หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

ผู้ชี้ขาดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์เข้าเยี่ยมคารวะพระคาร์ดินัล

กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2009 พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ต้อนรับ ดร.อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ(Shelkh Professor Dr.All Gomaa Mohamed Abdel Wahab)ผู้ชี้ขาดทางศาสนาอิสลามแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์  พร้อมด้วยดร.อิบรอฮีม มะห์มูด นิกม ดร.อัชรอฟ อะห์หมัด ฟามี   มร.อัสลาฟ โมฮัมเหม็ด โกมาร์ เอลโคลี   เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย นายนพดล เทพพิทักษ์   เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงไคโรสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ณ สำนักมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ   โอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 17-20 มีนาคม

การเยือนประเทศไทยของ   ดร.อาลี  โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ  ครั้งนี้เป็นการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาและแสดงถึงสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของทุกศาสนาในประเทศไทย

พระคาร์ดินัลให้สัมภาษณ์กับ “อุดมสาร” ภายหลังที่ ดร.อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ        เข้าเยี่ยมคารวะว่า “ท่านมีความดีใจที่ได้มาประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่ได้มาประ เทศไทย และดีใจที่ได้มีโอกาสมาพบกันในวันนี้  และได้พูดถึง เรื่องความสัมพันธ์และสถานภาพของพระศาสนจักรในประเทศอียิปต์  ซึ่งท่านกล่าวว่าในประเทศอียิปต์นี้ก็มีความสัมพันธ์ต่อกันและกัน  ประเด็นสำคัญที่ท่านกล่าวในวันนี้ก็คือ มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเสวนา  และทำความเข้าใจในเรื่อง เกี่ยวกับทางศาสนา  เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจดีต่อกันและกัน ส่วนเราก็ได้กล่าวต้อนรับท่านที่มาประเทศไทย   ยินดีที่ได้รู้จักท่าน และท่านก็ขอเชิญให้ไปเยี่ยมประเทศอียิปต์ ไปพบกับท่าน ท่านก็ได้พูดถึงนักเทววิทยา ที่เป็นนักบวชชาวโดมินิกัน  ซึ่งมีบทบาท มีความสำคัญ และมีความเชี่ยวชาญมาก”

 “ท่านยังได้พูดถึงบ้านเณรและโรงเรียน   ซึ่งดำเนินงาน โดยคณะนักบวชฟรังซิสกัน   ซึ่งมีนักเรียนจำนวนมิใช่น้อยที่ไปศึกษาเล่าเรียน ไม่ใช่เฉพาะที่นับถือคาทอลิกเท่านั้น    แต่ว่า เป็นชาวอียิปต์ที่นับถือศาสนาต่างๆ    ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ให้ความรู้ ให้การเล่าเรียน ให้การอบรมได้เป็นอย่างดี     เป็นที่รู้จัก ท่านเองก็ปรารถนาที่จะให้ศาสนาต่างๆ ได้มีโอกาสพบปะกัน  เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นสำคัญ  รวมทั้งท่านก็ดีใจที่ทางฝ่ายของท่านพยายามที่จะทำความเข้าใจความหมายร่วมกันใน เรื่องพระธรรมคำสอน”

พระคาร์ดินัลกล่าวอีกว่า “การที่เราได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความเข้าใจที่ดีต่อกัน การมีความเอื้ออารีต่อกันและกัน  ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยก่อให้เกิดสันติภาพขึ้นมาได้    จึงได้บอกกับท่านว่า ในฐานะที่เราทุกคนได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์    เราถือว่าอยู่ในครอบครัวเดียวกัน จึงควรที่จะต้องรักกันและกัน  และเข้า ใจต่อกันและกัน โดยคำสอนที่บอกว่า  “ให้รักซึ่งกันและกัน”  ประเด็นนี้ก็จะช่วยให้เกิดสันติสุขและสันติภาพขึ้นในโลกได้     ท่านก็บอกว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น”

ดร.อาลี โกมาร์ โมฮัมเหม็ด อับเดล วาฮับ อายุ 57 ปี เกิดวันที่ 3 มีนาคม 1952 จบการศึกษา ปริญญาตรีสาขาพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Aln Shams ปริญญาตรีอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอัล-อัชฮัร (Al Azhar)ปริญญาโทนิติศาสตร์อิสลาม มหาวิทยาลัยอัล-อัชฮัร ปริญญเอกสาขาวิชาหลักนิติศาสตร์อิสลาม มหาวิทยาลัยอัล-อัชฮัร

ประสบการณ์การทำงาน เป็นอาจารย์ประจำคณะอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอัล-อัชฮัร ปัจจุบัน เป็นผู้ชี้ขาดทางศาสนา

ดร.อาลี โกมาร์   ถือเป็นผู้นำศาสนาที่สำคัญเป็นอันดับสอง รองจากผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์    มีฐานะ เทียบเท่ารัฐมนตรี เป็นปราชญ์คนสำคัญของโลกมุสลิม เชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อิสลาม เป็นผู้ชี้ขาด ออกคำวินิจฉัยในประเด็นด้านศาสนา

สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Arab Republic of Egypt) หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า อียิปต์  (Egypt) เป็นประเทศในแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือที่มีประชากรมากที่สุด    มีพื้นที่ประมาณ 1,020,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมถึงคาบสมุทรซีนาย (ถือเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้)   ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ  (เป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายซาฮารา) ตั้งอยู่ในแอฟริกาเหนือ มีพรมแดนด้านตะวันตกติดกับประเทศลิเบีย ด้านใต้ติดกับ ประเทศซูดาน ด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับประเทศอิสราเอลชายฝั่งทางเหนือติดกับทะเลเมดิเตอร์ เรเนียน และทางตะวันออกติดกับทะเลแดง

อียิปต์มีชื่อเสียงในด้านอารยธรรมโบราณ รวมถึงอนุสาวรีย์โบราณที่น่าตื่นตาที่สุดในโลก ได้แก่ ปิรามิด อารามคาร์นัค และหุบเขากษัตริย์ (Valley of the Kings) ในปัจจุบัน อียิปต์ถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมของโลกอาหรับ

ประชากรอียิปต์มีจำนวนประมาณ 76 ล้านคน (ปี 2549) ประชากรส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 90) นับถือศาสนาอิสลาม และอีกร้อยละ 10 นับถือศาสนาคริสต์