วันอาทิตย์ (ใบลาน) พระทรมานของพระคริสตเจ้า
สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์เริ่มต้นด้วยวันอาทิตย์(ใบลาน)พระทรมานของพระเยซูเจ้า เริ่มต้นด้วยความชื่นชมยินดี ฉลองการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่าของพระเยซูเจ้า (เป็นการทำนายล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์) การเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มยังเป็นการทำนายล่วงหน้าถึงการเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มแห่งสวรรค์ของคริสตชน
เราจะเห็นว่าสิ่งที่พระศาสนจักรเน้นในการฉลองพิธีกรรมในวันนี้ คือ การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า (บทนำของพระทรมานและภาพล่วงหน้าของการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า) และพระทรมานของพระคริสตเจ้า
ในหนังสือพิธีสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์หน้า 5 ให้ความหมายของวันนี้ว่า “วันนี้ พระศาสนจักรระลึกถึงพระคริสตเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม เพื่อธรรมล้ำลึกปัสกาจะได้สำเร็จไป”
โครงสร้างของพิธีกรรมในอาทิตย์ใบลานแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ
1.พิธีระลึกถึงพระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มในฐานะกษัตริย์และพระแมสสิยาห์
2. พิธีมิสซาโดยเริ่มจากบทภาวนาของประธาน ภาคพระวาจาซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่พระทรมานของพระเยซูเจ้า (ในปี A อ่านพระวรสารของนักบุญมัทธิว ปี B อ่านพระวรสารของนักบุญมาระโก ปี C อ่านพระวรสารของนักบุญลูกา) พิธีมิสซาตามปกติและจบด้วยการอวยพรอย่างสง่า
โครงสร้างของส่วนแรก พิธีระลึกถึงพระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มมีดังนี้
อาภรณ์ที่พระสงฆ์ใส่เป็นสีแดง (เน้นที่พระทรมานและการเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า จะเห็นว่าสีแดงจะใช้อีกในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์) เพลงลำนำที่ร้องเน้นพระเยซูเจ้าเป็นกษัตริย์และพระแมสสิยาห์ (เพลงที่ 53) “โฮซันนาแด่โอรสของดาวิด ขอถวายพระพรแด่ผู้มาในพระนามของพระเจ้า ข้าแต่พระราชาแห่งอิสราเอล”
ต่อจากนั้นเป็นบทนำ บทภาวนาเสกใบลาน พระสงฆ์พรมน้ำเสกที่ใบลาน การอ่านพระวรสารเรื่องการเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่าของพระเยซู (ในปีA อ่านพระวรสารของนักบุญมัทธิว ปีB อ่านพระวรสารของนักบุญมาระโกหรือพระวรสารของนักบุญยอห์น ปีC อ่านพระวรสารของนักบุญลูกา) หลังจากนั้นเป็นการแห่ ระหว่างที่แห่อ่านบทสดุดีที่ 24 และ47 และเพลงสรรเสริญพระคริสตกษัตริย์ จะเห็นว่าภาพพระเยซูเจ้าเป็นกษัตริย์ถูกเน้นอย่างชัดเจน
ใบลานเป็นสิ่งคล้ายศีลไม่ใช่เครื่องรางที่มีอำนาจในตัวเอง แต่การที่คริสตชนเก็บใบลานไว้ที่บ้าน เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อในพระเยซูเจ้า กษัตริย์และพระแมสสิยาห์ และในชัยชนะปัสกาของพระองค์
การแห่มีสองแบบ (จากหนังสือพิธีสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์) คือ การแห่อย่างสง่า (ทำได้ครั้งเดียวในมิสซาใหญ่ของวัด) และการแห่อย่างธรรมดา
ใบลานเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ พระเยซูเจ้าทรงประทับนั่งบนหลังลูกลา หมายถึงพระองค์เป็นสันติราชา ไม่ใช่กษัตริย์นักรบ (ที่ขี่รถม้าเข้ามา) ประชาชนชาวอิสราเอลมาต้อนรับกษัตริย์ คือ พระเยซูเจ้า และภาพของการเป็นกษัตริย์ของพระองค์ชัดเจนที่สุดคือโดยพระทรมาน (ในภาควจนพิธีกรรม การอ่านพระทรมานของพระเยซูเจ้า)
ประกาศกเศคาริยาห์ได้ทำนายล่วงหน้าถึงพระเยซูเจ้า พระเมสสิยาห์ ดังนี้ “ธิดาแห่งศิโยนเอ๋ย จงร่าเริงอย่างยิ่ง ธิดาแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย จงโห่ร้องด้วยความยินดีเถิด ดูซิ กษัตริย์ของท่านกำลังเสด็จมาหาท่าน พระองค์ทรงเที่ยงธรรมและทรงชัยชนะ ทรงถ่อมพระองค์และประทับบนหลังลา บนหลังลาตัวน้อย ลูกแม่ลา” (ศคย 9:9)
ใบลานยังเป็นสัญลักษณ์หมายถึง ชัยชนะ การกลับคืนชีพ ดังที่ปรากฏในพระคัมภีร์ วิวรณ์ 7:9 กล่าวว่า "ข้าพเจ้าเห็นนิมิตประชาชนมากมายเหลือคณานับจากทุกชาติ ทุกเผ่า ทุกประเทศและทุกภาษา กำลังยืนอยู่เฉพาะพระบัลลังก์ และเฉพาะพระพักตร์ลูกแกะของพระเจ้า ทุกคนสวมเสื้อขาวถือใบปาล์ม”
ดังนั้นการแห่ใบลานจึงเป็นหัวใจสำคัญของพิธีระลึกถึงพระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม เพราะการแห่ใบลานเป็นการแสดงว่าเรารับพระเยซูเจ้าเป็นกษัตริย์ของเรา และเราพร้อมที่จะร่วมการถวายบูชาของพระองค์บนไม้กางเขนในพิธีมิสซา
หลังจากแห่ใบลานแล้วพิธีกรรมเริ่มด้วยบทภาวนาของประธานทันที
บทอ่านที่ 1 จากหนังสือของประกาศกอิสยาห์ อสย 50:4-7 พูดถึงผู้รับใช้ของพระเจ้าที่ยอมรับการทรมาน และพระเจ้าจะทรงเสด็จมาช่วยเหลือผู้รับใช้นั้น แน่นอนผู้รับใช้นั้นหมายถึงพระเยซูเจ้า และถ้าเรามองแต่เพียงด้านความเจ็บปวดของพระเยซูเจ้าแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเรายังเข้าใจพระทรมานของพระองค์ไม่ครบ เพราะพระทรมานจะต้องนำไปสู่การกลับคืนพระชนมชีพอย่างรุ่งโรจน์เสมอ เราเห็นได้ชัดจากบทอ่านที่ 2 ในจดหมายนักบุญเปาโลอัครสาวกถึงชาวฟิลิปปี ฟป 2:6-11 “พระองค์ทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงเทิดทูนพระองค์ขึ้นอย่างสูงส่ง.... และเพื่อชนทุกชาติทุกภาษาจะได้ประกาศว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าพระบิดา”
พระวรสารกล่าวถึงพระทรมานของพระเยซูเจ้า ขณะอ่านพระทรมาน เราคุกเข่าเมื่อถึงตอนที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ การคุกเข่าในแง่พิธีกรรมเป็นอากับกริยาที่แสดงถึงการเป็นทุกข์ถึงบาปหรือการนมัสการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด
บทนำขอบพระคุณกล่าวถึง “การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ท่าน ได้ชำระล้างข้าพเจ้าทั้งหลายให้พ้นบาป การกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ท่าน ทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ชอบธรรม”
ภาพของการฉลองในพิธีกรรมวันนี้ แม้จะเน้นที่พระทรมานแต่ก็เป็นพระทรมานที่นำไปสู่การกลับคืนพระชนมชีพ คือ ชัยชนะของพระเยซูเจ้าในฐานะกษัตริย์ ผู้ปกครองในดวงใจของเราคริสตชน