www.catholic.or.th

มีข้อผิดพลาด
  • JLIB_DATABASE_ERROR_FUNCTION_FAILED

เริ่มต้นปีพิธีกรรมเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า และการฉลองพระคริสตสมภพ

เริ่มต้นปีพิธีกรรม เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า และการฉลองพระคริสตสมภพ

     เมื่อเริ่มเข้าสู่เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า (advent) ก็ถือเป็นการเริ่มต้นปีพิธีกรรม เทศกาลนี้ยาวนานสี่สัปดาห์ ตลอดสี่สัปดาห์ที่ว่านี้ แม้อาภรณ์สำหรับประกอบพิธีกรรมที่พระสงฆ์สวมใส่จะเป็น สีม่วง แต่ก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะสื่อหรือเน้นว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการสำนึกผิด-เป็นทุกข์-กลับใจ ดังเช่นช่วงเวลาสี่สิบวันในเทศกาลมหาพรต ความหมายหรือเจตนารมณ์สำคัญของเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ คือ ให้เทศกาลนี้เป็นช่วงเวลาของการรำพึงไตร่ตรองแผนการณ์ของพระเจ้า พร้อมกับรอคอยด้วยความหวัง ถึงการมาบังเกิดของพระผู้ไถ่ ซึ่งจะต้องเน้นเฉลิมฉลองการเสด็จมาขององค์พระบุตรทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
     โดยปกติ ทุก ๆ วันอาทิตย์ถือเป็นวันฉลองปัสกาประจำสัปดาห์ ที่เรียกร้องให้ทุกชุมชนคาทอลิกเห็นความสำคัญและเฉลิมฉลองกันอย่างสง่าและพร้อมเพรียง วันอาทิตย์ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ นี้ ก็ยังคงมีความสำคัญในระดับเดียวกัน แม้ว่าจะไม่มีการขับร้องบทสิริรุ่งโรจน์ (Gloria) ในบูชามิสซา ในขณะที่เทศกาลมหาพรต มีข้อห้ามเรื่องการบรรเลงออร์แกน หรือเครื่องดนตรีอื่น ๆ เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ ไม่ได้ห้ามแต่อย่างใด เช่นเดียวกับเรื่องการตกแต่งดอกไม้ข้าง ๆ พระแท่น ที่ไม่ได้ห้ามอย่างเด็ดขาด เพียงแต่ขอให้ทั้งการบรรเลงดนตรีและการตกแต่งดอกไม้ มีลักษณะพอประมาณ เพื่อรอวันที่จะแสดงออกอย่างพิเศษ ให้สมกับที่เป็นวันสมโภชใหญ่ที่เฝ้ารอคอย คือ วันฉลองพระคริสตสมภพ นั่นเอง

     นอกจากนี้ อาภรณ์ประกอบพิธีกรรม อาจจะเปลี่ยนเป็นสี ดอกกุหลาบ หรือสีบานเย็น ในวันอาทิตย์ที่ 3 ของเทศกาลนี้ (Gaudete Sunday) เพื่อต้องการจะสื่อว่าวันฉลองที่รอคอยใกล้เข้ามาแล้ว (เหมือนกับวันอาทิตย์ที่ 4 ในเทศกาลมหาพรต Laetare Sunday) และเพื่อให้พิธีกรรมได้ทำหน้าที่ของตน ในการอภิบาลเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งบำรุงชีวิตจิต หรือชีวิตฝ่ายวิญญาณของสัตบุรุษอย่างแท้จริง ตามจังหวะของปีพิธีกรรม และธรรมล้ำลึกที่กำลังฉลอง วันอาทิตย์ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ ซึ่งได้รับการจัดเตรียมเนื้อหาของการฉลองมาอย่างลงตัวแล้ว ได้ถูกเรียกร้องอย่างจริงจังให้งดการฉลองนักบุญ รวมทั้งไม่ให้มีพิธีกรรม (rituals) อื่น ๆ เช่น มิสซาปลงศพ เป็นต้น
     วัดหลาย ๆ แห่ง มีธรรมเนียมการจัดแต่ง “หรีดเตรียมรับเสด็จฯ” (Advent wreath) ไว้บริเวณใกล้ ๆ พระแท่น หรีดดังกล่าวถูกจัดแต่งให้เป็นรูปวงกลมสีเขียว ภายในมีเทียนอยู่สี่เล่ม สามเล่มเป็นเทียนสีม่วง อีกหนึ่งเล่มเป็นเทียนสีบานเย็น เทียนถูกจุดเพิ่มที่ละเล่ม ๆ จนครบสี่สัปดาห์ ในบางแห่งยังมีธรรมเนียมการเสกหรีดเตรียมรับเสด็จในวันอาทิตย์แรกของเทศกาล อย่างไรก็ตาม แม้ธรรมเนียมการจัดหรีดดังกล่าวจะดูมีความหมายดี แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้แทนเทียนที่จะต้องจุดประจำพระแท่น ที่ถือว่าเป็นเทียนประกอบพิธีกรรม ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรวางหรีดเตรียมรับเสด็จฯ บนพระแท่น

     การเตรียมสมโภชพระคริสตสมภพ ช่วงเวลาที่ถือได้ว่าเป็นโค้งสุดท้าย (final phase) ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ เริ่มต้นในวันที่ 17 ธันวาคม บทภาวนา และบทอ่าน ทั้งในบูชามิสซา และในบททำวัตร ได้ถูกจัดเตรียมไว้ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นสำหรับช่วงเวลาแปดวันก่อนวันสมโภชพระคริสตสมภพ วันในระหว่างสัปดาห์ของช่วงเวลานี้ เนื้อหาของการฉลองที่มุ่งที่การเตรียมสู่การฉลองพระคริสตสมภพ มีความสำคัญกว่าการระลึกถึงนักบุญใด ๆ
     การทำนพวารเตรียมสมโภชพระคริสตสมภพสามารถมีได้ ควบคู่ไปกับบูชามิสซาประจำวัน การสวดทำวัตร และการนมัสการศีลมหาสนิท พระสงฆ์เจ้าวัดควรจัดให้สัตบุรุษมีโอกาสได้รับศีลอภัยบาปในช่วงเวลาของการเตรียมฉลองนี้ โดยอาจจะมีวจนพิธีกรรมศีลอภัยบาป และจัดหาพระสงฆ์มาช่วยโปรดศีลอภัยบาป เพื่อให้สัตบุรุษในความดูแล ได้เตรียมจิตใจอย่างดี
วันสมโภชพระคริสตสมภพ แม้ว่าวันสมโภชพระคริสตสมภพนี้ จะมีความสำคัญรองจากวันสมโภชปัสกา และวันสมโภชพระจิตเจ้า แต่ต้องถือว่าวันสมโภชนี้ มีการเฉลิมฉลองกันอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนทั่วไป ในด้านพิธีกรรม บูชามิสซาสมโภชการบังเกิดของพระกุมารควรจัดอย่างสง่างามที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ อาภรณ์ประกอบพิธีกรรมใช้สีขาวหรือสีทอง ภาชนะศักดิ์สิทธิ์ควรใช้ชุดที่สวยงาม และจัดเตรียมอย่างดี มีการใช้กำยาน จัดแต่งดอกไม้ และมีเทียนด้วยจำนวนที่แสดงถึงการสมโภชสำคัญ
     บูชามิสซาสมโภชพระคริสตสมภพบูชามิสซาโอกาสสมโภชพระคริสตสมภพ มีทั้งหมด 4 มิสซาด้วยกัน คือ 1. มิสซาคืนตื่นเฝ้า 2. มิสซาเที่ยงคืน 3. มิสซารุ่งอรุณ และ 4. มิสซาระหว่างวัน แต่ละมิสซามีบทภาวนาและบทอ่านเฉพาะ ควรใช้บทอ่าน / บทภาวนา ให้ตรงกับช่วงเวลาที่ถวาย สำหรับมิสซาเที่ยงคืน ช่วงเวลาที่ถวาย ไม่ได้กำหนดตายตัว อย่างเข้มงวดจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าหากไม่สามารถจัดฉลองบูชามิสซาเวลาเที่ยงคืน แต่ละท้องที่สามารถเลือกเวลาที่เหมาะสมได้ เพียงขอให้เป็นช่วงดึก ที่เลยหัวค่ำไปแล้ว เช่น สามทุ่ม สี่ทุ่ม หรือห้าทุ่ม เป็นต้น

     ถ้ำ และตะกร้ารางหญ้าพระกุมาร ถ้ำพร้อมกับตะกร้ารางหญ้าพระกุมารถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีการสร้างหรือประดิษฐ์ขึ้นอย่างแพร่หลายในจารีตโรมัน โดยจะถูกจัดเตรียมไว้ในวันที่ 17 ธันวาคม หรือเพียงแค่ก่อนทำวัตรเย็นของวันฉลองพระคริสตสมภพ แต่รูปปั้นพระกุมารไม่ควรจะนำมาวางก่อนมิสซาเที่ยงคืน อย่างไรก็ตาม ถ้าก่อนมิสซาเที่ยงคืน ในตอนหัวค่ำมีมิสซาตื่นเฝ้า ที่ถือเป็นมิสซาสำหรับทุก ๆ ครอบครัว ก็สามารถนำรูปปั้นพระกุมารมาวางในตะกร้านั้น ก่อนที่มิสซาดังกล่าวจะเริ่มก็ได้

     การวางรูปปั้นพระกุมารอาจจะไม่มีพิธีพิเศษอะไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม มีธรรมเนียมดั้งเดิมที่ถือปฏิบัติกันมา โดยถือรูปแบบจากเมืองเบธเลแฮม ที่จะจัดให้มีพิธีวางรูปปั้นพระกุมาร ก่อนที่พิธีมิสซาจะเริ่ม มีการขับร้องบทเพลงที่เหมาะสมขณะที่ขบวนแห่รูปปั้นพระกุมารเริ่มขึ้น เมื่อขบวนแห่มาถึงถ้ำพระกุมาร ประธานคุกเข่า และวางรูปปั้นพระกุมารลงในตะกร้า อาจจะถวายกำยานให้รูปปั้นพระกุมารก็ได้ ยังอาจจะมีพิธีเสกถ้ำและตะกร้ารางหญ้าพระกุมารด้วยก็ได้ หลังจากนั้นจึง เริ่มบูชามิสซา ขบวนแห่ แห่ไปที่พระแท่น (มีข้อที่ควรคำนึงก็คือ ถ้ำพระกุมารไม่ควรอย่างยิ่งที่จะสร้างไว้ที่หน้าพระแท่น และถ้าแม้ไม่มีถ้ำ มีแต่ตะกร้ารางหญ้าพระกุมาร ก็ยังไม่ควรวางตะกร้านั้นที่หน้าพระแท่นด้วยช่นกัน)

     อัฐมวารพระคริสตสมภพ ในขณะที่ช่วงเวลาแปดวันหลังวันสมโภชปัสกา (อัฐมวารปัสกา) ไม่มีการฉลองนักบุญใด ๆ ทั้งสิ้น ช่วงแปดวันหลังสมโภชพระคริสตสมภพ กลับมีการฉลองนักบุญและฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งสมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้าแทรกเข้ามาด้วย นักบุญที่ได้รับการฉลองในช่วงเวลานี้ ถูกเรียกว่าเป็น “กลุ่มเพื่อนพระเยซู” อันได้แก่ นักบุญสเตเฟน มรณสักขีท่านแรก (26 ธันวาคม) นักบุญยอห์น อัครสาวก (27 ธันวาคม) บรรดาทารกผู้วิมล (28 ธันวาคม วันนี้ บางแห่งกำหนดให้มีการภาวนาเพื่อบรรดาทารกที่ถูกฆ่าก่อนกำเนิด)

 

เรียบเรียงจาก Ceremonies of the Liturgical Year ของ Msgr. Peter J. Elliott
จัดพิมพ์โดย แผนกพิธีกรรม ดนตรี และศิลปศักดิ์สิทธิ์
ฝ่ายบุคลาภิบาล อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 12 ธันวาคม 2007