โดย.....ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

Share |

          วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2011 เวลา 09.00-17.00น. คณะกรรมการบริหารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ร่วมกับสภาสงฆ์และสภาภิบาลอัครสังฆมณฑลฯ จัดการประชุมสำหรับตัวแทนสมาชิกองค์กรฆราวาสอัครสังฆมณฑลฯทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ในหัวข้อ องค์กรฆราวาสอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กับการนำแผนอภิบาล 5 ปีสู่การปฏิบัติ ณ ห้องประชุม โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา

          โดยพระอัครสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ได้สรุปแผนอภิบาล จากนั้นคุณพ่อวิทยา คู่วิรัตน์ คุณพ่อสานิจ สถะวีระวงส์ อาจารย์ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย และคุณประจวบ ตรีนิกรได้มาพูดคุยและแบ่งปัน

          ช่วงบ่ายเป็นการเริ่มลงสู่ภาคปฏิบัติ โดยได้มีการแบ่งกลุามตามวัดประกอบไปด้วยหลายๆองค์กร และมีคำถามให้แต่ละกลุ่มได้มีการพูดคุยกัน คำถามมีอยู่ 2 ข้อคือ การที่สมาชิกองค์กรของท่านมีการมาประชุมกันสม่ำเสมออยู่แล้ว นับเป็นชุมชนศิษย์พระคริสต์ในลักษณะหนึ่ง ท่านคิดว่าควรจะทำอะไรอีกบ้างเพื่อเป็นชุมชนคริสตชนที่มีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง เจริญชีวิตเป็นประจักษ์พยาน และสนองจิตตารมณ์ขององค์กรท่านด้วย และ2. หลังจากที่ได้รับฟังการแบ่งปันในวันนี้ ท่านมีความคิดจะกลับไปทำอย่างไรในองค์กรของท่านเพื่อสนองแผนอภิบาลอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ค.ศ.2011-2015 การนำความรักความเมตตาของพระเจ้าสู่ผู้อื่น

พระอัครสังฆราซ ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ได้กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้

สมาชิกกลุ่มองค์กรฆราวาสอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ที่รักทุกคน
วันนี้ คณะกรรมการบริหารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ร่วมกับสภาสงฆ์และสภาภิบาลอัครสังฆมณฑลฯ จัดการประชุมนี้ขึ้น สำหรับตัวแทนสมาชิกองค์กรฆราวาสอัครสังฆมณฑลฯทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ในหัวข้อ “องค์กรฆราวาสอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กับการนำแผนอภิบาล 5 ปีสู่การปฏิบัติ” บางท่านอาจพอจะทราบบ้างแล้วว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม ศกนี้ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ก็ได้จัดประชุมใหญ่ของสภาภิบาลวัดต่างๆ จากทั่วอัครสังฆมณฑลฯ เพื่อขับเคลื่อน “แผนอภิบาล 5 ปี” ให้เกิดผลภาคปฏิบัติในแต่ละวัด แต่ละชุมชนความเชื่อ โดยคุณพ่อเจ้าวัดพร้อมกับสภาภิบาลวัด และสัตบุรุษทุกคนในวัดนั้นๆ ร่วมกัน เชื่อว่าไม่มีสักคนในที่นี้ที่ไม่ทราบว่าพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย และอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ อันเป็นพระศาสนจักรท้องถิ่นแหงหนึ่งในนั้น ได้กำหนดแผนอภิบาล 5 ปี และแผนภาคปฏิบัติมารองรับ เพื่อฟื้นฟูชีวิต (คริสตชนคาทอลิก) และฟื้นฟูพันธกิจ (ของพระศาสนจักร) เพื่อนำข่าวดีไปสู่พี่น้องชาวไทยอีกเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ในแผนอภิบาล 5 ปีของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มุ่งเน้นเป้าหมายหลัก 4 ประการ ซึ่งประเดี๋ยวคุณพ่อวิทยา คู่วิรัตน์ จะเป็นผู้สรุปให้พวกเราฟัง รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่มีวิทยากรอีกหลายท่านจะช่วยกันนำเสนอ  สำหรับพ่อ พ่ออยากจะพูดกับพี่น้องเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น เกี่ยวกับ “วิถีชุมชนวัด” เพราะสภาพระสังฆราชฯ ได้ประกาศไว้ในแผนอภิบาลข้อ 21.1 ว่า “วิถีชุมชนวัดเป็นวิธีการหลักและสำคัญที่สุดในแผนอภิบาลนี้ สำหรับการสร้างและพัฒนาชุมชนวัด และดังนั้น กลุ่มองค์กรฆราวาสต่างๆ ในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จะมีบทบาทและมีส่วนร่วมอย่างไร ในการประ ยุกต์แผนอภิบาลฯลงสู่ภาคปฏิบัติ

          1). ก่อนอื่น เราคงจะต้องมาทำความเข้าใจคร่าวๆ กันก่อนว่า “วิถีชุมชนวัด” หรือ กลุ่มคริสตชนย่อยนี้ คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร จึงทำให้สหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (หรือ FABC) เน้นความสำคัญในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1990 ในการประชุมใหญ่ที่ “บันดุง” ประเทศอินโดนีเซีย ก็คงจะต้องตอบว่า เพราะ “คริสตชนกลุ่มแรก” เริ่มจากการเป็นชุมชนย่อยนี้ และชุมชนย่อยแบบนี้แหละ ที่เป็นแนวทางในการเติบโตของพระศาสนจักรตั้งแต่ต้น ชีวิตของคริสตชนกลุ่มแรก เป็นชีวิตที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง ทั้งสำหรับชาวยิวในสมัยอัครสาวก ที่ได้สัมผัสชีวิตของบรรดาคริสตชนรุ่นแรก และรวมทั้ง สำหรับพวกเราทุกคนที่นี่ ในสมัยปัจจุบันของเรานี้ด้วย เราทราบจากกิจการอัครธรรมทูตว่า บรรดาผู้มีความเชื่อ ดำเนินชีวิตเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พวกเขาประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฟังคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก ดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้อง ร่วมพิธีบิขนมปังและอธิษฐานภาวนา เป็นพยานยืนยันถึงการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซู ไม่คิดว่าสิ่งที่ตนมีเป็นกรรมสิทธิ์ของตน แต่ทุกสิ่งเป็นของส่วนรวม และในกลุ่มของพวกเขาไม่มีใครขัดสน พวกเขาได้รับความนิยม ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงจากประชาชนทุกคน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้จำนวนผู้ที่ได้รับความรอดพ้นเพิ่มขึ้นทุกวัน

          2) พี่น้องที่รัก พระศาสนจักรแรกเริ่ม เริ่มจากคริสตชนกลุ่มเล็กๆ มีจำนวนนิดเดียว แต่มีคุณสมบัติต่างๆ ครบตามที่มีกล่าวไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวกนี้ คุณสมบัติอะไรบ้างที่มีอยู่ในกลุ่มคริสตชนสมัยแรกเริ่มที่พวกเราคริสตชนศิษย์พระคริสตเจ้าในปัจจุบันควรจะเรียนรู้เพื่อทำให้ชุมชนคริสตชนในวัดของเราเติบโต เข้มแข็ง และเกิดการกระจายตัวเพิ่มมากขึ้นของจำนวนผู้มีความเชื่อ

          2.1 ประการแรก บรรดาผู้มีความเชื่อดำเนินชีวิตเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และอาศัยความรักต่อกันฉันพี่น้องนี้ทำให้พระเยซูเจ้า ผู้กลับคืนพระชนม์ชีพ และเสด็จไปสวรรค์แล้ว ยังคงประทับอยู่กับพวกเขาต่อไป “ณ ที่ใดก็ตาม ที่มีสองสามคนรวมกันในนามของพระองค์ รักกันและกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่นั่นพระ องค์ประทับอยู่” คริสตชนสมัยแรกจึงเข้มแข็ง มีชีวิตชีวา และเติบโตขึ้นเสมอ เพราะพวกเขารู้วิธีทำให้พระเยซูเจ้าประทับอยู่กับพวกเขา “ในมิติฝ่ายจิต” ตลอดเวลา

          2.2 ประการที่สอง เป็นองค์พระจิตเจ้าที่บรรดาศิษย์ได้ รับในวันเปนเตกอสเตนี้แหละ ที่ประทานพลังให้บรรดาคริสตชนสมัยแรกเริ่มกล้าหาญ เข้มแข็ง กระตือรือร้น และมีชีวิตชีวา

          พี่น้องสมาชิกองค์กรคาทอลิกทุกกลุ่มทุกคณะที่อยู่ ณ ที่ นี้ ทุกคนก็ได้รับพระจิตเจ้าแล้ว และพวกเรามีศักยภาพครบถ้วน เหมือนบรรดาพี่น้องคริสตชนสมัยแรกเช่นเดียวกันแต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่า เราจะสำนึกในพระพรที่เราได้รับมาแล้วหรือไม่อย่างใดและเราจะร่วมมือกับพระพรของพระจิตเจ้า ทำให้พระพรนั้นเกิดผลมากน้อยเพียงใดด้วย พระวาจาพระเจ้าที่เราได้รับฟังในวันนี้ พูดกับพวกเราทุกคนที่อยู่ที่นี่ถึง “พลัง” นั้น พลังของพระจิตเจ้าพลังเดียวกันนั้น ที่ได้ทำให้เกิดผลในชีวิตของบรรดาอัครสาวกและคริสตชนยุคแรกมาแล้วและจะเกิดผลอย่างดียวกันในชีวิตของพวกเราด้วย ถ้าพวกเราจะทำสิ่งต่อไปนี้

          1). อับดับแรก เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแน่นแฟ้นในกลุ่มองค์กรของเรา และพร้อมจะเป็นหนึ่งเดียวกับทุกกลุ่มในชุมชนวัด และในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ (พระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งนี้) เหมือนคริสตชนยุคแรก เพราะมีพระจิตเจ้าองค์เดียว แม้พระพรพิเศษจะมีมาก มายหลายอย่างก็ตาม เพราะบรรดาคริสตชนสมัยแรกจะถือเสมอว่า ก่อนอื่นใดหมด พวกเขาจะต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเสมอ เพื่อ ให้พระเยซูยังคงประทับอยู่กับพวกเขาต่อไป

          2). จากนั้นแล้ว แต่ละคนก็จะนำพระพรที่พระจิตเจ้าประ ทานให้มาใช้อย่างทุ่มเทสุดๆ เพื่อเสริมสร้างให้พระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งกรุงเทพฯและชุมชนวัดต่าง ๆ ที่กลุ่มองค์กรของเราสังกัดอยู่ เจริญเติบโตขึ้นด้วยพระพรพิเศษ หรือบทบาทหน้าที่เฉพาะที่กลุ่มองค์กรเรามีอยู่ ทั้งนี้ เพื่อความดีของพระศาสนจักรส่วนรวม พระพรพิเศษทุกประการมีไว้เพื่อ “รับใช้” ส่วนรวมเท่า นั้น จะต้องไม่มีการแข่งขัน ไม่มีการขัดแย้ง ไม่มีการชิงดีชิงเด่น หรือผลประโยชน์ใดแอบแฝงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่พระศาสนจักร ในโครินทร์ สมัยคริสตชนยุคแรกนั้น มิใช่เป็นเพราะว่าพระศาสนจักรไม่มีพระพรพิเศษแต่เป็นเพราะพระพรเหล่านั้นมิได้ถูกนำมาใช้ เพื่อรับใช้ส่วนรวมและเพื่อเสริมสร้างกันและกัน

          3). กลุ่มคริสตชนย่อยในวิถีชุมชนวัดนั้นเป็นอย่างไร กลุ่มคริสตชนย่อยในวิถีชุมชนวัดเกิดจากการรวมตัวกันของครอบครัวคริสตชนบ้านใกล้เรือนเคียง หรือที่เราเรียกว่า เป็นครอบครัวที่อยู่ในละแวกบ้านเดียว กันเป็นการรวมตัวกันโดยมีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง อาศัยการรำพึง ไตร่ตรองพระวาจาของพระเจ้าร่วมกันเป็นประจำ พร้อมกับนำพระวาจาของพระไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันของพวกเขาและนำประสบการณ์การดำเนินชีวิตตามพระวาจาของพระมาแบ่งปันซึ่งกันและกันในกลุ่มย่อยเหล่านี้ เพื่อเสริมสร้างชีวิตความเชื่อของกันและกัน มิได้แยกตัวจากชุมชนวัด พวกเขาจะไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณในชุมชนวัด เป็นประจำทุกวันอาทิตย์ แล้วนั้น พวกเขาก็จะเปิดตัวออกสู่สังคมรอบข้าง ในที่ๆ พวกเขาอยู่เป็นพยานถึงความเชื่อ ด้วยการปฏิบัติกิจการแห่งความรักเมตตาต่อผู้อื่น ตามกำลังความสามารถกลุ่มคริสตชนย่อยเหล่านี้ ไม่ใช่กลุ่มองค์กรคาทอลิกใหม่อีกกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้น หรือจัดตั้งขึ้นใหม่ในพระศาสนจักร แต่เป็นการปลุกจิตสำนึก คริสตชนครอบครัวต่างๆ ให้รวมตัวกัน เพื่อเสริมสร้างกันและกัน ให้เติบโตเข้มแข็งขึ้นในความเชื่อและช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตอย่างที่คริสตชนศิษย์พระคริสตเจ้าพึงเป็นเช่นเดียวกับคริสตชนสมัยแรกเริ่ม ที่มาดูกันหน่อยว่า “กลุ่มองค์กรฆราวาส” หรือ “กลุ่มพระพรพิเศษ” เป็นอย่างไร

          4). กลุ่มองค์กรฆราวาสต่างๆ ที่มีอยู่ในพระศาสนจักรนั้น จะมีด้วยกัน 2 รูปแบบใหญ่ ๆ

          4.1 บางกลุ่มจะมีลักษณะแบบกลุ่มพระพรพิเศษ เป็นพระพรของพระจิตเจ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระวาจาของพระเจ้าประการใดประการหนึ่งเป็นพิเศษ และจากพระพรประการนั้น ก็จะผลักดันให้สมาชิกดำเนินชีวิตหรือทำพันธกิจบางอย่าง เพื่อเสริมสร้างพระศาสนจักรบางกลุ่มจะมีแนวชีวิตจิตเป็นหลักสำหรับสมาชิก รวมทั้งมีแนวทางดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับชีวิตจิตดังกล่าว รวมทั้ง มีสมาชิกที่ถวายตัวแด่พระเจ้าทั้งครบ ในรูปแบบฆราวาสถวายตัวหรือเป็นอาสาสมัคร เพื่อนำจิตตารมณ์และพันธกิจของกลุ่ม ที่พระศาสนจักรได้รับรองแล้วไป บรรดาสัตบุรุษคริสตชน ทั้งที่เป็นฆราวาสหรือพระสงฆ์ หรือนักบวช และแม้ศาสนิกของศาสนา และนิกายอื่นด้วย

          4.2 กลุ่มองค์กรฆราวาสอีกรูปแบบหนึ่ง จะมีลักษณะแบบกลุ่มกิจกรรม ที่รวมตัวกันเพื่อประกอบกิจกรรมบางอย่างเป็นพันธกิจของกลุ่มซึ่งก็เป็นการรับใช้พระศาสนจักรเช่นเดียวกัน ตามบทบาทหน้าที่หรือพันธกิจเหล่านั้นหรือเป็นการรวมตัวกัน ประกอบกิจศรัทธาภักดีบางอย่างร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างชีวิตความเชื่อและความศรัทธาของสมาชิกในกลุ่มที่ตนสังกัดซึ่งก็เป็นบทบาทในการเสริมสร้างพระศาสนจักรเช่นกัน เป็นการเสริมสร้างความศรัทธาภักดีให้แก่คริสตชนผู้เป็นสมาชิกของพระศาสนจักรนั้นเองกลุ่มองค์กรคาทอลิก ส่วนใหญ่จะมีบทบาทในการเสริมสร้างชีวิตคริสตชนเป็นรายบุคคล หรือในรูปครอบครัว ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายประการที่ 1 ในแผนอภิบาลหรือเป็นการช่วยฟื้นฟูงานประกาศความรักและความเมตตาในรูปพันธกิจหลักต่างๆ ของพระศาสนจักร ตามเป้าหมายประการที่ 3 ของแผนอภิบาลฯของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นงานอภิบาล งานธรรมทูต งานด้านสังคม และกิจเมตตาต่างๆ รวมทั้งงานด้านคริสตศาสนจักรสัมพันธ์และศาสนสัมพันธ์ด้วย หรือแม้กระทั่งในงานด้านการศึกษา กลุ่มองค์กรเหล่านั้นทำงานกับเด็ก เยาวชน ในสถานศึกษาคาทอลิกที่พูดมาทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงบทบาทขององค์กรฆราวาสในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักรในเป้าหมายหลักสำคัญ 3 ประการ

          5). ต่อไปนี้ จะขอพูดเป็นประเด็นสุดท้าย ถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มองค์กรฆราวาส หรือกลุ่มองค์กรคาทอลิกทั้งหลาย กับวิถีชุมชนวัด อันเป็นเป้าหมายสำคัญประการสุดท้าย ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า วิถีชุมชนวัดมิใช่กลุ่มกิจกรรมใหม่อีกหนึ่งกลุ่มที่เกิดขึ้นในพระศาสนจักร แต่เป็นการเสริมสร้างวิถีชีวิตคริสตชนให้เป็นอย่างที่คริสตชนควรเป็น ตามแบบ คริสตชนสมัยแรกเริ่ม ถือเป็นการรวมตัวกันของผู้มีความเชื่อจากหลายๆ ครอบครัวในชุมชนละแวกบ้าน ให้กลายเป็นกลุ่มคริสตชนเล็กๆ ที่มีชีวิตชีวา เพราะมีพระคริสตเจ้า พระเจ้าองค์ความรัก ประทับท่ามกลางพวกเขาเสมออาศัยการปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้าร่วมกัน อาศัยการปฏิบัติความรักซึ่งกันและกัน ตามที่พระเยซูเจ้าทรงสอนพร้อมกับการเปิดตัวของกลุ่มคริสตชนย่อยเหล่านี้ออกไป สู่สังคมรอบข้าง ในการปฏิบัติพันธกิจต่างๆ ของพระศาสนจักร ต่อพี่น้องคนไทยอื่นๆ ที่ยังไม่มีโอกาสรู้จักพระคริสตเจ้าอาศัยชีวิตที่เป็นประจักษ์พยานของคริสตชนกลุ่มย่อยๆ เหล่านี้ พร้อมกับการเสวนาศาสนสัมพันธ์ระดับชีวิต กับเพื่อนบ้านที่นับถือศาสนาอื่น การประกอบกิจการแห่งความรักต่อผู้อื่น ตามสภาพความเป็นจริง และความจำเป็นของชีวิตกลุ่มคริสตชนย่อยๆ เหล่านี้ จะเป็นทั้งแสงสว่างและเป็นธรรมทูตของพระคริสตเจ้ากลุ่มคริสตชนย่อยเหล่านี้ จะเอาทักษะด้านการประกาศข่าวดีมาจากไหน จะเอาทักษะด้านการเสวนาศาสนสัมพันธ์มาจากที่ใดจะเอาทักษะด้านกิจเมตตาต่อผู้ตกทุกข์ได้ยาก (ที่ความรักประสาคริสตชน เรียกร้องให้ปฏิบัติต่อพี่น้องที่ตกทุกข์ได้ยาก)มาจากไหน?รวมทั้งทักษะอื่น ๆ อีกหลายอย่าง(ที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติพันธกิจของพระศาสนจักร)มาจากไหน? ก็มาจากกลุ่มองค์กรและกลุ่มพระพรพิเศษใน BEC นั่นเอง ตรงนี้แหละ คือจุดผสาน จุดพบกันของ “วิถีชุมชนวัด” กับ “กลุ่มองค์กรฆราวาส” อื่นๆ พ่ออยากจะเปรียบความสัมพันธ์นี้ ด้วยภาพสัญลักษณ์ของผ้าไหมทอที่งดงามผืนหนึ่งผ้าไหมทอผืนนี้ (และผ้าทอทุกผืนในโลก) จะประกอบด้วยเส้นไหม 2 ชนิด เส้นไหมเส้นตรง และไหมเส้นขวางไหมเส้นตรง ประกอบด้วยใยไหมเส้นเล็กๆ หลายเส้นที่ช่างทอผ้า หลังจากที่เขาสาวไหมเสร็จแล้ว เขาจะปั่นและกรอเส้นไหมเล็กๆ หลายเส้นนี้ให้กลายเป็นไหมเส้นเดียวเปรียบเสมือนสมาชิกจากหลายครอบครัวมารวมเป็นหนึ่ง เดียวกันในกลุ่มคริสตชนย่อยนี้โดยมีพระเยซูเจ้าผู้ประทับท่ามกลางพวกเขา ที่ทรงผสานใจพวกเขาให้เป็นหนึ่งเดียวกันไหมเส้นตรงนี้จะยาวเท่ากับความยาวของผืนผ้าไหม ก็คือชีวิตคริสตชนในชุมชนย่อยเหล่านี้ที่ก้าวหน้าไปวันละวันอย่างต่อเนื่องไปตลอดไหมเส้นตรงในผ้าทอผืนหนึ่งจะมีหลายเส้น มีจำนวนมาก เหมือนกลุ่มคริสตชนย่อยๆ ที่มีการรวมตัวกันหลายกลุ่ม ในแต่ละชุมชนความเชื่อ (แต่ละชุมชนวัด) ชุมชนความเชื่อของเรามิได้มีแต่เฉพาะกลุ่มคริสตชนย่อยแบบวิถีชุมชนวัดเท่านั้นในชุมชนความเชื่อของเราคริสตชน ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก ที่เราเรียกว่า กลุ่มองค์กรฆราวาสรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัว แทนของพระพรพิเศษบ้างเป็นตัวแทนของบทบาทหน้าที่ต่างๆ ในพันธกิจของพระศาสนจักร ไม่ว่าจะเป็นด้านการอภิบาล การแพร่ธรรมประกาศข่าวดี การเสวนาศาสนสัมพันธ์กับพี่น้องต่างศาสนา ต่างความเชื่อถือ ที่ไม่พร้อมจะกลับใจตอบรับความเชื่อ คริสตชนแต่พร้อมจะร่วมมือทำงานเพื่อสันติภาพและความดีของสังคมไทยร่วมกันรวมทั้งเป็นตัวแทนพันธกิจด้านเมตตาสงเคราะห์ต่างๆ กลุ่มประเภทที่ 2 นี้จะมีความแตกต่างหลากหลายกัน เปรียบเสมือนไหมเส้นขวางที่มีสีสันต่างๆ เมื่อนำมาทอเป็นผ้าไหมผืนเดียวกันร่วมกับเส้นไหมแนวตรงแล้ว จะทำให้เกิดลวดลายและสีสันต่างๆ เป็นผ้าไหมไทยที่มีความงดงามวิจิตรพิสดารอันเปรียบเสมือนพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยในอนาคต ที่คริสตชนทุกคนร่วมกัน เป็นพระศาสนจักรที่มีชีวิตชีวา อาศัยการผสานกลุ่มองค์กรคาทอลิกทุกรูปแบบ ไปพร้อมกับกลุ่มวิถีชุมชนวัด ซึ่งเป็นกลุ่มพื้นฐาน ทำให้พระศาสนจักรทั้งหมด ที่ได้รับการฟื้นฟูงดงามขึ้นประดุจผ้าไหมไทย ไม่ใช่เพียงแค่ “Smooth as Silk” ที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเรียบร้อยเท่านั้น แต่เป็น “As Beautiful as Thai Silk”
อาแมน