ผมได้ข้อมูลจากเพื่อนนักข่าวสายวาติกันเกี่ยวกับ "ปฏิกิริยาของพระสันตะปาปา" หลังทรงทราบเรื่องโปสเตอร์โจมตีพระองค์
ถูกเผยแพร่กว่า 200 จุดทั่วกรุงโรม ( http://bit.ly/2kiyUTG) สิ่งที่พระสันตะปาปาทรงทำหลังทราบเรื่องคือ "นิ่งๆ ไม่ตื่นตระหนก"
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ฝ่ายที่คัดค้านพระสันตะปาปา ฟรังซิส คือ "กลุ่มอนุรักษ์นิยมในพระศาสนจักรคาทอลิก"
ปัญหาที่ความขัดแย้ง เกิดจาก "สมณสาสน์ความรักในครอบครัว" (Amoris Laetitia) ซึ่งค่อนข้างคลุมเครือ อ่านแล้วต้องตีความ
เกี่ยวกับการอนุญาตให้คาทอลิกหย่าร้างรับศีลมหาสนิทได้หรือไม่ "แกนนำของกลุ่มอนุรักษ์นิยม" ที่ไม่เห็นด้วย และตั้งข้อสงสัยในสมณสาส์นนี้
มี 4 คน นำโดย พระคาร์ดินัล เรย์มอนด์ เบิร์ก, พระคาร์ดินัล คาร์โล คัฟฟาร่า, พระคาร์ดินัล วอลเตอร์ แบรนด์มุลเลอร์ และ พระคาร์ดินัล โยอาคิม ไมส์เนอร์
พระคาร์ดินัล 4 คนนี้คือคนที่ส่งจดหมายขอร้องให้พระสันตะปาปาชี้แจงเนื้อหาในสมณสาส์น แต่พระสันตะปาปาไม่ตอบ เมื่อเป็นเช่นนี้
พวกเขาจึงนำจดหมายดังกล่าวมาเปิดเผยกับสาธารณชน เพื่อกดดันพระสันตะปาปาไปในตัว พระคาร์ดินัล 4 คนนี้ ให้เหตุผลเรื่องการนำจดหมายมาเปิดเผย
ให้คนทั่วไปทราบ มาจากการทำตามพระวรสารที่ว่า "ถ้าพี่น้องของท่านทำผิด จงไปตักเตือนเขาตามลำพัง ถ้าเขาเชื่อฟัง ท่านจะได้พี่น้องคืนมา
ถ้าเขาไม่เชื่อฟัง จงพาอีกคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย ... ถ้าเขาไม่เชื่อฟังพยาน จงแจ้งให้หมู่คณะทราบ" (มธ 18:15-17)
ในมุมของนักข่าวสายวาติกัน พวกเราได้วิเคราะห์ว่า ความขัดแย้งนี้เริ่มมีการนำ "#กลยุทธ์การทำสงครามข่าวสาร" เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย
จะมี "นักข่าวสายวาติกันที่เป็นหัวอนุรักษ์นิยม" (ผมขอไม่บอกชื่อ แต่มาจากสำนักข่าวคาทอลิกชื่อดังจากอเมริกาและอังกฤษ) เป็นกระบอกเสียงให้
พระคาร์ดินัล เรย์มอนด์ เบิร์ก อยู่เสมอ นักข่าวกลุ่มนี้จะเขียนบทความโจมตีพระสันตะปาปา ฟรังซิส เป็นระยะๆ และจะใช้สื่อโซเชี่ยลเป็นตัวจุดกระแส
ส่วนฝั่งที่ปกป้องพระสันตะปาปา ฟรังซิส แบบ "ออกตัวชัดเจน" หลักๆ ที่เห็นจะมี "คุณพ่ออันโตนิโอ สปาดาโร่" สงฆ์เยสุอิตและเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ลา ชีวิลตา คัตโตลิก้า
ขณะที่นักข่าวสายวาติกันคนอื่น ยังนิ่งๆ รายงานตามสิ่งที่เกิด แต่ผมพอคาดเดาได้ว่า เขามีจุดยืนอย่างไร ความขัดแย้งแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสายตานักข่าววาติกัน
เพราะพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 และ เบเนดิกต์ ที่ 16 ก็เจอมาแล้ว เพียงแต่ยุคนั้น ไม่มี "โซเชี่ยล มีเดีย" ทำให้ข่าวไม่ถึงหูคนเท่าไหร่
สิ่งเดียวที่แปลกคือ พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 และ เบเนดิกต์ ที่ 16 จะขัดแย้งกับกลุ่มหัวก้าวหน้ามากกว่า ไม่ค่อยขัดแย้งกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม
(มีเคสเดียวที่ผมจำได้ว่า พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่้ 2 ขัดกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมคือเรื่องของ "เลอแฟ๊บวร์") แต่กับพระสันตะปาปา ฟรังซิส มันตรงกันข้าม
พระองค์ขัดกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม กระนั้น กระแสของคนส่วนมาก (สัตบุรุษ) ในพระศาสนจักร เอาใจช่วยพระองค์เยอะจริงๆ เยอะจนสัมผัสได้ชัดเจนด้วย
ติดตามต่อได้ที่ http://www.popereport.com/2017/02/blog-post_8.html