Logo

บทเทศน์สอนวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2023 สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

หมวด: บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ โดยคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
เขียนโดย คุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
ฮิต: 694

     พระเจ้าตรัสผ่านประกาศกอิสยาห์ในบทอ่านที่หนึ่งวันนี้ว่า พระองค์จะเสด็จมาด้วยพระอานุภาพ เพื่อช่วยประชากรของพระองค์ให้พ้นจากบาป โดยจะมีเสียงหนึ่งร้องว่า “จงเตรียมทางของพระยาห์เวห์ในถิ่นทุรกันดารเถิด”
นักบุญมาระโกยืนยันในพระวรสารวันนี้ว่า ยอห์นผู้ทำพิธีล้างนี่แหละคือผู้ที่ส่งเสียงร้องในถิ่นทุรกันดารตามที่ประกาศกอิสยาห์ได้ทำนายไว้ ยอห์นมาเพื่อเตรียมทางให้พระเยซูเจ้า และวันนี้เราก็กำลังเตรียมตัวรับเสด็จพระเยซูเจ้าด้วยเช่นกัน
     เทศกาลเตรียมรับเสด็จนี้ นอกจากจะเป็นการระลึกถึงการเสด็จมาบังเกิดของพระเยซูเจ้าในอดีตเมื่อสองพันปีก่อนแล้ว ยังเป็นการเตรียมรับเสด็จการกลับมาอีกครั้งหนึ่งของพระองค์ในอนาคต คือในวันสิ้นพิภพ เพื่อรับบรรดาผู้ชอบธรรมไปอยู่กับพระองค์ตลอดนิรันดรอีกด้วย
     อย่างไรก็ตาม ในสมัยของนักบุญเปโตร มีบางคนคิดว่า บรรดาคริสตชนรุ่นแรกๆ ที่เชื่อและติดตามพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิดต่างก็ตายไปเกือบหมดแล้ว พระองค์ก็ยังไม่เสด็จกลับมารับพวกเขาไปอยู่กับพระองค์สักที พระองค์คงไม่รักษาสัญญาแล้วกระมัง เพราะฉะนั้นคงไม่จำเป็นต้องรอคอยรับเสด็จพระองค์อีกต่อไปแล้ว
วันนี้ในบทอ่านที่สอง นักบุญเปโตรจึงเตือนความทรงจำของเราคริสตชนว่า สำหรับพระเจ้า หนึ่งวันก็เหมือนกับหนึ่งพันปี และหนึ่งพันปีก็เหมือนกับหนึ่งวัน นั่นคือสำหรับเราอาจจะรู้สึกว่ารอให้พระองค์เสด็จกลับมาเป็นพันปีแล้ว แต่สำหรับพระเจ้าพึ่งจะผ่านพ้นไปเพียงวันเดียว พระองค์จะปฏิบัติตามพระสัญญาแน่นอน แต่ที่พระองค์ยังรออยู่ ยังไม่เสด็จกลับมาพิพากษาเราโดยเร็ว เป็นเพราะพระองค์ไม่ต้องการให้ใครพินาศ แต่ต้องการให้เราทุกคนกลับใจและเปลี่ยนวิถีดำเนินชีวิต
     นักบุญเปโตรยังลงท้ายบทอ่านที่สองวันนี้ว่า “ขณะที่ท่านกำลังรอคอยเหตุการณ์เหล่านี้ จงพยายามให้พระเจ้าทรงพบท่านดำเนินชีวิตอย่างสันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิ”
แล้วเราจะปฏิบัติตามคำเตือนของนักบุญเปโตร ที่ต้องการให้เราดำเนินชีวิตอย่างสันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิ ได้อย่างไร?
พระวรสารโดยนักบุญมาระโกวันนี้ ให้แนวทางแก่เราไว้ 2 ประการด้วยกัน
     ประการแรก นักบุญมาระโกเล่าว่า ยอห์นคือเสียงร้องในถิ่นทุรกันดาร ยอห์นทำพิธีล้างในถิ่นทุรกันดาร และประชาชนก็เข้าไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อรับพิธีล้างจากยอห์นด้วย
นั่นคือ เพื่อเราจะมีชีวิตอย่างสันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิ สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือ “เข้าไปในถิ่นทุรกันดาร”
     การเข้าไปในถิ่นทุรกันดารก็คือการปล่อยวางจากทรัพย์สมบัติ ปล่อยวางจากหน้าที่การงาน ปล่อยวางจากผู้คนและสิ่งต่างๆ รอบข้าง รวมถึงปล่อยวางจากการปฏิบัติศาสนกิจตามความเคยชินอีกด้วย ตราบใดที่เรายังยึดติด ยังหวัง และยังวางใจในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ว่าจำเป็นที่สุดและมีความหมายกับชีวิตของเรามากที่สุด พระเจ้าก็คงไม่สามารถช่วยเราให้มีชีวิตที่สันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิได้ เพราะเมื่อหัวใจของเราเต็มเสียแล้วก็ไม่มีใครสามารถเข้ามาได้แม้แต่พระเจ้า เราจึงต้องปล่อยวางสิ่งที่ทำให้หัวใจของเรายึดติดออกไปเสียก่อน เราจึงจะสามารถอ้าแขนต้อนรับพระเจ้าเข้ามาในจิตใจของเราได้
ยอห์นคือแบบอย่างของการปล่อยวาง ท่านอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร แต่งกายด้วยผ้าขนอูฐ ใช้หนังสัตว์คาดสะเอว กินตั๊กแตนและน้ำผึ้งป่า ท่านแสดงให้เราเห็นว่าชีวิตที่มีความหมายนั้น มิได้อยู่ที่การมีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่อยู่ที่การมีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้า
     เราเรียกการปล่อยวางเช่นเดียวกับยอห์นนี้ว่าการเดินทางเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร และนี่คือเงื่อนไขประการแรกสำหรับการเตรียมรับเสด็จพระเยซูเจ้า
     ประการที่สอง เพื่อจะมีสันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิ นักบุญมาระโกบอกว่า “ประชาชนจากทั่วแคว้นยูเดีย และชาวกรุงเยรูซาเล็มทั้งหลายไปพบยอห์น รับพิธีล้างจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดนโดยสารภาพบาปของตน
นั่นคือ เมื่อประชาชนเดินทางเข้าไปในถิ่นทุรกันดารแล้ว ผลที่ตามมาก็คือการกลับใจและการสารภาพบาปของตน
ในการกลับใจและสารภาพบาปที่แท้จริงนั้น เราจำเป็นต้องสารภาพกับ 3 บุคคลด้วยกัน
     บุคคลแรกคือ ตนเอง การสารภาพบาปต่อตนเองหรือการสำนึกผิด คือย่างก้าวแรกสู่พระหรรษทานแห่งการคืนดีกับพระเจ้า
ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องลูกล้างผลาญ จุดเปลี่ยนของเรื่องอยู่ตรงที่บุตรคนเล็กสำนึกผิดและคิดว่า “ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า ‘พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด’” (ลก 15:18-19)
     และผลลัพธ์ที่ตามมาจากการ “กลับไปหาพ่อ” นั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่บุตรคนเล็กคาดคิดไว้มากมายนัก !
     บุคคลที่สองคือ คู่กรณี คงไม่มีประโยชน์มากนักหากเราจะบอกพระเจ้าว่า “ลูกเสียใจ” โดยที่เราไม่ “ขอโทษ” บุคคลที่เราได้ล่วงเกิน ได้ทำร้าย หรือได้ทำให้เขาเสียใจเสียก่อน
จำเป็นที่เราจะต้องกำจัดสิ่งกีดขวางระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองออกไปให้หมด ก่อนที่พระเจ้าจะยกสิ่งกีดขวางระหว่างเรากับพระองค์ออกไป
     บุคคลที่สามคือ พระเจ้า การสารภาพบาปต่อพระเจ้าคือจุดจบของความหยิ่งจองหอง และเป็นจุดเริ่มต้นของการ “ให้อภัย”
เมื่อใดก็ตามที่เรากล่าวว่า “ลูกได้ทำบาป” เมื่อนั้นเราเปิดโอกาสให้พระเจ้าตรัสว่า “เราให้อภัย” !
แล้วทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้พระเจ้าได้ให้อภัยเราล่ะ ?
     พี่น้องครับ ชาวยูเดียและชาวกรุงเยรูซาเล็มเตรียมรับเสด็จพระเมสสิยาห์ด้วยการเดินทางเข้าไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อรับพิธีล้าง และสารภาพบาป เพื่อแสดงถึง “การกลับใจ” อันนำมาซึ่งชีวิตที่มีสันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิ
คำถามสำหรับพี่น้องจะได้คิดและไตร่ตรองตลอดเทศกาลเตรียมรับเสด็จนี้ก็คือ “พี่น้องจะเตรียมรับเสด็จพระกุมารเจ้าอย่างไร ?”