พระสันตะปาปา ระบุในสมณสาส์น"นี่คือยุควิกฤติความหวังของคริสตชน" / 2 ธันวาคม 2007
-------------------------------------------------------------------------------- สันตะสำนักจัดการเปิดตัว "Spe Salvi"(สเป ซาลวี-เพราะเราได้รอดพ้นด้วยความหวัง) สมณสาส์นฉบับใหม่ของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16
เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหาภายใน พระสันตะปาปาทรงแสดงความวิตกว่า โลกกำลังเผชิญวิกฤติการณ์การสูญเสียความหวังในการดำเนินชีวิตโดยยึดมั่นองค์พระเจ้า แล้วหันหน้าไปให้ความหวังด้านวัตถุนิยมแทน
เมื่อช่วงเที่ยงวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บาทหลวง เฟเดริโก้ ลอมบาร์ดี้ ผู้อำนวยการสื่อมวลชนวาติกัน ได้ร่วมกับ พระคาร์ดินัล อัลแบร์ ว็องอัว,พระคาร์ดินัล มารี มาร์แต็ง โกตติเยร์
จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวสมณสาส์นฉบับที่สองในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ประมุของค์ที่ 265 แห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ท่ามกลางสื่อมวลชนหลายแขนงที่ให้ความสนใจมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดย
"เพราะเราได้รอดพ้นด้วยความหวัง" สมณสาส์นฉบับที่สองของพระสันตะปาปา มีทั้งสิ้น 8 บทและมีความหนา 76 หน้า เรียกได้ว่าอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาและเหตุผลลึกซึ้งมากมายซึ่งตั้งอยู่บนการใช้ชีวิตแบบมีความหวังอย่างแท้จริง
ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว สมณสาส์นทุกฉบับจะขึ้นต้นด้วยการนำถ้อยคำในพระคัมภีร์มาเป็นหัวข้อหลัก สมณสาส์นฉบับนี้ก็เช่นกัน พระสันตะปาปาทรงเลือกจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม (8:24) ที่กล่าวว่า
"เพราะเราได้รอดพ้นด้วยความหวัง" มาเน้นย้ำกับทุกคน พระองค์พยายามจะอธิบายให้คริสตชนเข้าใจความหมายของการมีชีวิตอยู่ด้วยความหวังในพระเจ้า มากกว่าคาดหวังมีชีวิตด้วยความมั่งคั่งทางวัตถุนิยม
พระสันตะปาปาทรงเริ่มต้นเนื้อหาด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า "ตามหลักความเชื่อคริสตศาสนาแล้ว การไถ่บาปและการช่วยให้รอดพ้นนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ได้รับกันแบบง่ายๆ
เพราะพระสัญญาเกี่ยวกับความรอดได้เตรียมไว้ให้กับคนที่มีความหวังและวางใจในพระเจ้า ผ่านทางศีลธรรมซึ่งเราสามารถพบเจอได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน" พระสันตะปาปายังระบุต่อไปว่า "คริสตชนมีความเชื่ออย่างแน่วแน่ในชีวิตนิรันดร คำว่า "ความหวัง" จัดเป็นถ้อยคำสำคัญในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลและบ่อยครั้งที่ความหวังกับความเชื่อเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนี้
จึงเป็นความจริงอย่างชัดแจ้งว่า "ความหวัง" และ "ความเชื่อ" มีความหมายเดียวกัน ดังนั้น ตามความหมายของคริสตชน สิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงสอนให้เรามีความรักและความหวังจึงไม่เป็นแค่คำสอนเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องเป็นการกระทำที่สื่อให้เห็นว่า สองสิ่งนี้(ความเชื่อและความหวัง) สามารถบันดาลทุกสิ่งและเปลี่ยนชีวิตเราได้ เพราะใครก็ตามที่ทำได้ตามนี้ เขาก็จะได้รับของขวัญจากพระซึ่งก็คือชีวิตนิรันดร"
ประมุขสูงสุดแห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ยังทรงโต้แย้งว่า การดำเนินชีวิตแบบไร้ความหวังในพระเจ้า และไปให้ความหวังกับวัตถุนิยมเป็นเรื่องหลอกลวงและนี่ไม่ใช่ความหวังที่แท้จริง "ในสมัยพระศาสนจักรยุคแรกเริ่ม
ผู้คนมากมายมีชีวิตเยี่ยงทาสและเป็นข้ารับใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป พระเยซูเจ้าไม่ใช่ผู้ปลดปล่อยอิสรภาพทางการเมืองให้กับพวกเขา แต่พระองค์กลับบันดาลความหวังที่จะเป็นอิสรภาพให้กับพวกเขาได้ โดยผ่านทางสิ่งที่ทรงสอน นั่นคือ
"เพราะเราได้รอดพ้นด้วยความหวัง" ซึ่งเป็นความหวังที่แปรสภาพจากนามธรรมมาเป็นหนทางให้ผู้ติดตามพระองค์ได้มุ่งหวังจะได้รับชีวิตนิรันดร" "คริสตชนเหล่านี้
ได้พบกับความหวังแบบใหม่ที่บันดาลให้อิสรภาพของพวกเขากลายเป็นจริง และแม้จะเผชิญช่วงเวลายากลำบากในการดำเนินชีวิต พวกเขาก็จะเน้นย้ำความรักที่พระบิดาทรงมีต่อเราทุกคนให้บรรดาลูกหลานได้ฟังเป็นประจำ พวกเขาจะสอนลูกหลานว่า
การที่เราจะรู้จักพระเจ้าที่แท้จริงได้นั้น หมายความว่า เราจะต้องใช้ชีวิตแบบมีความหวังและเชื่อพระองค์อยู่เสมอ" "อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมสมัยใหม่แล้ว
มนุษย์ทุกคนมีความหวังในการดำเนินชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างออกไป พวกเขาวางใจและให้น้ำหนักอย่างมากกับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มนุษย์ได้ถูกชักจูงให้ก้าวไปกับการบูชาความเชื่อวัตถุนิยม,การแสวงหาอำนาจเงินตรา ความเชื่อนี้ได้นำพา
"อาณาจักรใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความสมบูรณ์แบบตามประสาสังคมมนุษย์" เข้ามาแทนที่อาณาจักรของพระเจ้า" พระสันตะปาปา ทรงกล่าวต่อไปว่า "เมื่อเป็นเช่นนี้
ความเชื่อในวัตถุนิยมจัดเป็นความท้าทายต่อความเชื่อตามหลักคริสตศาสนาอย่างแท้จริง นี่คือสิ่งบิดเบือนความเชื่อที่คริสตชนมีต่อพระเจ้า ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า
วิกฤติการณ์ความเชื่อในยุคปัจจุบันได้กลายเป็นวิกฤติการณ์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตอย่างมีความหวังตามแบบฉบับคริสตชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" "ในช่วงปฏิรูปฝรั่งเศสและการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิมาร์กซิสต์
นักคิดสายการเมืองส่วนมาก ต่างแสวงหาการจัดตั้งระบอบสังคมที่มีพื้นฐานอยู่บนหลักเหตุและผล พวกเขามีความคิดว่า การจัดตั้งนี้จะสามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับพื้นฐานทางสิทธิมนุษยชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลลัพธ์ของแนวคิดนี้ก็คือ
ความเจ็บปวดและสูญเสียที่เกิดจากการทำลายล้างอย่างน่ากลัว" "ปัญหาของระบบแนวคิดอุดมคติก็คือความล้มเหลวในการสื่อสารถึงมิติแง่จิตวิญญาณที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดตามธรรมชาติมนุษย์
การปฏิเสธความวางใจในพระเจ้าและหันไปหาลัทธิอุดมคติได้สร้างจุดจบไว้ด้วยการปล่อยให้มนุษย์คนนั้น ดำเนินชีวิตไปวันๆอย่างไร้ความหวังทุกชนิด ดังนั้น ขอให้เราทุกคนเติมสิ่งง่ายๆลงไปในชีวิต กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนต้องการพระเจ้า มิฉะนั้น
เขาก็จะมีชีวิตอย่างไร้ความหวัง" พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ยังได้สนับสนุนคริสตชนทุกคนให้มีความหวังในพระเจ้าตามวิถีทางที่แตกต่างกันไป "สิ่งแรกก็ที่ทำได้ก็คือ การสวดภาวนา
เมื่อไม่มีใครสักคนสนใจฟังเรา แต่จงมั่นใจได้เลยว่า พระเจ้าจะทรงรับฟังเสียงของเราอย่างแน่นอน และนี่แหละคือบ่อเกิดของการดำเนินชีวิตอย่างมีความหวัง การสวดภาวนาจะเสริมสร้างศีลธรรมในตัวเราแต่ละคน" "ความหวังในความรู้สึกของคริสตชนก็คือการดำเนินชีวิตอย่างมีความหวังเพื่อผู้อื่น เช่นเดียวกัน เราต้องแสดงให้คนทั่วไปเห็นถึงความหวังนี้ รวมทั้งเสริมสร้างความหวังของผู้อื่นผ่านทางพันธกิจต่างๆของพระเยซู
เมื่อชีวิตใครสักคนล้มเหลวหรือประสบเรื่องร้ายๆ เขาคนนั้นสามารถตั้งหลักใหม่ด้วยการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง ขณะที่เราซึ่งทำดีด้วยการช่วยกำจัดเรื่องร้ายๆของผู้อื่น เราก็จะเติบโตด้วยความสามารถที่ทุกคนยอมรับ
เจริญเติบโตในวิถีทางที่เป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์ ผู้ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยความรักอันสุดล้นคณนา" "ความหวังตามแบบฉบับคริสตชนต้องมองไปที่อนาคตข้างหน้าซึ่งก็คือชีวิตนิรันดร
แต่ก่อนที่เราจะไปถึงตรงนั้น(ชีวิตนิรันดร) เราจะต้องผ่านการพิพากษาครั้งสุดท้ายต่อหน้าพระเจ้า นี่คือความยุติธรรมเที่ยงแท้ นี่คือการปลดเปลื้องความสูญเสียในอดีตที่เราประสบ และยังเป็นการเตรียมเราให้พร้อมสรรพ
ก่อนจะเข้าสู่ชีวิตนิรันดร" พระสันตะปาปาทรงสรุปปิดท้ายสมณสาส์นบทที่ 8 ด้วยการสดุดีพระนางมารีอา "แม่พระคือดวงดาราแห่งความหวัง แม่พระคือแรงบันดาลใจและเป็นผู้นำทางให้กับผู้มีความเชื่อได้เรียนรู้ถึงความหวังในองค์พระคริสตเจ้า" ก่อนจะทรงภาวนาวอนขอแม่พระ โปรดช่วยเยียวยารักษาบาดแผล "วิกฤติการณ์ความหวังตามแบบฉบับคริสตชน"
ได้หายสนิทโดยเร็ววัน
ภาพ : AP, L'Osservatore Romano, Reuters
|