Logo

บทเทศน์สอนวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2024 สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา

หมวด: บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ โดยคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
เขียนโดย คุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
ฮิต: 499

     พระวรสารวันนี้เล่าว่าพระเยซูเจ้าทรงถามบรรดาอัครสาวก ว่า “ท่านล่ะ ว่าเราเป็นใคร” เปโตรทูลตอบแทนศิษย์คนอื่นๆ ว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า”
แม้ว่าคำตอบของเปโตรจะช่วยให้พระเยซูเจ้าใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง เพราะอย่างน้อยก็ยังมีคนรับรู้ว่าพระองค์คือพระคริสต์ กระนั้นก็ตาม พระองค์ทรงทราบดีว่า “พระคริสต์” ตามที่บรรดาอัครสาวกและชาวยิวเข้าใจนั้นยังผิดแผกแตกต่างไปจากความคิดของพระองค์อย่างสิ้นเชิง
     สำหรับชาวยิว “พระคริสต์” คือผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมให้เป็นกษัตริย์ เพื่อนำพาพวกเขาทำสงครามพิชิตโลกและทำลายล้างศัตรูที่เคยกดขี่พวกเขา แล้วรวบรวมชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกให้กลับมารวมตัวกันที่เยรูซาเล็มใหม่ ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้น “ยุคใหม่” ที่เต็มไปด้วยสันติสุขตลอดนิรันดร
     จริงอยู่ความคิดของพวกเขาจบลงด้วย “ยุคใหม่” ซึ่งก็คือ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” แต่วิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นต้องแลกมาด้วยความรุนแรง ต้องทำสงคราม ต้องทำลายล้างชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คนจำนวนมากมายมหาศาล!
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” พระเยซูเจ้าจึงต้อง “กำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด” จนกว่าพระองค์จะสอนพวกเขาให้เข้าใจความหมายของพระคริสต์ได้อย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น
     แล้วโดยไม่รอช้า พระวรสารวันนี้เล่าว่า “พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ทันทีว่า ‘บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับการทรมานอย่างมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมา จะกลับคืนชีพ’”
     ก็แปลว่า สำหรับพระเยซูเจ้า “พระคริสต์” คือผู้ที่จะต้องทนทุกข์และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ไม่ใช่นักรบนองเลือดที่จะทำให้นานาชาติมายอมสยบอยู่แทบเท้า
อันที่จริงประกาศกอิสยาห์ก็ได้ทำนายล่วงหน้าไว้แล้วว่า พระคริสต์จะต้องถูกโบยตี ถูกดึงเครา ถูกสบประมาทและถ่มน้ำลายรด ดังที่เราได้ฟังในบทอ่านที่หนึ่งวันนี้
กระนั้นก็ตาม บรรดาอัครสาวก โดยเฉพาะเปโตร ยอมรับไม่ได้ ถึงกับดึงพระองค์ออกมาและทูลคัดค้านหัวชนฝา จนพระองค์ต้องตำหนิเปโตรอย่างรุนแรงว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์”
ทำไมพระองค์ทรงตำหนิเปโตรรุนแรงเช่นนี้เล่า ?
เหตุผลก็เป็นเพราะว่า เปโตรสอบตกภาคปฏิบัติ
     แม้ว่าท่านจะสอบข้อความเชื่อหรือภาคทฤษฎีได้คะแนนเต็มร้อยเมื่อตอบคำถามของพระเยซูเจ้าได้ว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” แต่ท่านสอบตกเรื่องภาคปฏิบัติเกี่ยวกับหนทางของพระคริสต์ในอันที่จะทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระบิดาให้สำเร็จลุล่วงอย่างสมบูรณ์
     เปโตร ไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์
     อันที่จริง เราคริสตชนก็มีปัญหาเช่นเดียวกับเปโตร คือรู้ข้อความเชื่อดี สอบคำสอนได้คะแนนเต็มหรือสูงมาก แต่กลับสอบตกภาคปฏิบัติ คือการดำเนินชีวิตของตนยังเป็นไปตามอย่างมนุษย์ ไม่ใช่ตามอย่างพระเจ้า
     ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางคนยังเสียงแข็ง ปากก็บอกว่าเชื่อ แต่ชีวิตกลับมีแต่ภาคทฤษฎี ขาดภาคปฏิบัติ ขาดการกระทำอย่างสิ้นเชิง
วันนี้ นักบุญยากอบจึงเตือนเราในบทอ่านที่สองโดยตั้งคำถามให้เราคิดว่า “จะมีประโยชน์ใดหากผู้หนึ่งอ้างว่ามีความเชื่อแต่ไม่มีการกระทำ ความเชื่อเช่นนี้จะช่วยให้เขารอดพ้นได้หรือ” พร้อมกันนั้นนักบุญยากอบก็ฟันธงว่า “ความเชื่อหากไม่มีการกระทำ ก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว”
     พี่น้องบางคนอาจนึกแย้งว่าก็นักบุญเปาโลบอกไว้ในจดหมายถึงชาวโรม 3:28 ไม่ใช่หรือว่า “มนุษย์ได้รับความชอบธรรมโดยความเชื่อ ไม่ใช่โดยปฏิบัติตามสิ่งที่ธรรมบัญญัติกำหนดไว้” จนมาร์ติน ลูเธอร์ ถึงกับสอนว่า “เชื่ออย่างเดียว” ก็รอดพ้นแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ เราไปเป็นโปรแตสตันท์กันไม่ดีกว่าหรือ?
     พี่น้องครับ จริงอยู่ นักบุญเปาโลบอกว่า “มนุษย์ได้รับความชอบธรรมโดยความเชื่อ” แต่ท่านนักบุญก็แยก “ความชอบธรรม” ออกจาก “ความรอดพ้น”
แล้วความชอบธรรมกับความรอดพ้นต่างกันอย่างไร ?
     “ความชอบธรรม” เป็นพระหรรษทานที่พระเจ้าทรงโปรดประทานให้เราเมื่อเรามีความเชื่อ โดยทรงทำให้เราบริสุทธิ์ราวกับว่าไม่เคยทำบาปมาก่อน เราคริสตชนได้รับพระหรรษทานนี้และกลายเป็นผู้ชอบธรรมแล้วเมื่อเรารับศีลล้างบาป
ดังนั้นความชอบธรรมจึงเป็นเรื่องของอดีต เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อเราเริ่มต้นชีวิตคริสตชนโดยการรับศีลล้างบาป
     ตรงกันข้าม “ความรอดพ้น” นั้นเป็นเรื่องของอนาคต เป็นเรื่องของบั้นปลายชีวิตคริสตชนของเรา
     ช่วงเวลาในปัจจุบันนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เราแต่ละคนจะต้องสอบภาคปฏิบัติให้ผ่าน ไม่ใช่ปล่อยให้ความเชื่อที่ทำให้เราเป็นผู้ชอบธรรมแล้วนั้นต้องตายไปเพราะขาดการกระทำ
นักบุญเปาโลจึงเตือนเราว่า “บัดนี้ถึงเวลาที่จะต้องตื่นขึ้นจากความหลับ ขณะนี้ความรอดพ้นอยู่ใกล้เรามากกว่าเมื่อเราเริ่มมีความเชื่อ (รม 13:11) และท่านนักบุญยังเตือนเราแรงๆ อีกว่า “ท่านจงออกแรงด้วยความเกรงกลัวจนตัวสั่นเพื่อให้รอดพ้นเถิด” (ฟป 2:12)
     นอกจากนั้น อุปมาเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าก็ช่วยตอกย้ำความจำเป็นของภาคปฏิบัติ ไม่ใช่หยุดอยู่ที่ความเชื่อหรือภาคทฤษฎีเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการกระทำ พระองค์ตรัสว่า “ท่านไม่ทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ไม่ทำสิ่งนั้นต่อเรา”
     พี่น้องครับ ขอให้อุปมาเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้ายช่วยปลุกความเชื่อของเราในองค์พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระคริสต์ ให้ร้อนรน เข้มแข็ง พร้อมที่จะเลิกนึกถึงตนเอง และแบกไม้กางเขนของตนติดตามพระองค์ และขอให้ความเชื่อของเราแสดงออกด้วยการกระทำในชีวิตของเราแต่ละคนด้วยเทอญ