แปดวันก่อนการแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ดังที่พระวรสารวันอาทิตย์นี้พูดถึง พระเยซูเจ้าได้ตรัสทำนายถึงพระทรมานเป็นครั้งแรกว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะและธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่จะกลับคืนชีพในวันที่สาม” (ลก 9:22)
คำทำนายนี้ไม่ใช่ข่าวดีเลยสำหรับบรรดาศิษย์ซึ่งคาดหวังว่าพระเยซูเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ จะช่วยพวกเขาขับไล่กองทัพโรมันให้ออกไปจากแผ่นดินปาเลสไตน์ และสถาปนาอาณาจักรอิสราเอลให้กลับมายิ่งใหญ่และรุ่งเรืองเหมือนในสมัยของกษัตริย์ดาวิดอีกครั้งหนึ่ง
ศิษย์หลายคนจึงเริ่มสงสัยว่าพระองค์คือพระเมสสิยาห์ที่พวกเขาคาดหวังและรอคอยจริงๆ รึเปล่า? พระองค์คือผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมาจริงๆ มั้ย? พวกเขาควรจะเสี่ยงติดตามพระองค์ต่อไปจนถึงกรุงเยรูซาเล็มหรือว่าจะตีจากพระองค์ก่อนที่มันจะสายเกินไปดี?
ในเวลาเดียวกัน คำทำนายเรื่องพระทรมาน ก็ทำให้พระเยซูเจ้าเองสงสัยเหมือนกัน !
คำถามในใจของพระองค์ก็คือ การมุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการทรมานและถูกตรึงตายบนไม้กางเขนนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกต้องแล้วหรือ และแม้ว่านี่เป็นทางเลือกที่ถูกต้อง แต่พระองค์จะกล้าทำจริงๆ รึเปล่า?
เมื่อมาถึงจุดนี้ พระเยซูเจ้าจึงทำเหมือนอับราฮัมในบทอ่านที่หนึ่ง คือขอเครื่องหมายจากพระเจ้า หลังจากพระเจ้าทรงสัญญาจะประทานแผ่นดินตั้งแต่แม่น้ำแห่งอียิปต์ ไปจนถึงแม่น้ำใหญ่คือแม่น้ำยูเฟรติสให้แก่อับราฮัม อับราฮัมไม่แน่ใจจึงทูลขอเครื่องหมายรับรองจากพระองค์ว่า “ข้าพเจ้าจะทราบได้อย่างไรว่า แผ่นดินนี้จะเป็นกรรมสิทธิ์ของข้าพเจ้า” แล้วพระเจ้าก็ทรงโปรดให้มีหม้อไฟและคบเพลิงที่ลุกอยู่ลอยผ่านสัตว์ที่อับราฮัมผ่าซีกไว้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้อับราฮัมเชื่อว่าแผ่นดินแห่งพระสัญญาจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหลานของท่านจริงๆ
ด้วยเหตุนี้พระเยซูเจ้าจึงพาเปโตร ยากอบ และยอห์น ขึ้นภูเขา “เพื่ออธิษฐานภาวนา ขอความเห็นชอบและพละกำลังจากพระบิดาเจ้า” (ลก 9:28)
และบนภูเขานี้เอง นอกจากลักษณะของพระพักตร์จะเปลี่ยนไปและฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้าแล้ว ลูกาเล่าว่า “บุรุษสองคนคือโมเสสและประกาศกเอลียาห์มาสนทนากับพระองค์” (ลก 9:30)
โมเสสเป็นเสมือนผู้ก่อตั้งชนชาติอิสราเอล และเป็นผู้บัญญัติกฎหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ส่วนเอลียาห์เป็นประกาศกองค์แรกซึ่งชาวอิสราเอลถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดเช่นกัน
เนื้อหาของการสนทนา ลูกาเล่าว่าคือเรื่อง “การจากไปของพระเยซูเจ้าที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:31)
คำว่า “การจากไป” ตรงกับภาษากรีก exodos (เอกซ์ซอดอส) และตรงกับภาษาอังกฤษ exodus (เอกซ์ซอดัส) ซึ่งเป็นชื่อของหนังสือเล่มหนึ่งในพระธรรมเก่า คือหนังสืออพยพ
คำ exodus มีความหมายลึกซึ้งทางศาสนา เพราะเป็นการเดินทางผจญภัยของชนชาติหนึ่ง ที่มอบความวางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า แล้วออกเดินทางจากแผ่นดินอียิปต์ซึ่งอุดมสมบูรณ์ มุ่งหน้าสู่ถิ่นทุรกันดารในทะเลทรายที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ในที่สุดพระเจ้าก็ทรงนำพาพวกเขาเข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญาไว้
พระเยซูเจ้าก็กำลังทำ exodus เช่นเดียวกัน โดยทรงออกจากแคว้นกาลิลีอันอบอุ่นและปลอดภัย มุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็มและไม้กางเขน !!!
แม้จะมีกางเขนรออยู่เบื้องหน้า แต่การสนทนากับโมเสสและเอลียาห์ ทำให้พระองค์มั่นพระทัยว่า หลังการจากไปหรือ exodus ของชาวอิสราเอลยังมีแผ่นดินแห่งพระสัญญาฉันใด หลังความตายบนไม้กางเขน ก็มีความรุ่งโรจน์แห่งการกลับคืนพระชนมชีพรอคอยพระองค์อยู่ฉันนั้น
เท่ากับว่าบุคคลสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล 2 คน ได้ยืนยันกับพระองค์ว่า “ทรงมาถูกทางแล้ว” !!
นอกจากนั้น ยังมีพระสุรเสียงของพระเจ้าดังออกมาจากเมฆว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด” (ลก 9:35)
นี่คือคำยืนยันจากสวรรค์ที่บรรดาศิษย์ผู้กำลังลังเลต้องการ... พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงเป็นพระเมสสิยาห์จริง !!!
นับจากนี้ไปพวกเขาต้องเชื่อฟังพระเยซูเจ้า และติดตามพระองค์ให้สุดทาง แม้สุดทางนั้นจะเป็นความตายอันน่าอดสูบนไม้กางเขนก็ตาม เพราะพระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างพระองค์ และพระองค์จะชนะในที่สุด
พี่น้องครับ เราเคยสงสัยหรือลังเลเหมือนพระเยซูเจ้ากับบรรดาอัครสาวกบ้างไหม โดยเฉพาะเมื่อได้ฟังหรือได้ประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเข้าท่า หรือไม่สบอารมณ์ เราเคยสงสัยและถามบ้างมั้ยว่า “พระเจ้าอยู่ที่ไหน?”
อย่างเช่นได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับพระสงฆ์หรือนักบวชประพฤติตนเป็นที่สะดุด แล้วก็ถามว่า “พระเจ้าจะสถิตอยู่ในสถานที่ที่มีพระสงฆ์หรือนักบวชแบบนี้ได้อย่างไรกัน?” แล้วก็เลยหมดความเชื่อ
หรือพี่น้องบางคนต้องเผชิญกับการเลือกที่รักมักที่ชังและความอยุติธรรมในสังคม เช่น สมัครงานแล้วคนอื่นที่มีคุณสมบัติน้อยกว่ากลับได้งานเพราะมีเส้นสายดี บางคนก้าวหน้า ร่ำรวยด้วยวิธีการที่ไม่แฟร์ บางคนก็เจอวิกฤติความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานบ้าง กับคู่ครองบ้าง กับพ่อแม่บ้าง หรือพ่อแม่กับลูกของตนบ้าง แล้วก็ตั้งคำถามว่า “พระเจ้าอยู่ที่ไหน?”
พี่น้องครับ เมื่อใดก็ตามที่เราเผชิญกับเหตุการณ์หรือความรู้สึกทำนองนี้ ก็แปลว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องขึ้นภูเขา คือต้องละวางจากการงานบ้าง เพื่อจะได้สวดภาวนาวอนขอพระเจ้า โปรดเปิดดวงตาของเราให้มองเห็นชัยชนะชั่วนิรันดรที่รอเราอยู่ เราจะได้ตระหนักว่าปัญหาต่างๆ ในชีวิตนี้มันช่างเล็กน้อยและแสนสั้นจริงๆ เราจะได้มีกำลังใจและความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับความทุกข์ยากต่างๆ และแบกกางเขนของเราติดตามพระเยซูเจ้า โดยสำนึกอยู่เสมอว่าพระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายเดียวกับเราเหมือนที่ทรงอยู่ฝ่ายเดียวกับพระเยซูเจ้า
ในเวลาเดียวกัน นอกจากจะต้องแบกกางเขนแล้ว นักบุญเปาโลยังเตือนเราไม่ให้ประพฤติตนเป็นศัตรูกับไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าอีกด้วย คืออย่านับถือท้องเป็นพระเจ้าหรือสนใจแต่สิ่งของของโลก เพราะปลายทางของผู้ที่เป็นศัตรูกับไม้กางเขนก็คือความพินาศ
พี่น้องครับ ตลอดเทศกาลมหาพรตนี้ ให้เราเชื่อฟังพระเยซูเจ้า และแบกกางเขนในชีวิตประจำวันของเราติดตามพระองค์ด้วยใจมุ่งมั่น เพื่อเราจะได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในความชื่นชมยินดีและในชัยชนะแห่งวันปัสกาที่พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพด้วยกันทุกคน