หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

บางเสี้ยวของ AD LIMINA กับสภาพระสังฆราชไทย
 จากประสบการณ์ของสงฆ์ไทยในโรม

Don Daniele    เขียน
Tartaruga      ภาพ

การเยี่ยมทุก 5 ปี หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ad Limina visit” หมายถึงการเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาเป็นการเฉพาะของพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล เพื่อถวายรายงานเกี่ยวกับสถานะของสังฆมณฑลของตนทุกๆ 5 ปี อันแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับสันตะสำนัก และใช้โอกาสนี้ไปคารวะหลุมศพของนักบุญเปโตรและเปาโล ตามธรรมเนียมดั้งเดิมของบรรดาคริสตชน

ความเป็นมา

การเยี่ยมครั้งแรก (The first Ad Limina)    พบอย่างชัดเจนในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย “สามปีต่อมา ข้าพเจ้าขึ้นไปหาเคฟาสที่กรุงเยรูซาเล็ม  และพักอยู่กับท่านสิบห้าวัน” (กท 1, 18) ในการไปครั้งนั้นนักบุญเปาโลได้อธิบายให้นักบุญ   เปโตรได้เข้าใจถึงความยากลำบากในการประกาศพระวรสารแถบยูเดีย  นับเป็นการพบปะและปรึกษาหารือกันเป็นครั้งแรก

คำว่า “ad Limina Apostolorum”  ตามประวัติพระศาสนจักรในระยะเริ่มแรก หมายถึงการไปคารวะหลุมศพของนักบุญเปโตรและเปาโลของบรรดาคริสตชน เป็นการ ไปแสวงบุญและภาวนาเหนือหลุมศพของอัครสาวกทั้งสอง ต่อมาภายหลังได้มีการใช้คำนี้หมายถึงการเยี่ยมของพระสังฆราชที่กรุงโรมตามข้อกำหนดของสังคายนาแห่งโรม   ปี

ค.ศ. 743 โดยพระสันตะปาปา ซากาเรีย เป็นเวลาหลายศตวรรษที่การไปเยี่ยมในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นการบังคับ   จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1585 พระสันตะปาปา ซิกซ์ตุสที่ 5 ได้ออกธรรมนูญ Romanus Pontifex    กำหนดให้มีการเยี่ยม     ad limina   ของบรรดาพระสังฆราชทุกๆ สามปี และได้รับการรับรองโดยพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 14 ในธรรมนูญ Quod sancta ในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1740

ในปี ค.ศ. 1909 พระสันตะปาปา ปีโอที่ 10 ได้ออกกฤษฎีกาว่าด้วยคณะนักบวชกำหนดให้พระสังฆราชเข้าเฝ้าถวายรายงานทุกๆ 5 ปี  โดยเริ่มในปี ค.ศ. 1911    ซึ่งการเยี่ยมนี้ไม่ใช่เฉพาะพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลเท่านั้น แต่รวมถึงสังฆรักษ์ (Apostolic prefect) และผู้ปกครองเขตมิสซัง (Apostolic vicars) ด้วย  ในปี ค.ศ. 1975 ในกฤษฎีกาว่าด้วยพระศาสนจักรโรมัน (Ad Romanam Ecclesiam)   ได้จัดระเบียบองค์กรใหม่และกำหนดให้การเยี่ยมดังกล่าวกระทำทุกๆ 5 ปี     ซึ่งปัจจุบันข้อกำหนดดังกล่าวได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายพระศาสนจักร ปี ค.ศ. 1983 มาตรา 339 และมาตรา 400

ad Limina ของสภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทย

 

โดยปกติ บรรดาพระสังฆราชจะไป Ad Limina เป็นหมู่คณะ  อาจกระทำพร้อมกันเป็นเขตประเทศหรือแขวง (Metropolitan) ตามแต่จำนวนมากน้อยของสังฆมณฑลในแต่ละประเทศ  สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก ประกอบด้วย  10 สังฆมณฑล ได้เดินทางไป Ad Limina พร้อมกัน

คณะพระสังฆราชคาทอลิกไทยนำโดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และพระสังฆราชยอร์ช ยอด  พิมพิสาร  ประมุขสังฆมณฑลอุดรธานี ประธานสภาพระสังฆราช  พร้อมด้วย พระสังฆราชลอเรนซ์ เทียนชัย    สมานจิต ประมุขสังฆมณฑลจันทบุรี, พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง,  พระสังฆราชยอห์น บอสโก ปัญญา  กฤษเจริญ ประมุขสังฆมณฑลราชบุรี, พระสังฆราชฟิลิป บรรจง ไชยรา ประมุขสังฆมณฑลอุบลราชธานี, พระสังฆราชยอแซฟ ชูศักดิ์  สิริสุทธิ์ ประมุขสังฆมณฑลนครราชสีมา, พระสังฆราชฟรังซิส เซเวียร์ เกรียงศักดิ์  โกวิทวานิช  ประมุขสังฆมณฑลนครสวรรค์และคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม อุปสังฆราชสังฆมณฑลเชียงใหม่    (ผู้แทนพระสังฆราชยอแซฟ สังวาลย์ ศุระศรางค์) ได้เดินทางถึงกรุงโรม ประเทศอิตาลีเช้าวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม ตามเวลาในอิตาลี     ส่วนพระสังฆราชโยเซฟ ประธาน  ศรีดารุณศีล ประมุขสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี และพระสังฆราชมีคาแอล บุญเลื่อน  หมั้นทรัพย์ อดีตประมุขสังฆมณฑลอุบลราชธานี ได้เดินทางมาสมทบภายหลัง

กำหนดการของสภาพระสังฆราชไทย    เริ่มด้วยการไปดูงานที่กระทรวงประกาศพระวรสารสู่ปวงชน (Propaganda Fide) ในวันพุธที่ 14 พฤษภาคม จากนั้น  บรรดาพระสังฆราชแต่ละองค์ก็จะแยกย้ายกันไปดูงานตามกระทรวงและฝ่ายต่างๆ ที่ตนเองรับผิดชอบในสภาพระสังฆราช    ส่วนการเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาเพื่อถวายรายงานมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 15 เริ่มจากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯและสังฆมณฑลที่อยู่ในแขวง (Metropolitan) ได้แก่ สังฆมณฑลจันทบุรี, นครสวรรค์,   ราชบุรี   และสุราษฎร์ธานี ส่วนแขวงอีสานได้แก่ อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง, อุบลราชธานี, อุดรธานี    และนครราชสีมา พร้อมกับสังฆมณฑลเชียงใหม่ มีขึ้นในวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม

ตอนเที่ยงของวันศุกร์ที่  16   พฤษภาคมที่ผ่านมาตามเวลาในอิตาลี       พระคาร์ดินัลและพระสังฆราชคาทอลิกไทยจาก   10 สังฆมณฑล ได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 เป็นหมู่คณะ โดยมีพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ประธานสภาพระสังฆราช เป็นผู้กล่าวรายงาน และสมเด็จพระสันตะปาปาทรงกล่าวต้อนรับ ขอบคุณและให้ข้อคิดกับนายชุมพาบาลชาวไทย  ให้ช่วยกันส่งเสริมการศึกษาของโรงเรียนคาทอลิก ทรงเตือนนักบวชชายหญิงที่ทำงานในโรงเรียนให้เป็นประจักษ์พยาน และเผยแผ่ความรักของพระเจ้าในโลก ขณะเดียวกันทรงย้ำเรื่องความสัมพันธ์กับพี่น้องชาวพุทธ ในความร่วมมือและส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกัน   พร้อมทั้งแสดงความเป็นห่วงต่อการนำเสนอเรื่องเพศในสื่อมวลชนและวงการบันเทิง ที่ทำให้คุณค่าทางศีลธรรมลดต่ำลง

พระองค์ทรงตรัสกับนายชุมพาชาวไทยตอนหนึ่งว่า “จงให้กำลังใจบรรดาสัตบุรุษให้ยึดมั่นในทุกสิ่งที่จะบันดาลให้เกิดชีวิตใหม่ แห่งการเสด็จมาของพระจิตเจ้า... ดังนั้นการเสด็จมาของพระจิตเจ้า จึงเป็นทั้งพระพรและภารกิจ ซึ่งจะกลับกลายเป็นพระพรแห่งการส่งไป กล่าวคือ การนำเสนอพระคริสตเจ้าและความรักที่พระองค์ให้แก่โลกในประเทศไทย พระพรนี้สามารถสัมผัสได้ โดยผ่านทางการรักษาพยาบาลและการพัฒนาตลอดจนกิจการของ โรงเรียน อาศัยสิ่งเหล่านี้เองที่ชาวไทย ผู้น่านับถือ สามารถมองเห็นและรับรู้ พระพักตร์ของพระเยซูคริสตเจ้าได้”

ในตอนท้าย สมเด็จพระสันตะปาปาทรงชมเชยความพยายามของกลุ่มคริสตชนในประเทศไทย   ที่พยายามรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของชีวิตมนุษย์ ในความสนใจเป็นพิเศษต่อปัญหาสตรี เด็กและโสเภณี ผ่านทางโครงการสังคมพัฒนาของพระศาสนจักร ที่สุดพระองค์ทรงอวยพรแก่พระสังฆราช บรรดาพระสงฆ์ นักบวช สามเณรและบรรดาสัตบุรุษชาวไทยทุกคน

คุณค่าและความสำคัญ

การเยี่ยม Ad Limina นอกจากเป็นโอกาสให้พระสังฆราชได้คารวะหลุมศพของนักบุญเปโตรและเปาโลและเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาเป็นการส่วนตัวเพื่อเสนอรายงานแล้ว  ยังเป็นโอกาสที่พระสันตะปาปาจะตรัสกับพระสังฆราชเป็นการส่วนตัว และเสนอมุมมองที่ท้าทายของพระศาสนจักรกับพระสังฆราชเกี่ยวกับสังฆมณฑลของตน

ดังนั้น การเยี่ยม Ad Limina  จึงมิใช่การปฏิบัติแบบทั่วไปตามกฎหมายหรือพิธีการทางการทูต แต่เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าด้านศาสนบริการระหว่างพระสันตะปาปากับพระสังฆราช   ที่จะทำให้รับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงอันหนักอึ้งของพระศาสนจักรตามสภาพท้องที่ เวลา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

นอกนั้นยังเป็นโอกาสให้ผู้ติดตามได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด   โดยเฉพาะบรรดาพระสงฆ์ไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศอิตาลีรวมถึงสัตบุรุษผู้ติดตาม    โดยพระสังฆราชแต่ละองค์สามารถมีผู้ติดตามได้ 3 คน    เรียกได้ว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้มีโอกาสเข้า เฝ้าอย่างใกล้ชิดและพระองค์ตรัสถามอย่างเป็นกันเองเช่นนี้  คงมีไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้รับโอกาสและสิทธิพิเศษดังกล่าว  แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ  แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่วิเศษสุดที่ทำให้ทุกคนตื่นเต้นและประทับใจ บางคนถึงกับบอกกับพระสังฆราชของตัวเองว่า “ผมไม่ต้องเรียนที่โรมอีกก็ได้ เพราะได้เฝ้าพระสันตะปาปาแล้ว” บางคนเตรียมคำพูดไว้มากมายแต่พูดไม่ออก  เป็นประสบการณ์และความทรงจำที่ไม่มีวันลืมเลือน

วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม บรรดาพระสังฆราชและผู้ติดตามได้รับเชิญจากพระคาร์ดินัลเรนาโต มาร์ตีโน ให้ไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านพักของท่านและเวลา   18.00 น.  ตามเวลาในอิตาลี   ได้มีพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณร่วมกัน  ระหว่างคณะพระสังฆราชกับบรรดาพระสงฆ์ นักบวชและสัตบุรุษที่กำลังศึกษาและทำงานอยู่ที่กรุงโรม โดยมีพระคุณเจ้าบรรจง ไชยรา  เป็นประธานในพิธี ในตอนหนึ่งของบทเทศน์ พระคุณเจ้าได้อ้างถึงพันธกิจที่พระสันตะปาปาตรัสกับบรรดาพระสังฆราชที่ว่า
“Your visit ad Limina Apostolorum is an occasion to strengthen your commitment to make Jesus increasingly visible within the Church and known in society through witness to the love and truth of his Gospel”  (การเยี่ยม     “Ad Limina Apostorolum” ของท่าน  เป็นโอกาสที่จะช่วยให้ความตั้งใจของท่าน  ในอันที่จะทำให้พระเยซูเจ้าทรงเป็นที่สังเกตได้มากขึ้นภายในพระศาสนจักรและให้พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในสังคมไทยโดยผ่านการเป็นประจักษ์พยานให้แก่ความรักและความจริงแห่งพระวรสารของพระองค์)

หลังพิธีมีการรับประทานอาหารร่วมกันที่ร้านอาหารจีน โดยพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย  กิจบุญชู เป็นเจ้าภาพ  ทำให้ทุกคนที่มาร่วมได้รับอานิสงค์ ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของวันนี้คือ เมื่อ 38 ปีที่แล้ว ณ ลานมหาวิหารนักบุญเปโตรพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร  สันติสุขนิรันดร์ ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ โดย สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโลที่ 6    ขอร่วมแสดงความยินดีกับพระคุณ เจ้าในโอกาสนี้ด้วย