ภาพ / ข่าว แผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ภาพ  คุณครู กิ่งดาว ชาวแพรกน้อย

ประมวลภาพฉลองวัดนักบุญอันนา ท่าจีน

วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2012 คุณพ่อธีรพล กอบวิทยากุล เจ้าอาวาส สภาภิบาล สัตบุรุษวัดนักบุญอันนาและคณะครู และนักเรียน โรงเรียนอันนาลัย ให้การต้อนรับ  ผู้มาร่วมงานฉลองวัดนักบุญอันนา ท่าจีนเป็นจำนวนกว่า 5,000 คน

เวลา 09.30 น. พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประธานในพิธีเดินทางมาถึงวัดคุณพ่อเจ้าอาวาส และ สภาภิบาลให้การต้อนรับ

เวลา 10.30 น.พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณโอกาสฉลองชุมชนความเชื่อ วัดนักบุญอันนา ท่าจีน โดยมีพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัยกิจบูญชู เป็นประธาน ร่วมกับพระสังฆราช สังวาล ศุระศรางค์ คุณพ่อจำเนียร กิจเจริญและคณะสงฆ์ วันนี้มีพระภิกษุสงฆ์จากวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) วัดแหลมสุวรรณาราม วัดบางหญ้าแพรก วัดชีผ้าขาว และวัดน้อยนางหงษ์ี วัดละ 3 รูป จำนวน ทั้งหมด 15 รูปเข้าร่วมในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณด้วยเป็นศาสนสัมพันธ์อันดี ของคนในชุมชนหลังจากบทเทศน์แล้ว พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ลงมาพูดคุยก่อนที่คณะพระภิกษุสงฆ์จะไปฉันเพล

บรรยากาศการร่วมฉลองวัดในปีนี้มีสัตบุรุษมาร่วมงานกว่า 5,000 คน ทางวัดได้เตรียมสถานที่จอดรถ และ รถรับส่งในช่วงเช้า วันนี้อากาศดี แม้จะมีฝนตกโปรยปรายมาบ้างเล็กน้อย ช่วยทำให้มีอากาศเย็นๆชวนศรัทธา และปีนี้ทางวัดได้จำหน่ายศาสนภัณฑ์รูปนักบุญอันนา และ รูปพระ  ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดี

มีเด็ก ๆ ต่างด้าว และอาสาสมัครจากศูนย์คาทอลิกนักบุญอันนามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก แต่งกายชุดประจำชาติได้อย่างน่ารัก ร่วมขบวนแห่กันอย่างเป็นระเบียบ
หลังจากนั้น ทางวัดได้จัดอาหารเลี้ยงสัตบุรุษที่มาร่วมงาน  โดยได้รับน้ำใจจากสัตบุรุษชาววัดนักบุญอันนาทุกคน ซึ่งในปีนี้ มีชาวบ้านมาเลี้ยงอาหารจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัดนักบุญอันนาไปแล้ว

วัดนักบุญอันนาท่าจีนปัจจุบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดให้รูปปั้นนักบุญอันนาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและสามารถหมุนได้ 360 องศา  เป็น Unseen Thailand ที่ทุกคนต่างมาขอพร เป็นต้นหลายคนมาขอลูก และได้รับและปีนี้ก็มาขอบคุณนักบุญอันนาเป็นพิเศษ

และเป็นประจำทุกปีที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัดได้จัดเรือให้ทุกคนได้ไปเยี่ยมชมปากอ่าวเป็นที่ประทับใจของทุกคนที่มาฉลองวัดแห่งนี้

บทภาวนาวอนขอท่านนักบุญอันนา

ข้าแต่ท่านนักบุญอันนา
ท่านเป็นผู้มีบุญ ได้เป็นแม่ของพระนางพรหมจารีมารีอา
และพร้อมกับท่านนักบุญยออากิม สามีของท่าน
ข้าพเจ้าขอฝากตัวและครอบครัวของข้าพเจ้าทั้งหลาย
ไว้ในความคุ้มครองของท่าน
ขอฝากทุกคนในวัดนี้ ไว้ในคำเสนอวิงวอนของท่านด้วย
ขอโปรดให้พ้นจากอันตรายทั้งหลาย ทั้งกายและวิญญาณ
ซึ่งเปรียบเสมือนพายุร้ายในท้องทะเล นำอันตรายมาสู่เรือใหญ่น้อย
ขอโปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความศรัทธามั่นคงต่อพระเจ้า
และพระแม่เสมอไปด้วยเถิด

ข้าพเจ้าขอวิงวอนเพื่อบรรดาญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
และผู้มีพระคุณต่อข้าพเจ้าทั้งหลาย 
ขอวิงวอนสำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
ขอโปรดตอบแทนน้ำใจดีแก่เขา
ในชีวิตนี้ทั้งกาย จิตใจ และกิจการงานทั้งหลาย

ขอวิงวอนเพื่อพวกเราทุกคน ให้เจริญก้าวหน้า
เพียบพร้อมด้วยความศรัทธา ความรักต่อพระองค์
และมีเมตตาต่อญาติพี่น้องด้วยกัน

ข้าแต่นักบุญอันนา
ท่านเป็นยายของข้าพเจ้าทั้งหลาย
ท่านเป็นแบบฉบับที่ดีและเป็นองค์อุปถัมภ์แห่งครอบครัว
โปรดประทานความสงบสุข และความรักอันบริสุทธิ์
โปรดให้ทุกคนในครอบครัว ได้มีความรักเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
มีความรักที่เสียสละ พร้อมที่จะอดทน พร้อมที่จะให้อภัยแก่กันและกัน
เพื่อครอบครัวของข้าพเจ้าทั้งหลาย จะได้เป็นครอบครัวที่ศักดิ์สิทธิ์
เป็นสมาชิกที่ดีในครอบครัว ในสังคม และในประเทศชาติ
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอท่านเป็นที่พึ่ง
เป็นผู้แนะนำและแก้ไขปัญหาต่างๆ
ซึ่งจะทำลายความศรัทธา และความรักต่อพระเป็นเจ้า
โปรดให้มีจิตใจเข้มแข็ง กล้าหาญที่จะทำความดี หลีกหนีความชั่ว
และการประจญล่อลวงทั้งหลาย
เพื่อสักวันหนึ่ง เมื่อต้องจากโลกนี้ไป
ขอให้ได้เตรียมพร้อมเสมอที่จะรับเสด็จพระเป็นเจ้า
และทุกคนได้อยู่พร้อมหน้ากันในสวรรค์ตลอดนิรันดร
พร้อมกับท่านด้วยเถิด อาแมน

ประวัตินักบุญยออากิม และนักบุญอันนา (ศตวรรษที่ 1 ) ฉลอง 26 กรกฎาคม

     ยออากิม เป็นสามีของอันนา ทั้งสองเป็นตายายของพระเยซูเจ้า สืบเชื้อสายจากตระกูลยูดา ยออากิมและอันนามาจากแคว้นกาลิลี อาศัยอยู่ในเมืองนาซาเร็ธ

     ทั้งสองเสียใจมากที่ตนไม่มีบุตร จึงอธิฐานขอพรจากพระเป็นเจ้าเพื่อขอพระพรโปรดประทานบุตรแก่ตนสักคนหนึ่ง ยออากิมได้ออกไปจำศีลภาวนาในที่เปลี่ยวตลอดเวลา 40 วัน เพื่อขอให้สำเร็จตามความปรารถนานี้ มีเทวดาปรากฎมาบอกอันนาว่า พระเป็นเจ้าจะทรงโปรดประทานตามที่ขอในไม่ช้านี้ ต่อมาอันนาก็ให้กำเนิดบุตร เธอเรียกทารกว่า " มารีอา " แปลว่า ผู้มีพระคุณอานิสงส์ ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นพระมารดาของพระเยซูเจ้า อันนาสอนมารีอาให้เป็นคนดี มีความศรัทธาศักดิ์สิทธิ์

     ณ บริเวณที่บ้านเดิมของท่านนักบุญทั้งสองในกรุงเยรูซาเล็ม ได้มีการสร้างวัดถวายเป็นเกียรติแด่ท่านในศตวรรษที่ 4 และศพของท่าน ก็ได้รับการฝังไว้ ณ ที่นั่นด้วย.