แปลจากข่าวยูแคน (UCANEWS, 26 October 2011)

 สัมภาษณ์โดย: อเลสซานโดร สเปชีอาเล(Alessandro Speciale)นักข่าววาติกันเพื่อยูแคนในเอเซีย

Share |

การรำพึงภาวนาแบบเงียบๆ สอดคล้องกับวัฒนธรรมในเอเซีย: มองซินญอร์วิษณุ ธัญญอนันต์ อธิบายและย้ำว่าการเสวนาระหว่างศาสนาต่างๆนั้นไม่ใช่การนำเอาความเชื่อถือต่างๆ มารวมเข้าไว้ด้วยกัน

         มองซินญอร์วิษณุ ธัญญอนันต์ พระสงฆ์ไทยที่ทำงานทางการฑูตของสันตะสำนัก ณ สถานทูตวาติกันในหลายประเทศ และ ปัจจุบันเป็นปลัดสมณสภาระหว่างศาสนาแห่งสันตะสำนักกรุงวาติกัน สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2011 เกี่ยวกับงาน จาริกเพื่อความจริงและจาริกเพื่อความยุติธรรมและสันติภาพ ณ เมืองอัสซีซี ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ได้ออกจดหมายเชิญผู้นำศาสนาสำคัญทั่วโลก พี่น้องคริสตชนต่างนิกาย ศาสนายิว มุสลิม พุทธศาสนาทุกนิกาย เช่น ทิเบต เถรวาท มหายาน ศาสนาฮินดู ซิกข์ ชินโต ขงจื้อ เต๋า ฯลฯ และองค์กรศาสนาระดับโลกอีกหลายองค์กร

         - ทำไมการเชิญครั้งนี้ถึงเน้นการจาริกภาวนาแบบเงียบๆ เพราะเท่าที่ทราบ หลายศาสนาเตรียมตัวมาเพื่อภาวนาแบบออกเสียงดังๆ เป็นแบบคณะต่างๆ หรือ บางศาสนาเตรียมการทำพิธีแบบของตนด้วย

         มองซินญอร์ อธิบายชัดถ้อยชัดคำว่า การอธิษฐานภาวนาแบบเงียบๆ ก็เป็นลักษณะการภาวนาแบบหนึ่ง และดูเหมือนว่า จะเหมาะกับวัฒนธรรมภาคพื้นเอเซีย คนเอเซียชอบความสงบเงียบอยู่กับธรรมชาติ และในพระคัมภีร์ก็มีกล่าวไว้ว่า พระเจ้าสนทนากับเราในความเงียบ การรำพึงภาวนาแบบเงียบๆ นี้แหละ ดูเหมือนว่าจะมีพลังลุ่มลึกและมีประสิทธิภาพ นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการภาวนา เชื่อว่าผู้นำศาสนาที่มาร่วมงานที่อัสซีซี คงจะเห็นด้วยกับประเด็นนี้

         ท่านได้เสริมอีกว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2เชิญผู้นำศาสนาต่างๆ มาร่วมภาวนาเพื่อสันติภาพของโลก เมื่อ 25 ปีที่แล้ว เดือนตุลาคม 1986 พระองค์ก็ให้แต่ละศาสนาภานาในความเงียบเช่นกัน และก็เป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะผู้นำศาสนาภาคพื้นเอเซีย

ท่านมองซินญอร์คนไทยดังกล่าว ยังย้ำประเด็นสำคัญที่ว่า การภาวนาแบบเงียบๆ ของแต่ละศาสนานั้นเป็นการชี้จุดยืนเรื่องศาสนสัมพันธ์ ไม่ใช่ การนำความเชื่อของแต่ล่ะศาสนามารวมเข้ากันไว้ปนเปกันไปหมด และเกิดความสับสนในเรื่องความเชื่อของแต่ละคนซึ่งมีคำศัพท์เฉพาะของทางศาสนาเรียกว่า “Syncretism” (คือการนำเอาความเชื่อของแต่ละศาสนามาผูกรวมกันไว้ปะปนกันจนสับสน) ผู้ทำงานเรื่องศาสนสัมพันธ์ต้องตระหนักถึงจุดนี้อย่างที่สุดว่า เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

         สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ปราถนาที่จะเชิญผู้นำศาสนาทั่วโลกมาที่อัสซีซีครั้งนี้

เพื่อการจาริกแสวงหาความจริง แสวงหาสันติและความยุติธรรมความจริงต้องเข้าสู่ในจิตใจของแต่ละคนโดยผ่านการรำพึงในความเงียบ การอดอาหาร รวมถึงการเดินร่วมกัน แม้จะเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ แต่เราก็ร่วมจิตใจด้วยกัน

         มองซินญอร์ วิษณุ นอกจากจะรับผิดชอบเป็นปลัดของสมณสภาแห่งการเสวนาของวาติกันแล้ว ท่านยังดูแลความสัมพันธ์กับพุทธศาสนาทุกนิกาย รวมทั้ง ขงจื้อ เต๋า ชินโต และศาสนาต่างๆ ทางภาคพื้นเอเซีย ในช่วงการอ่านคำสัญญา หรือคำปฏิญาณเพื่อการปฏิบัติเพื่อสันติภาพในภาษาต่างๆ ท่านเสนอและผลักดันทางวาติกันให้มีการอ่านเป็นภาษาจีนโดยผู้นำศาสนาเต๋าจากฮ่องกง อ่านเป็นภาษาไทยโดยพระพรหมโมลี อ่านเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยผู้นำชินโต อ่านเป็นภาษาปันจาบโดยผู้นำศาสนาซิกข์

         การพบปะกันครั้งนี้ที่อัสซีซี เป็นครั้งแรกที่ผู้แทนจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้าร่วมด้วย นั่นคือ ท่านเจ้าอาวาสแห่งสำนักเส้าหลินและคณะ จากมณฑลเหอหนาน ท่าน ซรือ ยงซิ่น (Shi Yong Xin) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทางศาสนาอย่างลือเลื่อง น่าเสียดายมากที่ท่าน ดาไล ลามะ ไม่สามารถมาร่วมงานได้ ท่านเองก็เสียใจเพราะว่าติดภารกิจฉุกเฉิน แต่ท่านก็ส่งท่าน ซำดง รินโปเช (Samdhong Rinpoche) อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งธิเบตมาร่วมงาน นอกจากนั้นก็มีภิกษุณีจากสำนัก โฟ กง ชาน ของไต้หวันมาร่วมด้วย

ท่านมองซินญอร์ยังอธิบายต่ออีกว่า การเสวนาทางศาสนาไม่ใช่ว่าผู้นำศาสนามาโรม มาที่ถนน คอนซีลีอาซีโอเน่ เลขที่ 5 (สำนักงานของศาสนสัมพันธ์ของวาติกัน) หรือมาตามคำเชิญของสันตะปาปาแล้ว

           การเสวนาทางศาสนสัมพันธ์ได้เสร็จสิ้นอย่างสวยงามและสมบูรณ์แล้ว ไม่ใช่! การเสวนาที่แท้จริงนั้นต้องเกิดขึ้นในท้องถิ่น เป็นความสัมพันธ์ของผู้มีความเชื่อในศาสนาต่างๆ กัน ระดับรากหญ้า ระดับชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ นี่คือการเสวนาแห่งชีวิต

         ท่านยังบอกกับนักข่าวอีกว่า การจาริกเพื่อความจริงที่อัสซีซี จะมีผู้แทนทางพุทธศาสนา จำนวน 68 ท่าน จาก 11ประเทศ ผู้แทนขงจื้อ 3 ท่าน

ผู้แทนลัทธิเต๋า3 ท่าน  ชินโต17 ท่านและศาสนาใหม่จากญี่ปุ่น 13 ท่าน นอกจากนั้นยังมีผู้แทนจากอินเดีย 13 ท่าน คือ ฮินดู เซ็นโซโรอัสเตอร์ ซิกข์ บาไฮ และยังมีศาสนาเก่าแก่อีกหลายศาสนา ท่านราชะโมฮาน หลานของมหาตมะคานธีก็เข้าร่วม และจากมุสลิมทั่วโลกอีกประมาณ45 ท่าน ก็มีจากภาคพื้นเอเซียด้วย อาทิ เช่น อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังคลาเทศ

ในที่สุด มองซินญอร์บอกกับเรานักข่าวยูแคนว่า การเสวนาทางศาสนา ขอให้คำนึงถึงหลัก 3ประการคือ

         1)การมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน (Identity) คือ ผู้ที่เข้าสู่ศาสนสัมพันธ์ต้องรู้เอกลักษณ์ของตนเองก่อนอื่นหมด เช่น เราเป็นใคร เราเชื่ออะไร ต้องมั่นคงและมีความรู้ดี รู้ชัดในคำสอนของทางศาสนาของตน มีหลายคนชอบพูดว่า ทุกศาสนาเหมือนกันหมด ท่านบอกว่า ทุกศาสนาหรือแต่ละศาสนาไม่เหมือนกัน สิ่งที่เหมือนกันคือ ศักดิ์ศรีแห่งการเป็นมนุษย์ และศักดิ์ศรีที่เหมือนกันนี่แหละต้องท้าทายเราให้ “แสวงหาความจริง” และทางคริสตศาสนาก็เชื่อว่า ความจริงที่เราหานั้น คือความจริงในพระเจ้า

         2)ความเข้าใจในความต่าง (Diversity) ที่แน่ๆ คือ แต่ละศาสนามีความต่าง ปัญหาคือว่า มีบางคนมีอคติ และมีมุมมองแปลกๆ คือ ถ้าเห็นว่าใครที่แตกต่างจากตน คนเหล่านั้นคือ ศัตรู เราต้องย้ำว่า ความต่างไม่ใช่ ศัตรู คนที่มีความคิด ความเชื่อ ความเห็น ที่ต่างออกไปจากเรา ก็เป็นมิตรเราได้ เราควรเคารพในความต่างนั้นๆ

         3)การแสวงหาความจริงในความหลากหลาย(Plurality) คริสต์ศาสนิกชน ต้องมองเห็นเสมอในความงดงามของพระเจ้า ความรักของพระเจ้าเป็นธรรมล้ำลึก ซึ่งพระองค์ทรงไขแสดงความจริงในหลายรูปแบบ เราต้องมองเห็นความจริงและความงดงามในศาสนาอื่นๆ ด้วย เพราะพระเจ้านั้นยิ่งใหญ่และเราต้องท้าทายตัวเราเองให้แสวงหาความจริงเพื่อการอยู่ ร่วมกันอย่างสันติ