ภาพ :  เบิร์ด มงคล อาสนวิหารอัสสัมชัญ /  ข่าว : แผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

ประมวลภาพฉลองอาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก

ฉลองอาสนวิหารอัสสัมชัญ วันพฤหัสที่ 15 สิงหาคม 2013 เวลา 17.00 น. พระอัครสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช  พระอัครสังฆราช อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นประธานในพิธี สมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ พระนางมารีย์ได้ทรงรับเกียรติขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ เป็น “สัญลักษณ์” แห่งพันธสัญญาใหม่ หีบแห่งพันธ-สัญญานั้นบรรจุไว้ซึ่งธรรมบัญญัติ และจากหีบแห่งพันธสัญญานี่เอง ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสนองตอบคำทูลขอต่างๆ ของประชากรของพระองค์ ผ่านทางพระนาง พระนางมารีย์ผู้ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ทรงเป็นสิ่งสร้างเหมือนกับเรามนุษย์ทุกคน แต่ว่า บัดนี้ พระนางได้บรรลุถึงความสำเร็จบริบูรณ์ของการช่วยให้รอดแล้ว  พระนางทรงเป็นมารดาที่ทรงคอยเรา และเอาใจใส่เป็นกังวลถึงเรา ที่จะให้เราเดินไปสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า และร่วมฉลองอาสนวิหารอัสสัมชัญ ครบ 191 ปี นับตั้งแต่วัดหลังแรก (1822-2013) และ 94 ปีอาสนวิหารหลังปัจจุบัน (1919-2013)


เวลา 16.00 น. เริ่มสวดสายประคำ พระสงฆ์โปรดศีลอภัยบาป   17.00 น.
เริ่มพิธีบูชาขอบพระคุณสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ โดยพระอัครสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พระอัครสังฆราช อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นประธานร่วมกับ พระสังฆราชสังวาล ศุระศรางค์ พระสังฆราชกิตติคุณ  คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม อุปสังฆราชอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มงซินญอร์อันดรูว์ วิษณุ ธัญญอนันต์  คุณพ่อปิยะ โรจนะมารีวงศ์ และพระสงฆ์จำนวน 35 ท่าน

บรรยากาศการร่วมฉลอง เป็นไปด้วยความศรัทธา มีสัตบุรุษมาร่วมประมาณ 800 คน ท่ามกลางการร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ณ ขณะนี้ทางอาสนวิหารอัสสัมชัญมีการปรับปรุงวัดไปได้ระดับหนึ่งแล้ว  วัดหลังนี้ครบ 191 ปี นับตั้งแต่วัดหลังแรก (1822-2013) และ 94 ปีอาสนวิหารหลังปัจจุบัน (1919-2013)

บทภาวนาหลังรับศีล  ประธานถวายกำยาน แด่รูปแม่พระฯ อัญเชิญพระรูปแม่พระแห่ไปรอบวัด เมื่อขบวนแห่กลับมาถึงหน้าวัดแล้ว ประธานถวายกำยานแด่พระรูปแม่พระ ร่วมใจกันภาวนา “บทถวายประเทศไทยแด่แม่พระ” พระคุณเจ้าอวยพรปิดพิธี พร้อมถวายช่อดอกไม้แด่แม่พระ
 

สำหรับประวัติอาสนวิหารอัสสัมชัญโดยย่อ

ครบ 191 ปี นับตั้งแต่วัดหลังแรก (1822-2013)  และ 94 ปีอาสนวิหารหลังปัจจุบัน (1919-2013)

ในปี ค.ศ.1809 คุณพ่อปาสกัล ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวไทย-โปรตุเกส (บวชปี ค.ศ.1805) ได้รวบรวมเงิน 1,500 บาท ซึ่งได้บอกบุญกับบรรดาคริสตังและญาติพี่น้องมิตรสหายของท่าน คุณพ่อได้ถวายเงินจำนวนนี้แก่ คุณพ่อฟลอรังส์เพื่อจะได้สร้างวัดสักแห่งหนึ่งเป็นเกียรติแด่อัสสัมชัญของพระนางมหามารีอา

ที่สุดในปี ค.ศ.1820 พระสังฆราชฟลอรังส์ก็สามารถซื้อที่ดินสวนกล้วยแปลงละ 250 บาท ได้ทั้งหมด ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอัสสัมชัญ (ชาย) แปลงที่สองซึ่งซื้อเมื่อปี ค.ศ.1820 นั้นเป็นที่ตั้งของอาสนวิหารอัสสัมชัญปัจจุบัน,โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา,โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์, สำนักพระสังฆราช,ศูนย์คาทอลิก, บริษัทอีสต์เอเซีย ติ๊ก, บ้านคริสตัง ฯลฯ.

เงินที่ได้รับจากคุณพ่อปาสกัลเหลือไม่พอที่จะสร้างวัดได้ พระสังฆราชฟลอรังส์จำเป็นต้องพึ่งพระคาร์ดินัลผู้ใจบุญจากกรุงโรม ซึ่งยินดีบริจาคเงิน 1,500 ปีอาสตร์ เพื่อสร้างวัดเป็นเกียรติแด่พระนางมารีอารับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ การดำเนินงานต่างๆ ก็เริ่มทันทีในปี ค.ศ.1820 คือปรับที่ดินให้เรียบ และลงมือสร้างวัดอัสสัมชัญหลังแรกเป็นอิฐ เสร็จในปี ค.ศ.1821 นอกจากนั้นยังสร้างสำนักพระสังฆราช และพระสังฆราชฟลอรังส์ก็มาพำนักอยู่ที่นี่

พิธีเสกวัดอัสสัมชัญกระทำอย่างสง่าในวันฉลองแม่พระลูกประคำปี ค.ศ.1822

จนถึงปี ค.ศ.1884 เมื่อเมืองได้ขยายมากขึ้น และจำนวนคริสตังได้เพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องตั้งบริเวณนั้นให้เป็นกลุ่มคริสตชน (Paroisse) เป็นที่น่าเสียดายที่บัญชีศีลล้างบาปแรกๆ ของวัดอัสสัมชัญได้สูญหายไปหมดในปี ค.ศ.1864 ด้วยเหตุว่าบ้านพักพระสงฆ์ของวัดแม่พระลูกประคำ และบัญชีหลักฐานต่างๆ ถูกเพลิงเผาผลาญหมดสิ้น ดังนั้นปี ค.ศ.1864 พระสังฆราชดือปองด์จึงตั้งกลุ่มอัสสัมชัญเป็นกลุ่มคริสตชนอย่างเป็นทางการ คุณพ่อฟรังซัว ยอแซฟ ชมิตต์ (Schmitt) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ได้เปิดบัญชีวัดทุกเล่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1864 เป็นต้นมา

เนื่องจากจำนวนคริสตังได้เพิ่มทวีขึ้นมาก ทำให้วัดเก่าดูคับแคบไป คุณพ่อกอลมเบต์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในเวลานั้น ได้ปรึกษาหารือกับคุณพ่อโรมิเออ ซึ่งขณะนั้นเป็นเหรัญญิกของมิสซัง และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการก่อสร้างอีกด้วย จึงตกลงว่าจะดำเนินการก่อสร้างวัดใหม่ โดยมีนายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งเป็นผู้ออกแบบ

การก่อสร้างวัดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ย่อมต้องมีความยากลำบาก และอุปสรรคมากมาย นอกจากนี้การคมนาคมต่างๆ ในสมัยนั้นก็ยังไม่สะดวก อุปกรณ์การก่อสร้างส่วนมากต้องซื้อหามาจากต่างจังหวัด เช่น หิน ทราย ต้องสั่งซื้อมาจากราชบุรี และเครื่องประดับอาสนวิหารต้องสั่งซื้อมาจากประเทศฝรั่งเศส, อิตาลี และสิงคโปร์ ฯลฯ

ปี ค.ศ.1909 คุณพ่อเริ่มงานวางเข็มวัดใหม่ โดยเอาต้นซุงเรียงซ้อนกันแทนการตอกเข็ม

พิธีเสกศิลาฤกษ์นี้กระทำกันในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1910

อาสนวิหารหลังนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยในปี ค.ศ.1918
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1919 ตรงกับวันฉลองสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ คุณพ่อกอลมเบต์ถือโอกาสนี้มอบอาสนวิหารให้เป็นวิหารของแม่พระ ผู้ประกอบพิธีเสกคือพระสังฆราชแปร์รอส

III. เหตุการณ์สำคัญๆ ของวัดอัสสัมชัญ
1. สงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี ค.ศ.1942 ได้เกิดสงคราม เครื่องบินมาทิ้งระเบิดในบริเวณวัดอัสสัมชัญ ทั้งระเบิดทำลายและระเบิดเพลิง อาคารต่างๆ รอบวัดได้รับความเสียหายมาก หมู่บ้านคริสตังก็ถูกเผาผลาญหมด อาสนวิหารด้านซ้ายได้ถูกระเบิดทำให้ได้รับความเสียหายมาก กำแพงด้านในแตกหลายแห่ง รวมทั้งประตูหน้าต่าง, กระจก, เก้าอี้ ฯลฯ รูป 14 ภาคหลายรูปได้รับความเสียหาย นายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้มาสำรวจ และเสนอให้ใส่เหล็กโยงกลางวัด คุณพ่อแปรูดงต้องซ่อมแซมหมดทุกอย่าง

2. การเสด็จเยือนอาสนวิหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1946 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เยือนอาสนวิหารอัสสัมชัญเป็นการส่วนพระองค์ (ระหว่างนั้นพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้ทรงร่วมโดยเสด็จด้วย และทรงทำการฉายพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ตลอดเวลา) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระหัตถ์สัมผัสแก่พระสงฆ์ทุกองค์ที่เข้าเฝ้ารับเสด็จ

3. ต้อนรับพระรูปแม่พระฟาติมา ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1950 พระรูปแม่พระฟาติมาได้เสด็จมาถึงกรุงเทพฯ และมาถึงอาสนวิหาร เวลา 17.35 น. พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ถวายบูชามิสซาอย่างมโหฬารกลางแจ้ง ในลานโบสถ์อัสสัมชัญ มีสัตบุรุษทุกมิสซังมาประชุมคับคั่งเต็มลานหน้าบริเวณอาสนวิหาร  

4. มีพิธีอภิเษกพระสังฆราช และพิธีบวชพระสงฆ์ และสังฆานุกร หลายท่าน เช่น
- วันที่ 22 เมษายน ค.ศ.1953 พิธีอภิเษกพระสังฆราชสงวน สุวรรณศรี
- วันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1953 พิธีอภิเษกพระสังฆราชมีแชล อ่อน ประคองจิต
- วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.1965 พิธีสถาปนาพระอัครสังฆราชยวง นิตโยและอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1965 พิธีอภิเษกพระสังฆราชอแลง วังกาแวร์ เป็นต้น

5. การเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ในปี ค.ศ.1984 พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู ได้ถือเป็นเกียรติอัญเชิญสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จ มาเยี่ยมเยือนอาสนวิหารอัสสัมชัญ วันที่ 10 พฤษภาคม 1984 และอวยพระพรแก่บรรดาพระสงฆ์,นักบวชชายหญิงทุกคณะพร้อมด้วยบรรดาคริสตังที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น

6. การเสด็จของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในวัน 23 กรกฎาคม 1995 ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีมิสซาถวายแด่ดวงพระวิญญาณสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

7.การเสด็จเยือนอาสนวิหารของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วย หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา ในวันที่ 26 มกราคม 2002 ทรงเสด็จประพาสกลุ่มคริสตชนคาทอลิกที่อาสนวิหารอัสสัมชัญเป็นการส่วนพระองค์

ตารางพิธีกรรม

วันจันทร์- วันศุกร์ มิสซาเวลา 06.00 น. และ 17.15 น. (วัดน้อยบ้านพักพระสงฆ์)

วันศุกร์ต้นเดือนมิสซาเวลา 18.30 น. ตั้งศีล, เวลา 19.00 น. (ในอาสนวิหาร)

วันเสาร์มิสซาเวลา 06.00 น. (วัดน้อยบ้านพักพระสงฆ์)

เริ่มนพวารแม่พระนิจานุเคราะห์ เวลา 17.00 น. และต่อ ด้วย พิธีมิสซา (ในอาสนวิหาร)

วันอาทิตย์.(ภาษาไทย)เวลา 07.00 น.,08.30 น.,17.00 น.  (ภาษาอังกฤษ)เวลา 10.00 น.


งานบริการต่างๆ

1. การรับศีลล้างบาปเด็ก ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 1 ของเดือน (ภาษาไทย)
ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์อาทิตย์ที่ 2 ของเดือน (ภาษาอังกฤษ)
(โปรดติดต่อกับอาสนวิหารล่วงหน้า 2 อาทิตย์)

สิ่งที่ต้องเตรียมมาคือ สำเนาสูติบัตรของเด็กทารก

เอกสารการแต่งงานในโบสถ์ของบิดามารดา

2.เทิดเกียรติบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ทุกหลังมิสซาวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน

3. การเรียนคำสอน สำหรับผู้ใหญ่ เด็ก หรือผู้ต้องการเป็นคริสตชน มีเรียนทุกวันอาทิตย์ ช่วงครึ่งวันเช้า สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานวัด

4. การแต่งงาน  เนื่องจากมีการปรับปรุงบูรณะอาสนวิหารอยู่ในขณะนี้ จึงงดรับการจัดพิธีแต่งงานในอาสนวิหารฯ จนกว่าจะปรับปรุงบูรณะอาสนวิหารฯ เสร็จ

( ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากอาสนวิหารอัสสัมชัญ )