![]() |
![]() |
|
|
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ในโอกาสปิดปีความเชื่อของพระศาสนจักรในประเทศอินเดีย แผนกวิถีชุมชนวัดภายใต้สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศอินเดีย ใช้โอกาสนี้จัดเป็นวันชุมนุมวิถีชุมชนวัด (SCCs) ทั่วประเทศอินเดีย ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 ณ เมืองกัวเก่า คณะกรรมการจัดงานได้เชิญ พระสมณทูตวาติกันประจำประเทศอินเดีย พร้อมกับพระคาร์ดินัล พระสังฆราชคาทอลิกทั้งจารีตโรมันคาทอลิกและจารีตตะวันออก รวม 75 องค์ พระสงฆ์ ตัวแทนนักบวชชายหญิงและฆราวาสผู้นำวิถีชุมชนวัดทั่วประเทศอินเดียประมาณ 2,000 คน ให้มาร่วมชุมนุมกับสัตบุรุษของอัครสังฆมณฑลกัวและสังฆมณฑลใกล้เคียง มีผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ประมาณ 8,000 คน ทางผู้จัดซึ่งมีคุณพ่อ โทมัส วีเจย์ เลขาธิการและผู้สนับสนุนให้มีการชุมนุมในครั้งนี้ ได้เชิญตัวแทนแผนกวิถีชุมชนวัดจากประเทศไทย 5 คน รวมทั้งประเทศเยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ ศรีลังกา และเกาหลีใต้อีกจำนวนหนึ่งให้เข้าร่วมงานด้วย งานนี้ดูเป็นงานใหญ่แต่เรียบง่ายสมเป็นพระศาสนจักรแห่งประเทศอินเดียซึ่งมีประชากรคริสตชนประมาณ 20 ล้านคน แบ่งการปกครองเป็น 166 สังฆมณฑล และมี 120 สังฆมณฑลส่งตัวแทนมาร่วมงานชุมนุมวิถีชุมชนวัดในครั้งนี้ คณะผู้ทำงานวิถีชุมชนวัดในประเทศไทยของเรา ได้แก่ คุณพ่อปิยะชาติ มะกรครรภ์ คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช ซิสเตอร์สุวรรณี พันธุ์วิไล และซิสเตอร์กัลยา ตรีโสภา ได้เดินทางไปถึงก่อนงานชุมนุม 2 วัน จึงได้มีโอกาสเยี่ยมชมเมืองกัวเก่า ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่มากเมืองหนึ่ง และสถานที่ใกล้เคียง มีชายหาดที่สวยงามหลายแห่ง และยังมีร่องรอยของความเจริญทั้งทางสถาปัตยกรรมตะวันตกและร่องรอยทางคริสตศาสนาสมัยโปตุเกสเข้ามาค้าขายในตอนต้นศตวรรษที่ 16 ในปัจจุบันเมืองกัวเก่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมืองแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่คริสต์ศาสนาของดินแดนตะวันออก และเป็นฐานแพร่ธรรมแห่งแรกในเอเซียของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ของพระศาสนจักร ท่านเดินทางจากกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส มาถึงเมืองกัวในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1542 ก่อนที่ท่านจะไปแพร่ธรรมที่อาณานิคมมะละกาของโปรตุเกส บริเวณแหลมมาลายู และที่ญี่ปุ่น ท่านปรารถนาจะไปประกาศข่าวดีที่ประเทศจีน แต่ท่านป่วยเสียชีวิตที่เกาะสานเจี้ยนใกล้แผ่นดินใหญ่ประเทศจีน ศพของท่านถูกฝังไว้ที่นั่น หลังจากนั้นสองเดือนเศษเขาได้ขุดศพของท่านขึ้นมาและพบว่าศพของท่านไม่เน่าเปื่อยและยังคงสภาพดี จึงได้เชิญศพของท่านไปไว้ที่มะละกา และต่อมาได้นำกลับมาประดิษฐานไว้ที่เมืองกัว และที่สุดได้นำพระธาตุร่างกายของท่านประดิษฐานไว้ในโลงกระจกทำด้วยเงินอย่างดี ที่ Basilica of Bom Jesus ณ เมืองกัวเก่าในปัจจุบัน คณะของเราได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมการจัดงาน ทำให้เราได้มีโอกาสถวายมิสซา ณ ที่ตั้งพระธาตุร่างกายอันไม่เน่าเปื่อยของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์นักแพร่ธรรมผู้ยิ่งใหญ่ |
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
การจัดงานชุมนุมวิถีชุมชนวัดระดับชาติครั้งแรกนี้ คณะผู้จัดได้วางวัตถุประสงค์ไว้ 4 ประการ คือ 1.เพื่อให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าวิถีชุมชนวัดเป็นการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและความร่วมมือกันในพระศาสนจักร 2.เพื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าวิถีชุมชนวัดมีประสิทธิภาพช่วยคริสตชนให้ดำรงชีวิตความเชื่อและค่านิยมของพระวรสารในแบบที่เห็นได้จริง 3.เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนมีประสบการณ์ของวิถีชุมชนวัดว่าสามารถฟื้นฟูความเชื่อทั้งระดับส่วนตัวและระดับกลุ่ม 4.เพื่อเป็นประจักษ์พยานว่าวิถีชุมชนวัดเป็นเครื่องมือในการประกาศพระวรสารในระหว่างเพื่อนบ้าน การจัดงานชุมนุมครั้งนี้ใช้บริเวณด้านหน้าของ Basilica of Bom Jesus ซึ่งมีบริเวณกว้างใหญ่ เขากางเต็นท์กันแดดคลุมเนื้อที่ทั้งหมด สร้างเวทีและวางเก้าอี้เป็นหมวดหมู่สวยงาม คณะกรรมการประกอบด้วย พระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช ฆราวาส เยาวชน ส่วนใหญ่เป็นคริสตชนท้องถิ่นนั้น เพื่อทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ เขาแบ่งงานกันทำอย่างละเอียดมาก มีคนเพียงพอทุกแผนก มีการประสานงานอย่างเป็นระบบ ไม่บกพร่องในการให้บริการทุกด้าน ทุกคนทำงานด้วยความเสียสละเอาจริงเอาจังไม่เลือกงาน แม้แต่การล้างห้องน้ำและเก็บขยะ กลุ่มเยาวชนกลุ่มใหญ่ ทำหน้าที่ต้อนรับแขก ลงทะเบียน และจัดบัตรประจำตัวให้ทุกคน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง ไม่รู้จักเหนื่อย ในงานนี้เน้นความปลอดภัยใครไม่มีบัตรประจำตัวห้ามเข้างาน มีการตรวจและสแกนทุกครั้งที่เข้าไปในงาน โดยเจ้าหน้าที่ ทางการให้ความร่วมมือ ส่งตำรวจมาช่วยดูแลตลอดงาน ในการรับรองแขกจำนวนมากเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เจ้าภาพจัดการได้ดีมาก เขาได้จัดให้พระสังฆราชและผู้ทำงานผู้ต้องรับผิดชอบด้านต่างๆ พักที่ศูนย์อภิบาลใกล้กับสถานที่จัดงาน ส่วนคนอื่นได้จัดให้กระจายไปอยู่ตามบ้านสัตบุรุษตามวัดต่างๆ ทั่วเมืองกัวเก่าและสถานที่ใกล้เคียง และให้บ้านสัตบุรุษที่รับเป็นเจ้าภาพดูแลแขกในทุกเรื่องที่พักและอาหาร ทุกเช้าจะมีรถบัสจอดที่หน้าวัดนำทุกคนไปที่ๆ จัดงาน และตอนเย็นนำกลับมาส่ง มีรถบัสรับส่งทั่วเมืองกัวร่วมร้อยคันทุกวัน ผู้เข้าร่วมงานรู้สึกพอใจที่ได้มีประสบการณ์กับการอยู่กับครอบครัว บางคนบอกว่าทำให้ได้เพื่อนใหม่ร่วมเดินทางในวิถีชุมชนวัดเพิ่มมากขึ้น บางคนบอกว่าประทับใจในการต้อนรับแขกด้วยความใจกว้างและบ้านที่สะอาดเป็นระเบียบ คณะของเราได้มีประสบการณ์อยู่ในครอบครัวที่มีความเชื่อศรัทธามาก เราร่วมทำกิจศรัทธาประจำวันกับเขาทุกอย่าง ทำให้ได้สัมผัสกับจิตตารมณ์ของวิถีชุมชนวัดที่เห็นจริงว่า ครอบครัวคริสตชนเป็นบ้านที่ปลูกฝังความเชื่อและโรงเรียนแห่งการภาวนา โปรแกรมของการชุมนุมครั้งนี้แบ่งเป็นสามวัน วันแรกเป็นการเปิดงานด้วยพิธีบูชามิสซาขอบพระคุณอย่างสง่า จัดเตรียมอย่างดีและมีความหมาย ประธานในพิธี คือ ฯพณฯ เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศอินเดีย พระอัครสังฆราช ซัลวาตอเร เพนนัคคีโอ ร่วมกับพระสังฆราชและพระสงฆ์ทั้งหมด มีตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าร่วมงานหลายคน หลังมิสซาเป็นพิธีการเปิดการชุมนุมวิถีชุมชนวัดด้วยขบวนแห่พระคัมภีร์ 20 ภาษานำมาประดิษฐานไว้ในที่ตั้งที่จัดอย่างสวยงามหน้าเวที มีการเต้นรำอวยพรจากซิสเตอร์คณะต่างๆ ซึ่งกำลังศึกษาที่ศูนย์คำสอนมาแตร์เดอี ต่อจากนั้นเป็นการแบ่งปันจากพระสังฆราชและฆราวาสคนละ 20 นาที รวมถึงทอล์คโชว์เกี่ยวกับวิถีชุมชนวัดจากตัวแทนพระสงฆ์นักบวชและฆราวาสที่มีประสบการณ์ทำงานนานในแวดวงของวิถีชุมชนวัดทั่วประเทศอินเดีย ระหว่างพักเที่ยงเป็นการแสดงของชุมชนวัดกลุ่มต่างๆ บนเวที ภาคบ่ายเป็นการแบ่งปันจากฆราวาส ทุกกิจกรรมเน้นการมีส่วนร่วม วันที่สอง เปิดโอกาสให้ผู้แทนที่มาจากส่วนต่างๆ ของประเทศ และพักกับครอบครัวสัตบุรุษตามวัด ได้สัมผัสชีวิตของชุมชนคริสตชนย่อย ที่วัดนั้นให้ลึกขึ้น โดยภาคเช้าเริ่มด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณและรับการอบรมเพิ่มเติมพร้อมกันในเรื่องความหมายของวิถีชุมชนวัด โดยพระสงฆ์หรือฆราวาสผู้นำของวัดนั้นให้การอบรม มีการไตร่ตรองแบ่งปันเป็นกลุ่มย่อย และวางแผนงานตามกลุ่มของตน อาหารเที่ยงจัดให้ที่วัดเป็นอีกโอกาสให้พบปะ ทำความรู้จักกัน ภาคบ่าย ออกเยี่ยมเยียน เข้าแบ่งปันพระวาจากับชุมชนคริสตชนย่อยในเขตวัดนั้น และจบด้วยการรับประทานอาหารและสังสรรค์ร่วมกัน |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
||||||
ส่วนวันที่สามเป็นการแบ่งปันประสบการณ์การสัมผัสชีวิตเมื่อวานจากวัดต่างๆ มีการแบ่งปันเพิ่มเติมจากพระสังฆราช และฟังคำปราศรัยและให้ข้อสังเกตของผู้จัดงานแผนกต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ผู้มาชุมนุมได้ร่วมพิธีปิดปีความเชื่อและการชุมนุมวิถีชุมชนวัดด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณโดยประธานสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศอินเดีย พระคาร์ดินัล Oswald Gracias พระอัครสังฆราชแห่งบอมเบย์ ที่สุดเป็นการปิดการชุมนุมวิถีชุมชนวัดระดับชาติครั้งที่ 1 ด้วยคำปราศรัยของประธานจัดงาน พระสังฆราช Thomas Dabre มีข้อคิดดีๆ จากพระสังฆราชหลายองค์และฆราวาสที่ออกไปแบ่งปัน ทำให้ที่ประชุมได้กำลังใจและเข้าใจความหมายของวิถีชุมชนวัดมากขึ้น พระอัครสังฆราช Filipe Neri Ferrao แห่งอัครสังฆมณฑลกัว กล่าวว่า วิถีชุมชนวัด (SCC s) เป็นบ้านและโรงเรียนแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันในความเชื่อที่ทุกคนจะมีประสบการณ์จากพระเจ้า ยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้เกิดมิตรภาพซึ่งกันและกันในพระศาสนจักรและในสังคมที่เต็มไปด้วยการขัดแย้ง วัตถุนิยม และปัจเจกนิยม อัครสังฆราชกิตติคุณ Bosco Penha แห่งบอมเบย์ กล่าวว่า วิถีชุมชนวัด เป็นยาขนานแท้รักษาโรคปัจเจกนิยม การแข่งขันกัน และบริโภคนิยม ความรักซึ่งกันและกัน จะผูกพันทุกคนเข้าด้วยกัน ชุมชนคริสตชนที่ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางคนต่างศาสนา สามารถดำรงชีวิตเป็นประจักษ์พยาน และความเชื่อจะถ่ายทอดกันแบบไม่ต้องพูด ถ้าชุมชนคริสตชนดำรงชีวิตดีๆ คนรอบด้านจะดำรงชีวิตในลักษณะเดียวกัน วิถีชุมชนวัดจะปรับเปลี่ยนสังคมให้เป็นชุมชนมนุษยชน ที่ซึ่งคนทุกความเชื่อจะเรียนรู้ที่จะแบ่งปันและเอาใจใส่กันและกัน ฉะนั้นทุกคนต้องออกจากตัวเองไปหาเพื่อนบ้านในทุกสถานการณ์และทุกสภาพการณ์ โดยเฉพาะยามที่เขาต้องการความช่วยเหลือ ให้เราช่วยปรับเปลี่ยนโลก แห่ง วัตถุนิยมด้วยความศรัทธาในพระเจ้า บริโภคนิยมด้วยการแบ่งปัน และปัจเจกนิยมด้วยความรักซึ่งกันและกัน |
|||||||
![]() |
![]() |
||||||
พระสังฆราช Thomas Dabre ประธานจัดงานการชุมนุมครั้งนี้ สรุปว่า เป็นเวลา 30 ปีแล้วที่พระศาสนจักรอินเดียมีการอภิบาลตามแบบวิถีชุมชนวัด พระศาสนจักรอินเดียมีชุมชนคริสตชนย่อยถึง 68,000 ชุมชน แต่ยังต้องการความกล้าหาญที่จะก้าวต่อไป พร้อมกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเกาหลีใต้ ศรีลังกา ไทย เยอรมันและสวิสเซอร์แลนด์ ผลของการอภิบาลตามแบบวิถีชุมชนวัดอาจสรุปได้ว่า ในแต่ละครอบครัวคริสตชนได้สัมผัสกับพระวาจามากขึ้น พระสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตของผู้มีความเชื่อมากขึ้น เกิดมีผู้นำฆราวาสมากขึ้น และคริสตชนมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน สำนึกถึงการเป็นเจ้าของพระศาสนจักรและมีความชื่นชมยินดีในชีวิตคริสตชนมากขึ้น คณะของเราได้เดินทางกลับมาพร้อมด้วยความประทับใจ และชื่นชมยินดีที่มีโอกาสไปร่วมงานชุมนุมของผู้มีความเชื่อเดียวกันที่มีความแตกต่างมากมายทั้งวัฒนธรรม ภาษา เชื้อชาติ แต่ ยังรักกันและเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ขอบคุณพระเจ้าสำหรับโอกาสอันดียิ่งนี้ และประสบการณ์ดีๆ ตลอดจนพระพรของพระเจ้าที่พวกเราได้รับตลอดการชุมนุมครั้งนี้ |
|||||||
![]() |
![]() |
||||||
![]() |
|||||||