Logo

วันอาทิตย์มหาทรมาน แห่ใบลาน

หมวด: อธิบายพระวรสารปี B
เขียนโดย แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ฮิต: 800

วันอาทิตย์มหาทรมาน แห่ใบลาน

ข่าวดี    ก่อนแห่ใบลาน มาระโก 11:1-10  (ระหว่างมิสซา มาระโก 14:1 – 15:47)

พระเมสสิยาห์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม
(1)เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์เข้ามาใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ที่หมู่บ้านเบธฟายีและเบธานี ใกล้กับภูเขามะกอกเทศ พระองค์ทรงใช้ศิษย์สองคนไป  (2)ตรัสแก่เขาว่า “จงเข้าไปในหมู่บ้านข้างหน้า เมื่อเข้าไปแล้ว ท่านจะพบลูกลาตัวหนึ่งผูกอยู่ ยังไม่มีใครเคยขี่ลาตัวนั้นเลย จงแก้เชือกและจูงมันมาเถิด  (3)ถ้ามีผู้ใดถามว่า ‘ทำไมท่านจึงทำเช่นนี้’ จงบอกเขาว่า ‘พระอาจารย์ต้องการใช้มัน และจะส่งกลับคืนมาให้ทันที’”  (4)ศิษย์ทั้งสองคนออกไป พบลูกลาตัวหนึ่งผูกอยู่ที่ประตูด้านนอกบนถนน  ขณะที่เขากำลังแก้เชือก  (5)บางคนที่ยืนอยู่ที่นั่นถามว่า “ทำอะไรกัน แก้เชือกลูกลาทำไม”  (6)ศิษย์ทั้งสองคนก็ตอบตามที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้ เขาจึงยอมให้นำลูกลาไป  (7)ศิษย์ทั้งสองคนจูงลูกลามาถวายพระเยซูเจ้า ปูเสื้อคลุมของตนบนหลังลา พระองค์จึงทรงลูกลาตัวนั้น  (8)คนจำนวนมากปูเสื้อคลุมของตนตามทาง บางคนปูกิ่งไม้ซึ่งตัดมาจากทุ่งนาด้วย  (9)พวกที่เดินไปข้างหน้า และผู้ที่ตามมาข้างหลังต่างโห่ร้องว่า “โฮซานนา ขอถวายพระพรแด่ผู้มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า  (10)ขอพระพรจงมีแด่พระอาณาจักรที่กำลังจะมาถึงของกษัตริย์ดาวิด บรรพบุรุษของเรา โฮซานนา ณ สวรรค์สูงสุด  (11)พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม เข้าไปในพระวิหาร เมื่อทอดพระเนตรสิ่งต่าง ๆ โดยรอบแล้ว พระองค์ก็เสด็จออกไปยังหมู่บ้านเบธานี พร้อมกับอัครสาวกสิบสองคน ขณะนั้นเป็นเวลาค่ำแล้ว

*****************************


กุญแจสำคัญดอกหนึ่งในการเข้าใจพระวรสารตอนนี้คือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม !
พระวรสารเป็นเพียงข้อเขียนสั้น ๆ ที่ไม่มีทางบันทึกภารกิจของพระเยซูเจ้าได้ทั้งครบ ผู้เขียนจำเป็นต้องเลือกเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจ หรือเรื่องที่ตนรู้ดีเป็นพิเศษมาบันทึกไว้  หนึ่งในผู้เขียนพระวรสารสหทรรศน์อย่างเช่นมาระโก ท่านสนใจและเน้นภารกิจของพระองค์ในแคว้นกาลิลีที่อยู่ทางเหนือของปาเลสไตน์ จนทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่านี่เป็นครั้งแรกที่พระองค์กำลังจะเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งอยู่ในแคว้นยูเดียทางใต้

นอกจากนั้น โยเซฟชาวอาริมาเธีย ซึ่งเป็นศิษย์ลับ ๆ คนหนึ่ง และยังเป็นสหายสนิทที่มอบพระคูหาใหม่สำหรับฝังพระศพให้แก่พระองค์ ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาสูงในกรุงเยรูซาเล็ม
ที่สุด มัทธิวบันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าทรงเตือนชาวเยรูซาเล็มว่า “เยรูซาเล็มเอ๋ย เยรูซาเล็ม เจ้าฆ่าประกาศก เอาหินทุ่มผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมาพบเจ้า กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราอยากรวบรวมบุตรของท่านเหมือนดังแม่ไก่รวบรวมลูกไว้ใต้ปีก แต่ท่านไม่ต้องการ” (มธ 23:37)

ในเมื่อพระเยซูเจ้าเคยเสด็จมากรุงเยรูซาเล็มหลายครั้งแล้ว เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมพระองค์จึงส่งศิษย์สองคนไปจูงลูกลาที่ยังไม่มีใครเคยขี่มาก่อน  ทำราวกับว่าบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปซะอย่างนั้น

สิ่งนี้นำมาสู่ประเด็นสำคัญยิ่งคือ พระองค์ไม่ได้ตัดสินพระทัยแบบฉับพลันทันด่วนหรือขาดความยั้งคิด แต่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอยู่ภายใต้แผนการของพระเจ้า และที่สำคัญ ทั้งชีวิตของพระองค์ล้วนเป็นการเตรียมตัวเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ “ปัสกาบนไม้กางเขน” นี้เอง

ประเด็นถัดมาคือ ทำไมพระองค์จึงเตรียมการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่าเช่นนี้ ?
ในพระธรรมเก่า บรรดาประกาศกมีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อเห็นว่าคำพูดของตนไม่เกิดผล หรือประชาชนไม่สนใจฟัง หรือฟังแต่ไม่พยายามเข้าใจความหมาย  เมื่อนั้นพวกท่านจะแปลงคำสั่งสอนให้เป็นการกระทำที่สะเทือนใจ เหมือนการแสดงละคร เพื่อว่าผู้คนทุกคนจะได้มองเห็น ตัวอย่างเช่น

เมื่อเห็นว่ามีน้อยคนที่เชื่อและยอมรับว่าพระองค์คือพระเมสสิยาห์  พระเยซูเจ้าจึงเลือกดำเนินการแบบเดียวกับที่บรรดาประกาศกในอดีตได้เคยกระทำมาแล้ว
นั่นคือ ทรงเปลี่ยนจาก “พูด” มาเป็น “สอนด้วยละคร”

นั่นคือ พระองค์ต้องการสอนด้วยการกระทำว่า “พระองค์คือกษัตริย์และเป็นพระเมสสิยาห์” ที่บรรดาประกาศกได้ทำนายไว้แล้ว
ปฏิกิริยาของชาวเมืองเยรูซาเล็มคือ “คนจำนวนมากปูเสื้อคลุมของตนตามทาง บางคนปูกิ่งไม้ซึ่งตัดมาจากทุ่งนาด้วย” (ข้อ 8)
เท่ากับว่า พวกเขายอมรับพระองค์เป็นกษัตริย์ !

หรือการที่ชาวเมืองโห่ร้องต้อนรับพระองค์ว่า “ขอพระพรจงมีแด่พระอาณาจักรที่กำลังจะมาถึงของกษัตริย์ดาวิด บรรพบุรุษของเรา”
ทั้งหมดนี้ล้วนบ่งบอกชัดเจนว่าพระเมสสิยาห์ที่พวกเขารอคอยคือ กษัตริย์ที่จะพิชิตศัตรูด้วยสงครามและการนองเลือด !
แต่พระองค์เลือกประทับบนหลัง “ลูกลา” เพื่อจะสอนว่า “พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งความรักและสันติ”
ทุกวันนี้ เราอาจมอง “ลา” ในทางไม่สู้ดีนัก  แต่ในปาเลสไตน์การประทับบนหลังลาไม่ใช่เรื่องต่ำต้อย  เพราะปกติกษัตริย์จะประทับบนหลังม้าเฉพาะเวลาออกศึกเท่านั้น  ส่วนในยามสงบสุขและมีสันติพระองค์จะประทับบนหลังลา

และเราคงไม่หลงเลือกหนทางของชาวโลก ดังที่ชาวยิวเคยพลาดมาแล้ว.....

นอกจากนี้ เรายังมองเห็น “ความกล้าหาญ” อย่างสุด ๆ ของพระองค์อีกด้วย

ทำไมพระองค์จึงกล้าเสี่ยงตายเช่นนี้ ?

ดังที่ประชาชนบางคนได้หันกลับมาหาพระองค์ พร้อมกับโห่ร้องว่า “โฮซานนา ขอถวายพระพรแด่ผู้มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอพระพรจงมีแด่พระอาณาจักรที่กำลังจะมาถึงของกษัตริย์ดาวิด บรรพบุรุษของเรา โฮซานนา ณ สวรรค์สูงสุด” (ข้อ 9-10)   
ความหมายดั้งเดิมของ “โฮซานนา” คือ “โปรดช่วยให้รอดด้วยเทอญ” (สดด 118:25) ดังนั้น “โฮซานนา ณ สวรรค์สูงสุด” จึงหมายถึง ขอให้เทวดาบนสวรรค์ชั้นสูงสุดจงร้องทูลพระเจ้าว่า “โปรดช่วยให้รอดด้วยเทอญ”

แม้เทวดา ณ สวรรค์สูงสุด ยังวอนขอพระเยซูเจ้าโปรดช่วยให้รอด  แล้วเราซึ่งโบกใบลานต้อนรับพระองค์ในฐานะกษัตริย์ ไม่คิดจะร้อง “โฮซานนา” บ้างดอกหรือ ?
จากห้วงลึกแห่งหัวใจ ให้เราทูลขอพระองค์ว่า “โปรดช่วยลูกให้รอดด้วยเทอญ !”