ค้นหาข้อมูล :

พระสันตะปาปา ขอร้อง "จี 20" เวลาแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่าลืมคนจนเด็ดขาด / 2 เมษายน 2009
--------------------------------------------------------------------------------
สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ประมุขสูงสุดแห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ทรงขอร้องผู้นำกลุ่มจี 20 อย่าแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ โดยมองข้ามความสำคัญของคนยากจนเป็นอันขาด ทั้งนี้ ตามรายงานข่าวจากนครรัฐวาติกัน เมื่อวันพุธที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
 
 
สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ประมุของค์ที่ 265 แห่งพระศาสนจักรคาทอลิก ทรงส่งจดหมายถึงผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดทางเศรษฐกิจ จี 20 ซึ่งกำลังช่วยกันระดมสมองแก้วิกฤติการเงินโลกอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเนื้อหาภายใน พระสันตะบิดาเจ้าทรงขอร้องให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยหลักจริยธรรม ที่สำคัญ ต้องอย่าเมินเฉยในการความช่วยเหลือชาติที่ยากจนเด็ดขาด

ใจความสำคัญของจดหมาย พระสันตะปาปาทรงระบุว่า "การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก เราต้องร่วมกันแสวงหาหลักประกันที่มั่นคงให้กับครอบครัวต่างๆ รวมไปถึงมอบเสถียรภาพในการทำงานให้กับแรงงานทุกคน เราสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยการออกกฏหมายและมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันฟื้นฟูจริยธรรมให้กับตลาดการเงินของโลก"

"ถ้าสาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากการขาดจริยธรรมในระบบเศรษฐกิจ วิกฤติครั้งนี้ก็สอนเราว่า เศรษฐกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าจริยธรรมไม่ถูกใส่ลงไปในระบบ"
พระสันตะปาปา ทรงระบุอย่างชัดเจน

ตอนท้ายของจดหมาย พระสันตะปาปาทรงกล่าวถึงการเสด็จเยือนทวีปแอฟริกา พร้อมย้ำว่า การประชุม จี 20 ต้องอย่าแก้ปัญหาเฉพาะชาติของตนเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับชาติในแอฟริกา รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาด้วย

"วิกฤติครั้งนี้ ก่อให้เกิดความหวาดกลัวว่า จะมีการยกเลิกหรือปรับลดโครงการให้ความช่วยเหลือต่างๆ อาทิ ในทวีปแอฟริกาและประเทศที่กำลังพัฒนา ข้าพเจ้าหวังว่า การให้ความช่วยเหลือก็ดี หรือจะเป็นการยกหนี้ให้กับประเทศยากจนทั้งหลาย จะได้รับการสานต่อไปเรื่อยๆ โดยปราศจากการยกเลิกด้วยเหตุผลทางวิกฤติเศรษฐกิจ ข้าพเจ้าขอเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ ในนามของผู้ยากไร้ทุกคน" 

ทางด้าน กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษและเป็นผู้แทนรับจดหมายจากพระสันตะปาปา ได้ออกมากล่าวให้คำมั่นสัญญาว่า ตนจะนำเนื้อหาในจดหมาย มาเป็นแนวทางแก้ปัญหาอย่างแน่นอน

"การปกป้องและช่วยเหลือคนยากจนเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของผม ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ผมขอกราบทูลพระสันตะปาปาว่า ผมจะนำสิ่งที่พระองค์สอนมาเป็นหลักยึดเหนี่ยวในการแก้ปัญหา เพื่อทุกคนจะได้ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากไปพร้อมกัน" บราวน์ ผู้เคยเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กล่าวอย่างจริงจัง
 
อนึ่ง กลุ่มประเทศจี 20 ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อค.ศ. 1999 ประกอบด้วยประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศคือ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา รวมกับกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วย สหภาพยุโรป (อียู) อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี ทั้ง 20 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับ 90 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก