Logo

บทเทศน์สอนวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน 2023 สัปดาห์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา

หมวด: บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ โดยคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
เขียนโดย คุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
ฮิต: 345

     พี่น้องครับ บทอ่านทั้งสามบทวันนี้ทำให้เราเห็นหัวจิตหัวใจของพระเจ้าชัดเจนมากจริงๆ ว่าพระองค์ทรงรักเรามากเพียงใด
เริ่มจากบทอ่านที่หนึ่ง ทั้งๆ ที่ชาวอิสราเอลหรือชาวยิวไม่ได้เป็นชนชาติยิ่งใหญ่อะไรเลย ซ้ำร้ายพึ่งจะรอดพ้นจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์มาหยกๆ แต่ด้วยความรัก พระเจ้าก็ทรงหยิบยื่นพันธสัญญาที่จะทำให้พวกเขาเป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นชนชาติสมณะ และเป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของพระองค์เหนือชนชาติอื่น ขอเพียงให้พวกเขารักษาพันธสัญญาที่พระองค์ทรงหยิบยื่นให้ก่อนเท่านั้นเอง ดูสิพระองค์ทรงรักพวกเขามากเพียงใด
ในบทอ่านที่สอง เรายิ่งเห็นหัวจิตหัวใจของพระเจ้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักชนิดไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้นต่อเรามนุษย์ซึ่งเป็นคนบาปและเป็นเพียงสิ่งสร้างของพระองค์ นักบุญเปาโลบอกว่ายากที่จะหาคนยอมตายเพื่อผู้อื่น จริงอยู่อาจมีคนยอมตายแทนคนดีจริงๆ ได้บ้าง แต่พี่น้องครับ พระเจ้าทรงรักเรามนุษย์และเต็มพระทัยส่งพระเยซูเจ้า พระบุตรแต่เพียงพระองค์เดียว ลงมายอมตายแทนเราทั้งๆ ที่เรายังเป็นคนบาปอยู่ ไม่ได้มีคุณงามความดีอะไรต่อหน้าพระองค์เลย
นี่แหละคือความรักอันไม่มีเงื่อนไขของพระเจ้า !
     ครั้นมาถึงบทอ่านจากพระวรสาร เรายิ่งเห็นหัวจิตหัวใจของพระเจ้าที่ปรากฏในคำสั่งสอนและในชีวิตจริงของพระเยซูเจ้าชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก
นักบุญมัทธิวเล่าว่า เมื่อพระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชน ก็ทรงสงสาร
     ขอให้พี่น้องสังเกตคำว่า “สงสาร” ที่พระคัมภีร์เลือกใช้ดีๆ ต้นฉบับภาษากรีกใช้คำว่า “สพรากค์นีซอมาย” ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า “สพรากค์นา” ซึ่งหมายถึง “ตับไตไส้พุง”
“สพรากค์นีซอมาย” จึงหมายถึงความรู้สึกเมตตาสงสารที่ถูกขับเคลื่อนออกมาจากส่วนที่ลึกจริงๆ ของร่างกาย ลึกกว่าหัวใจของเรามนุษย์เสียอีก นั่นคือออกมาจากตับไตไส้พุงของเรา หรือพูดง่ายๆ ก็คือสงสารสุดๆ
และน่าสังเกตุว่าพระคัมภีร์ไม่เคยใช้คำ “สพรากค์นีซอมาย” กับบุคคลอื่นนอกจากกับพระเยซูเจ้าและในอุปมาเพียงบางเรื่องเท่านั้น
พี่น้องครับ พระคัมภีร์เล่าถึงสาเหตุหลายประการด้วยกันที่ทำให้พระเยซูเจ้ารู้สึกสงสารประชาชนชนิดสุดๆ
     สาเหตุประการแรกก็คือความเจ็บป่วย อย่างเช่นเมื่อชายตาบอดสองคนที่เมืองเยริโคร้องขอให้พระองค์เมตตารักษาตาของพวกเขา มัทธิวเล่าว่า พระเยซูเจ้าทรงสงสาร(สุดๆ) ทรงสัมผัสนัยน์ตาของเขา แล้วพวกเขาก็มองเห็น (มธ 20:34)
สาเหตุประการที่สองคือความโศกเศร้าเสียใจ เมื่อพระเยซูเจ้าเห็นหญิงม่ายที่เมืองนาอิน พระองค์ทรงสงสาร(สุดๆ) และตรัสกับนางว่า ‘อย่าร้องไห้ไปเลย’ แล้วทรงแตะแคร่หามศพ ตรัสว่า ‘หนุ่มเอ๋ย เราบอกเจ้าว่า จงลุกขึ้นเถิด’ (ลก 7:13-14)
สาเหตุประการที่สามคือความหิว มัทธิวเล่าว่า พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์เข้ามา ตรัสว่า “เราสงสารประชาชน(สุดๆ) เพราะเขาอยู่กับเรามาสามวันแล้ว และเวลานี้ไม่มีอะไรกิน เราไม่อยากให้เขากลับบ้านโดยไม่ได้กินอะไร เขาจะหมดแรงขณะเดินทาง” (มธ 15:32)
     สาเหตุประการที่สี่คือความอ้างว้างโดดเดี่ยวอย่างเช่นคนโรคเรื้อน เมื่อคนโรคเรื้อนซึ่งถูกตัดขาดจากสังคมและต้องอยู่ตามลำพังอย่างโดดเดี่ยวเข้ามาเฝ้าพระองค์ คุกเข่าอ้อนวอนว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย พระองค์ย่อมทรงรักษาข้าพเจ้าให้หายได้” มาระโกเล่าว่าพระองค์ทรงสงสารตื้นตันพระทัย(สุดๆ) ทรงยื่นพระหัตถ์สัมผัสเขา ตรัสว่า “เราพอใจ จงหายเถิด” (มก 1:41)
     สาเหตุประการที่ห้าคือความท้อแท้ และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงสงสารประชาชนชนิดสุดๆ พระองค์บอกเองว่า “เพราะเขาเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ประดุจฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง” (มธ 9:36)
“เขาเหล่านั้น” ก็คือประชาชนผู้ต้องการพระเจ้าและกำลังแสวงหาพระองค์อย่างสุดหัวใจ แต่บรรดาธรรมาจารย์ ฟาริสี และสะดูสี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเสาหลักของศาสนายิวในสมัยนั้น กลับไม่มีคำแนะนำหรือกำลังใจเพื่อให้เขาเหล่านั้นมีพลังต่อสู้กับปัญหาในชีวิต ตรงกันข้าม พวกเขากลับออกกฎระเบียบหยุมหยิมมากมาย ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ประชาชนท้อแท้และสิ้นหวังอีกด้วย
พี่น้องเห็นไหมครับ ไม่ว่าเราจะมีทุกข์อะไร ทุกข์ของเราก็คือทุกข์ของพระเยซูเจ้า
นี่คือหัวจิตหัวใจของพระเยซูเจ้าจริงๆ !!!
     อีกมุมมองหนึ่งซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความเมตตาอย่างยิ่งของพระเยซูเจ้าที่ทรงมีต่อประชาชนคนบาปอย่างเราก็คือ พระองค์ทรงมองเราเป็นข้าวที่จะต้องเก็บเกี่ยวและรักษาไว้ในยุ้งฉางให้ปลอดภัย ซึ่งตรงกันข้ามเลยกับมุมมองของพวกฟาริสีที่เห็นคนบาปเป็นฟางข้าวที่มีแต่จะต้องถูกเผาและทำลายให้สิ้นซากไป
     ในเมื่อมีข้าวจำนวนมากให้เก็บก็จำเป็นต้องมีคนเก็บเกี่ยวจำนวนมากด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่า “ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย จงวอนขอเจ้าของนาให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์เถิด” (มธ 9:37)
พี่น้องครับ พระวาจานี้บ่งบอกถึงความปรารถนาแรงกล้าของพระองค์ที่ต้องการเราทุกคนเพื่อมาช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวในนาของพระองค์ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก
ใช่ การสวดภาวนาเพื่องานแพร่ธรรมเป็นสิ่งที่ดีนะครับพี่น้อง แต่คงไม่เป็นการเพียงพออีกต่อไป เพราะคำภาวนาที่ปราศจากกิจการเป็นคำภาวนาที่ตายแล้ว
พี่น้องครับ คราวนี้เรามาดูมุมมองด้านการบริหารงานของพระองค์
     มัทธิวเล่าว่า ก่อนส่งบรรดาอัครสาวกออกไปประกาศข่าวดี พระเยซูเจ้าตรัสสั่งว่า “อย่าเดินตามทางของคนต่างชาติ อย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย แต่จงไปหาแกะพลัดฝูงของวงศ์วานอิสราเอลก่อน” (มธ 10:5-6)
พี่น้องครับ อาจจะมีบางคนโต้แย้งว่าคำสั่งนี้แสดงถึงจิตใจอันคับแคบของพระองค์ แต่เราต้องไม่ลืมว่านี่เป็นคำสั่งเฉพาะกิจที่เหมาะสมกับสถานการณ์หนึ่งๆ เท่านั้น ส่วนคำสั่งถาวรของพระองค์ก่อนเสด็จสู่สวรรค์คือ “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา” (มธ 28:19)
     ตรงนี้แหละแสดงถึงความเป็นนักบริหารชั้นยอดของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงวางแผนทุกอย่างอย่างรัดกุมและเหมาะสมกับสถานการณ์
สถานการณ์แรกที่ทำให้พระองค์วางแผนเช่นนี้ก็คือ พระองค์ทรงยอมรับว่าชาวยิวมีสถานภาพพิเศษในแผนการแห่งความรอดพ้น พวกเขารอคอยพระเมสสิยาห์มาเป็นเวลานานแล้ว จึงควรได้รับโอกาสก่อนชนชาติอื่น
สถานการณ์ที่สอง เป็นเพราะบรรดาอัครสาวกยังขาดความพร้อม พวกเขาเป็นเพียงชาวประมงพื้นบ้านธรรมดาๆ ไม่รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีของคนต่างชาติ อีกทั้งเทคนิคการสื่อสารกับคนต่างชาติพวกเขาก็ไม่รู้ หากส่งพวกเขาไปหาคนต่างชาติใน     ขณะนั้น โอกาสสำเร็จย่อมริบหรี่เต็มที ต้องรอจนมีคนที่พร้อมอย่างเช่นนักบุญเปาโลนั่นแหละ ข่าวดีจึงจะเผยแผ่ไปสู่คนต่างชาติอย่างได้ผล
     สถานการณ์ที่สาม ก็คือเรื่องของอัตรากำลัง ในเมื่อมีกำลังคนน้อยนิดเพียง 12 คน พระองค์จึงจำเป็นต้องลดขอบเขตของภารกิจลงมาให้จำกัดวงอยู่ภายในแคว้นกาลิลีก่อน จากนั้นค่อยๆ ขยายวงออกไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมชนทุกชาติ ทุกภาษาในที่สุด
     พี่น้องครับ ในเมื่อพระเยซูเจ้าทรงเป็นนักบริหารชั้นยอด และทรงมีหัวจิตหัวใจที่รักเราชนิดไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้นเช่นนี้ เราไม่คิดจะมอบชีวิตของเราไว้ในอ้อมพระหัตถ์อันอบอุ่นและทรงฤทธิ์ของพระองค์ดอกหรือ เราไม่คิดจะอุทิศชีวิตของเราช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวในนาของพระองค์ดอกหรือ และสุดท้าย เราไม่คิดจะวอนขอพระองค์โปรดให้เรารู้ว่า “อะไรควรทำ” และ “อะไรไม่ควรทำ” ในเมื่อสถานการณ์ยังไม่พร้อมหรือยังไม่เอื้ออำนวยตามแบบอย่างของพระองค์ดอกหรือ ?!...