แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต  เสถียรธรรมสถาน

Share |

          ข้าพเจ้าได้เดินทางออกจากประเทศไทยในคืนวันที่ 23 ตุลาคม ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมที่ค่อยๆ ขยายวงกว้างเข้าครอบคลุมพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อไปร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีแห่งการภาวนาเพื่อสันติภาพของโลก ณ เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี ในวันที่ 27 ตุลาคม 2554 อย่างปราศจากความกังวล ด้วยวางใจว่า...ทุกคนในเสถียรธรรมสถานล้วนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความกตัญญู และความเสียสละ ใครมีความกตัญญู ความเสียสละ คนคนนั้นจะพึ่งตัวเองได้ และเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ด้วย และยิ่งมั่นใจว่า เมื่อใดที่เรามีธรรมะที่มั่นคง ใจของคนคนนั้นก็รอดอยู่ด้วยธรรม ฉะนั้น คนในเสถียรธรรมสถานย่อมนำพาให้สถานที่ที่มีธรรมะอันมั่นคงนี้รอดได้...ด้วยความกตัญญู ด้วยความเสียสละ และด้วยธรรมะ

          แม้ข้าพเจ้าจะอยู่ไกลก็เหมือนใกล้ ถ้ามีใจดวงเดียวกัน

          งานเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีแห่งการภาวนาเพื่อสันติภาพของโลกนี้ ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปกับพระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโมป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร ผู้นำคณะสงฆ์ไทยซึ่งเป็นผู้แทนจากเถรสมาคม พระธรรมโกศาจารย์ (ศ.ดร.ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มุขนายก ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ ผู้ปกครองสังฆมณฑลนครราชสีมา ผู้แทนคริสต์ศาสนาในไทย มงซินญอร์ บาทหลวง วิษณุ ธัญญอนันต์ ปลัดสมณสภาเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนา สำนักวาติกัน บาทหลวง เปรมปรี วาปีโส เจ้าอาวาสวัดแม่พระคนกลางแจกจ่ายพระหรรษทาน (โคกปราสาท จ.บุรีรัมย์) ผู้แทนคริสต์ศาสนาในไทย

           อาจารย์วิศรุต เลาะวิถี ที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรี และรองประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครผู้แทนศาสนาอิสลามในไทย อาจารย์สุเทพ เลาะลาเมาะหัวหน้าฝ่ายศาสนสัมพันธ์ สำนักจุฬาราชมนตรีผู้แทนศาสนาอิสลามในไทย เอกอัครราชทูต สมศักดิ์ สุริยวงศ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรม ประเทศอิตาลี และภริยา ดร. อำนาจ บัวศิริ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)

          การเดินทางในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้เห็นผู้นำทางศาสนาแต่ละศาสนาแสดงความคิดเห็น ทุกท่านมีความตั้งใจที่จะทำให้โลกนี้มีสันติภาพ แต่ความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยการเรียนรู้ร่วมกันที่จะอยู่กับคนที่มีความเชื่อและความศรัทธาที่แตกต่างอย่างไม่มีมานะถือตัว เพราะฉะนั้น การบวกจึงง่าย เหมือนทุกคนอยู่ในคลื่นเดียวกัน ไม่ว่าจะมาจากศาสนาไหน สีผิวใด ชนชั้นใด ทุกภาษาและทุกการกระทำที่เกิดขึ้นล้วนเป็นกรรมที่มาจากคลื่นเดียวกัน คือคลื่นแห่งศานติ ที่ปราศจากการเบียดเบียน ความเกลียดชัง ทว่าต่างเคารพ ถ่อมตัว และพร้อมที่จะเรียนรู้ มีความเป็นเพื่อน มันมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่จะไปสู่ความเป็นอิสระได้

          เราเรียนรู้อย่างมีความเคารพในความศรัทธาและความเชื่อที่แตกต่างอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้เราเป็นพี่น้องกันได้ ไม่มีการคิดไปเปลี่ยนใคร แต่มีหนทางที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมาย เราเห็นเป้าหมายอยู่ในปัจจุบันขณะ เราจึงสามารถทำงานดุจพี่น้องที่เกื้อกูล อาทร เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

          ไม่มีหญิง ไม่มีชาย ไม่มีพุทธ คริสต์ อิสลาม มีแต่การกระทำในปัจจุบันขณะที่นำความชื่นใจมาสู่กันและกัน

          งานในครั้งนี้ไม่ได้ยุติลงแค่เพียงการระลึกถึง 25 ปีแห่งการภาวนาเพื่อสันติภาพ หากแต่มันเป็นเหมือนการเปิดทางให้พวกเราได้กลับมาทำงานเสวนาศาสนสัมพันธ์ในแผ่นดินไทยที่เราอยู่ เราอาจจะได้รับเชิญไปในการทำงานของเพื่อนที่มีความศรัทธาในวิถีชีวิตที่แตกต่าง แต่เพราะเรามีศรัทธาอย่างมีปัญญา เราจึงไม่มีอคติและความหวาดระแวงใดๆ ที่จะทำงานร่วมกันในอันที่ช่วยกันนำโลกใบนี้ไปสู่สันติภาพ

          และนี่คือบางส่วนเสี้ยวของสุนทรพจน์อันน่าประทับใจที่เกิดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา“ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอีก สงครามจะไม่เกิดขึ้นอีก การก่อการร้ายจะไม่เกิดขึ้นอีก ในนามของพระเจ้า ขอให้ทุกศาสนาช่วยกันทำให้เกิดความยุติธรรม สันติภาพ การให้อภัย ชีวิตและความรัก บนโลกใบนี้” พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 แห่งวาติกัน “เราไม่ควรนำความต่างของแต่ละศาสนามาเป็นข้อขัดแย้งกัน แต่เรานำความเหมือนของแต่ละศาสนาซึ่งมีความหวังเดียวกันคือ ความกลมเกลียวไม่เบียดเบียน ความยุติธรรม และการยกระดับจิตวิญญาณของมวลมนุษยชาติ เพื่อร่วมกันทำให้โลกนี้มีสันติภาพ” ดร. คยา ฮาจิ ฮาจยิม มูซาดิ (Dr. Kyai Haji Hasyim Muzadi) เลขานุการการประชุมนานาชาตินักวิชาการอิสลามและอดีตประธานของ Nabdlatul Ulama(NU)

          “เราขอให้คำมั่นที่จะรับฟังและสนับสนุนคำอ้อนวอนของผู้ที่ปฏิเสธความรุนแรงและสิ่งชั่วร้าย และเราปรารถนาที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้บุรุษและสตรีแห่งยุคสมัยของเรามีความหวังแน่วแน่ต่อความยุติธรรมและสันติภาพ”
พระพรหมโมลี

          ธรรมสวัสดี