Logo

บทเทศน์สอนวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2024 สัปดาห์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา

หมวด: บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ โดยคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
เขียนโดย คุณพ่อชัยชะ กิจสวัสดิ์
ฮิต: 518

     หลังจากพระเยซูเจ้าทรงทวีขนมปัง 5 ก้อนกับปลา 2 ตัวเลี้ยงคนห้าพันคนแล้ว พระองค์ตรัสสอนบรรดาผู้ที่ติดตามพระองค์ว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป... ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเรา ก็มีชีวิตนิรันดร” (ยน 6:51,54)
     อันที่จริงพระองค์ตรัสเช่นนี้ก็เพื่อจะสอนพวกเขาเรื่องศีลมหาสนิท ซึ่งบ่งบอกว่าพระองค์ยังคงประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขาตลอดไปในรูปของปังและเหล้าองุ่น
แต่น่าเสียดายที่พวกเขาไม่เข้าใจ พวกเขาคิดว่าพระองค์จะให้พวกเขากินเนื้อและดื่มเลือดคนเป็นอาหารจริงๆ จนเกิดวิกฤติแห่งความเชื่อขึ้น หลายคนเริ่มหันหลังและเลิกติดตามพระองค์ ดังที่ยอห์นเล่าไว้ในพระวรสารวันนี้ว่า “เมื่อศิษย์หลายคนได้ยินพระองค์ตรัสดังนี้ ก็กล่าวว่า ‘ถ้อยคำนี้ขัดหูจริง ใครจะฟังได้’...หลังจากนั้น ศิษย์หลายคนเปลี่ยนใจ ไม่ติดตามพระองค์อีกต่อไป”
พระเยซูเจ้าจึงหันมาตรัสถามอัครสาวกทั้งสิบสองคนว่า “ท่านทั้งหลายจะไปด้วยหรือ”
      ซีโมนเปโตรทูลตอบแทนบรรดาอัครสาวกว่า “พระเจ้าข้า พวกเราจะไปหาใครเล่า พระองค์มีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร”
แล้วอะไรล่ะคือความแตกต่างระหว่างบรรดาอัครสาวกกับบรรดาศิษย์ที่เปลี่ยนใจเลิกติดตามพระองค์ ?
พี่น้องครับ ใช่ว่าเปโตรและบรรดาอัครสาวกจะเข้าใจคำสอนของพระเยซูเจ้าดีกว่าบรรดาศิษย์ที่ตีจากพระองค์ไป เป็นไปได้ด้วยซ้ำว่าบรรดาอัครสาวกก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้พอๆ กับพวกที่ตีจากพระองค์ไป แต่ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่เปโตรยอมรับว่า แม้จะไม่เข้าใจคำสอนบางเรื่องของพระเยซูเจ้า แต่มันก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ต้องเลิกติดตามพระองค์
ผู้ติดตามคนอื่นๆ อาจจะคิดว่าพระเยซูเจ้าเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในหลายๆ ทางเลือก ถ้าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับคำสอนของพระองค์ก็ร่อนไปหาคนอื่นที่สอนตรงกับความคิดของพวกเขา ซึ่งตรงกันข้ามกับเปโตร เปโตรเห็นพระเยซูเจ้าเป็นทางเลือกเพียงหนึ่งเดียวที่มีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร
     เปโตรเห็นว่า ในการติดตามพระเยซูเจ้านั้น แม้สติปัญญาจะเข้าใจไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าการตีจากไปแสวงหาความเข้าใจ แล้วต้องสูญเสียพระองค์ไป
พี่น้องครับ ทุกวันนี้ คริสตชนจำนวนมากก็เดินตามแบบอย่างของบรรดาศิษย์ที่ตีจากพระเยซูเจ้าเพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับคำสอนบางข้อของพระองค์หรือของพระศาสนจักร
อย่างเช่นในบทอ่านที่สองวันนี้ หลายคนไม่เข้าใจคำสอนของนักบุญเปาโล แล้วก็ยกเอาข้อความบางข้อไปอ้างผิดๆ เช่นผู้ที่เป็นสามีก็ชอบอ้างคำของนักบุญเปาโลที่ว่า “ภรรยาต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของสามีทุกเรื่อง” เพื่อจะได้กดภรรยาไว้ไม่ให้โงหัวขึ้น ส่วนผู้ที่เป็นภรรยาก็ไม่พอใจที่ศาสนาคริสต์ดูเหมือนจะปฏิบัติต่อผู้หญิงราวกับเป็นพลเมืองชั้นสอง เลยทำให้หลายคนไม่เห็นด้วยกับคำสอนของพระศาสนจักร
แต่จริงๆ แล้วนักบุญเปาโลย้ำตั้งแต่ต้นบทอ่านวันนี้ว่า “จงยอมอยู่ใต้อำนาจของกันและกันด้วยความเคารพยำเกรงพระคริสตเจ้า”
      นั่นคือทั้งสามีและภรรยาต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของกันและกัน สามีต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของภรรยา และภรรยาก็ต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของสามี ที่สำคัญการยอมอยู่ใต้อำนาจของกันและกันนี้ ไม่ใช่เพราะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอ่อนแอกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็เคารพยำเกรงพระเยซูเจ้า และถือว่าการรับใช้ซึ่งกันและกันเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อในพระองค์
     อีกประการหนึ่ง นักบุญเปาโลสั่งให้ภรรยาอยู่ใต้อำนาจของสามีภายใต้เงื่อนไขที่ว่าสามีต้องเป็นผู้ที่มีความเชื่อ รักและเอาใจใส่ภรรยาของตนตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงรักและยอมตายเพื่อพระศาสนจักร ดังนั้น ผู้ที่ไม่มีความเชื่อในพระเยซูเจ้าและไม่รักภรรยาของตน จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ภรรยาอยู่ใต้อำนาจของตน
     และหากใครคิดว่านักบุญเปาโลมีความคิดคร่ำครึ โบราณ ไม่ให้เกียรติผู้หญิง วันนี้คงต้องคิดใหม่ เพราะว่าในสมัยของนักบุญเปาโล ไม่ว่าจะเป็นชาวยิว ชาวกรีก หรือชาวโรมัน ล้วนปฏิบัติต่อผู้หญิงราวกับว่าเป็นทรัพย์สมบัติของสามี เพราะฉะนั้น เมื่อท่านสอนว่า “สามีจงรักภรรยาดังที่พระคริสตเจ้าทรงรักพระศาสนจักร และทรงพลีพระองค์เพื่อพระศาสนจักร” จึงเป็นคำสอนเกี่ยวกับชีวิตสมรสที่สุดยอดและเหนือชั้นที่สุดแล้วในสมัยนั้น
กระนั้นก็ตาม เราต้องยอมรับว่า แม้เราจะพยายามทำความเข้าใจกับข้อคำสอนที่เราเชื่อ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกข้อความเชื่อเราจะสามารถเข้าใจได้ทั้งหมด
     และที่สำคัญ เราต้องเข้าใจว่าความเชื่อนั้นไม่ใช่แค่การยอมรับหรือเห็นด้วยกับข้อคำสอนของพระศาสนจักร แต่หมายถึงการมอบตนเอง และอุทิศชีวิตของตนเองแด่พระเจ้า
     ในเรื่องความเชื่อนี้ เราต้องมาให้ถึงจุดที่ว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากอุทิศตนให้แก่พระเจ้า เหมือนที่โยชูวาและชาวอิสราเอลต่างก็สัญญาในบทอ่านที่หนึ่งว่า “เราจะรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะพระองค์คือพระเจ้าของพวกเรา” หรือเหมือนที่นักบุญเปโตรกราบทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า พวกเราจะไปหาใครเล่า พระองค์มีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร พวกเราเชื่อ และรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”
เพราะฉะนั้น พระวรสารวันนี้ จึงเชิญชวนให้เราวางความเชื่อของเราไว้เหนือความเข้าใจดังที่เปโตรและบรรดาอัครสาวกกระทำ ไม่ใช่วางความเข้าใจไว้เหนือความเชื่อแบบเดียวกับบรรดาศิษย์ที่ตีจากพระองค์ไป
ให้เราวอนขอพระเยซูเจ้า โปรดให้เราเชื่อมั่นในพระองค์ และขอให้เรากล้าพูดเต็มปากเต็มคำเช่นเดียวกับนักบุญเปโตรว่า “พระเจ้าข้า พวกเราจะไปหาใครเล่า พระองค์มีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร”