ภาพ / ข่าว : แผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2012 เวลา 8.30 น. คุณพ่อสุรสิทธิ์ ชุ่มศรีพันธุ์ เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ เป็นประธานในพิธีมิสซา วันอาทิตย์พระมหาทรมาน แห่ใบลาน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ หลังจากการเตรียมตัวสำหรับการฉลองปัสกาเป็นเวลาห้าสัปดาห์ ในวันอาทิตย์นี้ เราเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการเตรียมขณะที่พระเยซูเจ้าเองทรงเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของภารกิจเช่นกันด้วยการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม เพื่อทรงรับทนทรมาน ขณะที่ประชาชนออกมาต้อนรับพระองค์เยี่ยงกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ในอีกด้านหนึ่งมีการเตรียมการที่จะนำพระองค์ไปประหาร นับได้ว่า ในวันนี้ เราจะเห็นภาพที่สมบูรณ์และเป็นการสรุปสาระสำคัญของพระธรรมล้ำลึกปัสกาได้เป็นอย่างดี เมื่อนำเหตุการณ์ของการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มไปมองรวมกันกับการเล่าถึงพระมหาทรมาน ในพระวรสาร และทำให้เราเห็นว่าพระมหาทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพเป็นพระธรรมล้ำลึก  หนึ่งเดียวของการไถ่กู้

วันอาทิตย์ใบลาน มีความหมายพิเศษอย่างยิ่งกับเราคริสตชน พระธรรมล้ำลึกพระคริสตเจ้า : พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับทรมาน ท่าทีคริสตชน : สรรเสริญและถวายพระพร เพราะพระเจ้าทรงซื่อสัตย์ การดำเนินชีวิต : สรรเสริญพระเจ้าเสมอไปในทุกกรณี

วันนี้มีสัตบุรุษมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ทางวัดได้จัดทำใบลาน และนำมาวางไว้บริเวณโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา เวลา 8.45 น. คุณพ่อเริ่มพิธีแห่ใบลาน จำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของ พระเยซูเจ้า  พิธีนี้เริ่มต้นด้วยการรื้อฟื้นเหตุการณ์ด้วยบท "พระวรสาร" ตามด้วยการเดินแห่เข้าวัด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ของการเดินไปกับพระเยซูเจ้าสู่วาระสุดท้ายของพระองค์

ในบรรยากาศของการแห่ใบลาน ทุกคน ทุกครอบครัวให้ความสนใจกับพิธีกรรม ในช่วงการอ่านพระมหาทรมาน  เป็นอย่างดี ส่วนการขับร้องบทเพลงพิธีกรรมในวันนี้ ก็ยังเต็มไปด้วยความสง่า และศักดิ์สิทธิ์ อีกด้วย

วันนี้ขอนำสารวัดที่คุณพ่อสุรสิทธิ์ ชุ่มศรีพันธุ์ เจ้าอาวาส เขียนเตือนใจโอกาสที่เราเข้าสู่สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์มาให้อ่่านกันครับ

สวัสดีครับ พี่น้องที่รักทุกท่าน  และแล้ว เราก็เข้าสู่ "สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งเริ่มต้นด้วยการแห่ใบลาน หรือ การรำลึกถึง การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาแลม ของพระเยซูเจ้าท่ามกลางความชื่นชมยินดีของชาวเมือง แต่บางคนอาจจะจำได้เพียงว่าอาทิตย์ใบลาน เป็นอาทิตย์ที่จะมีการอ่านพระวรสาร ที่ยาวมากๆเท่านั้น แล้วก็จำได้เท่านั้น

จริงๆด้วย จนลืมที่จะเตือนใจตนเองถึงเรื่องของ ความศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตของตน อันที่จริง ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตแต่ละคนนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การได้สัมผัส หรืออยู่ใกล้ชิดวัตถุภายนอกใดๆ การจุ่มน้ำเสก หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์ ก็ไม่ได้ทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง แต่ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องของสภาวะจิตวิญญาณ ที่มั่นคงอยู่ในความจริงแห่งชีวิตของตน และมั่นคงในการดำรงเป็นตนเองได้ เสียมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่า ชีวิตเช่นนี้ย่อมเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ พระผู้เป็นเจ้า อย่างแน่นแฟ้น นั่นเอง สิ่งของ บุคคล หรือสถานการณ์ภายนอก เป็นเพียงการช่วยสนับสนุน จิตวิญญาณนี้เท่านั้น

ตอนหนึ่ง ในพระวรสาร ของวันอาทิตย์ใบลานที่พ่อชอบมาก คือ ตอนที่เล่าว่า "บรรดาหัวหน้าสมณะ พยายามกล่าวหาพระองค์หลายประการ....แต่พระเยซูเจ้า มิได้ตรัสตอบอะไร "

 

พ่อชอบเพราะพ่อรู้สึกว่า พระองค์ไม่หวั่นไหวต่อ คำพูดใดๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงโห่ร้องยินดี หรือ คำกล่าวหา สาปแช่ง และมั่นคง เด็ดเดี่ยวในการดำรงตนเป็นตนเอง ที่มีทั้งความเชื่อความไว้วางใจ และความรัก ต่อพระเจ้า และต่อมนุษย์ทั้งปวง

ในขณะที่มนุษย์อย่างเราๆ ใครมาพูดร้ายให้หน่อย ก็แทบเป็นแทบตายเสียแล้ว แถมยังถอดใจจากการทำดีไปโดยง่ายอีกต่างหาก นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่ในอีกทางหนึ่งตรงข้าม กลับเป็นเรื่องน่าสังเวชใจ เมื่อมนุษย์เรากลับมั่นคงในความผิดใดๆ จนแม้ ต่อให้เทวดามาพูด เตือนสอน ก็ไม่มีทางกลับใจเปลี่ยนแปลงไปได้ สำหรับ บางคน อัตตานั้นช่างยิ่งใหญ่จริงๆ หนอ

พ่อยังชอบเรื่องน่ารักเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับ ชายชรา คนหนึ่งที่ทุกวัน จะตื่นเช้าออกจากบ้าน เพื่อไปดูแลภรรยาของตนที่บ้านพักคนชรา เขาจะปรนนิบัติ ดูแลภรรยา อย่างละเอียดละออ ทะนุถนอม แม้ว่าภรรยาของเขา จะไม่พูดอะไรกับเขาได้อีก เพราะภรรยาเป็นโรคสูญเสียความ ทรงจำ เขาเป็นเพียงคนแปลกหน้า ที่ไม่รู้จักอีกแล้ว มีคนไปถามชายชราคนนี้ว่า ไม่จำเป็นต้อง ทำแบบนี้ทุกวันให้กับภรรยาของเขาก็ได้ เพราะภรรยาไม่รู้ว่า เขาเป็นใครอีกแล้ว “แล้วจะทำไปทำไม?” ชายชราคนนี้ตอบว่า “ใช่ เธอไม่รู้ว่าผมเป็นใคร แต่ ผมรู้ว่าเธอเป็นใคร!”  นี่แหละ คือความรักแท้ ไม่หวังผลตอบแทน และมั่นคงอย่างที่สุด ไม่มีสิ่งใดทำให้หวั่นไหว

และนี่คือ ความรักที่ศักดิ์สิทธิ์ หากในชีวิตของเราแต่ละคน มีสิ่งดีๆ อะไรสัก อย่างสองอย่าง ที่เรามั่นคงได้ขนาดนี้ เราคงมีชีวิตที่ประเสริฐยิ่งแล้ว

พ่อยังนึกถึงนิทานเรื่อง กบสองตัว ที่บังเอิญ ตกลงไปในหลุมลึก ลึกจนกบตัวอื่นๆในฝูง เห็นว่า กบสองตัวนี้ โอกาสรอดน้อยมาก กบทั้งสองพยายามอย่างยิ่งที่จะกระโดดขึ้นจากหลุม เพื่อเอาตัวรอด แต่ไม่สำเร็จ จนกบตัวอื่นๆ ส่งเสียงบอกว่า อย่าพยายามเลย เสียแรงเปล่า ยอมแพ้เสียเถิด จนที่สุด ตัวหนึ่งในสองตัวนั้น ก็ยอมแพ้จริงๆ แต่อีกตัวหนึ่ง เหมือนมีบางสิ่งปลุกเร้าจิตใจ รวบรวมพลังทั้งหมดอีกครั้ง แล้ว กระโดดขึ้นจากหลุมจนได้ กบทั้งฝูงประหลาดใจมากที่เห็นอย่างนั้น พวกมันถามกบตัวนั้นว่า ไม่ได้ยินหรือว่า พวกข้าพูดอะไร กบตัวนั้น ตอบว่า “หูข้าไม่ดี เลยไม่ได้ยิน คิดว่าพวกเอ็งกำลัง ตะโกนเชียร์ให้กำลังใจข้าอยู่” พ่อคิดว่าถ้ามันหูดี และได้ยิน มันคงจะตายไปพร้อมกับ เพื่อนของมันนั่นแหละ อย่างไรก็ตาม คำพูดของเพื่อนมนุษย์มีส่วนสำคัญต่อเราก็จริง ทั้งในทางดี และทางร้าย แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ ความมั่นคงไม่หวั่นไหวของจิตวิญญาณของเราเอง เพราะนั่นแหละ ทำให้เราดำรงตนเป็นตนเองได้ ไม่มีการสูญเสียใด ยิ่งใหญ่กว่า การสูญเสียตัวตนของเราเองดอก

ขอบคุณข้อคิดดี ๆ ในโอกาสวันอาทิตย์ใบลาน ครับ