทางศาสนาที่ต้องการ “เลียนแบบพระเจ้าให้คล้ายคลึงพระองค์ให้มากที่สุด” ก็เกิดจากการมองพระเจ้าในลักษณะนี้

        เมื่อพระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์พระเจ้าทรงพลิกอุดมคตินี้โดยสิ้นเชิง “ความรักอยู่ที่ว่าพระเจ้าทรงรักเราและทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อชดเชยบาปของเรา ... เรารักเพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน” (1 ยน 4:10, 19) กวีชื่อชาร์ลสเปกีได้แสดงความคิดนี้ด้วยรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา (เขาให้พระเจ้าตรัสข้อความเหล่านี้เอง)

        พระเจ้าตรัสว่า “มนุษย์พูดถึงการเลียนแบบพระเยซูคริสตเจ้าอยู่เสมอ

ซึ่งเป็นการเลียนแบบพระบุตรของเราโดยมนุษย์...

แต่ในที่สุดเราต้องไม่ลืมว่า

พระบุตรของเราเริ่มต้นด้วยการเลียนแบบมนุษย์

และทรงเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์

พระองค์ทรงรู้สึกและเข้าใจมนุษย์

เมื่อพระองค์ทรงยอมรับสภาพมนุษย์อย่างซื่อสัตย์และสมบูรณ์

ในการทนรับความเจ็บปวดทรมาน

ในการดำเนินชีวิต

ในความตาย”

        พระเจ้าทรงเลียนแบบมนุษย์ก่อนที่มนุษย์จะเลียนแบบพระเจ้า

        ดังได้กล่าวแล้วว่าปิรามิดนี้ถูกพลิกกลับหัวอย่างถาวรเมื่อพระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์บัดนี้ปิรามิดนี้จำเป็นต้องพลิกกลับหัวในตัวเราเช่นกันน่าเสียดายที่เนื่องจากบาปและความอวดดีของเราปิรามิดกลับหัวนี้มักพลิกกลับไปสู่ตำแหน่งเดิมเสมอด้วยชาติกำเนิดและแนวโน้มของเราที่จะถอยหลังเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติที่คิดว่าสามารถเข้าถึงพระเจ้าและได้รับพระหรรษทานจากพระองค์ได้ด้วยผลงานและความคิดของเราเองเราเป็นคนประเภทเดียวกับคน (ชาวฟาริสีในพระวรสาร) ที่นักบุญเปาโลพูดถึงอย่างเศร้าใจว่า “พวกเขาไม่รู้ว่าพระเจ้าเป็นผู้ประทานความชอบธรรมจึงพยายามสร้างความชอบธรรมของตนเอง” (รม 10:3) สรุปว่าเราคิดว่าเราสามารถช่วยให้ตนเองรอดพ้นได้ด้วยผลงานของตัวเราในหนังสือ Confessions นักบุญออกัสตินเปิดเผยว่ามันยากเพียงใดสำหรับเขาที่จะพลิกตนเองกลับหัวอย่างที่เกิดขึ้นในกรณีที่พระวจนาตถ์รับธรรมชาติมนุษย์ “ข้าพเจ้าไม่ถ่อมตนเพียงพอที่จะเกาะติดพระองค์ผู้ทรงถ่อมพระองค์”

        ดังนั้นจึงถือว่าเป็นความผิดพลาดหรือที่เราจะต้องการ “เอื้อมไปหาพระเจ้า”? นักบุญโบนาเวนตูราคิดผิดหรือเมื่อเขาเขียนหนังสือ The Journey of the Mind to God ที่มองว่าเป็นการปีนขึ้นไปหาพระเจ้าโดยอาศัยร่องรอยของพระเจ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติของเราและในตัวเรา? เปล่าเลยและเรามีเหตุผลที่ดีที่จะคิดเช่นนั้นด้วยเพราะบัดนี้เรากำลังปีนขึ้นไปพร้อมกับพระคริสตเจ้าขณะที่เราเดินตามหลังพระองค์บทความของโบนาเวนตูราลงท้ายว่าพระเยซูเจ้าผู้อาศัยการข้ามความตายและการกลับคืนชีพของพระองค์ทรงเปิดเส้นทางอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เราขึ้นสู่สวรรค์พร้อมกับพระองค์

        ซอเรนเคิร์กการ์ดนักปรัชญาคริสตชนคนหนึ่งได้แต่งบทภาวนาอันไพเราะเรื่อง                 พระเจ้าทรงรักเราก่อนขอให้เราใช้สวดบทภาวนานี้เสมือนว่าเป็นบทภาวนาส่วน                  ตัวของเราในช่วงท้ายของการรำพึงตามพระเมตตาของพระเจ้าในการเสด็จมารับ        ธรรมชาติมนุษย์

ข้าแต่พระเจ้าพระองค์ทรงรักเราก่อนอนิจจาเราพูดเหมือนกับว่านี่คือเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในอดีตแต่พระองค์ยังทรงรักเราอย่างสม่ำเสมอทรงรักเราหลายครั้งในวันหนึ่งและตลอดชีวิตของเราพระองค์ทรงรักเราก่อนเสมอเมื่อเราตื่นขึ้นในเวลาเช้าและหันความคิดไปหาพระองค์พระองค์ทรงรักเราก่อนถ้าข้าพเจ้าจะลุกขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่และหันความคิดไปหาพระองค์ทันทีในการภาวนาพระองค์ก็ทรงรอข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นแล้วพระองค์ทรงรักข้าพเจ้าก่อนเมื่อข้าพเจ้าวอกแวกและพยายามรวบรวมความคิดและคิดถึงพระองค์พระองค์ก็ทรงรออยู่ที่นั่นแล้ว ... เสมอไปแต่เราก็ยังพูดอย่างเนรคุณราวกับว่าพระองค์ทรงรักเราก่อนอย่างนั้นเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น

 

 

Oratio (ภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อตอบสนองพระวาจาในพระคัมภีร์ที่กำลังพูดกับท่าน)

________________________________________________________

Contemplatio (อยู่กับพระวาจา)

________________________________________________________

Communicatio (นำพระวาจาไปปฏิบัติ)

________________________________________________________