Logo

Lectio Divina กุมภาพันธ์ 2017

หมวด: Lectio Divina 2017
เขียนโดย พระคุณเจ้าประธาน ศรีดารุณศีล
ฮิต: 1055

Lectio Divina : มิสซาในพระวาจา - 27                                                                    กุมภาพันธ์ 2017

 

การถวายบูชาหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า

เป็นการถวายบูชาเพื่อทุกคน

 

พระคริสตเจ้าทรงเสนอทางใหม่ที่ให้ชีวิต เพื่อเราจะได้รับการอภัยและสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าได้ ให้เราตั้งใจฟังผู้เขียนพระคัมภีร์ผู้ได้รับการดลใจจากพระเจ้า อธิบายว่าพระคริสตเจ้าทรงทำให้การถวายบูชาที่ชาวอิสราเอลถวายกันตลอดปีให้กลายเป็นการถวายบูชาที่สมบูรณ์อย่างไร

 

Lectio (พระเจ้าตรัสอะไร)

ฮีบรู 10:1-25

การถวายบูชาของพระคริสตเจ้าประเสริฐกว่าการถวายบูชาตามบทบัญญัติของโมเสส

          การถวายบูชาแบบเดิมไม่บรรลุผล เนื่องจากธรรมบัญญัติเป็นเพียงเงาและไม่ใช่ภาพจริงของพระพรที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้ จึงไม่อาจทำให้ผู้มาเฝ้าพระเจ้าบรรลุถึงความบริบูรณ์ได้ แม้จะถวายเครื่องบูชาเดียวกันตลอดปีอย่างต่อเนื่องทุกปี มิฉะนั้น การถวายบูชาแบบนี้คงจะต้องยุติลง ในเมื่อผู้นมัสการได้รับการชำระล้างครั้งหนึ่งเพื่อให้บริสุทธิ์ตลอดไปแล้ว เขาคงจะไม่สำนึกว่าตนยังมีบาปอีก แต่การถวายบูชาเหล่านี้ยังเตือนให้สำนึกถึงบาปอยู่ทุกปี เพราะเลือดโคเพศผู้และเลือดแพะชำระบาปให้หมดสิ้นไปไม่ได้ ดังนั้น เมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จมาในโลก จึงตรัสว่า

          “พระองค์ไม่มีพระประสงค์เครื่องบูชาและของถวายอื่นใด

          พระองค์จึงทรงเตรียมร่างกายไว้ให้ข้าพเจ้า

          พระองค์ไม่พอพระทัยในเครื่องเผาบูชาและเครื่องบูชาชดเชยบาป

          ข้าพเจ้าจึงทูลว่า ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่

          ในม้วนหนังสือมีข้อความเขียนเกี่ยวกับข้าพเจ้าไว้ว่า

          ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์”

          พระคริสตเจ้าตรัสเป็นอันดับแรกว่าพระเจ้าไม่มีพระประสงค์และไม่พอพระทัยในเครื่องบูชา ของถวาย เครื่องเผาบูชาและเครื่องบูชาชดเชยบาป ทั้งๆ ที่มีกำหนดไว้ในธรรมบัญญัติ แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ พระคริสตเจ้าจึงทรงยกเลิกการถวายบูชาแบบเดิมและทรงตั้งการถวายบูชาแบบใหม่ขึ้นแทน โดยพระประสงค์นี้เองเราทั้งหลายได้รับความศักดิ์สิทธิ์ เดชะการถวายพระวรกายของพระองค์เป็นการบูชาที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกระทำแต่เพียงครั้งเดียวโดยมีผลตลอดไป

 

ผลของการถวายบูชาของพระคริสตเจ้า

 

          สมณะทุกองค์อยู่ประจำหน้าที่ของตนทุกวัน ถวายเครื่องบูชาอย่างเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็อภัยบาปไม่ได้ ส่วนพระคริสตเจ้าทรงถวายเครื่องบูชาชดเชยบาปเพียงครั้งเดียว แล้วจึงเสด็จเข้าประทับ ณ เบื้องขวาของพระเจ้าตลอดไป ยังเหลืออยู่เพียงแต่จะให้ศัตรูของพระองค์ถูกปราบเป็นที่รองพระบาทเท่านั้น โดยอาศัยการถวายบูชาเพียงครั้งเดียว พระองค์ทรงทำให้ทุกคนที่กำลังรับความศักดิ์สิทธิ์บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์สมบูรณ์ตลอดไป พระจิตเจ้าทรงยืนยันเรื่องนี้กับเรา โดยตรัสในเบื้องต้นว่า

          นี่คือพันธสัญญา ซึ่งเราจะกระทำกับเขาทั้งหลาย

          วันหนึ่งในภายหน้า พระเจ้าตรัส

          เราจะนำบทบัญญัติของเราใส่ไว้ในดวงใจของเขา

          และจะจารึกบทบัญญัตินั้นไว้ในจิตใจ

          แล้วตรัสอีกว่า เราจะไม่จดจำบาปและความอธรรมของเขาต่อไปอีกเลย เมื่อบาปและความอธรรมเหล่านี้ได้รับการอภัยแล้ว จะไม่มีการถวายเครื่องบูชาชดเชยบาปอีกต่อไป

          ความเชื่อที่มั่นคง

          โอกาสสำหรับคริสตชน

          พี่น้องทั้งหลาย เมื่อเรามีความมั่นใจที่จะเข้าสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง เดชะพระโลหิตของพระเยซูเจ้า โดยทางใหม่ที่ให้ชีวิตซึ่งพระองค์ทรงเปิดไว้ให้เราผ่านทะลุม่านเข้าไป ม่านนี้คือพระวรกายของพระองค์ และเมื่อเรามีมหาสมณะคอยดูแลพระวิหารของพระเจ้าแล้ว เราจงเข้าไปใกล้ด้วยใจจริง และเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อ มีดวงใจบริสุทธิ์ มีจิตสำนึกว่าตนได้รับการอภัยแล้ว มีร่างกายที่ชำระล้างสะอาดด้วยน้ำบริสุทธิ์ เราจงยึดมั่นโดยไม่หวั่นไหวในการประกาศความหวังที่เรามีอยู่ เพราะว่าพระองค์ผู้ประทานพระสัญญานั้นทรงซื่อสัตย์ เราจงพิจารณาหาทางปลุกใจกันและกันให้มีความรักและประกอบกิจการดี อย่าขาดการเข้าร่วมชุมนุมกันดังที่บางคนเคยทำ แต่จงตักเตือนกัน จงกระทำเช่นนี้ให้มากยิ่งขึ้นดังที่ท่านเห็นแล้วว่าวันนั้นใกล้จะมาถึงแล้ว

 

ทำความเข้าใจกับพระวาจา

 

          หลังจากอ่านข้อความจากพระคัมภีร์อย่างตั้งใจแล้ว ให้ค้นหาต่อไปว่าข้อความนี้มีความหมายและนัยสำคัญอย่างไร ในแผนการของพระเจ้าสำหรับพระศาสนจักรของพระองค์

          จดหมายถึงชาวฮีบรูอธิบายว่า การนมัสการพระเจ้าแบบใหม่ในพระคริสตเจ้าได้เข้ามาแทนที่การนมัสการพระเจ้าภายใต้พันธสัญญาเดิมอย่างไร ข้อความนี้ใช้ศัพท์พิธีกรรมมากมายซึ่งเคยใช้ในพระวิหารเดิม และโอนมาใช้สำหรับการถวายบูชานิรันดรของพระคริสตเจ้า กล่าวคือ การถวายเครื่องบูชา ผู้นมัสการ ม้วนหนังสือ ของถวาย หน้าที่สมณะ พระกายของพระเยซูเจ้า พระโลหิตของพระเยซูเจ้า การบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ พันธสัญญา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง การชุมนุมของผู้มีความเชื่อ และวันของพระเจ้าที่ใกล้จะมาถึง ศัพท์ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นจุดสูงสุดของประวัติศาสตร์ความรอดพ้น คือการถวายบูชานิรันดรของพระคริสตเจ้า นี่คือความเป็นจริงที่พระศาสนจักรเฉลิมฉลองในพิธีบูชาขอบพระคุณทุกครั้ง

          การถวายบูชาตามพันธสัญญาเดิมเป็นเพียง “เงา” ของพระพรที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้ในองค์พระคริสตเจ้า และไม่ใช่ “ภาพจริง” ของพระพรเหล่านี้(ข้อ 1) ชาวอิสราเอลมีความสัมพันธ์ทางอ้อมกับพระคริสตเจ้าผ่านเงานี้ แต่เรามีความสัมพันธ์โดยตรงผ่านภาพจริงของพระคริสตเจ้า ซึ่งบัดนี้ได้ถูกเผยแสดงให้เห็นแล้ว การถวายบูชาในอดีตไม่สมบูรณ์ และต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการถวายบูชาอันสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า ซึ่งกระทำเพียงครั้งเดียว แต่มีผลตลอดไป

          การถวายบูชาภายใต้ธรรมบัญญัติของโมเสส เป็นการชำระบาปแต่เพียงภายนอก และไม่สามารถนำการให้อภัยซึ่งจะทำให้ผู้ถวายมีสันติสุขภายในได้และไม่สามารถชำระจิตสำนึกของผู้ถวายให้หลุดพ้นจากความรู้สึกผิดได้ อันที่จริง การถวายบูชาเหล่านี้เตือนให้ผู้ถวายสำนึกถึงบาปอยู่เสมอ และตอกย้ำความรู้สึกผิด และความไม่สมควรจะอยู่เบื้องหน้าพระเจ้า (ข้อ 2-4)

          พันธสัญญาใหม่เสนอหนทางให้เราได้รับความศักดิ์สิทธิ์ ให้เราได้รับการอภัยบาปอย่างแท้จริงและยั่งยืน “เดชะการถวายพระวรกายของพระเยซูเจ้า” (ข้อ 10) และ เดชะพระโลหิตของพระเยซูเจ้า” (ข้อ 19) ผู้เขียนจดหมายให้พระเยซูเจ้าตรัสถ้อยคำจากบทสุดดี 40 (ข้อ 5-9) ความนบนอบของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงถวายพระกายของพระองค์และหลั่งพระโลหิตของพระองค์ เข้ามาแทนที่การถวายบูชาจำนวนมากมายในอดีต ทั้งนี้ เพราะพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้า ดังนั้น ด้วยการถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชา พระองค์จึงสามารถทำให้เราได้รับการอภัยอย่างสมบูรณ์ และชำระล้างความรู้สึกผิดให้หมดไปจากจิตสำนึกของเราด้วย

          การถวายบูชาหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้าแทนที่การถวายบูชาจำนวนมากภายใต้ธรรมบัญญัติฉันใด สมณะองค์หนึ่งก็แทนที่สมณะจำนวนมากได้ฉันนั้น (ข้อ 11-14) พระคริสตเจ้าผู้ทรง “ถวายเครื่องบูชาชดเชยบาปเพียงครั้งเดียว” ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากความตาย และทรงได้รับการยกขึ้นสู่ที่ประทับ ณ เบื้องขวาของพระเจ้า และจากที่ประทับนั้น พระองค์ทรงทำหน้าที่สมณะเสนอวิงวอนเพื่อเรา และทรงเป็นคนกลางเสนอวิงวอนแทนเรามิได้ขาด ขณะที่ทรงรอให้ศัตรูของพระองค์ถูกปราบจนกลายเป็นที่รองพระบาท - ศัตรูเหล่านี้คือความอยุติธรรม ความเกลียดชัง ความสิ้นหวัง ความเหงา โรคภัยไข้เจ็บ และความตาย- พระองค์ทรงทำให้เราครบครัน และศักดิ์สิทธิ์

          ท้ายที่สุด ผู้เขียนจดหมายเรียกร้องให้คริสตชนมาชุมนุมกันนมัสการพระเจ้า(ข้อ 25)  การชุมนุมของคริสตชนเป็นบรรยากาศที่ดีสำหรับการให้กำลังใจกันและกัน และตักเตือนกันให้มีความรัก และประกอบกิจการดี อาศัยการนมัสการพระเจ้าในพิธีบูชาขอบพระคุณ การถวายบูขานิรันดรของพระคริสตเจ้า จึงถูกนำเสนออีกครั้งหนึ่งบนพระแท่นทั่วโลกจนกว่าพระองค์จะเสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง การระลึกถึงการถวายบูชาของพระองค์มีผลเหนือพื้นที่และกาลเวลา และทำให้เรามีส่วนร่วมในการถวายบูชาของพระคริสตเจ้าเบื้องหน้าพระบัลลังก์ของพระบิดา พระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้าที่ถวายเพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่เรา และซึ่งเรารับไว้ในศีลมหาสนิท ทำให้เราบรรลุถึงความครบครัน และเชิญชวนเราให้เข้ามารับการอภัยบาปจากพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความเมตตา

 

Meditatio (พระวาจาช่วยฉันพิจารณาตนเอง)

         

          ใช้เวลาสักครู่ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้ท่านนำพระวาจาของพระเจ้าเข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมในชีวิตของท่าน

          o       ผู้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรู อธิบายความหมายของการถวายเครื่องบูชา ของถวาย เครื่องเผาบูชา และเครื่องบูชาชดเชยบาปตามธรรมบัญญัติ การถวายบูชามากมายเหล่านี้เป็นเพียง “เงา” ของพระพรที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้ และเสนอให้ชาวอิสราเอลมีความสัมพันธ์ทางอ้อมกับพระคริสตเจ้าผ่านเงานี้ ในแง่ใด

          o       เนื่องจากพระคริสตเจ้าทรงเป็น “มหาสมณะคอยดูแลพระวิหารของพระเจ้า” ผู้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรูจึงเรียกร้องชุมชนคริสตชนให้ “เข้าไปใกล้” ด้วยหัวใจเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อ ความหวัง และความรัก (ข้อ 21-24) คุณธรรมสามประการนี้ช่วยเราได้อย่างไร ให้เตรียมตัวเข้าร่วมพิธีมิสซา ซึ่งเป็นการถวายบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ และทำให้การถวายบูชานี้มีผลต่อการดำเนินชีวิตของเรา

          o       “ธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ” ที่ประกาศในบทขอบพระคุณทุกแบบ เป็นการประกาศว่าเรามีส่วนร่วมในธรรมล้ำลึกปัสกา เรามีบทภาวนาที่เราถวายต่อพระคริสตเจ้าสามรูปแบบ คือ

                   “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์ พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง”(1 คร 11:26)

                   “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าทั้งหลายรับประทานปังและดื่มถ้วยนี้ ก็เป็นการประกาศว่าพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ ทั้งนี้จนกว่าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง” (1 คร 11:26)  และ

                   “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และกลับคืนพระชนมชีพ ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายปลอดภัยแล้ว โปรดช่วยด้วยเถิดพระเจ้าข้า”

          จากบทภาวนาทั้งสามแบบนี้ ข้าพเจ้าจะบรรยายถึงแก่นแท้ของธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่ออย่างไร

 

 

Oratio(ภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อตอบสนองพระวาจาในพระคัมภีร์ที่กำลังพูดกับท่าน)

 

          จงสรรเสริญพระเจ้าผู้ประทานการให้อภัย และชีวิตแก่เรา ผ่านทางการถวายบูชาของพระเยซูคริสตเจ้า

          o       ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ พระสิริรุ่งโรจน์และพระเกียรติทั้งปวงเป็นของพระองค์ เพราะพระองค์ได้ประทานปังแห่งชีวิต และถ้วยที่บันดาลความรอดพ้นแก่เรา เราขอประกาศการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระองค์ โดยร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระจิตเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

 

 

Contemplatio (อยู่กับพระวาจา)

         

          ภาวนาต่อพระเจ้า โดยวิงวอนขอพระพรแห่งความเชื่อ ความหวัง และความรัก

 

          “พระเจ้าตรัส....เราจะนำบทบัญญัติของเราใส่ไว้ในดวงใจของเขา

          และจะจารึกบทบัญญัตินั้นไว้ในจิตใจ

          เราจะไม่จดจำบาปและความอธรรมของเขาต่อไปอีกเลย

          เมื่อบาปและความอธรรมเหล่านี้ได้รับการอภัยแล้ว

          จะไม่มีการถวายเครื่องบูชาชดเชยบาปอีกต่อไป..”

 

 

Communicatio (นำพระวาจาไปปฏิบัติ)

 

        บทภาวนาสามบทที่สัตบุรุษสวด - คือ บทศักดิ์สิทธิ์ ธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ และคำตอบรับว่า “อาแมน” - ทำให้เราเชื่อว่าบทขอบพระคุณ ซึ่งพระสงฆ์เป็นผู้สวดนั้น แท้จริงแล้วเป็นบทภาวนาของสัตบุรุษทุกคนในที่ชุมนุมหรือยิ่งกว่านั้น ยังเป็นบทภาวนาของพระคริสตเจ้า และประชากรของพระองค์ด้วย

          o       บทภาวนายอพระเกียรติท้ายบทว่า “อาศัยพระคริสตเจ้า พร้อมกับพระคริสตเจ้าและในพระคริสตเจ้า” - การกล่าวคำว่า “อาแมน” เป็นการแสดงว่าที่ชุมนุมเห็นชอบด้วยกับทุกคำที่พระสงฆ์กล่าวในบทขอบพระคุณ (รม 11:36, วว 11:6) ท่านอยากจะคิดหรือรำพึงถึงอะไรขณะที่ท่านขับร้อง หรือกล่าวคำว่า “อาแมน” ทำไมสัตบุรุษในที่ชุมนุมจึงควรพยายามเปล่งคำพูดนี้ออกมาจากใจจริง และด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากที่สุด