พระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยี่ยมนักโทษในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ (Pope Francis visits prison inmates on Holy Thursday)
พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเสด็จเยือนเรือนจำ เรจินา โคเอลี (Regina Coeli prison) หรือเรือนจำราชินีสวรรค์ ในกรุงโรม ตอนบ่ายวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเสด็จกลับไปสู่เรือนจำประวัติศาสตร์ ซึ่งพระองค์เคยประกอบพิธีกรรมในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์มาแล้วเมื่อปี 2018 การเสด็จเยือนเรือนจำ เรจินา โคเอลี นี้ เป็นภารกิจที่พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงกระทำมาตั้งแต่เริ่มต้นดำรงตำแหน่งเป็นพระสันตะปาปาของพระองค์ แสดงออกถึงความใกล้ชิดกับผู้ที่อาศัยอยู่หลังลูกกรง แม้ว่าในปีนี้ พระองค์จะไม่สามารถประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณและพิธีล้างเท้าได้ แต่พระองค์ได้ทรงทักทายนักโทษเป็นการส่วนตัว ให้กำลังใจพวกเขา มอบสายประคำ และหนังสือพระวรสารขนาดพกพา เป็นของขวัญให้แก่พวกเขาแต่ละคน
พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงตรัสกับผู้คนที่มารวมตัวกันว่า “ข้าพเจ้าชอบมาเข้าคุกในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์เสมอ เพื่อทำพิธีล้างเท้าเหมือนที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ แต่ว่าในปี้นี้ ข้าพเจ้าไม่สามารถทำได้ แต่ข้าพเจ้าอยากอยู่ใกล้พวกคุณ ข้าพเจ้าขออธิษฐานภาวนาเพื่อคุณและครอบครัวของพวกคุณ” ผู้ถูกจองจำประมาณ 70 คนที่มีอายุและสัญชาติต่างกัน ให้การต้อนรับพระสันตะปาปาในเรือนจำที่ตั้งอยู่ในเขตตรัสเตเวเร (Trastevere) ของกรุงโรม พระองค์ได้พบกับเสียงเชียร์และเสียงโห่ร้องจากผู้ที่มารวมตัวกันข้างใน รวมถึงจากนักโทษที่เฝ้าดูเหตุการณ์จากหน้าต่างด้านบน พวกเขาเปล่งเสียงออกมาว่า "เสรีภาพ!", "สวดเพื่อพวกเรา!", "สวดเพื่อปาเลสไตน์" และ "เราอยู่กับท่าน!" สะท้อนผ่านห้องโถง พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงโต้ตอบด้วยท่าทางเรียบง่าย โดยยกมือทักทายและยกนิ้วโป้งขึ้น ก่อนที่จะตรัสกับพวกเขาจากรถว่า “สวดเพื่อข้าพเจ้าด้วย”
คำพูดและท่าทางแห่งความใกล้ชิด (Words and gestures of closeness)
พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงใช้เวลาประมาณ 30 นาทีในที่นั้น ทรงทักทายผู้ถูกจองจำและเจ้าหน้าที่เรือนจำ ผู้ถูกจองจำหลายคนสวมสายประคำไม้ไว้ที่คอ หลายคนถือหนังสือพระวรสารขนาดพกพา ชายหนุ่มคนหนึ่งขอหนังสือพระวรสารเพิ่มเติมเพื่อมอบให้กับน้องสาวของเขาเมื่อได้รับอิสรภาพ หลายคนคุกเข่าและจูบพระหัตถ์ของพระองค์ หรือโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อแสดงความเคารพ นักโทษคนหนึ่งชื่อเฟอร์ดินันโด (Ferdinando) ยื่นจดหมายที่เขียนด้วยลายมือของเขาเองให้กับพระสันตะปาปาฟรังซิส เขียนว่า “ขอให้แสงสว่างของพระเจ้าส่องสว่างชีวิตของฉันและครอบครัว ขอบคุณพระสันตะปาปาสำหรับการประทับของพระองค์” พระสันตะปาปาทรงหยุดพูดคุยกับเขาครู่หนึ่งเกี่ยวกับครอบครัวของเขา และทรงบอกว่าจะสวดภาวนาให้กับเขา
ชายหนุ่มอีกคนหนึ่ง วัย 26 ปี ชื่อมัตเตโอ (Matteo) ขอให้พระสันตะปาปาเซ็นชื่อบนหนังสือพระวรสารของเขา เขาแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวกับพระองค์สั้น ๆ โดยกล่าวว่า เขาถูกจำคุกหลังจากปกป้องคู่ของเขาจากการถูกทำร้ายร่างกาย เขาอ้างว่าสถานการณ์ถูกเข้าใจผิดและนำไปสู่การให้การเท็จ ณ ห้องโถง ซึ่งถูกใช้เป็นที่ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ และการสอนคำสอนประจำสัปดาห์ ผู้ถูกจองจำหลายคนแสดงความประหลาดใจ และขอบคุณต่อการเสด็จเยือนขอ พระสันตะปาปาโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ผู้ถูกจองจำคนหนึ่งจำได้ว่า เมื่อเขาได้ข่าวว่าพระสันตะปาปาเสด็จเยี่ยมเรือนจำอีกแห่งหนึ่งชื่อเรบิบเบีย (Rebibbia) เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เขาได้เขียนจดหมายถึงพระองค์เป็นการส่วนตัวให้มาเยี่ยมเขาที่เรือนจำแห่งนี้ เขากล่าวว่า “เราสวดภาวนา และพระองค์ก็มาจริง ๆ”
ประเพณีของงานอภิบาล (A tradition of pastoral presence)
พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงทำให้การเสด็จเยือนเรือนจำ เป็นกิจกรรมหลักในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ โดยเริ่มต้นที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และต่อเนื่องตลอดการดำรงตำแหน่งสันตะปาปาของพระองค์ในกรุงโรม การเสด็จมาเยือนเรือนจำเรจินา โคเอลี ของพระองค์ในปีนี้เกิดขึ้น แม้ว่าพระองค์จะยังคงมีปัญหาด้านสุขภาพ และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอยู่ก็ตาม ขณะตรัสกับนักข่าวนอกเรือนจำ พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงไตร่ตรองสั้น ๆ เกี่ยวกับการเสด็จเยือนในครั้งนี้ว่า “ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าเข้าไปในสถานที่เช่นนี้ ข้าพเจ้าจะถามตัวเองว่า ทำไมต้องเป็นพวกเขา ไม่ใช่ข้าพเจ้า?” เมื่อนักข่าวถามพระองค์ว่า พระองค์จะทรงฉลองปัสกาอย่างไร? พระองค์ตอบเพียงว่า “เท่าที่ข้าพเจ้าทำได้”
การไตร่ตรองของจิตตาภิบาล (The chaplain’s reflection)
คุณพ่อวิตโตริโอ ตรานี (Fr. Vittorio Trani) จิตตาภิบาลประจำเรือนจำเรจินา โคเอลี กล่าวกับสำนักข่าววาติกันว่า การเสด็จเยือนของพระสันตะปาปาฟรังซิสถือเป็นสัญญาณอันทรงพลัง “การกระทำนี้เป็นการแสดงออกถึงความห่วงใย ต่อความเป็นจริงที่ประกอบด้วยผู้คนที่ลำบาก เรือนจำไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกจองจำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่ทำงานที่นี่ และผู้ที่รับผิดชอบด้านการจัดการด้วย พระสันตะปาปาฟรังซิสไม่ทรงต้องการให้เทศกาลปัสกาผ่านไป โดยไม่ได้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม ถึงความกังวลที่พระองค์ทรงมีอยู่ภายใน”