สาส์นเทศกาลมหาพรต ปี 2017
ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
"พระวาจาเป็นของขวัญ บุคคลต่างๆ ล้วนเป็นของขวัญ"
พี่น้องชายหญิงที่รัก
เทศกาลมหาพรตเป็นการเริ่มต้นใหม่ เป็นหนทางนำไปสู่เป้าหมายบางประการแห่งปัสกา ซึ่งเป็นชัยชนะของพระคริสตเจ้าต่อความตาย เทศกาลนี้เรียกร้องให้เรากลับใจอย่างเร่งด่วน คริสตชนทุกคนได้รับการเรียกร้องให้กลับไปหาพระเจ้า “ด้วยดวงใจที่ศรัทธาอย่างแท้จริง” (ยอล 2:12) อย่ายอมเป็นคนแบบครึ่งๆ กลางๆ แต่ต้องเจริญพัฒนาขึ้นในมิตรภาพกับพระคริสตเจ้า พระเยซูเจ้าทรงเป็นมิตรที่ซื่อสัตย์ซึ่งจะไม่มีวันทอดทิ้งเรา แม้เมื่อเราทำบาปพระองค์ก็ทรงรอการกลับมาของเราอย่างอดทน และอาศัยการคาดหวังแบบอดทนนั้น พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นถึงความพร้อมของพระองค์ที่จะให้อภัยเรา (เทียบ บทเทศน์ วันที่ 8 มกราคม 2016)
มหาพรตเป็นเทศกาลที่เหมาะสมยิ่งในการสร้างความล้ำลึกให้กับชีวิตจิตของเรา โดยอาศัยวิธีการทำให้ตนเองศักดิ์สิทธิ์ที่พระศาสนจักรมอบให้เรา เช่น การจำศีล การสวดภาวนา และการทำบุญให้ทาน เป็นต้น สิ่งที่เป็นพื้นฐานของทุกเรื่อง
คือพระวาจาของพระเจ้า ซึ่งในช่วงเทศกาลนี้ เราได้รับการเชื้อเชิญให้รับฟังและทำการรำพึงไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น บัดนี้ข้าพเจ้าใคร่ที่จะกล่าวถึงนิทานเปรียบเทียบเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส (เทียบ ลก 16:19-31) ขอให้เราได้พบแรงบันดาลใจในนิทานที่มีความหมายยิ่งนี้ เพราะมันเป็นเหมือนกุญแจที่ทำให้เราเข้าใจว่าเราต้องทำอะไรบ้างเพื่อมีความสุขแท้จริงและมีชีวิตนิรันดร มันเตือนเราให้ต้องกลับใจอย่างจริงใจ
1. บุคคลต่างๆ ล้วนเป็นของขวัญ
นิทานเปรียบเทียบเริ่มต้นด้วยตัวละครที่มีนิสัยคนละแบบ มีการอธิบายคุณสมบัติคนจนอย่างละเอียดว่า เขาเป็นคนเคราะห์ร้ายที่ไม่มีแรงแม้แต่จะยืน เขานอนอยู่ที่หน้าประตูบ้านเศรษฐี คอยเก็บเศษอาหารที่หล่นจากโต๊ะอาหารเศรษฐีมากิน ร่างกายของเขาเต็มไปด้วยบาดแผลเน่าและมีสุนัขที่มาเลียแผลให้ (เทียบ วรรค 20-21) มันเป็นภาพที่น่าสงสารมาก และแสดงให้เห็นภาพของชายที่ไร้ซึ่งศักดิ์ศรีและ
น่าสงสารเป็นที่สุด
ละครฉากนี้ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นไปอีก หากเรามาคิดว่าชายยากจนคนนั้นชื่อ ลาซารัส ซึ่งเป็นชื่อที่เปี่ยมด้วยคำสัญญา เพราะตามรากศัพท์แปลว่า พระเจ้าประทานความช่วยเหลือ ตัวละครที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ไม่ได้มีให้เห็นกันโดยทั่วไป กายของเขาผิดรูปผิดร่างเป็นเหมือนคนที่มีเรื่องราวจำเพาะของตนเอง ในทางปฏิบัติแล้วคนรวยมักมองไม่เห็นเขา แต่เราเห็นเขาและรู้จักเขาจนชินตา เขากลายเป็นคนที่มีใบหน้า และเมื่อเป็นเช่นนั้นมันจึงเป็นของขวัญ เป็นขุมทรัพย์อันหาค่ามิได้ เป็นมนุษย์ที่พระเจ้าทรงรักและเอาใจใส่ดูแล แม้ว่าสภาพของเขาจะเป็นเหมือนคนที่ถูกทอดทิ้ง (เทียบ บทเทศน์ วันที่ 8 มกราคม 2016)
ลาซารัสสอนเราว่า บุคคลต่างๆ ล้วนเป็นของขวัญ ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับบุคคลทั่วไปอยู่ที่การยอมรับด้วยความกตัญญูถึงคุณค่าของพวกเขา แม้คนจนหน้าประตูบ้านเศรษฐีจะไม่สร้างความรำคาญ แต่ก็เรียกร้องให้มีการกลับใจและมีการ
ปรับเปลี่ยน ประเด็นแรกของนิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้เชื้อเชิญเราให้เปิดประตูหัวใจให้กับผู้อื่น เพราะว่าแต่ละบุคคลล้วนเป็นของขวัญ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านหรือคนจนที่เราไม่รู้จัก มหาพรตเป็นเทศกาลที่ดีสำหรับการเปิดประตูให้กับทุกคนที่มีความขัดสน และทำให้เราพบพระพักตร์พระเยซูบนใบหน้าของพวกเขา เราทุกคนต่างพบเห็นบุคคลเช่นนี้ทุกวัน แต่ละชีวิตที่เราพบล้วนเป็นของขวัญอันคู่ควร ให้การยอมรับ ความเคารพและความรัก พระวาจาของพระเจ้าช่วยให้เราเปิดตาโดยการให้การต้อนรับและรักชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชีวิตนั้นอ่อนแอและตกอยู่ในอันตราย แต่เพื่อที่จะทำเช่นนี้ได้เราต้องจริงจังกับสิ่งที่พระวรสารบอกเราเกี่ยวกับคนรวย
2. บาปทำให้เราตาบอด
นิทานเปรียบเทียบบรรยายอย่างไม่ไว้หน้าใครเกี่ยวกับความเลวร้ายของเศรษฐี (เทียบ วรรค 19) ไม่เหมือนกับลาซารัสคนจนที่มี เขาไม่มีชื่อ ผู้เขียนนิทานเรียกเขาว่า “เศรษฐีคนหนึ่ง” เราเห็นความมั่งคั่งของเขาได้จากการแต่งกายใช้เสื้อผ้าราคาแพง อาภรณ์สีม่วงราคาแพงยิ่งกว่าเงินและทองคำ ซึ่งปกติจะสงวนไว้สำหรับพระเจ้า (เทียบ ยรม 10:9) และกษัตริย์เท่านั้น (เทียบ ผวฉ 8:26) ส่วนอาภรณ์ลินินที่สวยงามนั้นทำให้ผู้สวมใส่ดูเหมือนเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์สำคัญ เป็นที่ชัดเจนว่าเศรษฐีผู้นั้นโอ้อวดความร่ำรวยของตน และมีนิสัยเคยชินกับการโอ้อวดดังกล่าวทุกวัน “เขามีการเลี้ยงใหญ่โตทุกวัน” (วรรค 19) ในตัวเขาเราพอมองเห็นได้ถึงความเน่าเฟะ
แห่งบาปซึ่งค่อยพัฒนาขึ้นไปตามลำดับ คือ รักเงินทอง ฟุ้งเฟ้อ และเย่อหยิ่ง (เทียบ บทเทศน์ วันที่ 20 กันยายน 2013)
อัครสาวกเปาโลบอกเราว่า “การรักเงินทองเป็นรากเหง้าแห่งความชั่วทุกชนิด” (1ทธ 6:10) มันคือต้นเหตุสำคัญของการทุจริตและเป็นบ่อเกิดแห่งความอิจฉาริษยา เป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งและการไม่ไว้ใจกัน เงินทองสามารถเป็นเจ้านายเหนือเรา จนกระทั่งกลายเป็นพระเจ้าได้ (เทียบ Evangelii Gaudium, 55) แทนที่จะเป็นเครื่องมือรับใช้เราในการทำความดีและแสดงความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น เงินสามารถเป็น โซ่ล่ามเราและโลกทั้งโลก ให้ยึดติดอยู่กับตรรกะที่เห็นแก่ตัว ซึ่งไม่ยอมให้มีที่ว่างสำหรับความรักและเป็นอุปสรรคต่อสันติ
นิทานเปรียบเทียบจึงแสดงให้เห็นว่า ความละโมภของคนรวยทำให้เขาเป็นคนฟุ้งเฟ้อ บุคลิกภาพของเขาแสดงออกด้วยสิ่งปรากฏภายนอกด้วยการแสดงให้
คนอื่นเห็นว่า เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่สิ่งที่ปรากฏภายนอกนั้นไปปิดบังความว่างเปล่าภายในของเขา ชีวิตของเขากลายเป็นนักโทษต่อสิ่งที่ปรากฏภายนอกและ
ต่อมิติที่ผิวเผินต่อคุณค่าแห่งการมีชีวิตของเขา (เทียบ ibid., 62)
ลำดับต่ำสุดแห่งความเสื่อมทางศีลธรรมคือความเย่อหยิ่ง เศรษฐีแต่งตัวดุจกษัตริย์และมีพฤติกรรมดุจพระเจ้าโดยลืมไปว่า ตนเองนั้นเป็นเพียงปุถุชนที่รู้จักตาย สำหรับผู้ที่ถูกบ่อนทำลายด้วยการรักเงินทอง พวกเขาจะไม่มีอะไรนอกจาก “ตัวกู” ของพวกเขา พวกที่อยู่รอบข้างจะไม่อยู่ในสายตาของเขา ผลของการยึดติดอยู่กับเงินทองคืออาการตาบอดชนิดหนึ่ง คนรวยมองไม่เห็นคนจนที่กำลังอดอยากและกำลังทนทุกข์นอนอยู่ที่หน้าประตู
เมื่อมองที่ลักษณะนิสัยของเศรษฐี เราสามารถเข้าใจได้ว่า ทำไมพระเจ้าจึงตำหนิอย่างรุนแรงต่อผู้ที่รักเงินทอง “ไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้ เขาจะชังนายคนหนึ่งและจะรักนายอีกคนหนึ่ง เขาจะจงรักภักดีต่อนายคนหนึ่งและจะดูหมิ่นนายอีกคนหนึ่ง ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้”
(มธ 6:24)
3. พระวาจาเป็นของขวัญ
พระวรสารเรื่องเศรษฐีกับลาซารัสช่วยเราให้มีการเตรียมตัวอย่างดีสำหรับวันปัสกาที่กำลังใกล้เข้ามา พิธีกรรมของวันพุธรับเถ้าเชื้อเชิญเราให้มีประสบกาณ์ทำนองเดียวกันกับเรื่องคนรวย เมื่อพระสงฆ์โรยเถ้าลงบนศีรษะเรา ท่านกล่าวว่า “จงจำไว้ว่าท่านเป็นฝุ่นดิน และท่านจะกลายเป็นฝุ่นดิน” และดังที่ปรากฏให้เห็น ทั้งเศรษฐีและคนจนต่างก็ตายไป และเรื่องราวส่วนใหญ่ของนิทานเปรียบเทียบจะกล่าวถึงชีวิตหลังความตาย บุคคลทั้งสองพบได้ทันทีว่า “เรามิได้นำสิ่งใดเลยมาสู่โลก และเราก็มิได้นำสิ่งใดเลยไปจากโลก” (1ทธ 6:7)เราก็เห็นได้เช่นเดียวกันว่า อะไรจะเกิดขึ้นหลังความตาย เศรษฐีพูดอย่างยืดยาวกับอับราฮัมซึ่งเขาเรียกว่า “บิดา” (ลก 16:24-27) ประหนึ่งว่าตนเป็นประชากรของพระเจ้า คำพูดเหล่านี้ยิ่งขัดแย้งกับชีวิตจริงของเขา เพราะจนกระทั่งบัดนี้ไม่มีการพูดถึงความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้าเลย ความจริงแล้วชีวิตของเขาไม่มีที่สำหรับพระเจ้า พระเจ้าแต่ผู้เดียวของเขาก็คือตัวเขาเอง
เศรษฐีจำลาซารัสได้ก็หลังจากที่ตนได้รับการทรมานหลังจากชีวิตนี้ เขาอยากให้ลาซารัสบรรเทาความทุกข์ของเขาด้วยการส่งน้ำมาให้เขาหยดหนึ่ง สิ่งที่เขาขอร้องลาซารัสก็คงคล้ายกับสิ่งที่เขาสามารถทำได้แต่ไม่เคยทำ อับราฮัมบอกเขาว่า “ตลอดช่วงชีวิตของท่าน ท่านอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งดีๆ ทุกอย่าง ในขณะที่ลาซารัสมีแต่สิ่งที่ไม่ดีต่างๆ บัดนี้ลาซารัสได้รับแต่ความบรรเทาและความสุข ส่วนท่านตกอยู่ในความทุกข์” (วรรค 25) หลังความตายความชอบธรรมจะกลับคืนมาและความชั่วร้ายแห่งชีวิตจะถูกนำมาวางบนตราชั่ง
นิทานเปรียบเทียบนี้ยังนำสาส์นมาให้คริสตชนทุกคนด้วย เศรษฐีขอร้องอับราฮัมให้ส่งลาซารัสไปเตือนพี่น้องของเขาที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่อับราฮัมตอบว่า “พวกเขามีโมเสสและประกาศกต่างๆ อยู่แล้ว ให้พวกเขาเชื่อฟังท่านเหล่านั้นเถิด” (วรรค 29) อับราฮัมกล่าวเพิ่มเติมว่า “ถ้าพวกเขาไม่ยอมฟังโมเสสหรือประกาศก พวกเขาก็จะไม่มีวันเชื่อแม้จะมีคนฟื้นขึ้นมาจากความตาย” (วรรค 31)
ปัญหาจริงของคนรวยจึงปรากฏออกมาให้เห็น รากเหง้าแห่งความชั่วทั้งหลายของเขาคือ การไม่ยอมฟังพระวาจาของพระเจ้า ผลที่ตามมาคือเขามิได้รักพระเจ้าอีกต่อไปและดูถูกเพื่อนบ้าน พระวาจาของพระเจ้าทรงชีวิตและมีพลัง สามารถเปลี่ยนใจมนุษย์และนำพวกเขากลับมาหาพระเจ้า เมื่อเราปิดประตูหัวใจต่อของขวัญ แห่งพระวาจาของพระเจ้า เราจะลงเอยด้วยการปิดประตูหัวใจต่อของขวัญซึ่งได้แก่พี่น้องชายหญิงของเราด้วย
มิตรสหายที่รัก มหาพรต เป็นเทศกาลพิเศษในการรื้อฟื้นการสัมผัสของเรากับพระคริสตเจ้า โดยการดำเนินชีวิตในพระวาจาของพระองค์ ในศีลศักดิ์สิทธิ์ และในเพื่อนบ้าน พระคริสตเจ้าผู้เอาชนะการล่อลวงของเจ้าปีศาจในช่วงเวลา 40 วันที่พระองค์ประทับอยู่ในทะเลทราย แสดงให้เราเห็นหนทางที่เราต้องเดิน ขอให้พระจิตเจ้าทรงนำเราไปในการเดินทางสู่การกลับใจที่แท้จริง เพื่อเราจะได้พบของขวัญแห่งพระวาจาของพระเจ้า ได้รับการชำระล้างบาปที่ทำให้เราตาบอด และให้เรารับใช้พระคริสตเจ้าที่ประทับอยู่ในพี่น้องชายหญิง ในการรณรงค์เทศกาลมหาพรตที่ส่งเสริมโดยหลายองค์กรของพระศาสนจักรในส่วนต่างๆ ของโลก เพื่อในที่สุดจะได้เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัวโลก ขอให้เราภาวนาแก่กันและกัน เพื่อว่าเมื่อได้มีส่วนในชัยชนะของพระคริสตเจ้าแล้ว เราจะได้เปิดประตูให้กับคนที่อ่อนแอและคนจน เมื่อนั้นแหละ เราจึงสามารถมีประสบการณ์และแบ่งปันความชื่นชมยินดีแห่งปัสกาด้วยกัน
จากนครรัฐวาติกัน วันที่ 18 ตุลาคม 2016
วันฉลองนักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส