หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

ขอเชิญร่วมแสดงความยินดี
ประวัติคุณพ่อจำเนียร กิจเจริญ

บทเรียนจากชีวิตที่ส่งผ่านจากช่วงเวลาหนึ่งสู่อีกช่วงเวลาหนึ่ง ย่อมสะท้อนถึงบริบทของยุคสมัยนั้นๆ มีบางสิ่งที่เปลี่ยนแปลง มีบางสิ่งที่คงอยู่ ในขณะที่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอาจจะย้อนกลับมาและสิ่งที่คงอยู่ในเวลานั้นอาจจะหายไป ณ เวลานี้ ภาพชีวิตของคนๆ หนึ่ง  การเรียนรู้ ต่อสู้ ศรัทธา และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพระศาสนจักรในประเทศไทย กับช่วงแรกของบ้านเณรใหญ่และวิทยาลัยแสงธรรม ผู้ได้มีส่วนจัดการและวางระบบบริหารงานของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดยอาศัยพื้นฐานการศึกษาวิชาพระศาสนจักรจากกรุงโรม ศูนย์กลางของพระศาสนจักร ผู้ที่มีส่วนริเริ่มจัดและสนับสนุนหลายๆ โครงการที่นำพาพระศาสนจักรในเมืองไทยให้ก้าวหน้า

ขอพาท่านผู้อ่านมารู้จักกับคุณพ่อจำเนียร  กิจเจริญ อุปสังฆราชของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กับตำแหน่งปัจจุบันซึ่งน่าจะอยู่ในตำแหน่งนี้นานที่สุดคือ 21 ปีแล้ว และในวัยที่เหมือนว่าน่าจะเกษียณแล้ว แต่มีบางอย่างที่ทำให้ต้องรับหน้าที่ต่อไปสักระยะ รวมทั้งเรื่องราว แง่คิด อีกทั้งพิธีบวชแต่ก่อนศีลใหญ่ ศีลน้อย ศีลโกน ผู้เปิดประตู ผู้ไล่ผี มีจริงด้วยและเป็นอย่างไร อย่ารอช้า เดี๋ยวจะพลาดของดี

เป็นลูกวัดนักบุญเปโตร สามพราน เกิดในครอบครัวคาทอลิกที่มีอาชีพทำนาและเลี้ยงหมู ในวัยเด็กก็ช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน และช่วยหุงข้าวด้วยนะ แล้วก็วิ่งเล่นกับเพื่อนในหมู่บ้านนั่นแหละ และที่โรงเรียนด้วย ไม่ได้ไปเที่ยวเล่นไกลๆ  นอกนั้น ก็มีไปวัดฟังมิสซาเกือบทุกวัน ช่วงนั้น เพิ่งจบสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆ จึงเป็นช่วงที่ข้าวยากหมากแพง ของกินของใช้ก็หายาก คุณพ่อแบร์นารด์  บุญคั้นผล เห็นมาวัดทุกเช้าๆ จึงเอาเสื้อที่ตัดจากผ้าปูแท่นของวัดที่ไม่ใช้แล้วให้เป็นรางวัลหนึ่งตัว ดีใจมากเลย และขณะที่เป็นนักเรียนก็ได้รับเลือกให้เข้าอยู่ในกลุ่มนักขับร้องของวัดด้วยคนหนึ่ง

เห็นคุณพ่อถวายมิสซาก็อยากเป็นพระสงฆ์ อยากถวายมิสซาบ้าง บางครั้ง ยังทำมิสซาเล่นๆ กับพี่ กับน้อง กับเพื่อนๆ คงเป็นเพราะไม่รู้จักว่าอะไร เป็นอะไร มากนัก ที่เห็นๆ ก็มีแต่ทำนา เลี้ยงหมู ก็เลยเห็นว่า เป็นพระสงฆ์ดีกว่าอะไรทั้งหมดกระมัง จะว่าไปแล้วความคิดอยากเป็นพระสงฆ์ตอนนั้น ก็เป็นแบบเด็กๆ นั่นแหละ ไม่ถึงขั้นรบเร้าจะเป็นให้ได้ แต่มีพ่อแม่คอยติดตามทั้งแบบท้วงติงบ้าง เสนอแนะอย่างอื่นบ้าง สอบถามให้แน่ชัดเป็นครั้งคราวและได้ปรึกษากับคุณพ่อเดชังป์ เจ้าอาวาส  ซึ่งก็ให้ความสนใจและมอบหมายให้คุณพ่อดาเนียล  วงศ์พานิชย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสขณะนั้นคอยดูแล แนะนำฝึกอบรมเป็นพิเศษ สอนให้ท่องบทภาวนาภาษาลาติน ที่ใช้ในบ้านเณรด้วย เช่น บท Pater noster, Ave Maria ฯลฯ 

ได้รับการฝึกอบรมจากคุณพ่อดาเนียล นานเป็นเดือน คิดดูแล้ว หากไม่ได้รับการเอาใจใส่เช่นนี้ก็คงจะไปไม่ถึงบ้านเณร คงจะอยู่ทำนา เลี้ยงหมู ที่บ้านทำนองเดียวกับพี่น้องชาววัดนักบุญเปโตรเป็นส่วนใหญ่ในสมัยนั้นนั่นแหละ ทำให้เกิดคิดขึ้นมาว่า พระกระแสเรียกของพระเป็นเจ้า มักจะเริ่มเผยแสดงแก่ผู้ใดผู้หนึ่งผ่านทางเรื่องเล็กๆ อยู่บ่อยๆ และค่อยๆ พัฒนาให้เห็นชัดขึ้นโดยการชี้แนะและการช่วยเหลืออื่นๆ จากคนรอบข้างในเวลาต่อมา

ได้เข้าบ้านเณรตอนจบชั้น ป.4 อายุ 12 ปี คุณพ่อเดชังป์ เป็นผู้ส่งเข้าบ้านเณร พร้อมกับอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหลานของคุณพ่อถาวร กิจสกุล เป็นญาติพี่น้องกับคุณพ่อวรวุฒิ กิจสกุล เขาเรียน ม.2 ที่โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย บ้านโป่ง มาก่อน จึงเข้าเรียนที่บ้านเณรต่างชั้นกัน ขณะนั้นมีเณรจากวัดนักบุญเปโตร อยู่ที่บ้านเณรก่อนแล้ว 2 คน คนหนึ่งเป็นครูเณร ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนดาราสมุทร ซึ่งปัจจุบันคือพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู อีกคนหนึ่งกำลังเรียน ม.3 ที่บ้านเณรเหมือนกัน แต่เขาไปไม่ถึงศีลบวชและเสียชีวิตไปแล้ว

ที่บ้านเณรศรีราชาสมัยนั้นพวกเณรเรียนที่โรงเรียนดาราสมุทร ซึ่งเป็นโรงเรียนของบ้านเณรและเปิดสอนถึงระดับมัธยมต้น 1-3 จากนั้นก็ไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลาย 4-6 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา

เมื่อจบ ม.6 แล้ว ก็เป็นมาสเตอร์สอนเรียนที่โรงเรียนดาราสมุทรพร้อมกับเรียนภาษาลาตินไปด้วยอีก 4-5 ปี เพื่อเตรียมตัวไปบ้านเณรใหญ่ ซึ่งมีภาษาลาตินเป็นภาษาหลัก พูดถึงการเรียนภาษาลาตินนี้ เณรทุกคนต้องเรียนตั้งแต่อยู่ชั้นม.1 เป็นต้นไปแล้ว มีครูเณรเป็นผู้สอน เรียนกันในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันละชั่วโมง

ยิ่งกว่านั้นในช่วงปิดเทอมใหญ่ปลายปีการศึกษา ซึ่งเป็นเวลาที่พวกเณรได้กลับไปเยี่ยมบ้านของตนประมาณ 1 เดือน พร้อมกับมีการบ้านให้ท่องคำศัพท์ภาษาลาตินจำนวนหนึ่งติดตัวไปด้วย และมีสอบคำศัพท์เหล่านั้นต่อหน้าเณรทุกคนเมื่อกลับมาจากบ้าน โดยคุณพ่ออธิการและคุณพ่ออื่นๆ เป็นคณะกรรมการสอบ ทำเอาตัวสั่น ขาสั่น ปากสั่น ใจสั่น กันไปตามๆ กัน สำหรับพวกเณรที่เรียนจบ ม.6 แล้วนั้น ต้องเรียนภาษาลาตินสลับกับการไปสอนเรียนที่โรงเรียน หากสอนเรียนภาคเช้าก็เรียนภาษาลาตินภาคบ่าย หากสอนเรียนภาคบ่ายก็เรียนภาษาลาตินภาคเช้า   โดยมีคุณพ่ออธิการและคุณพ่อผู้ช่วยเป็นผู้สอน    ในช่วงนั้นคือ พระคุณเจ้ายวง นิตโย ซึ่งเป็นคุณพ่ออธิการ    คุณพ่อสวัสดิ์ กฤษเจริญ     คุณพ่อวินทร์  เจริญวงศ์ และคุณพ่อศวง ศุระศรางค์   ปัจจุบันนี้ไม่ต้องเรียนภาษาลาตินแล้ว แต่ยังมีคนบ่นหาภาษาลาตินอยู่บ้างเหมือนกัน

ได้เข้าบ้านเณรพระหฤทัยตั้งอยู่ที่ศรีราชา ซึ่งเป็นบ้านเณรของมิสซังกรุงเทพฯและมิสซังจันทบุรี ร่วมกัน ในสมัยที่ยังไม่ได้แยกบ้านเณรออกจากกัน วันแรกที่เดินทางไป จำได้ว่าขณะที่รถโดยสารที่นั่งไปนั้นวิ่งผ่านบ้านเณร แต่ไม่ได้บอกให้หยุดเพื่อลงที่หน้าบ้านเณร ปล่อยให้วิ่งเลยไปจนถึงปลายทางที่ตลาดศรีราชา เพราะไม่ทราบว่าบ้านเณรใช่ตรงนั้นที่รถวิ่งผ่านหรือเปล่า จึงต้องหอบสัมภาระพะรุงพะรังมีกระเป๋าเสื้อผ้าและที่นอนซึ่งต้องเอามาเองจากบ้าน เดินย้อนกลับมา ระยะทางก็คงประมาณ 3 กม. เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นทะเล เห็นน้ำทะเลตั้งชันสูงเหมือนภูเขามีสีฟ้าเข้ม ตื่นตาตื่นใจมาก เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน   เดินเข้าบ้านเณรด้วยความกลัวๆ กล้าๆ พอพระคาร์ดินัล มีชัย ซึ่งตอนนั้นเป็นครูเณรมาต้อนรับด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส จึงรู้สึกอุ่นใจขึ้นมาได้ แต่พอพบคุณพ่ออธิการซึ่งตอนนั้นคือ คุณพ่อมีแชล อ่อน (มงคล) ประครองจิต ที่ต่อมาได้เป็นพระสังฆราชมิสซัง ท่าแร่ ก็รู้สึกหวั่นๆ ลงไปอีกครั้ง เพราะหน้าของคุณพ่อดุมากๆ ส่วนดวงตาของท่านนั้นไม่ได้เห็น เนื่องด้วยท่านใส่แว่นดำ อย่างไรก็ดี อยู่ไปๆ ก็พบว่าท่านเป็นคนใจดีดุจบิดาจริงๆ ทุกวันอาทิตย์ท่านจะพาพวกเณรไปเที่ยวพักผ่อนที่เกาะลอย อยู่ใกล้ตลาดศรีราชาหรือไม่ก็ไปเดินเล่น นั่งเล่น ที่ชายทะเล

เพื่อนๆ ที่เข้าบ้านเณรปีเดียวกันมีประมาณ 10 คน ากวัดต่างๆ รวมคุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส ด้วย โดยจบชั้นมัธยมต้นมาแล้ว จึงเข้าเรียนชั้นสูงกว่า ในปีนั้นมีเณรจากมิสซังกรุงเทพฯและมิสซังจันทบุรีรวมกันทั้งหมดประมาณ 70 คน ถ้าจำไม่ผิด หลังจากจบ ม.3 ที่โรงเรียนดาราสมุทรก็ไปเรียนมัธยมปลาย 4-6 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา เวลาไปโรงเรียนก็เหมือนเณรรุ่นก่อนๆ คือ ต้องเดินไป ไม่มีรองเท้าใส่ด้วย จากบ้านเณรถึงโรงเรียนอัสสัมชัญใช้เวลาเดินประมาณครึ่งชั่วโมง สำหรับอาหารกลางวันมีคนงานจากโรงครัวบ้านเณรหาบอาหารไปส่งให้พวกเณรที่โรงเรียน ต่อมา คุณพ่ออธิการมีแชล อ่อน  หาเงินมาซื้อรถยนต์ประเภทรถแวนได้ 1 คัน จึงใช้รับส่งพวกเณรไปโรงเรียน พร้อมทั้งรับกลับมากินอาหารกลางวันที่บ้านเณรด้วย ทำให้ไม่ต้องเหนื่อยและเปลืองเวลาไปกับการเดินทางอีกต่อไป สะดวกสบายขึ้นเยอะเลย รถคันดังกล่าวนี้โดดเด่นทีเดียว เตะตาของใครต่อใครเป็นจำนวนมาก ข้าราชการที่อำเภอศรีราชา ยังมาขอยืมใช้เป็นบางครั้ง ประวัติเป็นมามีอย่างไร ต้องให้พระคาร์ดินัล ซึ่งเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนดาราสมุทรในสมัยนั้นเล่าให้ฟัง เพราะท่านเป็นผู้มีบทบาทในการซื้อ

เมื่อจบ ม.6 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา แล้ว  ก็เป็นมาสเตอร์สอนเรียนสลับกับเรียนภาษาลาตินดังที่เล่ามาแล้ว   ได้สอนที่โรงเรียนดาราสมุทรของบ้านเณรเป็นเวลา 2 ปี     จากนั้นถูกส่งไปสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา อีก 2 ปี ก่อนจะได้ไปบ้านเณรใหญ่ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย การที่ต้องมีครูจากบ้านเณรไปสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญนั้น ก็เพื่อเป็นการตอบแทนอะไรบ้างสำหรับการที่พวกเณรไปเรียนโดยไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนให้แก่โรงเรียน ถือว่าถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ว่ายังงั้นเถอะ และที่จบการศึกษาเพียงระดับชั้น ม.6  เข้าเป็นครูได้นั้นเนื่องมาจากว่า ในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายกำหนดวุฒิของการเป็นครูนั่นเอง

เมื่อถึงวาระต้องไปบ้านเณรใหญ่ ถูกส่งไปที่ College General ปีนัง ประเทศมาเลเซีย พร้อมเพื่อนร่วมชั้นรวมทั้งหมด 7 คนด้วยกัน  ซึ่งขณะนี้ที่ได้บวชเป็นพระสงฆ์และยังมีชีวิตอยู่ได้แก่คุณพ่อคมทวน มุ่งสมหมาย       คุณพ่อดำรง  กู้ชาติ และคุณพ่อวิชิต ประสงค์ธรรม ซึ่ง 2 ท่านหลังนี้เป็นพระสงฆ์ของสังฆมณฑลจันทบุรี บ้านเณรใหญ่แห่งนี้เริ่มขึ้นที่จังหวัดอยุธยา เป็นผลงานแรกๆ ของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส และเข้ามาทำงานเผยแผ่พระคริสตธรรมในประเทศไทยเป็นแห่งแรก เพิ่งฉลองการก่อตั้งครบ 350 ปี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ตลอด 6 ปี ในบ้านเณรใหญ่ที่เรียกว่า College General ที่ปีนัง ได้รับการฝึกอบรมอย่างเคร่งครัดด้วยระเบียบวินัยกฎเกณฑ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น ต้องได้รับอนุญาตก่อนจะติดต่อกับบุคคลภายนอก และต้องรายงานอธิการหากได้สนทนากับบุคคลภายนอกโดยไม่มีโอกาสขออนุญาตก่อน ว่าไปแล้วเป็นเจตนารมณ์ที่ดีของสมัยนั้น คือต้องการปกป้องกระแสเรียกของเณรให้พ้นจากอันตรายอันอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมได้ ช่วง 6 ปีดังกล่าวนั้น เป็นช่วงปลายสุดของพระศาสนจักรยุคก่อนสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (ค.ศ.1961-1965) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพระศาสนจักรในยุคใหม่อันเป็นยุคที่พระศาสนจักรปรับเปลี่ยนทัศนคติและแนวทางของตนใหม่เพื่อปฏิบัติพันธกิจให้เหมาะกับปัจจุบัน กล่าวคือต้องเข้าถึงมวลมนุษย์ทั้งปวงในทุกชาติทุกภาษา ต้องเข้าให้ถึงพวกเขาด้วยวิธีการต่างๆ เป็นต้นว่า ด้วยการเสวนากับเขาในเรื่องศาสนา วัฒนธรรมและในเรื่องของโลก และด้วยการเข้าร่วมมือกับเขาในการเสริมสร้างความรัก ความยุติธรรมและสันติ ต้องเข้าไปอยู่ในท่ามกลางพวกเขา ดุจเป็นแสงสว่าง เป็นเครื่องหมายและเครื่องมือแห่งความรอด ทั้งต้องขับเคลื่อนตัวเองให้ทันยุคทันเหตุการณ์และความต้องการของสังคมโลก ดังนั้น เมื่อจบการศึกษาอบรมจากในบ้านเณรใหญ่ในช่วงนั้นมาแล้ว จึงยังต้องเรียนรู้และปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ต่อไปอีก เพื่อจะได้ไม่เป็นพระสงฆ์หลงยุค  อันที่จริง ที่เรียกว่ายุคใหม่นี้ก็เป็นยุคใหม่สำหรับผู้มีชีวิตอยู่ก่อนที่จะมีสังคายนาวาติกันที่ 2 เท่านั้น ส่วนผู้ที่เกิดมาหลังสังคายนาฯ คือตั้งแต่ ค.ศ.1965 จะต้องถือว่าอยู่ในยุคปัจจุบันของพระศาสนจักร อย่างไรก็ดีไม่ว่าใครจะอยู่ในยุคใหม่หรือยุคปัจจุบัน ก็ควรที่จะเสริมสร้างให้มีทัศนคติและแนวทางของพระศาสนจักรตามสังคายนาวาติกันที่ 2 แบบเต็มร้อย ( ใช่หรือไม่ใช่ พี่น้อง ! )

หลังจากจบจากบ้านเณรใหญ่กลับมาในเดือนธันวาคม ค.ศ.1964 ก็ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ.1965 ทันทีเลยเพราะเหตุว่าได้รับศีลบวชขั้นต้นๆ มาก่อนแล้ว ในระหว่างที่ศึกษาอบรมที่บ้านเณรใหญ่ สมัยนั้น ศีลบวชแบ่งขั้นเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เรียกว่าศีลน้อย (Minor Orders) ซึ่งมี 5 ขั้นคือ

1)ศีลโกน (First Tonsure) เรียกเช่นนี้เพราะมีโกนผมกลางศีรษะเล็กน้อยเท่าแผ่นศีลเล็ก เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า ได้สมัครใจถวายตนรับใช้พระเป็นเจ้าและพระศาสนจักร โดยปกติคนเรามักจะใส่ใจเรื่องผมบนศีรษะ พยายามตกแต่งให้สวยงามอยู่เสมอ การโกนผมจึงเป็นเครื่องหมายของการสละชีวิตฝ่ายโลกมารับใช้พระเป็นเจ้าและพระศาสนจักร

2)ศีลเปิดประตู (Porter) การเปิดประตูมีความสำคัญสำหรับเข้าบ้าน ที่เรียกศีลขั้นนี้ว่าศีลเปิดประตูก็เพื่อให้ความหมายว่า ผู้รับศีลนี้มีหน้าที่ช่วยคนทั้งหลายให้เข้ามาหาศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวัดและของพระศาสนจักร

3)ศีลไล่ผีปีศาจ (Exorcist) หมายความว่าเป็นผู้ได้รับหน้าที่ขับไล่ปีศาจที่เข้าสิงอยู่ในมนุษย์ อย่างไรก็ดีหน้าที่นี้ไม่ใช่ทำง่ายๆ ตามอำเภอใจต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่ของพระศาสนจักรก่อน จะทำพร่ำเพรื่อไม่ได้

4)ศีลผู้อ่าน (Lector) หมายถึง เป็นผู้ได้รับหน้าที่อ่านพระวาจาของพระเป็นเจ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในพิธีมิสซาฯ และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ

5)ศีลถือเทียน (Acolyte) หมายถึง ผู้ได้รับหน้าที่ช่วยพิธีมิสซาฯ  และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

กล่าวโดยรวมๆ ก็คือว่า การโปรดศีลน้อยดังกล่าวหมายถึง การมอบหมายหน้าที่บางประการที่เชื่อมโยงกับหน้าที่สงฆ์ให้แก่ผู้เข้าพิธีเพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างเป็นทางการ จริงๆ แล้ว ศีลน้อยทั้ง 5 ขั้นนั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของศีลบวชที่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ประการหนึ่งใน 7 ประการ


ดังนั้นพระศาสนจักรในปัจจุบันตั้งแต่สังคายนาวาติกันที่ 2 เป็นต้นมาได้ปรับแก้ศีลน้อย 5 ขั้นนั้นโดยไม่เรียกว่า “ศีล” แต่เรียกว่า “พิธีการแต่งตั้ง” และลดจำนวนลงเหลือ 3 ขั้น คือ

1) พิธีสมัครบวช2) พิธีแต่งตั้งผู้อ่านพระคัมภีร์3) พิธีแต่งตั้งผู้ช่วยพิธีกรรม

ทีนี้มาพูดกันต่อถึงลำดับขั้นของศีลบวชอีกกลุ่มหนึ่ง ได้บอกแล้วว่าศีลบวชแบ่งเป็นขั้นๆ ซึ่งจัดจำแนกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ กลุ่มที่เรียกว่า ศีลน้อย ซึ่งกล่าวจบไปแล้ว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า ศีลใหญ่ ซึ่งสมัยนั้นมี 4 ขั้น ดังนี้

1)ขั้นอุปานุสงฆ์ (Subdeacon) ขั้นนี้เป็นการแต่งตั้งผู้ได้รับศีลน้อยมาแล้วให้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้ช่วยพระสงฆ์ในพิธีมิสซาและหน้าที่อื่นๆ รองลงมาจากสังฆานุกร

2)ขั้นสังฆานุกร (Deacon) ขั้นนี้เป็นการแต่งตั้งที่ยกอุปานุสงฆ์ให้เข้าสู่ฐานานุกรมสงฆ์เป็นศาสนบริกรขั้นรองลงมาจากขั้นพระสงฆ์ มีอำนาจหน้าที่บริการรับใช้ปฏิบัติงานด้านศีลศักดิ์สิทธิ์ พระวาจาและงานเมตตาจิต ในกรอบที่กำหนด

3)ขั้นสงฆ์ (Presbyter) ขั้นนี้เป็นการแต่งตั้งที่ยกสังฆานุกรขึ้นเป็นศาสนบริกรขั้นพระสงฆ์ ซึ่งร่วมสังฆภาพเดียวกับพระสังฆราชมีส่วนร่วมพันธกิจเดียวกับพระสังฆราช โดยมีอำนาจหน้าที่รองจากพระสังฆราชและขึ้นกับพระสังฆราช

4)ขั้นพระสังฆราช (Bishop) ขั้นนี้เป็นการแต่งตั้งศาสนบริกรขั้นพระสงฆ์ขึ้นสู่สถานะที่มีสังฆภาพเต็มขั้นมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์เต็มสมบูรณ์

กลุ่มขั้นศีลใหญ่นี้ พระศาสนจักรในปัจจุบัน ตั้งแต่สังคายนาวาติกันที่ 2 ก็ปรับแก้ให้เหลือ 3 ขั้น โดยยกเลิกขั้นอุปานุสงฆ์ (subdeacon) ทำเช่นนี้ได้ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นขั้นที่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาจากคณะอัครสาวกโดยตรง แต่เป็นพระศาสนจักรในสมัยหนึ่งเป็นผู้ตั้งขึ้นมาเอง ดังนั้นพระศาสนจักรจึงมีสิทธิ์ยกเลิกได้เอง

น่าสังเกตว่าศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งบวชมีชื่อของพระคุณเจ้ายวง นิตโย เป็นผู้ทำพิธีมาตลอด

ใช่แล้ว พระคุณเจ้า ยวง ได้โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้นับตั้งแต่ศีลล้างบาป ตอนนั้นพระคุณเจ้าเป็นคุณพ่อเจ้าวัด เมื่อถึงอายุที่จะรับศีลมหาสนิทครั้งแรก พระคุณเจ้าได้เรียกมารับศีลล้างบาปอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการโปรดศีลล้างบาปโดยมีเงื่อนไข (subconditione) นั่นคือ เป็นการโปรดศีลล้างบาปในกรณีที่พิจารณาเห็นว่าการโปรดศีลล้างบาปครั้งก่อนขาดความถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของพระศาสนจักร ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เนื่องจากได้รับการโปรดศีลล้างบาปอย่างรีบด่วนมาก่อนแล้วโดยฆราวาสคนหนึ่ง ในขณะที่กำลังออกมาจากท้องแม่ซึ่งกำลังคลอดและอยู่ในอาการที่จะเสียชีวิตแต่ก็รอดมาได้ และเมื่อวันเวลาผ่านไปจนมาถึงวันที่จะรับศีลมหาสนิทครั้งแรก ความสงสัยก็เกิดขึ้นถึงความถูกต้องของการโปรดศีลล้างบาปครั้งนั้น เพื่อความแน่นอนพระคุณเจ้ายวง จึงโปรดศีลล้างบาปให้อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับศีลกำลังนั้น เป็นพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส เป็นผู้โปรดให้โดยมีพระคุณเจ้ายวง เป็นผู้สอนคำสอน ส่วนศีลบวชก็เป็นพระคุณเจ้ายวง อีกเช่นกันที่เป็นผู้โปรดให้ ทั้งศีลบวชขั้นสังฆานุกรและขั้นสงฆ์ คือว่าขณะที่เรียนอยู่ปีสุดท้ายที่บ้านเณรปีนัง และจะได้รับศีลบวชขั้นสังฆานุกรด้วย ปีนั่นเองพระคุณเจ้ายวง ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแล้ว ได้รับเชิญไปเทศน์เข้าเงียบประจำปีให้เณรและเป็นผู้ทำพิธีโปรดศีลบวชขั้นสังฆานุกรด้วย จึงทำให้ได้รับศีลบวชขั้นนี้จากท่าน

ต่อมาเมื่อจบการศึกษาและกลับมากรุงเทพฯ ผู้ที่ทำพิธีโปรดศีลบวชเป็นพระสงฆ์ให้ก็คือพระคุณเจ้ายวงอีก เพราะว่าพระสังฆราช หลุยส์ โชแรง ขัดข้องอันเนื่องมาจากสุขภาพของท่าน พระคุณเจ้ายวง ซึ่งเป็นพระสังฆราชรอง จึงทำหน้าที่แทน จากทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่าเป็นพระคุณเจ้ายวงท่านเดียวที่นำชีวิตคริสตชนมาให้ ยกเว้นศีลเจิมคนไข้(แต่ก่อนเรียกว่าศีลเจิมครั้งสุดท้าย)เท่านั้น จึงเคยกล่าวกับท่านว่าไม่ต้องรอทำให้ผมนะครับ ท่านยิ้มๆ ไม่พูดอะไร แล้วท่านก็ไม่ได้รอจริงๆ เพราะขณะนี้ท่านไปรับรางวัลของท่านจากพระเป็นเจ้าในสวรรค์แล้ว

ผู้ที่เรียนจบมาจากบ้านเณรปีนังรุ่นเดียวกันที่เป็นของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และได้บวชพร้อมกันมี 3 คน ขณะนี้เสียชีวิตไปแล้ว 1 คน ยังมีชีวิตอยู่ 2 คน ก็คือ คุณพ่อคมทวน  มุ่งสมหมาย  และคุณพ่อจำเนียร  กิจเจริญ นี่แหละซึ่งตอนนี้ก็อายุ 72 ปีแล้ว ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ.1965 ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ ระหว่างบรรดาพระสงฆ์ไทยของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เข้าเงียบประจำปีพอด

ในวันรับศีลบวชนั้น มีการประกาศโยกย้ายพระสงฆ์ครั้งใหญ่โดยวิธีการแจกซองใบประกาศ เมื่อได้รับซองเปิดอ่านแล้วก็พบว่าได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการสามเณราลัยนักบุญยอแซฟ สามพราน ซึ่งก่อตั้งเพิ่งเสร็จและเปิดรับเณรเป็นปีแรก โดยแยกตัวออกจากบ้านเณรพระหฤทัย ศรีราชา มีคุณพ่อทองดี  กฤษเจริญ เป็นอธิการ และคุณพ่อเสวียง ศุระศรางค์ เป็นผู้ช่วยอธิการและเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนของบ้านเณรและก่อตั้งขึ้นมาพร้อมๆ กัน ช่วงแรกนั้นใครๆ ที่นั่งรถผ่าน ไม่รู้จักก็คิดว่าเป็นโรงงาน เพราะว่าตั้งตระหง่านอยู่กลางทุ่งนา ซึ่งกำลังมีโรงงานผลุดขึ้นมาไม่ห่างกันนักอยู่หลายแห่งก่อนแล้ว ปีแรกนั้นมีเด็กมาสมัครเข้าโรงเรียนไม่มากนักจำนวนเกินร้อยคนนิดๆ แต่ก็เพิ่มขึ้นทุกปีจนปัจจุบันนี้มีประมาณหกพันคนเห็นจะได้

ได้ทำหน้าที่ในบ้านเณรเล็กนี้ 9 ปี ช่วงเวลาดังกล่าวนี้มีโอกาสไปทำงานอภิบาลสัตบุรุษบ้างเหมือนกัน อาทิ เช่น ที่วัดประจำโรงเรียนอัสสัมชัญ บางแค  โดยทำมิสซาวันอาทิตย์เท่านั้น ขณะนั้น วัดนักบุญหลุยส์มารีย์ยังไม่เกิดขึ้น ทำอยู่ประมาณ 1 ปี จากนั้นก็ไปทำที่วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน

ที่วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน ได้ไปช่วยคุณพ่อบุญเลิศ  ธาราฉัตร
ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่คนเดียว ไปช่วยงานที่วัดนี้สัปดาห์ละ 2 วัน คือวันเสาร์และวันอาทิตย์ ในวันเสาร์ช่วยฟังแก้บาป ตั้งแต่เช้ายันเย็น และในตอนค่ำซ้อมขับร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์ มีคณะเยาวชน “ยูธคลับ” ที่คุณพ่อบุญเลิศ ตั้งขึ้นเป็นพลังสำคัญ ที่สนุกสนานมากคือ ช่วงคริสตมาส พวกเราพากันไปร้องเพลงคริสตมาสตามบ้านสัตบุรุษซึ่งให้การต้อนรับอย่างดี บางบ้านพวกเราไปถึงดึกมาก ยังลุกจากที่นอนมาต้อนรับและฟังพวกเราร้องเพลงอวยพร ประทับใจมากเลย ได้ไปร้องเพลงคริสตมาสในค่ำคืนของวันที่ 24 ธันวาคม เวลา 20.30 น. ทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรมด้วย ตื่นเต้นกันมาก ทราบว่าสัตบุรุษผู้ได้ชมก็ชอบด้วย ( ปรบมือกันหน่อย พี่น้อง ! )

จากวัดสามเสน เปลี่ยนไปช่วยงานอภิบาลของคุณพ่อฮาแบสโตร ซึ่งเป็นเจ้าวัดพระตรีเอกภาพ หนองหิน และวัดพระคริสตกษัตริย์ นครปฐม เพราะว่าคุณพ่อฮาแบสโตร เพิ่งเรียนภาษาไทยจบใหม่ๆ ยังไม่คล่องภาษาสำหรับงานอภิบาล ได้ช่วยงานทำนองเดียวกับที่วัดสามเสน แต่งานไม่หนักเท่าเพราะว่า วัดเล็กกว่ามาก กลุ่มเยาวชนที่นี่ให้ความร่วมมือดี เต็มใจมาร่วมซ้อมขับร้องกันในตอนค่ำอย่างพร้อมเพรียงน่าชม ได้ช่วยงานที่นี่นานเกือบ 2 ปี

แล้วก็ไปช่วยที่วัดนักบุญอันนา ท่าจีน ทำหน้าที่ปฏิบัติงานแทนคุณพ่อเทโอฟีล  กิจบุญชู ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส แต่เพราะความชราภาพท่านต้องพักรักษาตัว ทำหน้าทีที่วัดท่าจีนนี้นานเกือบ 4 ปี (ค.ศ.1969-1973) แต่มาเฉพาะวันพุธ วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันศุกร์ต้นเดือน ได้ตั้งเปรซิเดียมพลมารี และสภาภิบาลวัดแต่เป็นขั้นทดลอง เพราะว่าขณะนั้นพระศาสนจักรยังไม่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่น่าชมจากที่วัดนี้คือสัตบุรุษมีความเชื่อและใส่ใจให้ลูกหลานมีความเชื่ออย่างจริงจังด้วย อีกประการหนึ่งคือความรักและความร่วมมือที่พวกเขามีต่อวัดเข้มแข็งจริงๆ

นอกจากช่วยงานอภิบาลตามวัดดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีโอกาสร่วมทำงานอื่นๆ ด้วย เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการปรับปรุงการดำเนินงานของพระศาสนจักรในประเทศไทย ซึ่งให้ความสนใจตอบสนองเจตนารมณ์ของสังคายนาวาติกันที่ 2 โดยไม่ชักช้า งานแรกที่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ดำเนินการคือจัดตั้งสภาสงฆ์ประมาณปี ค.ศ.1967 โดยมีหน้าที่พิจารณาแก้ไขปรับเปลี่ยนการทำงานต่างๆ ของอัครสังฆมณฑล สภาสงฆ์ชุดแรกนี้มีกรรมการ(ถ้าจำไม่ผิด) 7 ท่าน โดยมีประธานคือพระคาร์ดินัล มีชัย  กิจบุญชู ซึ่งขณะนั้นเป็นคุณพ่ออธิการบ้านเณรเล็ก รองประธานคือคุณพ่อบุญเลิศ  ธาราฉัตร  และเลขานุการคือคุณพ่อจำเนียร  กิจเจริญ ซึ่งมีหน้าที่จัดการประชุม และจัดทำสงฆ์สัมพันธ์ โดยได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้จนถึง ค.ศ.1973

นอกจากเรื่องสภาสงฆ์แล้ว ยังได้รับเรียกให้ร่วมงานกับคณะทำงานปรับปรุงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ด้วย คณะทำงานนี้ที่จำได้มีคุณพ่อเศียร์ โชติพงค์   คุณพ่อโมลิ้ง  และคุณพ่อทัศไนย์  คมกฤส รวมอยู่ด้วย  ทำงานเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น อย่างไรก็ดีงานที่ทำทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นสภาสงฆ์หรือคณะทำงานอื่นๆ ต้องมาปรับใหม่อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของพระศาสนจักร (CIC) ฉบับปรับปรุงที่ประกาศใช้ ค.ศ.1983



ในปีแรกของการเปิดบ้านเณรเล็กที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคมใน ค. ศ.1965 นั้น คุณพ่อทองดี  กฤษเจริญ ซึ่งเป็นอธิการได้ทำหน้าที่อยู่ได้ระยะหนึ่งประมาณ 3-4 เดือน ท่านก็ถึงแก่มรณภาพ จากไปในเดือนสิงหาคม ปีนั้นเองพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู  ซึ่งขณะนั้นเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ กรุงเทพฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณรคนต่อมา

ท่านเป็นอธิการมาจนถึงปี ค.ศ.1973 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ สืบต่อพระคุณเจ้ายวง นิตโย ในปีเดียวกันนั้นคุณพ่อจำเนียร ก็ถูกส่งไปศึกษาต่อที่กรุงโรมเพราะว่าขณะนั้นบ้านเณรใหญ่แสงธรรม ต้องการอาจารย์สอนที่บ้านเณร วิชาพระศาสนจักร เรียนอยู่ 2 ปี เมื่อสำเร็จระดับปริญญาโทแล้วได้ไปประเทศอังกฤษต่อเพื่อเรียนวิชามนุษยสัมพันธ์ หลักสูตร 1 ปี หลังจากจบแล้ว ก็กลับประเทศไทยและมาประจำที่บ้านเณรใหญ่แสงธรรม ทำหน้าที่เป็นรองอธิการ บ้านเณรแสงธรรมนี้ (หรือจะเรียกว่าสามเณราลัย Lux Mundi ก็ได้) มีสถานะต่อหน้าทา งการเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับวิทยาลัยพร้อมกันไปด้วย พระคุณเจ้าบรรจง อารีพรรค เป็นอธิการคนแรก ต่อมาหลังจากที่พระคุณเจ้าบรรจง ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช สังฆมณฑลนครสวรรค์ คุณพ่อสมศักดิ์ นามกร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการคนต่อมาของบ้านเณรและวิทยาลัยรวมกันไปเลย



สาเหตุที่ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการวิทยาลัย แยกออกมาต่างหากโดยไม่รวมอยู่กับตำแหน่งอธิการบ้านเณรอีกต่อไป ก็เนื่องจากการดำเนินงานของวิทยาลัยตามกฎหมายบ้านเมือง และการดำเนินงานของบ้านเณรตามระเบียบกฎเกณฑ์ของพระศาสนจักรมีความแตกต่างกันพอสมควร จึงควรมีผู้บริหารจัดการแยกกันคนละส่วน เพราะฉะนั้นจึงได้รับแต่งตั้งมาทำหน้าที่เป็นอธิการวิทยาลัยอีกตำแหน่งหนึ่ง อย่างไรก็ดีความเชื่อมโยงและความร่วมมือยังคงอยู่แบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันที่จริงงานบริหารวิทยาลัยไม่หนักมากเท่าไร เพราะว่าเป็นวิทยาลัยเล็กๆ นักศึกษาของวิทยาลัยขณะนั้นก็มีแต่พวกเณรนั่นเอง ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 200 คน และคณาจารย์ก็ไม่กี่คน จะมีความยุ่งยากก็เฉพาะเรื่องที่ต้องดำเนินการให้วิทยาลัยได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาตามกฎเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด มิฉะนั้นการศึกษาที่นักศึกษาได้รับไปนั้นจะไม่มีคุณค่าต่อหน้าราชการ ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ทางภาคพระศาสนจักรเข้าใจด้วยว่าทำไมต้องดำเนินการไปเช่นนั้น ทั้งนี้ เนื่องด้วยว่าวิทยาลัยจะดำเนินไปได้ก็ด้วยการสนับสนุนของภาคพระศาสนจักรเป็นสำคัญ






อยู่ที่บ้านเณรใหญ่รวม 8 ปี ก็ย้ายมาทำหน้าที่เป็นเลขานุการพระอัครสังฆราช ทำหน้าที่นี้ประมาณ 4 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ยังได้ทำหน้าที่จิตตาภิบาลโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ พร้อมกันไปด้วยเป็นระยะเวลาปีกว่า พ้นจากหน้าที่เลขานุการก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอุปสังฆราชทำหน้าที่ต่อจากพระคุณเจ้าสังวาลย์ ศุระศรางค์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเชียงใหม่ อยู่ในตำแหน่งอุปสังฆราชมาเป็นเวลา 21 ปีแล้ว หน้าที่หลักคือ เป็นผู้แทนของพระสังฆราช ทำหน้าที่บริหารจัดการงานทั้งหลายของสังฆมณฑล ยกเว้นงานที่สงวนไว้ให้พระสังฆราชดำเนินการเท่านั้น

ช่วงที่เข้ามาทำงาน ณ สำนักมิสซังกรุงเทพฯ ในระยะแรกๆ นั้น เป็นช่วงที่พระศาสนจักรเริ่มประ กาศใช้กฎหมาย (Codes Juris Canonici) ฉบับปรับปรุงใหม่ ค.ศ.1983 ซึ่งให้กฎเกณฑ์สำหรับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการดำเนินงานของพระศาสนจักร เพื่อให้พระศาสนจักรปฏิบัติพันธกิจประกาศข่าวดีที่ได้รับมอบหมายมาจากพระคริสตเจ้าได้อย่างดีทันยุคทันสมัย ตามเจตนารมณ์ของสังคายนาวาติกันที่ 2 อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น เมื่อประกาศกฎหมายของพระศาสนจักรฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ก็มีงานที่ต้องทำมากมาย

เริ่มด้วยงานที่เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างการดำเนินงาน เช่น
1)จัดทำข้อกำหนดของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
2)ปรับปรุงรูปแบบของสภาสงฆ์ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นมาก่อนการประกาศกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่
3)จัดตั้งคณะกรรมการบริหารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
4)จัดแบ่งเขตการปกครองวัด
5)จัดตั้งสภาภิบาลระดับสังฆมณฑล และระดับวัด
6)จัดทำนโยบายและแผนงานระยะยาว 5 ปี

พร้อมกับงานดังกล่าว ก็เป็นงานเกี่ยวกับการดำเนินการในแต่ละปี ซึ่งมีงานวางแผนทำโครงการ กำหนดงบประมาณรายจ่ายต่างๆ และติดตามประเมินผล เพื่อจะได้มีข้อมูลสำหรับแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนาการทำงานในปีต่อๆ ไป

งานทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นงานที่ร่วมมือกันทำ พร้อมทั้งต้องผ่านการกำกับดูแลและเห็นชอบของพระอัครสังฆราชด้วย จึงต้องมีการประชุมกันบ่อยๆ ทำให้คุณพ่อทั้งหลายขาดการอยู่ที่วัดมากขึ้น จึงอยากขอให้พี่น้องสัตบุรุษเข้าตามนี้ด้วย ( ได้ไหม พี่น้อง ! )
โดยวิธีการทำงานลักษณะนี้ ทำให้งานของอัครสังฆมลฑลฯ พัฒนาและขยายไปได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เนื่องด้วยอุปสังฆราชเป็นตำแหน่งที่ทำงานแทนพระสังฆราชในการบริหาร จึงได้รับเรียกไปเป็นกรรมการในหน่วยงานหลายแห่ง ทั้งมักจะได้รับเชิญไปร่วมงานขององค์กรต่างๆ เป็นต้นว่า งานประชุม งานพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ งานพิธีการอื่นๆ และแม้งานชุมนุมในหลายโอกาสด้วย (กลุ่มพันธมิตรฯ หรือ นปช. ไม่เกี่ยวนะ) จากการที่ได้เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ก็ทำให้มีส่วนเสนอแนะ หรือส่งเสริมสนับสนุน หรือท้วงติง คัดค้าน หรือรับภาระมาดำเนินการต่ออยู่เป็นประจำ เล่ามาอย่างนี้แล้ว ก็ขอถือโอกาสให้สิ่งที่แจกแจงมานี้เป็นคำตอบสำหรับคำถาม ถึงความหมายของข้อความที่ว่า “ข้าพเจ้าอยู่ในหมู่ท่านเหมือนเป็นผู้รับใช้” ซึ่งเ ป็นข้อความจากพระวรสารนักบุญลูกา บทที่ 22 ข้อ 17 ว่าทำไมนำเอาข้อความนี้มาพิมพ์ใส่ไว้ในรูปพระที่แจกเป็นของที่ระลึกในวันบวชพระสงฆ์เมื่อ 43 ปีก่อน

ส่วนอีกคำถามหนึ่งที่ถามว่ายึดหลักอะไรในการทำงาน เคยเห็นข้อความที่คุณพ่อเขียนไว้ว่า “อดีตไม่จำ ทำปัจจุบันให้ดี และมีแผนการสำหรับอนาคตด้วย” นี่คือหลักการของคุณพ่อใช่ไหม จะว่าใช่มันก็ใช่นะ แต่มันเป็นหลักการปกติธรรมดาๆ ที่ทุกคนก็ยึดถือแบบไม่รู้ตัวอยู่แล้ว เขียนให้โก้ๆ แบบกลอนพาไปมากกว่า อดีตไม่จำนี่เป็นลักษณะประจำตัวก็ว่าได้ เป็นคนขี้ลืมคล้ายๆ มีความจำสั้นยังงั้นแหละ เคยลืมแม้กระทั่งเรื่องสำคัญๆ อย่างเช่น ไปเป็นประธานโปรดศีลกำลัง หรือเป็นประธานฉลองวัดก็ยังเคยลืม หลักการที่พยามยึดเป็นคติประจำใจจริงๆ นั้น คือ “อยู่ในหมู่พวกท่านเหมือนผู้รับใช้” ซึ่งได้นำมาใช้เตือนตัวเองอยู่เสมอ





ไม่ถือว่าหนักใจ เพียงแต่มีบางครั้งเสียอารมณ์บ้าง เครียดบ้าง หวังว่าคงไม่ถือสากัน เพราะบรรดาคุณพ่อทั้งหลายยอมรับระบบการทำงาน และให้ความร่วมมือดี พี่น้องสัตบุรุษที่มีส่วนทำงานด้วยกันก็มีน้ำใจดี อีกประการหนึ่ง ก็เป็นเพราะไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องเงินทุนสำหรับทำงาน เรื่องนี้พระคาร์ดินัลเป็นผู้ดูแลเอง การทำงานต้องใช้เงินแต่ต้องเข้าใจว่าต้องใช้อย่างถูกต้องด้วย ดังนั้นจึงพยายา มจัดอย่างเป็นระบบให้เห็นชัดว่าแต่ละปีมีงานอะไรที่ต้องทำและใช้เงินอย่างไร เพื่อว่าพระคาร์ดินัลจะเห็นได้ชัดเจนและตรวจสอบได้ง่ายขึ้น




20 ปีกว่าทำงานเคียงข้างกับพระคาร์ดินัลมาตลอด ผ่านงานมามาก คุณพ่อมีทัศน ะเรื่องงานอภิบาลหรือ มีหลักเกณฑ์อภิบาลอย่างไร ต้องมองงานอภิบาลว่าเป็นงานที่เสริมสร้างคริสตชนทุกคน ทุกเพศทุกวัย ทุกเงื่อนไขของชีวิต ให้เป็นผู้ประกาศข่าวดีแห่งความรอด ด้วยการดำรงชีวิตเป็นประจักษ์พยาน ทั้งด้วยการใช้วาจา และการทำกิจกรรมที่เหมาะกับเงื่อนไขชีวิตของตน และทำอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงของยุคปัจจุบัน ดังนั้น ต้องทำงานอภิบาลไม่ใช่แบบเป็นกิจวัตรที่ทำไปตามรู ปแบบที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ยังต้องพยายามรู้จักสถานการณ์แวดล้อมและปรับปรุงหรือพัฒนาให้เหมาะกับสิ่งที่เกิดขึ้นและควรจะเป็นด้วย ตัวอย่างเช่น เห็นว่าในประเทศไทยประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ก็ควรจะเข้าหาพวกเขาด้วยวิธีการต่างๆ เป็นต้นว่าด้วยการเสวนาทางศาสนากันก่อน ไม่ใช่นำคำสอนไปสอนพวกเขาทันทีโดยที่พวกเขายังไม่พร้อมที่จะรับฟัง  ดังนั้น เพื่อจะให้คริสตชนเข้าหาผู้คนต่างๆ ก็ต้องเสริมสร้าง คริสตชนให้รู้จักการทำเสวนาอย่างถูกต้องด้วย 

งานระดับสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ที่คุณพ่อดูแลอยู่คือคณะกรรมการบัญญัติศัพท์
งานนี้ไม่ใช่ง่าย ต้องการผู้รู้ภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง ซึ่งยังขาดอยู่ อีกประการหนึ่ง ศัพท์ที่บัญญัติไปก็ไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าไร เห็นยังติดกับศัพท์เดิมกันอยู่โดยทั่วไป แต่ไม่ท้อนะ จะพยายามต่อไป ขณะนี้มีผู้ถามหาคำศัพท์ที่บัญญัติแล้วอยู่เหมือนกัน จึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนผู้รู้ภาษาไทยดีๆ มาช่วยกันทำงานนี้ซะเลย หากสนใจติดต่อแจ้งความจำนงมาได้ทันที


มีหลายวิธีของการทำสื่อ อยากเห็นสื่อที่ทำผ่านอินเตอร์เน็ตทางเว็บไซส์ที่มีรายการตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กำลังวางแผนอยู่ อีกประการหนึ่ง หากอยากทำสื่อแบบมีรายการทางโทรทัศน์ ก็ควรทำรายการที่แฝงความบันเทิงแต่ให้มีแง่คิดตาม หลักการในพระวรสารด้วย โดยใช้มืออาชีพทำ เพื่อให้รายการเป็นที่สนใจและน่าติดตามจากผู้ชม และจากธุรกิจห้างร้านซึ่งคิดว่าเมื่อเขาสนใจเขาก็จะมาเป็นสปอนเซอร์ลงโฆษณาสินค้าของเขา และดังนี้ก็จะลดค่าใช้จ่ายหรืออาจจะถึงขั้นไม่ต้องใช้ทุนของตัวเองเลยก็ได้






ถามอย่างนี้เรียกว่าอยากล้วงตับกันเลยใช่ไหม จริงๆ แล้วไม่มีอะไรจะเปิดเผยให้ฟัง ชีวิตราบเรียบมาตลอด ไม่มีคลื่นลมโหมกระหน่ำมาแรงๆ จะรักษากระแสเรียกให้มั่นคง ก็ต้องรู้จักเรื่องของกระแสเรียกก่อน

พระกระแสเรียกของพระเป็นเจ้านี้มีหลายมิติ และมิติหนึ่งนั้นหมายถึงวิถีชีวิตที่พร ะเป็นเจ้าทรงเลือกให้เราเดิน ความหมายนี้แฝงอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นั่นคือ เมื่อเราเข้ารับศีลล้างบาปก็หมายถึงว่า เราได้รับเลือกจากพระเป็นเจ้าให้มาดำรงชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า เพราะฉะนั้น ก็หมายความว่าเรามีชีวิตบนวิถีของการเป็นผู้ประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้า หากเข้าพิธีปฏิญาณตนอย่างเป็นทางการว่าจะดำรงชีวิตยึดถือความเป็นโสด(พรหมจรรย์) ความยากจน ความนบนอบเชื่อฟัง ตามแบบพระคริสตเจ้าก็หมายถึงว่าได้รับเลือกมาดำรงชีวิตในวิถีของการเป็ นผู้ประกาศข่าวดีฯ ตามแนวทางที่กำหนดอย่างเจาะจง อันเนื่องมาจากการปฏิญาณตน ซึ่งวิถีชีวิตเช่นนี้เรียกชื่อว่า “นักพรต” (นักบวช) หากเข้ารับศีลบวชก็หมายความว่าคริสตชนผู้มีชีวิตในวิถีการเป็นผู้ประกาศข่าวดีฯ นั้น ได้รับเลือกให้เข้ามาสู่สังฆภาพของพระคริสตเจ้าและปฏิบัติพันธกิจการประกาศข่าวดีฯ ในกรอบของการเป็น “ตัวแทน” ของพระองค์ ซึ่งวิถีชีวิตเช่นนี้ เรียกว่า “ศาสนบริกรศักดิ์สิทธิ์” หรือที่เรียกกันตลอดมาว่า “พระสงฆ์”

ดังนั้น ก็หมายความว่าแต่ละวิถีชีวิตตามพระกระแสเรียกของพระเป็นเจ้านั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน คืออยู่ในฐานะเป็นผู้ประกาศข่าวดีฯ แต่การดำเนินงานประกาศข่าวดีฯ จะแตกต่างกันตามแนวทางหรือกรอบของวิถีชีวิตที่ตนสมัครใจเลือก เมื่อเป็นเช่นนี้การจะรักษาวิถีชีวิตตามกระแสเรียกของตนให้มั่นคงนั้น ประการแรกก็ต้องยอมรับแนวทางหรือกรอบของวิถีชีวิตนั้นด้วยจริงใจเต็มร้อย ไม่มีการแทงกั๊ก ว่ายังงั้นเถอะ และประการต่อมาคือใส่ใจพยายามเดินอยู่ในกรอบนั้นให้ได้ครบถ้วน ซึ่งระบุอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่ พระศาสนจักรวางไว้แล้ว และแน่นอนต้องอาศัยคำภาวนาด้วย เพราะเราเชื่อว่ากระแสเรียกนั้นมาจากพระเป็นเจ้า จึงพึงสวดภาวนาขอพระองค์ให้หนุนนำเราไว้เรื่อยๆ

ก็ได้พยายามทำเช่นนี้แหละ ดังนั้นพี่น้องทั้งหลายก็อย่าลืมสวดภาวนาให้กันและกันเสมอๆ นะ อายุขนาดนี้ถือว่าเกษียณแล้ว

อายุเกษียณกำหนดไว้ที่ 65 ปี ซึ่งก็เลยมาหลายปีแล้ว ปีนี้อายุ 72 ปี แต่พระคาร์ดินัลขอให้อยู่ในหน้าที่ต่อไปก่อนก็ยิน ดีรับ เพราะพระคาร์ดินัลบอกว่าให้รอเกษียณไปพร้อมกัน เหลือเวลาอีกไม่นานแล้ว



พระศาสนจักรต้องก้าวให้ทันโลกซึ่งเป็นโลกที่อยู่ในสถานการณ์ไม่คงที่ เป็นชาวโ ลกนี่แหละที่ทำให้สถาการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ชาวโลกยุคนี้ใส่ใจถึงพระวาจาของพระเป็นเจ้าน้อยลงเรื่อยๆ ฟังแต่เสียงของตัวเอง
ดังนั้น เมื่อพระศาสนจักรซึ่งประกอบด้วย พระสงฆ์ คริสตชนฆราวาส และนักบวช มีหน้าที่ต้องประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้าก็จะต้องทำหน้าที่อย่างเข็มแข็งยิ่งขึ้น ยุคนี้ควรเป็นยุคของคริสตชนฆราวาส พระศาสนจักรก็หันมามองคริสตชนฆราวาสและเห็นว่าต้องเป็นผู้มีบทบาทในการประกาศข่าวดีที่สำคัญที่พระศาสนจักรจะขาดไม่ได้เลย เพราะว่าคริสตชนฆรา วาสก็เป็นส่วนหนึ่งของชาวโลกและดำรงชีวิตอยู่ในท่ามกลางชาวโลกอยู่แล้ว หากคริสตชนฆราวาสแสดงบทบาทอย่างเข้มแข็ง พระวาจาของพระเป็นเจ้าก็จะเข้าถึงชาวโลกได้อย่างกว้างไกล

ทุกวันนี้ไปพูดหรือบรรยายที่ไหนๆ ก็จะเน้นเรื่องความสำคัญของบทบาทของฆราวาสอยู่เสมอ
ดังนั้น พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้อภิบาลของคริสตชนฆราวาส ต้องเป็นผู้นำชี้แนะ ส่งเสริม และสนับสนุนคริสตชนฆราวาสด้วยวิธีการต่างๆ อ ย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถประกาศข่าวดีตามสถานภาพของตนได้อย่างเต็มที่ คณะนักบวชก็เช่นกันต้องให้การส่งเสริม และสนับสนุนคริสตชนฆราวาสอย่างเต็มที่ด้วย

จึงอยากจะบอกว่าเราคริสตชนทั้งพระสงฆ์ ฆราวาส และนักบวช ต้องไม่ทอดทิ้งกันและปล่อยให้ต่างคนต่างทำ แต่ต้อง “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (กจ.4:32)

คุณพ่อจำเนียรในวัยที่ 72 สำหรับผมช่างไม่ต่างจาก 10 กว่าปีที่แล้ว ที่มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ ลูกหากัน ความคิดยังอิงอยู่กับหลักการ ที่ชัดเจน ความทรงจำยังเป็นเลิศ สุขภาพก็ดูแข็งแรง ชีวิตของคุณพ่อจึงเป็นบทเรียน เพื่อส่งผ่านจากช่วงเวลาหนึ่ง สู่อีกช่วงเวลาหนึ่ง เป็นเหมือนเงาที่สะท้อนเรื่องราวแห่งกาลเวลาของพระศาสนจักร สร้างความทรงจำที่งดงามให้เห็นถึงความเชื่อ การประทับอยู่ของพระท่ามกลางงานต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ขอบคุณ :  ข้อมูลจากสำนักเลขาธิการ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  |  บทสัมภาษณ์ อุดมศานต์