Lectio Divina : มิสซาในพระวาจา - 28 มีนาคม 2017
ขณะที่รอคอยด้วยความหวัง
เราภาวนาอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเรา
พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้ภาวนาต่อพระบิดา ดังนั้น ด้วยความเชื่ออันเปี่ยมด้วยความหวัง เราจึงกล้าเปล่งคำพูดที่พระองค์ประทานแก่เรา ให้บทภาวนาของพระเยซูเจ้าที่เราได้ยินจากพระวรสารกลายเป็นบทภาวนาของเราในวันนี้
Lectio (พระเจ้าตรัสอะไร)
มัทธิว 6:7-15
วิธีอธิษฐานภาวนา บทภาวนาของพระเยซูเจ้า
เมื่อท่านอธิษฐานภาวนา จงอย่าพูดซ้ำเหมือนคนต่างศาสนา เขาคิดว่าถ้าเขาพูดมากพระเจ้าจะทรงสดับฟัง อย่าทำเหมือนเขาเลย เพราะพระบิดาของท่านทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการอะไร ก่อนที่ท่านจะขอเสียอีก เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานภาวนา ดังนี้
“ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์
พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ
พระอาณาจักรจงมาถึง
พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์
โปรดประทานอาหารประจำวัน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้
โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น
โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ
แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ
“เพราะถ้าท่านให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ ก็จะประทานอภัยแก่ท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านก็จะไม่ประทานอภัยแก่ท่านเช่นเดียวกัน”
1 พงศาวดาร 29:10-13
กษัตริย์ดาวิดทรงขอบพระคุณพระเจ้า
กษัตริย์ดาวิดทรงถวายพระพรแด่พระยาห์เวห์ ต่อหน้าประชาชนที่มาชุมนุมกัน กษัตริย์ดาวิดกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งอิสราเอลบรรพบุรุษของข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอทรงได้รับการถวายพระพร ณ บัดนี้และตลอดไปเถิด ข้าแต่พระยาห์เวห์ ความยิ่งใหญ่ พระอานุภาพ พระสิริรุ่งโรจน์ ความสูงส่งและความรุ่งเรืองเป็นของพระองค์ สิ่งทั้งปวงที่อยู่ในสวรรค์และบนแผ่นดินล้วนเป็นของพระองค์ ข้าแต่พระยาห์เวห์ พระอาณาจักรเป็นของพระองค์ พระองค์ทรงได้รับการเทิดทูนเป็นผู้นำเหนือทุกสิ่ง ทั้งความมั่งคั่งและเกียรติยศมาจากพระองค์ พระองค์ทรงปกครองทุกสิ่ง พละกำลังและอานุภาพอยู่ในพระหัตถ์พระองค์ ความยิ่งใหญ่และอำนาจต่างๆ ล้วนมาจากพระหัตถ์พระองค์ บัดนี้ ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าทั้งหลายขอบพระคุณพระองค์และสรรเสริญพระนามรุ่งโรจน์ของพระองค์
ทำความเข้าใจกับพระวาจา
พยายามเข้าใจว่าเหตุใดบทข้าแต่พระบิดาจึงเป็นบทภาวนาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท และค้นหาความหมายทุกด้านของบทภาวนานี้ จากธรรมประเพณีของพระศาสนจักร
พิธีรับศีลมหาสนิทเริ่มต้นด้วยบทภาวนาข้าแต่พระบิดา ซึ่งเป็นบทภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์เมื่อเขาถามวิธีภาวนาจากพระองค์ บทภาวนานี้เรียกกันว่าตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของบทภาวนา เพราะเราสวดบทนี้ร่วมกับพระเยซูเจ้า เสียงของเราประสานกับพระสุรเสียงของพระองค์ และเราเปิดหัวใจของเราต้อนรับพระบิดาในสวรรค์ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์ภาวนา พระองค์ไม่ได้เพียงแต่สอนบทภาวนาง่ายๆ ให้เขาท่องจำและสวดตาม แต่ทรงสอนให้เขาเรียกพระเจ้าอย่างสนิทสนม และไว้วางใจ เพราะเราเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” และมิใช่ “พระบิดาของข้าพเจ้า” บทภาวนานี้จึงเป็นบทที่ใช้ภาวนาร่วมกันกับพระศาสนจักร ด้วยเหตุนี้ จึงถูกนำมารวมไว้ในพิธีบูชาขอบพระคุณของพระศาสนจักรในยุคของอัครสาวก และได้กลายเป็นส่วนสำคัญของพิธีมิสซามาช้านานแล้ว
เช่นเดียวกับการถวายบูชาขอบพระคุณ บทข้าแต่พระบิดาเน้นที่ช่วงเวลาปัจจุบันพร้อมกับมองไปถึงอนาคต บทภาวนานี้เรียกร้องให้เราวิงวอนขอให้พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึง ขณะที่เราเฉลิมฉลองการประทับอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าท่ามกลางเรา (มธ 6:10) เมื่อภาวนาในพิธีบูชาขอบพระคุณ บทภาวนานี้แสดงความปรารถนาของเราในเวลานั้น ซึ่งเป็นเวลาที่จะไม่มีความเศร้าและความเจ็บปวดอีกต่อไป เมื่อบาปและความตายจะอันตรธานไป และความรอดพ้นจะปรากฎให้เห็นได้ทั่วทุกมุมโลกและในทุกมุมของหัวใจของเรา เราภาวนาพร้อมกับพระเยซูเจ้าเพื่อให้พระประสงค์จงสำเร็จไป “ในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์” เหมือนกับบทภาวนาของพระเยซูเจ้าต่อพระบิดาในสวนเกทเสมนี หลังจากอาหารค่ำมื้อสุดท้ายว่า “ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์”
คริสตชนยุคแรกเรียกศีลมหาสนิทว่า “ปัง epiousios ของเรา” ซึ่งเรามักแปลในบทข้าแต่พระบิดาว่า “อาหารประจำวัน” แต่ความหมายที่แท้จริงของคำคุณศัพท์ในภาษากรีกโบราณนี้ไม่แน่ชัด ถ้าแปลตรงตัว คำนี้หมายความว่า “จำเป็นกว่าทุกสิ่ง (su
per-essential)” และนักบุญเยโรมได้แปลคำนี้ว่า “มีแก่นสารเหนือทุกสิ่ง (super substantial)” ผู้อธิบายพระคัมภีร์หลายคนเสนอความคิดเห็นว่าคริสตชนยุคแรกบัญญัติคำใหม่นี้ขึ้นมาเพื่อเรียกประสบการณ์ใหม่ของเขากับศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นอาหารที่พิศดาร
กว่าอาหารมื้อใด เพราะระหว่างอาหารมื้อนี้ องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพเสด็จมาประทับอยู่กับศิษย์ของพระองค์ แม้ว่าพระอาณาจักรจะมาถึงในอนาคต แต่วันนี้ เราได้ลองชิมรสชาติของงานเลี้ยงในอนาคตนั้น ใน “อาหารของเรา” คือ ปังแห่งชีวิต
หลังจากสวดบทข้าแต่พระบิดา พระสงฆ์ขยายความคำวิงวอนข้อสุดท้ายและวิงวอนขอให้เรารอดพ้นจากอำนาจของความชั่วในบทภาวนาที่แทรกเข้าไปในพิธี(interpolation) พระสงฆ์จะระบุความหมายต่างๆ ของบทข้าแต่พระบิดา และวิงวอนขอพระเจ้าสำหรับสันติสุข การพ้นจากบาป และวิงวอนขอให้ทั้งชุมชนปลอดภัยไร้ความวุ่นวาย และลงท้ายด้วยประโยคที่คล้ายกับข้อความที่นักบุญเปาโลเขียนถึงทิตัสว่า “ขณะที่หวังจะได้รับความสุข และรอรับเสด็จพระเยซูคริสตเจ้า พระผู้กอบกู้ข้าพเจ้าทั้งหลาย” (ทต 2:13)
บทแทรกนี้ตามมาด้วยบทภาวนายอพระเกียรติ (doxology) ที่สัตบุรุษในที่ชุมนุมภาวนาร่วมกันว่า “เหตุว่าพระอาณาจักร พระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์ เป็นของพระองค์ตลอดนิรันดร” การลงท้ายบทภาวนาด้วยบทยอพระเกียรติเป็นธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่ยุคพันธสัญญาเดิม ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากบทสรุปของบทสดุดี 72 พระศาสนจักรสืบทอดธรรมเนียมนี้ต่อมา เช่น ในบทยอพระเกียรติพระตรีเอกภาพว่า “พระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดา และพระบุตร และพระจิต..” ซึ่งเสริมท้ายบทสดุดีเมื่อภาวนาในพิธีทำวัตร
บทภาวนาของกษัตริย์ดาวิด ใน 1 พงศาวดาร เป็นตัวอย่างของบทสรรเสริญที่พบได้ในบทเพลงยอพระเกียรติในพระคัมภีร์ อันที่จริงบทยอพระเกียรตินี้ระบุว่า “พระอาณาจักร..พระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์” เป็นของพระเจ้า (1 พศด 29:11) ในขณะที่กษัตริย์ดาวิดระบุว่าคุณสมบัติเหล่านี้เป็นของพระเจ้า “ตลอดนิรันดร” (1 พศด 29:10) พิธีกรรมของพระศาสนจักรประกาศว่าคุณสมบัติเหล่านี้เป็นของพระองค์ “บัดนี้และตลอดนิรันดร” โดยเน้นความเป็นจริงว่าพระเจ้าประทับอยู่ในพิธีมิสซาพร้อมกับพระอาณาจักร พระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ ในการประทับอยู่อย่างมีชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า สิ่งที่เราสัมผัสรับรู้ภายใต้เครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์ในเวลานี้ในศีลมหาสนิท จะถูกเปิดเผยอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เมื่อเราสัมผัสรับรู้ความหวังว่าจะได้รับความสุข และการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระผู้ไถ่ของเรา
บทยอพระเกียรติในพิธีกรรมนี้ พระศาสนจักรยุคแรกเพิ่มเติมเข้ามาในบทภาวนาของพระเยซูเจ้า ชุมชนคริสตชนรับสืบทอดมรดกของชาวยิว และลงท้ายบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยบทยอพระเกียรติ ดังที่เราเห็นได้จากหนังสือดีดาเคโบราณ เนื่องจากเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะลงท้ายบทภาวนาของพระเยซูเจ้าเช่นนี้ ธรรมาจารย์บางคนจึงเพิ่มเติมบทลงท้ายนี้ในพระวรสารของนักบุญมัทธิวฉบับของตนเอง แม้ว่าต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดของพระวรสารฉบับนี้ไม่มีบทยอพระเกียรติรวมอยู่ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นบทภาวนาอันเก่าแก่ของคริสตชนแน่นอน และเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมของพระศาสนจักร
Meditatio (พระวาจาช่วยฉันพิจารณาตนเอง)
พิจารณาความหมายและนัยสำคัญอื่นๆ ของบทภาวนาข้าแต่พระบิดาในบริบทของพิธีบูชาขอบพระคุณของพระศาสนจักร
๐ พระเจ้าประทานมานนาเป็นอาหารประจำวันให้แก่ประชากรของพระองค์ในถิ่นทุรกันดาร (อพย 16:4) และทั่วไปในพระคัมภีร์ การประทานอาหารจึงกลายเป็นเครื่องหมายที่แสดงความห่วงใยและการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นของพระองค์(สดด 78:24-25) ทุกครั้งที่พระเยซูเจ้าประทานขนมปังให้ประชาชนในพระวรสาร ข้อความเหล่านี้เต็มไปด้วยการพาดพิงถึงการถวายบูชาขอบพระคุณ มีข้อความใดบ้างที่อยู่ในประเภทนี้ และข้อความเหล่านั้นบอกอะไรแก่ข้าพเจ้าเกี่ยวกับศีลมหาสนิทหรือปังแห่งชีวิต
๐ ในบริบทของพิธีกรรมของพระศาสนจักร คำวิงวอนในบทข้าแต่พระบิดามีความหมายมากขึ้นกว่าเดิม เราอาจถึงกับพูดได้ว่าพิธีมิสซาทำให้บทข้าแต่พระบิดากลายเป็นความจริงแบบคำต่อคำ ให้ยกตัวอย่างว่าข้อความใดในบทข้าแต่พระบิดาที่กลายเป็นความจริง หรือครบบริบูรณ์ในการเฉลิมฉลองพิธีมิสซา
๐ ก่อนเริ่มต้นสวดบทข้าแต่พระบิดา พระสงฆ์กล่าวว่า “ให้เราภาวนาตามที่พระคริสตเจ้าทรงสอน” ทำไมพระศาสนจักรจึงไม่เพิ่มบทยอพระเกียรติเข้าไปโดยตรงที่ท้ายบทข้าแต่พระบิดา ระหว่างพิธีกรรม
Oratio(ภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อตอบสนองพระวาจาในพระคัมภีร์ที่กำลังพูดกับท่าน)
ให้พระคัมภีร์ และพิธีกรรมช่วยท่านให้มีคำพูด และลีลาใหม่ๆ ในการภาวนา
๐ ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอให้พระนามของพระองค์จงเป็นที่สักการะ ขอให้เราปรารถนาและรอคอยพระอาณาจักรของพระองค์ ขณะที่เราเฉลิมฉลองการประทับอยู่ของพระบุตรของพระองค์ท่ามกลางเรา โปรดทรงอภับบาปของเราเหมือนที่เราให้อภัยให้กันและกัน โปรดประทานอาหารแก่เราวันนี้ ซึ่งจะบำรุงเลี้ยงเราไปตลอดนิรันดรเทอญ
Contemplatio (อยู่กับพระวาจา)
ด้วยหัวใจของท่านที่พรั่งพรู..อย่างสงบ เงียบ..ท่านดื่มด่ำอยู่กับการภาวนา หลอมใจท่านไว้ในพระวาจาของพระเจ้า ในพิธีมิสซาขอบพระคุณ
“โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น
โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ
แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ”
Communicatio (นำพระวาจาไปปฏิบัติ)
ให้ถ้อยคำที่ท่านภาวนากลายเป็นการดำเนินชีวิตของท่าน
๐ ภาวนาอีกครั้งด้วยบทข้าแต่พระบิดา อย่างซาบซึ้งเข้าใจในทุกคำภาวนา และเลือกคำวิงวอนหนึ่งข้อเพื่อใช้ไตร่ตรอง และปฏิบัติตลอดวันหนึ่ง