Logo

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงสถาปนาวันระลึกถึง “พระแม่มารีย์ มารดาแห่งพระศาสนจักร”

หมวด: vatican news
เขียนโดย พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์
ฮิต: 472

 

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงกำหนดวันเพื่อรำลึกถึง “พระแม่มารีย์ มารดาแห่งพระศาสนจักร” ลงไปในปฏิทินพิธีกรรมของโรมันคาทอลิก วันจันทร์หลังวันอาทิตย์สมโภชพระจิตเจ้า

         สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงออกกฤษฎีกาให้ความศรัทธาโบราณต่อพระแม่มารีย์พรมจารีภายใต้พระนาม “มารดาแห่งพระศาสนจักร” บรรจุลงในปฏิทินโรมัน  การเฉลิมฉลองพิธีกรรม “BeataMariaeVirginis, Ecclesiae Matrisถูกกำหนดให้เป็นวันฉลองประจำปีหลังวันสมโภชพระจิตเจ้า

         ในกฤษฎีกาที่สมณกระทรวงเพื่อการนมัสการพระเจ้าประกาศเมื่อวันเสาร์ ที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา พระคาร์ดินัลโรเบิร์ต ซาร่า ซึ่งเป็นสมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงดังกล่าว กล่าวว่า การตัดสินใจของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเกิดขึ้นเพราะธรรมเนียมประเพณีซึ่งเกี่ยวกับแม่พระในฐานะที่ทรงเป็นมารดาแห่งพระศาสนจักร

 

 

พระคาร์ดินัลซาร่า: “การรำลึกถึงพระแม่มารีย์ใหม่ช่วยส่งเสริมชีวิตของพระศาสนจักร

          พระคาร์ดินัลซาร่ากล่าวว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงโปรดที่จะส่งเสริมความศรัทธานี้เพื่อที่จะ “สนับสนุนมิติความเป็นมารดาของพระศาสนจักรให้มากขึ้นในบรรดาผู้อภิบาล นักบวช และสัตบุรุษรวมทั้งความศรัทธาที่แท้จริงต่อแม่พระด้วย”


“มารดาแห่งพระศาสนจักร”ในธรรมเนียมประเพณี

         กฤษฎีกาสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์แห่งเทวศาสตร์เกี่ยวกับแม่พระในธรรมเนียมจารีตพิธีของพระศาสนจักรและข้อเขียนแห่งปิตาจารย์ของพระศาสนจักร

         ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร มีการกล่าวกันว่านักบุญเอากุสตินและนักบุญเลโอพระสันตะปาปา ทั้งสองท่านได้รำพึงไตร่ตรองถึงความสำคัญของพระแม่มารีย์พรหมจารีในพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า

         “ความจริงนักบุญเอากุสตินกล่าวว่า แม่พระเป็นแม่ของสมาชิกทุกคนของพระคริสตเจ้า เพราะอาศัยความรักแม่พระร่วมมือในการเกิดใหม่ของบรรดาคริสตชนในพระศาสนจักร  ส่วนนักบุญเลโอผู้ยิ่งใหญ่กล่าวว่าการให้กำเนิดศีรษะก็เป็นการให้กำเนิดกับร่างกายด้วย ดังนั้นจึงชี้ให้เห็นว่าแม่พระเป็นทั้งแม่ของพระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าและเป็นแม่ของของสมาชิกแห่งพระกายทิพย์ของพระองค์ซึ่งได้แก่พระศาสนจักรด้วย”

         กฤษฎีกาพูดถึงการไตร่ตรองเหล่านี้ว่าเป็นผลของ “ความเป็นมารดาของแม่พระและจากความเป็นหนึ่งเดียวอย่างใกล้ชิดของพระแม่ในงานแห่งพระผู้ไถ่”

         กฤษฎีกากล่าวว่าพระคัมภีร์เขียนไว้ว่าแม่พระทรงประทับอยู่ ณ แทบไม้กางเขน (เทียบ ยน. 19: 25)ณ ตรงนั้นพระแม่กลายเป็นมารดาของพระศาสนจักรเมื่อพระแม่ “ยอมรับการเป็นประจักษ์พยานแห่งความรักของพระบุตรและต้อนรับทุกคนในบุคคลแห่งศิษย์ที่รักของพระเยซูให้เป็นบุตรธิดาที่จะเกิดใหม่สู่ชีวิตนิรันดร”

         ในปี ค.ศ. 1964 กฤษฎีกากล่าวว่าสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่6ทรง “ประกาศพระแม่มารีย์พรหมจารีย์เป็น มารดาของพระศาสนจักร กล่าวคือ พระนางเป็นมารดาของคริสตชนทุกคนทั้งสัตบุรุษและผู้อภิบาลซึ่งขานพระนามพระนางว่าเป็นมารดาที่น่ารักที่สุด” และยังทรงประกาศด้วยว่า “พระมารดาของพระเจ้าควรได้รับการถวายเกียรติและรับการขานพระนามอันน่ารักนี้จากคริสตชนทั่วโลก”

 

บัดนี้การถวายบูชาขอบพระคุณถือเป็นการระลึกถึงเฉลิมฉลองที่มีการกำหนดวันที่แน่นอน

         ต่อมาในปีศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดีกัน ค.ศ. 1975 ได้มีการแทรกการถวายบูชาขอบพระคุณเข้าไปในปฏิทินพิธีกรรมโรมันเพื่อถวายเกียรติแด่พระแม่มารีย์มารดาของพระศาสนจักร  อาศัยกฤษฎีกาปัจจุบันสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงแทรกการเฉลิมฉลองเข้าไปในพิธีกรรมของพระศาสนจักรสากลซึ่งเป็นวันที่ถูกกำหนดไว้ตลอดไป

         สมณกระทรวงเพื่อการนมัสการพระเจ้าจัดทำจารีตพิธีอย่างเป็นทางการซึ่งเป็นภาษาลาติน กฤษฎีกากำหนดว่าการแปล และต้องได้รับการอนุมัติจากสภาพระสังฆราชฯ ก่อนที่จะได้รับการยืนยันจากสมณกระทรวงอีกโสตหนึ่ง

 

โปรดอ่านข้อความแห่งกฤษฎีกาที่แปลเป็นภาษาไทย ต่อไปนี้:

เลขที่ 10/18

         กฤษฎีกาว่าด้วยการเฉลิมฉลองพระแม่มารีย์มารดาแห่งพระศาสนจักรในปฏิทินพิธีกรรมโรมัน

         การถวายเกียรติและแสดงความเคารพต่อมารดาของพระเจ้าโดยพระศาสนจักรร่วมสมัยในความสว่างแห่งการไตร่ตรองเกี่ยวกับพระธรรมล้ำลึกแห่งพระคริสตเจ้าไม่อาจมองข้ามภาพของสตรีผู้หนึ่งได้ (เทียบ กท.4: 4) ได้แก่พระแม่มารีย์พรหมจารีย์ผู้ทรงเป็นทั้งมารดาของพระคริสตเจ้าและของพระศาสนจักร

         โดยวิธีใดวิธีหนึ่งการปฏิบัตินี้มีอยู่แล้วในจิตใจของพระศาสนจักรตั้งแต่มีคำพูดมาช้านานแล้วของนักบุญเอากุสตินและนักบุญเลโอผู้ยิ่งใหญ่  ความจริงนักบุญเอากุสตินกล่าวว่าแม่พระเป็นมารดาของผู้ที่เป็นอวัยวะของพระคริสตเจ้า  เพราะโดยอาศัยความรักพระแม่ได้ร่วมมือในการเกิดใหม่ของสัตบุรุษในพระศาสนจักร  ในขณะที่นักบุญเลโอกล่าวว่าการเกิดของศีรษะย่อมหมายถึงการเกิดของร่างกายด้วย ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าแม่พระเป็นทั้งมารดาของพระคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าและเป็นมารดาของอวัยวะแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าซึ่งได้แก่พระศาสนจักร ความคิดเหล่านี้ได้มาจากการเป็นมารดาของแม่พระและจากความเป็นหนึ่งเดียวที่ใกล้ชิดในผลงานของพระผู้ไถ่ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาที่พระองค์ทรงตรึงอยู่บนไม้กางเขน

         อันที่จริงพระมารดาผู้ทรงยืนอยู่ใต้ไม้กางเขน (เทียบ ยน. 19: 25) ได้กลายเป็นประจักษ์พยานแห่งความรักแห่งพระบุตรของพระแม่ และพระแม่ทรงต้อนรับทุกคนในบุคคลที่เป็นศิษย์รักของพระเยซูดุจบุตรธิดาซึ่งจะต้องเกิดใหม่สู่ชีวิตนิรันดร ดังนั้นพระนางจึงทรงเป็นมารดาที่อ่อนหวานของพระศาสนจักรซึ่งพระคริสตเจ้าทรงทำให้บังเกิดขึ้นบนไม้กางเขนเดชะพระจิต และในทำนองเดียวกันพระคริสตเจ้าโดยอาศัยศิษย์ที่รัก ทรงเลือกศิษย์ทุกคนเพื่อว่าทุกคนจะได้ต้อนรับพระนางด้วยความรักเยี่ยงบุตร

         ในฐานะที่ทรงเป็นผู้พิทักษ์ดูแลพระศาสนจักรเกิดใหม่พระแม่ได้ทรงเริ่มพันธกิจ ณ บนห้องอาหารชั้นบนด้วยการอธิษฐานภาวนากับบรรดาอัครสาวกในขณะที่รอคอยการเสด็จมาของพระจิต (เทียบ กจ. 1: 14) ตามความหมายนี้ในช่วงเวลาหลายศตวรรษความศรัทธาของคริสตชนได้ถวายเกียรติแด่แม่พระด้วยหลายตำแหน่งและหลายพระนามด้วยกัน เช่น มารดาแห่งอัครสาวก มารดาแห่งคริสตชน มารดาแห่งผู้ที่มีความเชื่อ มารดาของทุกคนที่เกิดใหม่ในพระคริสตเจ้า รวมถึง “มารดาของพระศาสนจักร” ด้วย ดังที่มีการใช้กันในหนังสือของผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตฝ่ายจิตและในอำนาจสั่งสอนของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 และพระสันตะปาปาเลโอที่ 13

         ดังนั้นรากฐานได้ถูกสร้างขึ้นอย่างชัดเจนซึ่งบุญราศีเปาโลที่ 6 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1964 ซึ่งเป็นวันปิดประชุมสภาสังคายนาวาระที่สาม พระองค์ทรงประกาศให้พระแม่มารีย์พรหมจารีย์เป็น “มารดาของพระศาสนจักร กล่าวคือสัตบุรุษทุกคนทั้งฆราวาสและผู้อภิบาลควรขานพระนามพระแม่ว่าทรงเป็นมารดาที่น่ารักและอ่อนหวานที่สุด” และทรงกล่าวเสริมว่า “มารดาของพระเจ้าควรได้รับการถวายพระเกียรติโดยคริสตชนทุกคน และสมควรขานพระนามของพระแม่ด้วยตำแหน่งที่อ่อนหวานน่ารักนี้”

         เพราะฉะนั้นในโอกาสปีศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดีกัน (ค.ศ. 1975) สันตะสำนักจึงเสนอให้มีการถวายบูชาขอบพระคุณเพื่อถวายเกียรติแด่ Beata Maria Ecclesiae Matris(มารดาของพระศาสนจักร) ซึ่งต่อมาได้มีการแทรกเข้าไปในปฏิทินพิธีกรรมบูชาขอบพระคุณ สันตะสำนักยังอนุญาตให้ขานพระนามในตำแหน่งนี้ในบทร่ำวิงวอนLitany of Loreto (1980) และพิมพ์สูตรต่างๆในบทภาวนาที่เกี่ยวกับพระแม่มารีย์พรหมจารี (1986)  ในบางประเทศ สังฆมณฑล และครอบครัวนักบวชที่ขออนุญาตสันตะสำนักจะได้รับอนุญาตให้เพิ่มการเฉลิมฉลองนี้เข้าไปในปฏิทินของตนเองได้

         หลังจากที่ได้อธิบายกันอย่างยืดยาวว่าการส่งเสริมความศรัทธานี้สามารถช่วยให้เราเข้าใจความหมายแห่งการเป็นมารดาของพระศาสนจักรได้เพียงใด ในบรรดาผู้อภิบาล นักบวช และสัตบุรุษ รวมถึงการเจริญเติบโตในความศรัทธาที่แท้จริงต่อพระแม่มารีย์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงออกกฤษฎีกาว่า การรำลึกถึงพระแม่ผู้ทรงเป็นมารดาของพระศาสนจักรควรบรรจุลงไปในปฏิทินพิธีกรรม ในวันจันทร์หลังวันสมโภชพระจิตและให้ทำการเฉลิมฉลองทุกปีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

         การเฉลิมฉลองนี้จะช่วยให้เราจำว่าการเติบโตในชีวิตคริสตชนต้องปักสมอไว้กับพระธรรมล้ำลึกแห่งไม้กางเขน กับการถวายตนเป็นบูชาของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท กับพระมารดาของพระผู้ไถ่ และมารดาของผู้ที่ได้รับการไถ่ ซึ่งได้แก่พรหมจารีย์ผู้ทรงถวายตนเองแด่พระเจ้า

         เพราะฉะนั้นการรำลึกนี้จะต้องปรากฎในปฏิทินและหนังสือจารีตพิธีเพื่อให้มีการเฉลิมฉลองบูชาขอบพระคุณและการทำวัตร คู่มือพิธีที่เกี่ยวข้องแนบมากับกฤษฎีกานี้แล้ว  สภาพระสังฆราชฯทุกแห่งต้องจัดให้มีการแปลและมีการอนุญาตก่อนที่จะส่งไปให้สมณกระทรวงอนุมัติอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงจัดการพิมพ์

         หากการเฉลิมฉลองพระแม่มารีย์มารดาของพระศาสนจักรตรงกับวันฉลองที่มีฐานะสูงกว่าและได้รับการอนุมัติจากกฎหมายพิเศษในอนาคต อาจทำการเฉลิมฉลองได้ตามปกติไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ประกาศ ณ กระทรวงเพื่อการนมัสการพระเจ้า

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2018

โอกาสวันระลึกถึงการประจักษ์ของแม่พระที่เมืองลูร์ด

 

- พระคาร์ดินัล โรเบิร์ต ซาร่า  สมณมนตรี

- อาร์เธอร์ โรเช่  พระอัครสังฆราชเลขาธิการฯ

 

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บเอกสารนี้มาไตร่ตรองเพื่อความศรัทธาต่อแม่พระ มารดาแห่งพระศาสนจักร)