Logo

บทเทศน์สอนวันอาทิตย์อาทิตย์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา

หมวด: บทเทศน์สอน วันอาทิตย์ โดยคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
เขียนโดย คุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์
ฮิต: 1010

     อีสปเล่านิทานเรื่อง “นายพรานกับคนตัดไม้” ให้ฟังว่านายพรานคนหนึ่งกำลังค้นหารอยเท้าของสิงโต เขาถามคนตัดไม้ซึ่งกำลงตัดต้นโอ๊กในป่าว่าเคยเห็นรอยเท้าสิงโตบ้างไหม หรือรู้ไหมว่าถ้ำของมันอยู่ที่ไหน “รู้สิ” คนตัดไม้ตอบ “ผมจะพาคุณไปหาสิงโตเอง” นายพรานหน้าซีดด้วยความกลัว พูดตะกุกตะกัก “ไม่เป็นไรครับ ขอบคุณ ผมเพียงต้องการหารอยเท้าของมัน ไม่ใช่ตัวสิงโต”
     ในการติดต่อกับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์ เราก็มักจะเป็นเหมือนนายพรานคนนี้ เราประกาศว่าเราจะยืนหยัดเพื่อบางสิ่งบางอย่าง แต่เมื่อต้องเผชิญกับความหมายเต็มๆ ของมัน เราก็ถอย
นี่คือสิ่งที่เราเห็นในพระวรสารวันนี้ เปโตรยืนยันความเชื่อในพระเยซูเจ้าอย่างถูกต้องว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่รอคอยมานาน แต่เมื่อพระองค์ทรงเปิดเผยความหมายของการเป็นพระเมสสิยาห์ให้เปโตรและบรรดาอัครสาวกฟัง พวกเขาก็เริ่มหันหลังกลับ
     จริงอยู่การยืนยันความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระเมสสิยาห์ แสดงว่าพวกเขาอยู่เหนือประชาชนทั่วไปที่มองพระองค์เป็นเพียงประกาศก แต่เมื่อพระองค์ตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะและธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่จะกลับคืนชีพในวันที่สาม” (ลก 9:22) พวกเขาก็ไม่พร้อมที่จะยอมรับ
     พวกเขากำลังมองหารอยเท้าของสิงโต แต่เมื่อพระเยซูเจ้าจะพาพวกเขาไปเผชิญหน้ากับสิงโต พวกเขาก็เริ่มถอนตัว ซึ่งในพระวรสารของมัทธิว เปโตรถึงกับพาพระองค์ออกมาและทูลทัดทานจนพระองค์ตำหนิและเรียกเปโตรเป็นซาตาน เพราะเปโตรคิดอย่างมนุษย์ ไม่คิดอย่างพระเจ้า
     ส่วนพระวรสารของลูกาต้องการเน้นที่สาวกโดยรวม ไม่ใช่เฉพาะเปโตร ลูกาจึงไม่ได้เล่าบทสนทนาระหว่างพระเยซูเจ้ากับเปโตร แต่ลูกาเล่าว่าบรรดาอัครสาวกพากันถอยห่างจากพระองค์เมื่อพระองค์ถูกจับกุม ถูกทรมาน และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ซึ่งแสดงว่าพวกเขาไม่เข้าใจความหมายของความเชื่อที่พวกเขายืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์
     อย่างไรก็ตาม ต้องชมเปโตรและบรรดาอัครสาวกที่กล้าคิดด้วยตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงปรารถนา เพราะเมื่อพระองค์ตรัสถามว่า “ประชาชนว่าเราเป็นใคร” พระองค์ทรงถามคำถามสำคัญต่อทันที “ท่านล่ะว่าเราเป็นใคร”
เช่นเดียวกัน เราผู้เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าก็ต้องตอบตนเองให้ได้ว่าเราคิดอย่างไรเกี่ยวกับพระองค์ เราอาจรู้เรื่องเกี่ยวกับพระองค์โดยการอ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ และท่องอินเทอร์เน็ต แต่เหนืออื่นใด อาศัยแสงสว่างแห่งความเชื่อของคริสตชน เราต้องคิดด้วยตนเองให้ได้ว่าพระองค์เป็นใคร เราต้องไม่ยอมให้เสียงของประชาชนสอดแทรกเข้ามาจนกลายเป็นเสียงมโนธรรมของเรา ดังที่นักบุญเปาโลบอกเราในจดหมายถึงชาวโรมว่า “อย่าคล้อยตามความประพฤติของโลกนี้ แต่จงเปลี่ยนแปลงตนเองโดยการฟื้นฟูความคิดขึ้นใหม่ เพื่อจะได้รู้จักวินิจฉัยว่าสิ่งใดเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า สิ่งใดดี และสิ่งใดเป็นที่พอพระทัยอันสมบูรณ์พร้อมของพระองค์” (รม 12:2)
พระเยซูเจ้าก็เช่นกัน พระองค์ทรงปรารถนาให้เราผู้มีความเชื่อรู้ว่าผู้คนรอบข้างเรากำลังคิดอะไร แต่ไม่จำเป็นที่เราจะต้องคล้อยตามสิ่งที่พวกเขาคิด คือเราต้องทำตามเสียงของพระเจ้าในตัวเรา ซึ่งเราเรียกว่ามโนธรรม มากกว่าจะทำตามความคิดเห็นของคนทั่วไป
     อย่างไรก็ตาม การรับรู้สิ่งที่พระเจ้าตรัสกับเราเป็นเพียงส่วนแรกของความท้าทายในฐานะที่เราเป็นคริสตชนเท่านั้น ส่วนที่สองและสำคัญกว่าก็คือการดำเนินตามสิ่งที่พระเจ้าตรัสกับเราในชีวิตจริง นี่คือการเผชิญหน้ากับสิงโต สิงโตที่เราต้องเผชิญหน้าก่อนที่ความยุติธรรมและสันติภาพจะเกิดขึ้น ผิดจากนี้เราก็ไม่ต่างไปจากนายพรานคนนั้นที่มองหารอยเท้าของสิงโต ไม่ใช่ตัวสิงโตเอง แล้วก็ลงเอยด้วยการไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับบ้านเลยเมื่อจบวัน
ผิดกับนักบุญเปาโลซึ่งก่อนกลับใจท่านสวดภาวนาเฉกเช่นชาวยิวทั่วไปว่า “ขอถวายพรแด่พระองค์ พระเจ้าของเรา ผู้ทรงปกครองจักรวาลและทรงสร้างข้าพเจ้าให้เป็นมนุษย์ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน ให้เป็นผู้ชายไม่ใช่ผู้หญิง ให้เป็นชาวอิสราเอลและไม่ใช่คนต่างชาติ ให้ได้เข้าสุหนัตไม่ใช่ไม่ได้เข้าสุหนัต ให้เป็นไทและไม่เป็นทาส”
     ทุกวันนี้ ชาวยิวผู้ศรัทธาก็ยังสวดภาวนาเช่นนี้เพื่อขอบคุณพระเจ้าที่ไม่ทำให้พวกเขาเป็นคนต่างชาติ เป็นทาส หรือเป็นผู้หญิง
     แต่เมื่อเปาโลกลับใจเชื่อพระเยซูเจ้า ท่านกล้าเผชิญหน้ากับสิงโต กล้าเปลี่ยนความคิดเดิมๆ และกล้าเปลี่ยนวิถีดำเนินชีวิตตามที่ความเชื่อเรียกร้อง ท่านเขียนจดหมายถึงชาวกาลาเทียดังที่เราได้ฟังในบทอ่านที่สองวันนี้ว่า “ไม่มีชาวยิวหรือชาวกรีก ไม่มีทาสหรือไทย ไม่มีชายหรือหญิงอีกต่อไป เพราะท่านทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเยซู เป็นเชื้อสายของอับราฮัม และเป็นทายาทตามพระสัญญา” (กท 3:28-29)
     น่าเสียดายที่ 2,000 ปีหลังจากเปาโล คริสตชนจำนวนมากก็ยังคงไม่เชื่อว่าทุกชาติและทุกวัฒนธรรมมีความเท่าเทียมกันต่อหน้าพระเจ้า หลายคนยังคงเชื่อว่าตนมีเชื้อชาติและวัฒนธรรมเหนือกว่าผู้อื่น และยึดติดความคิดที่ว่ามองคนที่ต่ำกว่าได้แต่ไม่ต้องฟัง และให้คนที่ต่ำกว่าเป็นผู้ตามก็ได้แต่ต้องไม่เป็นผู้นำ
     วันนี้นักบุญเปาโลเชิญชวนเราให้ละทิ้งความคิดเดิมๆ เหล่านี้ และก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการยืนยันความเชื่อของเราในพระเยซูเจ้าเช่นเดียวกับบรรดาอัครสาวก
และให้เราสัญญากับพระเจ้าว่าเราจะไม่ถอยกลับเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ความเชื่อเรียกร้องในชีวิตประจำวันของเรา