ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ประกอบด้วยสมาชิก 3 ท่าน คือ พระเยซูเจ้า แม่พระ และนักบุญโยเซฟ กระนั้นก็ตาม แม้จะเป็นครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบนะครับ เพราะสมาชิกในครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ทุกคนยังเป็นมนุษย์เหมือนเรา ต้องเผชิญกับปัญหาและความยากลำบากต่างๆ นานาเหมือนเรา ซ้ำร้ายยังต้องแบกกางเขนหนักยิ่งกว่าเราเสียอีก
เริ่มตั้งแต่แม่พระตั้งครรภ์ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้า ก็เกิดความเข้าใจผิดระหว่างกันจนนักบุญโยเซฟคิดจะถอนหมั้นแม่พระด้วยซ้ำไป
ครั้นถึงเวลาจะต้องให้กำเนิดพระกุมาร ซึ่งเป็นพระบุตรของพระเจ้า ก็ปรากฏว่าห้องพักในเบธเลเฮมเต็มหมด จนกระทั่งพระกุมารจำต้องไปเกิดในถ้ำเลี้ยงสัตว์อันหนาวเหน็บ
และเมื่อพระกุมารบังเกิดมาแล้วก็ยังไม่วายถูกกษัตริย์เฮโรดตามฆ่า จนทั้งครอบครัวต้องอพยพลี้ภัยหนีตายไปอียิปต์ ดินแดนซึ่งครั้งหนึ่งบรรดาบรรพบุรุษชาวยิวต้องตกเป็นทาสมาก่อน
ครั้นกลับจากอียิปต์ พอพระกุมารอายุ 12 ขวบ พ่อกับแม่ก็ต้องลิ้มรสประสบการณ์อันน่าตื่นตกใจสุดขีดเมื่อลูกหาย และต้องตามหาถึง 3 วันจึงพบลูกอยู่ในพระวิหาร ดังที่เราได้ฟังในพระวรสารวันนี้
นอกจากนั้น ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ยังต้องพบกับความโศกเศร้าเสียใจกับการจากไปของหัวหน้าครอบครัว คือนักบุญโยเซฟ ก่อนพระเยซูเจ้าจะเริ่มต้นภารกิจซะอีก
และหลังจากพระเยซูเจ้าทรงเริ่มภารกิจ เมื่อพระองค์กลับมาบ้านที่นาซาเร็ธ แม่พระก็ต้องเศร้าใจสุดขีดเมื่อญาติพี่น้องพากันกักตัวพระองค์ไว้เพราะคิดว่าพระองค์เสียสติ (มก 3:20-21)
อีกทั้งแม่พระจะต้องทนทุกข์ทรมานใจสักแค่ไหนเมื่อลูกถูกกล่าวหาว่าเป็น “นักกินนักดื่ม เป็นเพื่อนกับคนเก็บภาษีและคนบาป” (ลก 7:34) ซ้ำร้ายยังถูกบรรดาผู้นำของชาวยิวจ้องจะกำจัดอีกด้วย
และที่เศร้าที่สุดก็คือแม่พระต้องยืนดูลูกตายบนไม้กางเขนด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
กระนั้นก็ตาม พี่น้องครับ สิ่งที่ทำให้ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ยืนหยัดและฟันฝ่ากางเขนและความยากลำบากต่างๆ นานาได้ก็คือ “ความรัก”
กล่าวคือ ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์รัก รักทั้งพระเจ้า และรักซึ่งกันและกัน
แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าครอบครัวศักดิ์สิทธิ์รักพระเจ้า?
เรารู้ว่าครอบครัวศักดิ์สิทธิ์รักพระเจ้าก็เพราะครอบครัวศักดิ์สิทธิ์นบนอบเชื่อฟังพระองค์
เริ่มตั้งแต่ถ้อยคำที่เราคุ้นหูมากที่สุดที่แม่พระกล่าวกับทูตสวรรค์ว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38)
เช่นเดียวกัน นักบุญโยเซฟ แทนที่จะถอนหมั้น ก็ยอมรับแม่พระมาเป็นภรรยา (มธ 1:24) และพาพระกุมารกับแม่พระหนีไปอียิปต์ (มธ 2:13-15) ตามที่ทูตสวรรค์ของพระเจ้าสั่งไว้
นอกจากนั้น ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ยังพร้อมที่จะปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระเจ้า ทั้งเรื่องการถวายบุตรชายคนแรกแด่พระเจ้า และการชำระมลทินหลังคลอดบุตรของแม่พระ (ลก 2:22-40)
แม้แต่พระเยซูเจ้าเองก็ยังตรัสว่า “เราลงมาจากสวรรค์ มิใช่เพื่อทำตามใจของเรา แต่เพื่อทำตามพระประสงค์ของผู้ทรงส่งเรามา” (ยน 6:38)
ที่สุด เรายังรู้ด้วยว่า ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ นอกจากจะรักพระเจ้าแล้ว ยังรักซึ่งกันและกันอีกด้วย ดังจะเห็นได้จาก
เมื่อแม่พระตั้งครรภ์ ทั้งแม่พระและนักบุญโยเซฟต่างให้อภัยซึ่งกันและกันหลังจากเข้าใจกันผิดๆ
และทั้งแม่พระกับนักบุญโยเซฟต่างก็ช่วยกันปกป้องคุ้มครองลูก ยอมละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อเห็นแก่ความปลอดภัยของลูก
และเมื่อลูกหาย ทั้งคู่ก็ห่วงใยลูก ตามหาลูก ให้อภัยลูก โดยเก็บเรื่องทั้งหมดไว้ในใจ ดังที่เราได้ฟังในพระวรสารวันนี้
นอกจากนั้น ทั้งแม่พระและนักบุญโยเซฟยังช่วยกันเอาใจใส่ลูกทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตวิญญาณ หาไม่แล้วพระกุมารคงไม่สามารถเติบใหญ่เป็นมหาบุรุษผู้เปี่ยมด้วยความรัก ความเมตตา และความเสียสละ จนสามารถให้อภัยได้แม้กระทั้งผู้ที่ประหารชีวิตของพระองค์เอง ปราชญ์ท่านหนึ่งจึงกล่าวว่า “แม่ที่ดีคนเดียวมีค่าเท่ากับครูร้อยคน”
ฝ่ายพระเยซูเจ้าผู้เป็นบุตรก็ทรงนบนอบเชื่อฟังพ่อแม่ นักบุญลูกาเล่าว่า หลังกลับจากกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ “เสด็จกลับไปที่เมืองนาซาเร็ธกับบิดามารดาและเชื่อฟังท่านทั้งสอง” (ลก 2:51)
นอกจากนบนอบเชื่อฟังพ่อแม่แล้ว พระเยซูเจ้ายังทรงทำหน้าที่ของบุตรอย่างไม่มีที่ติ เราทราบว่านักบุญโยเซฟไม่ได้ไปร่วมงานสมรสที่เมืองคานา คงมีแต่แม่พระผู้เดียวที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเจ้าภาพ จึงสันนิษฐานว่าท่านเสียชีวิตแล้วตั้งแต่พระองค์ยังเยาว์วัย พระองค์จึงรับช่วงเป็นช่างไม้ประจำหมู่บ้านต่อจากบิดา และทำหน้าที่เป็นเสาหลักของครอบครัว หารายได้มาจุนเจือแม่และญาติพี่น้อง
และแม้จะเริ่มทำภารกิจที่พระบิดามอบหมายแล้ว พระเยซูเจ้าก็ยังทรงห่วงใยแม่ตราบจนวาระสุดท้าย บนไม้กางเขน แม้ตัวพระองค์เองกำลังทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสใกล้จะสิ้นพระชนม์ พระองค์ก็ยังอุตสาห์ฝากฝังพระแม่ไว้ในความดูแลของยอห์น ดังที่ยอห์นบันทึกไว้ว่า “เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นพระมารดาและศิษย์ที่รักยืนอยู่ใกล้ๆ จึงตรัสกับพระมารดาว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” แล้วตรัสกับศิษย์ผู้นั้นว่า “นี่คือแม่ของท่าน” (ยน 19:26-27)
ที่สำคัญ พระเยซูเจ้าทรงให้เวลากับครอบครัว 30 ปี และให้เวลากับภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับมอบหมายจากพระบิดาเจ้าเพียง 3 ปี เท่ากับ 10 ต่อ 1 เท่านั้น ซึ่งต่างกันลิบลับเลยกับทนายความสาวที่ไม่ค่อยมีเวลาให้แก่ครอบครัว มีเรื่องเล่าว่าทนายความสาวคนหนึ่ง อาศัยอยู่ห่างไกลจากคุณพ่อผู้แก่เฒ่าของเธอ หลายเดือนผ่านไปโดยที่ทั้งคู่ไม่ได้มีโอกาสพบหน้าค่าตากัน คุณพ่อก็เลยโทรศัพท์ไปหาลูกสาวขอให้กลับมาหาพ่อบ้าง ฝ่ายลูกสาวก็จาระไนเหตุผลร้อยแปดที่ทำให้ไม่มีเวลาไปเยี่ยมผู้เป็นพ่อ เช่น ศาลนัดบ้างละ ต้องประชุมทีมทนายความบ้างละ ต้องไปพบกับลูกค้าใหม่บ้างละ ฯลฯ ที่สุดผู้เป็นพ่อจึงถามว่า “ลูก! เมื่อพ่อตาย ลูกจะมางานศพของพ่อมั้ย?” ลูกสาวตอบสวนไปทันควัน “พ่อ! ไม่อยากเชื่อเลยว่าพ่อจะถามแบบนี้ ลูกก็ต้องไปสิคะ” พ่อจึงตอบว่า “ดี งั้นก็ลืมงานศพซะ แล้วมาเดี๋ยวนี้เลย เพราะพ่อต้องการลูกตอนนี้มากกว่าตอนนั้น”
พี่น้องครับ ให้เราวอนขอครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ โปรดให้เราสามารถเอาชนะความยากลำบากต่างๆ และทำให้ครอบครัวของเราศักดิ์สิทธิ์ อาศัยความเชื่อและความรักในพระเจ้า รวมถึงความรักซึ่งกันและกันตามแบบอย่างของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเราร่วมใจกันฉลองในวันนี้ด้วยเทอญ