มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED
HOT NEWS
ขอเชิญร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ และแห่พระธาต: ขอเชิญร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ และแห่พระธาตุบุญราศีทั้ง 7 แห่งสองคอน ณ สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี สองคอน วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม 2024 เวลา 15.00 น.  โดย คุณพ่อ ฉัตรชัย นิลเขต ประธานในพิธี สัมมนาบุคลากรฝ่ายสังคม​อัครสังฆมณฑลกรุง: 24-25 เม.ย.67 สัมมนาบุคลากรฝ่ายสังคม​อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ​ ประจำปี​ 2567/2024 ณ​ บ้านผู้หว่าน อบรมนวกจารย์และผู้ให้การอบรม ณ ศูนย์คณะพ: อบรมนวกจารย์และผู้ให้การอบรม ณ ศูนย์คณะพระมหาไถ่ มีนบุรี โดยคุณพ่อไพบูลย์ อุดมเดช เมื่อวันที่ 22-24 เมษายน 2567 ขอเชิญร่วมฉลองวัดพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวร: ขอเชิญร่วมฉลอง 25 ปี วัดพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ เวลา 10.00น. โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู และพระสงฆ์ที่รับศีลบวชโดยนักบุญพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ประธาน ขอเชิญร่วมฉลองวัดประจำปี วัดนักบุญยอแซฟก: ขอเชิญร่วมโมทนาคุณพระเจ้า โอกาสฉลองวัดประจำปี วัดนักบุญยอแซฟกรรมกร ณ บ้านชัยพร จ.บึงกาฬ ในวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 เวลา 10.30 น โดย บิชอป ยอแซฟ ลือชัย ธาตุวิสัย เป็นประธานพิธี

ประมุขมิสซังสยามองค์แรก

พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน เกิดวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1637 ที่มองดูโบล แขวงลัวร์และแชร์ เวลานั้นอยู่ในเขตสังฆมณฑลชาร์ตร ปัจจุบันเรียกว่าสังฆมณฑลบลัวส์

     ขณะกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน ท่านได้รู้จักคณะมิสซังต่างประเทศที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น ค.ศ. 1658 จึงสมัครเข้าคณะนี้ หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์แล้ว ได้ออกจากกรุงปารีสเดือนกันยายน ค.ศ. 1661 พร้อมกับพระสังฆราชฟรังซัวส์ ปัลลือ และมิสชันนารีอีก 8 องค์ เพื่อเดินทางมาเอเชีย ออกจากท่าเรือมาร์เซยวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1662 มาถึงอยุธยาวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1664

ท่านได้เป็นอธิการองค์แรกของบ้านเณรนักบุญยอแซฟ ที่พระสังฆราชลังแบรต์จัดตั้งขึ้นที่อยุธยา การรู้จักมักคุ้นกับพระภิกษุเป็นเวลานาน ทำให้ท่านมีความรู้ภาษาสยามและบาลีอย่างลึกซึ้ง ความสามารถนี้ทำให้มีโอกาสเข้าเฝ้าหลายครั้ง เพื่อถวายคำอธิบายเรื่องศาสนาคริสต์แด่สมเด็จพระนารายณ์และพระราชวงศ์ ท่านได้สร้างสรรค์วรรณกรรมคริสตังเป็นภาษาสยามและสามารถเขียนคำอธิบายเกี่ยวกับพระธรรมล้ำลึกของคริสตศาสนา อัครสาวก ผู้นิพนธ์พระวรสาร ผู้ก่อตั้งคณะนักพรตคนสำคัญ เป็นภาษาสยามถวายสมเด็จพระนารายณ์ตามพระราชประสงค์

เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1671 ท่านเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาที่พิษณุโลก และโปรดศีลล้างบาปให้เด็กใกล้ตาย 6-7 คน เมื่อกลับมาอยุธยา ท่านสร้างสถานสงเคราะห์ใกล้บ้านเณร เพื่อรักษาคนป่วยและเป็นที่พักสำหรับคนยากจนที่มารักษาตัว

     เพราะขาดแพทย์ท่านจึงต้องทำหน้าที่รักษาคนป่วยและจ่ายยารักษาโรค อาศัยความเชื่ออย่างซื่อๆ ของท่าน ท่านได้ภาวนาขอพระทรงช่วยและใช้น้ำเสกและน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้อาการป่วยหายได้ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบ พระองค์ทรงพอพระทัยในความเมตตาของท่านและบรรดามิสชันนารี จึงมีรับสั่งให้ทำธรรมาสน์ปิดทองพระราชทานให้ท่าน พร้อมทั้งมีรับสั่งว่า “เราขอสั่งให้ท่านเทศน์สอนศาสนาที่สอนเรื่องการกุศลที่ดีเลิศนี้ ให้ทุกชนชาติที่อยู่ในอาณาจักรของเรา ธรรมาสน์ที่เรามอบให้นี้จะตั้งไว้ในวัดเพื่อให้ท่านนั่ง”

     ค.ศ. 1673 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งเมแตลโลโปลิส ประมุขมิสซังนานกิงและมิสซังสยาม และได้รับอภิเษกที่อยุธยาวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1674 ท่านเป็นคนเรียบง่าย สุภาพถ่อมตน ตามที่มีบันทึกไว้ ตอนบ่ายของวันที่ได้รับอภิเษก ท่านไปเยี่ยมคนยากจนและนักโทษ และไปรักษาคนป่วยที่โรงพยาบาลเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ แม้จะเป็นประมุขมิสซังแล้ว ท่านยังให้เกียรติพระสังฆราชลังแบรต์จนถึงวันที่พระสังฆราชลังแบรต์มรณภาพ

เมื่อเดินทางมาประจำที่บางกอก ท่านได้รับพระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือวัดสมอราย บนที่ดินผืนนี้ท่านได้สร้างวัด “วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล” (วัดคอนเซปชัญปัจจุบัน) และรวบรวมคริสตังที่อยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโปรตุเกสที่ถูกขับไล่มาจากเขมร แล้วตั้งเป็นกลุ่มคริสตชน นอกจากนี้ ยังสร้างโรงพยาบาล 2 หลังสำหรับผู้ป่วยชายและหญิงด้วย

     ค.ศ. 1676 ท่านเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาที่พิษณุโลกเป็นครั้งที่สอง และให้คุณพ่อปิแอร์ ลังคลัวส์ ประจำอยู่ที่นั่น ค.ศ. 1679 หรือ ค.ศ. 1680 ท่านย้ายบ้านเณรไปอยู่บนที่ดินพระราชทานอีกผืนหนึ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือใกล้กรุงศรีอยุธยาชื่อ “มหาพราหมณ์” อยู่ริมคลองชื่อเดียวกันที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา

     วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1680 ท่านได้รับอำนาจปกครองมิสซังญี่ปุ่น แต่ไม่สามารถเดินทางไปที่นั่นได้เลย วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1681 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองทั่วไปของมิสซังสยาม มิสซังตังเกี๋ย และมิสซังโคชินจีน ค.ศ. 1682 ท่านเดินทางไปมิสซังโคชินจีน ขึ้นบกที่เมืองญาตรังแล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองไฟโฟ ที่นั่นท่านอภิเษกคุณพ่อมาโฮต์เป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งบิด แล้วจัดการประชุมสมัชชาขึ้น

     เมื่อกลับมามิสซังสยาม ท่านได้สร้างวัดที่อยุธยาชื่อ “วัดนักบุญยอแซฟ” มีพิธีเสกและเปิดวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1685 ในสมัยนั้น อับเบ เดอ ชัวซี ได้บรรยายลักษณะของท่านไว้ว่า “เป็นคนสูงใหญ่ ท่าทางดี มีอายุแค่ 45 ปี แต่ดูราวกับอายุ 60 ปี เวลา 24 ปี ในมิสซัง ทำให้ท่านดูโทรมไป”

     ค.ศ. 1685 เชอร์วาลิเยร์ เดอ โชม็องต์ ราชทูตฝรั่งเศสและคณะ อัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาถวายสมเด็จพระนารายณ์ และมาเจรจาขอทำสนธิสัญญาการเมืองและศาสนา ท่านได้มีส่วนในการเจรจาเกี่ยวกับภารกิจต่างๆ และได้รับเชิญเป็นล่ามเมื่อคณะราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1685 ณ พระราชวังที่อยุธยา

     ค.ศ. 1688 เกิดโศกนาฏกรรมที่ทำลายความหวังทั้งหมดของมิสชันนารีและชาวฝรั่งเศส สมเด็จพระเพทราชามีรับสั่งให้สำเร็จโทษฟอลคอน และเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ เกิดการต่อสู้กันระหว่างชาวสยามและชาวฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสต้องออกจากสยามไป นายพลแดฟาร์ชทำผิดสัญญาเพราะนำตัวขุนนางสยามที่เป็นตัวประกันไปด้วย พระสังฆราชลาโนพยายามทุกวิถีทางมิให้ทำสิ่งที่จะเกิดผลร้ายตามที่ท่านคาดการณ์ไว้ ท่านยืนยันในจดหมายที่เขียนถึงผู้บังคับการกองทหารว่า

    “ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านให้พิจารณาดูว่า ตลอดเวลา 6 เดือน ที่ข้าพเจ้าเสี่ยงอันตรายทุกอย่างเพื่อช่วยพวกท่านให้ปลอดภัย ข้าพเจ้าค้ำประกันตัวท่านและกองทหารของท่านด้วยเงิน 50,000 เหรียญ ที่กู้ยืมมาจากท้องพระคลัง ขุนนางสยาม 3 คน ที่ท่านกักตัวไว้นั้นไม่เป็นประโยชน์สำหรับท่านเลย ตามคำสั่งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ท่านแสดงให้ข้าพเจ้าดูในสยามนั้น ท่านต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของข้าพเจ้าทุกเรื่องที่สำคัญ แต่ท่านไม่ยอมทำตามคำแนะนำและคำขอร้องของข้าพเจ้า ซึ่งจะก่อให้เกิดผลร้ายอย่างยิ่ง เมื่อท่านจากไป ชาวสยามจะมาล้างแค้นและระบายความโกรธกับข้าพเจ้าและบรรดาพระสงฆ์ในปกครองของข้าพเจ้า”

     นายพลแดฟาร์ชไม่ปฏิบัติตามคำเตือนอันสุขุมรอบคอบนี้ พระสังฆราชลาโนจึงต้องรับเคราะห์จากความโกรธแค้นของชาวสยาม โดยถูกจับเป็นตัวประกันใกล้ด่านเก็บภาษีเป็นคนแรก มีคนกระชากแหวนประจำตำแหน่ง กางเขน และหมวกของท่านไป ท่านถูกสบประมาท ถูกเตะ ถูกต่อย ถูกลากลงในโคลนตม ถูกมัดมือมัดเท้า ถูกใส่ขื่อคา และต้องทนทุกข์ทรมานกับเครื่องจองจำทั้งห้า

     เมื่อถูกนำตัวมาที่อยุธยา ตอนแรกท่านถูกมัดไว้บนถนนใกล้เรือนจำ ภายหลังถูกขังอยู่ในกระท่อมเล็กๆ หลังหนึ่งที่สร้างขึ้นเพื่อขังท่านคนเดียว หลังจากนั้น 3 เดือน ท่านถูกแก้มัดและถวายมิสซาได้ทุกวัน ท่านถูกปล่อยออกจากคุกวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1689 หลังจากจำคุกมาปีกว่า และถูกจัดให้พักที่บ้านของคุณพ่อโปมารด์ผู้มีความรู้ทางการแพทย์และไม่ได้ถูกจำคุกโดยมียามคอยเฝ้า ท่านสามารถต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมได้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้าน
วันหนึ่ง ขณะกำลังรำพึงถึงบทจดหมายของนักบุญยอห์นฉบับแรก ท่านรู้สึกประทับใจในเนื้อหาที่ว่า “จงดูเถิดว่า ความรักที่พระบิดาประทานให้เรานั้นยิ่งใหญ่เพียงใด เพื่อทำให้เราได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า และเราก็เป็นเช่นนั้นจริง” (1ยน 3:1) ในการรำพึงนี้ ท่านได้รับพระหรรษทานให้พบความจริงเรื่องการเป็นบุตรบุญธรรม และเห็นตัวเองเป็นบุตรของพระเจ้าในองค์พระเยซูคริสต์ ในความหมายอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เคยรำพึงมาก่อน ท่านต้องการค้นหาเพื่อให้แน่ใจว่าความหมายที่แท้จริงนี้ไม่ได้เป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น และได้พบข้อความในพระวรสารของนักบุญเปาโลและนักบุญยอห์นหลายข้อ ที่ท่านไม่เคยเข้าใจความหมายมาก่อน

     ท่านกลับไปอ่านหนังสือของปิตาจารย์โดยเฉพาะปิตาจารย์ชาวกรีก และพบว่านักบุญซีริลแห่งอเล็กซานเดรียอธิบายข้อความเชื่อนี้ไว้อย่างชัดเจนและถูกต้องแม่นยำที่สุด เมื่อได้ศึกษาแล้วท่านยอมรับว่าได้ดำรงชีวิตมายาวนานโดยไม่เข้าใจความหมายลึกซึ้งของบทเรียน ซึ่งเป็นหลักศาสนาที่ท่านมาเทศน์สอนในเอเชีย ตั้งแต่นั้นมาท่านได้นำคำสอนของปิตาจารย์ชาวกรีกเรื่องพระเยซูคริสต์ทรงยกมนุษย์ให้มีลักษณะคล้ายพระเจ้ามา รวมไว้ในวิชาคำสอนของท่าน

     เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. 1688 ท่านถูกคุมขังอยู่ในคุก และเป็นครั้งแรกที่ไม่มีอะไรทำ เพื่อปลอบโยนบรรดามิสชันนารีและสามเณรที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกกลาง เป็นการเตือนใจและให้กำลังใจพวกเขา ท่านได้เขียนบทความเกี่ยวกับชีวิตจิตเป็นภาษาละติน 2-3 หน้า ส่งไปให้พวกเขาอ่านในแต่ละวัน เพื่อเชิญชวนให้สำนึกถึงศักดิ์ศรีตามพระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า คุณพ่อป๊อกเกต์อธิการบ้านเณรซึ่งถูกขังพร้อมกับพวกสามเณร เป็นผู้อธิบายข้อเตือนใจดังกล่าวให้พวกสามเณรฟัง ข้อเตือนใจนี้เป็นที่มาของหนังสือ “De Deificatione Justorum”

     เมื่อได้รับอิสรภาพ ค.ศ. 1690 แล้ว ท่านทำงานชิ้นนี้ต่อจนเสร็จสมบูรณ์วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1693 ผลงานชิ้นนี้ถูกส่งไปฝรั่งเศสขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่สถานการณ์ทางศาสนาของฝรั่งเศสสมัยนั้น และการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ได้ขัดขวางการจัดพิมพ์จนกระทั่ง ค.ศ. 1887 คุณพ่อรูเซยสามารถจัดพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์ของคณะมิสซังต่างประเทศที่ฮ่องกง หลังจากได้รับอนุมัติจากสำนักงานปกป้องความเชื่อ หนึ่งในคณะที่ปรึกษาตอบว่า “ผลงานชิ้นนี้มีคุณค่าเพราะมีความสมบูรณ์ของข้อคำสอน มีเนื้อหาซาบซึ้ง และมีจิตตารมณ์น่าเลื่อมใสศรัทธา จะช่วยให้ทุกคนที่ใช้เป็นหลักและเป็นแนวทางปฏิบัติในชีวิต สามารถก้าวหน้าสู่ความครบครันได้อย่างรวดเร็ว” ต่อมา คุณพ่อลังฟังต์ได้แปลจากฉบับภาษาละตินเป็นภาษาฝรั่งเศสในชื่อ “La Divinisation par J?sus-Christ” และจัดพิมพ์ที่ปารีส ค.ศ. 1987

     ค.ศ. 1690 ท่านถูกปล่อยเป็นอิสระ และในปีต่อมาได้รับบ้านเณรกลับคืนในสภาพที่เหลือแต่กำแพง และที่บ้านเณรแห่งนี้ บรรดามิสชันนารี สามเณร และชาวฝรั่งเศสบางคนได้มาอยู่รวมกันมีจำนวนทั้งสิ้น 113 คน เมื่อเห็นว่าเรื่องต่างๆ สงบลงแล้ว ท่านจึงถือโอกาสขอร้องให้ปล่อยนักโทษชาวฝรั่งเศส วันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1696 สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 12 ทรงส่งสาส์น “Cum sicut ad” มาถึงพระสังฆราชลาโน ยืนยันคำสั่งของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 10 ที่สั่งห้ามพระอัครสังฆราชแห่งเมืองกัวและพระสังฆราชอื่นๆ ในชมพูทวีปยุ่งเกี่ยวรบกวนการปกครองของบรรดาประมุขมิสซัง มิฉะนั้น จะถูกลงโทษบัพพาชนียกรรมคือให้ออกจากพระศาสนจักร

     ก่อนมรณภาพไม่กี่วัน พระสังฆราชลาโนได้สั่งให้เขียนจดหมายตามคำบอกถึงบรรดาพระคาร์ดินัลแห่งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ และลงนามในจดหมายฉบับนั้นหลังจากรับศีลเจิมแล้วมีใจความดังนี้

“เนื่องจากข้าพเจ้ากำลังจะไปรายงานต่อหน้าพระเป็นเจ้า ถึงการปกครองมิสซังของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอประกาศให้ท่านทั้งหลายทราบว่า นอกจากการถวายเกียรติแด่พระเป็นเจ้าและช่วยวิญญาณทั้งหลายให้รอดพ้นแล้ว ข้าพเจ้าไม่เคยมีใจเป็นอย่างอื่นเลย นอกจากจะทำให้อำนาจปกครองของสันตะสำนักเป็นที่เคารพนับถือในภูมิภาคต่างๆ ห่างไกลเหล่านี้ และถือตามคำสั่งที่พวกท่านได้ให้ไว้ในนามของสันตะสำนัก ข้าพเจ้านอบน้อมเชื่อฟังด้วยความซื่อสัตย์อยู่เสมอ และทำให้คนที่อยู่ในอำนาจปกครองของข้าพเจ้าเชื่อฟังด้วย การเชื่อฟังด้วยความซื่อสัตย์นี้เอง ทำให้ข้าพเจ้าได้รับความยุ่งยากวุ่นวายอย่างมากตลอดเวลา 30 ปี ข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องข้อความเชื่อ ศีลธรรม และความประพฤติของบรรดามิสชันนารี ที่มีคนรายงานมาทางกรุงโรม (เพราะข้าพเจ้าทราบว่าถูกกล่าวหาเรื่องอะไร?) ทั้งหมดนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องหลั่งน้ำตาอย่างขมขื่นยิ่งขึ้นในบั้นปลายชีวิตของข้าพเจ้า และรู้สึกว่าความทุกข์ทรมานใจที่ได้รับนี้จะทำให้ข้าพเจ้าต้องตายลงในไม่ช้า โดยมิได้รับจดหมายจากท่านสักฉบับเดียวเพื่อช่วยบรรเทาใจเยี่ยงบิดา”

     “เนื่องจากในไม่ช้านี้ ข้าพเจ้าจะต้องไปปรากฏต่อหน้าศาลของพระเป็นเจ้าองค์ความจริงซึ่งจะต้องพิพากษาข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอแจ้งให้พระคุณเจ้าทั้งหลายทราบว่า ไม่มีคณะสงฆ์คณะใดนอบน้อมเชื่อฟังและเสียสละรับใช้สันตะสำนักมากกว่ามิสซังของเรา ไม่มีมิสชันนารีแม้แต่องค์เดียวที่ถูกสงสัยว่าถือลัทธิยังเซนิสม์ ไม่มีแม้แต่องค์เดียวที่ไม่ได้ดำเนินชีวิตอย่างมีระเบียบวินัยและเสริมสร้างคุณธรรม เขาไม่ได้เลือกไปดำเนินชีวิตที่สะดวกสบายกว่าในบ้านเกิดเมืองนอนของตน และสมัครใจไม่กลับไปเพราะความกระตือรือร้นในการทำให้คนต่างศาสนากลับใจและทำให้พวกคริสตังเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เขาเลือกทำงานที่แสนลำบากและต่อเนื่องตามที่ได้รับมอบหมายมาในเอเชียอาคเนย์ แทนที่จะเลือกไปรับความสะดวกสบายในประเทศฝรั่งเศส”

     “ประสบการณ์อันยาวนานในมิสซัง ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าพระศาสนจักรที่เกิดใหม่ทั้งหลายนี้อาจจะไม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นและอาจจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน ถ้าปราศจากแรงสนับสนุนจากคณะสงฆ์พื้นเมือง และข้าพเจ้าเห็นว่ามีเพียงพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสของเราเท่านั้น ที่สามารถจัดให้มีคณะสงฆ์พื้นเมืองซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ขอพวกท่านอย่าได้เข้าใจผิด เพราะเราไม่เคยคิดจัดตั้งมิสซังโดยให้มีแต่พระสงฆ์ฝรั่งเศสเท่านั้น พวกท่านคงทราบดีแล้วว่า เราได้ติดต่อขอความร่วมมือจากมิสชันนารีทุกคณะและทุกชาติที่ต้องการมาร่วมงานกับเรา เราได้ขอร้องวิงวอนอธิการของพวกเขาให้ส่งมิสชันนารีมาให้เรามากขึ้น... ข้าพเจ้าพร้อมจะตายอยู่แล้วจึงคิดว่าต้องแจ้งให้พวกท่านทราบถึงความรู้สึกต่างๆ ของข้าพเจ้า โดยหวังจะให้พวกท่านเชื่อว่าพระสังฆราชใกล้ตายองค์หนึ่งไม่อาจโกหก หลอกลวง และเสแสร้งได้”

     สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 12 ทรงทราบเรื่องราวในจดหมายฉบับนี้ ทรงส่งสาส์นลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1697 มาชมเชยพระสังฆราชลาโนเพื่อสรรเสริญและให้กำลังใจ แต่เมื่อสาส์นฉบับนี้มาถึงสยาม พระสังฆราชลาโนได้มรณภาพไปแล้วด้วยความเสียดายของทุกคน เหลือไว้เพียงชื่อเสียงด้านความศักดิ์สิทธิ์ ท่านเป็นอัครสาวกผู้ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยที่จะพูดและเขียน ท่านเขียนและแปลหนังสือเป็นภาษาสยามและบาลีหลายเล่ม คำพูดและคำสั่งสอนของท่านไม่เคยล้าสมัย เพราะท่านมองการณ์ไกลและได้เสนอวิธีอภิบาลซึ่งการประชุมสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้ประกาศใช้ทั่วพระศาสนจักร

     พระสังฆราชลาโนมรณภาพที่อยุธยา พิธีปลงศพวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1696 ที่วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา คุณพ่ออันโตนิโอ ปินโต ได้เป็นผู้กล่าวสดุดีคุณความดีของท่านต่อหน้าหลุมศพ ซึ่งคุณพ่อป๊อกเกต์บันทึกไว้ว่าเป็นคำสดุดีที่ไพเราะจับใจอย่างยิ่ง หลังพิธีปลงศพได้บรรจุศพของท่านไว้ในวัดนักบุญยอแซฟ คุณธรรมประการสำคัญของท่านคือการทรมานกายใจ ความสุภาพถ่อมตน ความรักต่อดวงวิญญาณทั้งหลายและต่องานแพร่ธรรม

พระสังฆราชลาโนได้แต่งหนังสือไว้หลายเล่มดังนี้ : พระชีวประวัติของพระเยซูเจ้าตามพระวรสาร หนังสือพระวรสาร 2 เล่ม (เล่มหนึ่งเป็นภาษาบาลี อีกเล่มเป็นภาษาสยาม) บทภาวนาคริสตังภาษาสยามและมอญ หนังสือเตรียมตัวรับศีลล้างบาป หนังสือเรื่องศีลมหาสนิท หนังสือเรื่องศีลอภัยบาป คำอธิบายเกี่ยวกับพิธีมิสซา หนังสือปุจฉาวิสัชนา คำอธิบายเรื่องสายประคำ หนังสือเรื่องความรักและการรู้จักพระเป็นเจ้า หนังสือบทสนทนา 2 เล่ม หนังสือไวยากรณ์ และพจนานุกรมหลายเล่ม คำอธิบายที่แต่งขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์

     นอกจากนี้ ท่านยังแปลหนังสือคำสอนในลักษณะประวัติศาสตร์ของคุณพ่อเฟลอรีนักเทววิทยาชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงสมัยนั้น วิชาคำสอนในลักษณะประวัติศาสตร์นี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นสมัยของเรา แต่เป็นวิธีสอนคำสอนที่พระสังฆราชลาโนได้ใช้ เป็นวิธีสอนของพระศาสนจักรดั้งเดิมที่เข้าใจง่ายกว่าหนังสือคำสอนบางเล่มที่ใช้กันในช่วง 50 ปีหลังนี้

     หนังสือที่เป็นลายมือเขียนเหล่านี้ ไม่มีเก็บไว้ในห้องสมุดของบ้านเณรคณะมิสซังต่าง ประเทศแห่งเลย ยกเว้นหนังสือแปลพระวรสาร และหนังสือ “De Deificatione Justorum” ที่เรากล่าวถึงมาแล้ว และเป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวที่ได้จัดพิมพ์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

ข้อมูลอ้างอิง

ว. ลาร์เก, ชีวประวัติบรรดามิสชันนารีคณะ MEP ค.ศ. 1662-1987
หลักฐานเล่ม 6
โรแบต์ โกสเต เขียน, อรสา ชาวจีน แปล, ประวัติการเผยแพร่คริสตศาสนาในสยามและลาว
A. LAUNAY, Documents Historiques Vol. I
Repertoire des Membres de la Societe des Missions Etrangeres 1659-2004
http://mepasie.org

 

คุณอรสา ชาวจีน เรียบเรียง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

Catholic.or.th All rights reserved.

Select style: Red Brown