www.catholic.or.th

มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

พระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อตต์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งมิสซังสยาม

     พระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อตต์ เป็นหนึ่งในบรรดาผู้แทนพระสันตะปาปารุ่นแรก และได้ร่วมกับพระสังฆราชฟรังซัวส์ ปัลลือ ก่อตั้งบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส พระคุณเจ้าลังแบรต์เป็นมิสชันนารีองค์แรกของคณะมิสซังต่างประเทศที่เดินทางมาแพร่ธรรมในดินแดนตะวันออกไกล

     ท่านเกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1624 ที่ลาวัวซิแยร์ (กัลวาดอซ) และเป็นเพื่อนกับพระสังฆราชฟรังซัวส์ ปัลลือ ซึ่งขอร้องให้ท่านไปกรุงโรมเพื่อขอให้มีการแต่งตั้งผู้แทนพระสันตะปาปา พระคุณเจ้าลังแบรต์เป็นผู้โน้มน้าวให้เลขาธิการสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งผู้แทนพระสันตะปาปาเพื่อส่งมายังเอเชีย

     ท่านลังแบรต์ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งเบริธ วันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1658 และวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1659 ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังโคชินจีน และผู้ดูแลมณฑลเชเกียง โฟเกียง กวางตุ้ง กวางสี และเกาะไหหนำ ในประเทศจีน ท่านได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1660 ที่กรุงปารีส โดยพระอัครสังฆราชแห่งเมืองตูรส์

     ท่านลังแบรต์เดินทางออกจากกรุงปารีสพร้อมกับมิสชันนารีอีกสององค์วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1660 ออกจากท่าเรือเมืองมาร์เซยวันที่ 27 พฤศจิกายนปีเดียวกัน เดินทางผ่านเกาะมอลตา เกาะไซปรัส และเมืองอเล็กซานเดรีย ข้ามประเทศซีเรีย อิรัก และเปอร์เซียพร้อมกับกองคาราวาน ข้ามอ่าวเปอร์เซียและทะเลโอมานทางเรือ เพื่อหลีกเลี่ยงพวกโปรตุเกสที่อยู่ตามชายฝั่งของอินเดีย จึงต้องเดินทางทางบกโดยใช้เกวียนเทียมวัวจนมาถึงชายฝั่งโคโรมันเดล จากนั้นได้เช่าเรือข้ามอ่าวเบงกอลและขึ้นฝั่งที่เมืองมะริด วันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1662 มาถึงวัดที่เมืองตะนาวศรีซึ่งคุณพ่อการ์โดโซเป็นเจ้าอาวาสอยู่ วัดแห่งนี้อยู่ห่างจากเมืองมะริด 50 กิโลเมตร

     ท่านเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมืองหลวงของราชอาณาจักรสยามวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 รวมระยะเวลาหลังจากออกจากกรุงปารีส 2 ปี 2 เดือน กับอีก 2-3 วัน ในเวลานั้นมิสซังโคชินจีนซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของท่าน กำลังประสบกับการเบียดเบียนอย่างหนัก ดังนั้น ท่านจึงตัดสินใจพักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาก่อนเพื่อรอให้สถานการณ์ดีขึ้นจึงจะเดินทางต่อไป ในตอนแรกท่านพักอยู่กับนักพรตชาวโปรตุเกส หลังจากนั้นได้ย้ายไปอยู่ในค่ายของชาวญวน

     เพราะได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังโคชินจีน ท่านจึงรับเป็นธุระเรื่องแพร่ธรรมให้กับชาวโคชินจีนซึ่งเป็นพวกแรกที่ท่านพบเมื่อเดินทางมาถึงสยาม ขณะเดียวกันตามคำสั่งของกรุงโรม ท่านคอยสังเกตสภาพของมิสซังต่างๆ และเห็นคริสตังในสยามมีสภาพน่าเศร้าใจ มิสชันนารีที่เป็นนักพรตไม่มีความกระตือรือร้นในการเผยแพร่ความเชื่อ และทำสิ่งต้องห้ามสำหรับนักบวชโดยเฉพาะเรื่องการค้า ท่านลังแบรต์จึงเขียนจดหมายลงวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1662, ลงวันที่ 6 มีนาคม และลงวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1663 เพื่อรายงานให้สมเด็จพระสันตะปาปาและสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อทราบ ท่านจึงกลายเป็นที่เกลียดชัง และถูกแก้แค้นจากพวกโปรตุเกส ทั้งฆราวาสและนักบวช ซึ่งถือว่าการที่ท่านมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และได้รับอำนาจทางศาสนาจากสมเด็จพระสันตะปาปานั้น เป็นการขัดแย้งกับสิทธิ์ต่างๆ ของพระมหากษัตริย์โปรตุเกส ดังนั้น ท่านจึงถูกปองร้าย ท่านลังแบรต์ได้ทำรายงานไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปา กล่าวถึงสภาพจิตใจคนเขาเหล่านั้น วันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1663 ท่านได้ส่งจดหมายลาออกจากตำแหน่งประมุขมิสซังต่อสมเด็จพระสันตะปาปา

     การที่ท่านปัลลือเดินทางมาถึงสยาม ค.ศ. 1664 และท่านลังแบรต์มีเวลาใคร่ครวญถึงสภาพการณ์ต่างๆ ทำให้ท่านเปลี่ยนความตั้งใจ ตามข้อตกลงกับท่านปัลลือ ท่านลังแบรต์ได้แต่งหนังสือภาษาลาตินชื่อ “มอนิตา” (คำเตือนถึงบรรดามิสชันนารี) กรุงโรมได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้หลายครั้ง วันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1665 ท่านลังแบรต์ได้รับมอบอำนาจปกครองทางศาสนาในมิสซังจำปาและเขมร

     สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระราชทานที่ดินแปลงใหญ่ที่อยู่ในค่ายโคชินจีนแก่ท่านลังแบรต์ ท่านจึงเริ่มสร้างบ้านพักอย่างเรียบง่าย และสร้างวัดน้อยถวายแด่นักบุญยอแซฟ พร้อมทั้งสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นบ้านเณร ซึ่งจะสามารถรับคนหนุ่มที่มาจากประเทศจีน ตังเกี๋ย และโคชินจีน เพื่อเตรียมตัวบวชเป็นพระสงฆ์ การบวชเป็นพระสงฆ์ครั้งแรกมีขึ้น ค.ศ. 1668 เป็นชาวตังเกี๋ยทั้งสององค์

     ในปีต่อมาท่านลังแบรต์เดินทางไปตังเกี๋ยซึ่งอยู่ในความปกครองของท่านปัลลือ และท่านปัลลือยังไม่สามารถไปที่นั่นได้ ท่านลังแบรต์ได้บวชพระสงฆ์พื้นเมือง 7 องค์ และตั้งคณะนักบวชหญิงคณะหนึ่งชื่อ “คณะรักไม้กางเขน” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่ออบรมหญิงสาว เอาใจใส่ดูแลคนเจ็บ สอนคำสอนแก่สตรีและโปรดศีลล้างบาปให้เด็กๆ

ท่านลังแบรต์กลับมาที่สยาม ค.ศ. 1670 ต่อมา ค.ศ. 1671 ท่านไปโคชินจีนอีก และกลับมา ค.ศ. 1672

     ความเป็นอยู่ของท่านในสยามเป็นไปอย่างยากลำบากตั้งแต่แรก เพราะความเป็นศัตรูของพวกพ่อค้าโปรตุเกส และนักพรตบางคน ที่กล่าวหาว่าท่านเป็นพระสังฆราชปลอม และไม่ใช่ผู้แทนพระสันตะปาปา จึงไม่นบนอบเชื่อฟังท่าน และยังกล่าวหาว่าท่านสอนข้อความเชื่อทางศาสนาที่ไม่ถูกต้อง

     วันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1669 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 ทรงสถาปนามิสซังสยาม และมอบให้คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นผู้ปกครองตามกฤษฎีกา ค.ศ. 1665

     วันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1669 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 โดยพระสมณสาส์น Speculatores ประกาศว่านักพรตทั้งหลายที่อยู่ในสยาม ต้องนบนอบเชื่อฟังบรรดาประมุขมิสซัง

     วันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1671 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 10 โดยพระสมณสาส์น Coelestibus ประกาศลงโทษ ห้ามถือทฤษฎีทางเทวศาสตร์ซึ่งคุณพ่อฟราโกโซเป็นผู้สนับสนุนในท่ามกลางพวกโปรตุเกส และยังมีพระสมณสาส์นอีก 2 ฉบับ ลงวันที่ 22 และวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1673 ยืนยันอำนาจของประมุขมิสซัง

     วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1675 พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงต้อนรับประมุขมิสซังทั้งสามซึ่งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นอย่างสง่า คือพระสังฆราชฟรังซัวส์ ปัลลือ พระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็ออต์ และพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังสยาม แต่ยังไม่ได้รับอภิเษก ค.ศ. 1676 พระสังฆราชลังแบรต์กลับไปโคชินจีน และตามประวัติศาสตร์คาทอลิกถือว่า การที่ท่านไปอยู่ท่ามกลางคริสตังชาวโคชินจีน ถือเป็นช่วงเวลาที่มิสซังโคชินจีนมีความร่มเย็นที่สุด

     ท่านลังแบรต์กลับมาที่สยามอีก และไม่นานได้ล้มป่วย ท่านมรณภาพที่กรุงศรีอยุธยา วันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1679 ศพของท่านถูกฝังไว้ในวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ส่วนกรุงโรมซึ่งยังไม่ทราบว่าท่านมรณภาพไปแล้ว ได้แต่งตั้งท่านเป็นผู้ดูแลทั่วไปของมิสซังสยาม มิสซังโคชินจีน และมิสซังตังเกี๋ย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1680

 

ที่มาของข้อมูล :

ว. ลาร์เก, ชีวประวัติบรรดามิสชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส MEP 1662-1967, เล่ม 2 L-W หลักฐาน เล่ม VI, หน้า 143/1-143/4