หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

             ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายนจนถึงวันพุธที่ 11 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2008 ผมพร้อมกับคณะพระสงฆ์ ซิสเตอร์ และสัตบุรุษจำนวน 51 ท่าน ได้มีบุญร่วมเดินทางไปแสวงบุญพร้อมกับพระคุณเจ้า พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ณ ประเทศ ฝรั่งเศส ในโอกาสสำคัญสองเหตุการณ์ คือ โอกาส150 ปีแห่งการประจักษ์ของพระแม่ที่เมืองลูร์ด และการฉลอง 350 ปีการก่อตั้งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) คณะแสวงบุญของเรานับได้ว่าเป็นคณะเดินทางที่ค่อนข้างใหญ่ มีพระสังฆราชร่วมเดินทางไปในครั้งนี้จำนวน 2 ท่าน พระสงฆ์ 17 ท่าน ซิสเตอร์ 9 ท่าน ฆราวาสทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 23 ท่าน เป้าหมายที่เราทุกคนเพ่งมองไปข้างหน้าในช่วงเวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์นี้คือ “การแสวงบุญ” พวกเราแต่ละคนหวังจะได้พบ และได้รับพระพรของพระเจ้า ผ่านทางพระแม่แห่งเมืองลูร์ด ตามที่พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “จงแสวงหาเถิดแล้วท่านจะพบ”

             บทเรียนบทแรกที่คณะของเราต้องเรียนรู้บนเส้นทางการแสวงบุญเข้ารับพระพรของพระเจ้าคือบทเรียนแห่ง “การเดินทาง” เมื่อมองย้อนหลังมองชีวิตแห่งการแสวงบุญตลอดหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาผมมองเห็นค่อนข้างชัดเจนว่า การจะรับพระพรแบบผู้มีบุญจำเป็นต้อง “เดิน” เขาไปหาพระเจ้า มิใช่นั่งรอนอนรอให้ “บุญหล่นทับ” และการอวยพรของพระเจ้านั้นมิได้ประทานให้กับเราแบบการมอบเหรียญรางวัลตอนเข้าเส้นชัย แต่พระองค์ประทานให้ตลอดทุกก้าวที่เดินไปหาพระองค์ตลอดเส้นทางการเดินทางตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมายปลายทางเลยทีเดียว

           นับตั้งแต่เริ่มต้นนำกระเป๋าผ่านการตรวจก่อนขึ้นเครื่องบินและจัดทำเอกสารสำคัญสำรับการเดินทางออกนอกประเทศผมเริ่มรับรู้ถึงพระพรของพระเจ้าที่เริ่มต้นแสดงผลงานแห่งความรักของพระเจ้าลงสู่ชีวิตของคณะเดินทางทันท ี ผมอยากเรียกพระพรของพระเจ้าประการนี้ว่า “พระพรแห่งการรอคอย” เพราะช่วงแห่งการรอคอยแต่ละจุดๆตลอดทั้งอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาให้บรรดาลูกๆได้มีโอกาสพูดคุยกับพระคุณเจ้าทั้งสองอย่างใกล้ชิด สิ่งที่อดีตพระคุณเจ้า ยวง นิตโย ที่รักยิ่งเคยกล่าวไว้ว่า “พระหรรษทานของพระเจ้าหลั่งลงมาผ่านทางผู้ใหญ่” ปรากฏผลงานเป็นจริงผ่านพูดคุยอย่างใกล้ชิดของบรรดาสัตบุรุษกับพระคุณเจ้าทั้งสองและคณะสงฆ์ นักบวช ที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน โดยส่วนตัวแต้วผมไม่รู้หลอกว่าเนื้อหาของการสนทนาเป็นเรื่องอะไรแต่สังเกตเห็นว่าแววตาและสีหน้าเต็มเปี่ยมด้วยความปีติสุข นี่คือหนึ่งในบุญและพระพรที่เริ่มทำงานแล้วตังแต่ต้นและตลอดการเดินทางแสวงบุญครั้งนี้

เครื่องบินเที่ยว TG 930 ของการบินไทย ได้นำคณะแสวงบุญของเราออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประมาณเวลา 0.25 น.ของเช้าวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน มุ่งสู่สนามบินชาร์ล เดอ โกล กรุง ปารีส ประเทศฝรั่งเศส แบบม้วนเดียวจบแบไม่แวะระหว่างทาง ใช้เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมงเต็ม ทันทีที่ลงจากเครื่องบินทุกคนต้องรีบลากกระเป๋าของตนขึ้นรถบัสเพื่อไปขึ้นรถไฟความเร็วสูงมุ่งสู่ เมือง ลูร์ด ทันที แต่ทันทีที่ถึงสถานนีรถไฟก็ปรากฏว่าเรามีเวลาไม่ถึง10 นาที รถไฟก็จะเริ่มออกเดินทางแล้ว นี่เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ตื่นเต้นอย่างสุดๆ พวกเราขึ้นรถไฟได้ทันเวลาแบบเฉียดฉิว ใช้เวลาบนรถไฟประมาณอีก 6 ชั่วโมงจึงถึงเมือง ลูร์ด นับเป็นการเดินทางแบบไม่หยุดพักที่ยาวนานที่สุดเท่าที่ผมเคยเดินทางในชีวิต หากนับเวลาตั้งแต่การนำกระเป๋าขึ้นเครื่องบินจนถึงลงจากรถไฟที่เมืองลูร์ด ใช้เวลาประมาณ 20 กว่าชั่วโมงกว่าจะเข้าที่พักในโรงแรม บนบทเรียนแห่งการเดินทางอันยาวนานเช่นนี้เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่พระพรของพระเจ้าค่อยๆทำงานอยู่ในคณะเดินทางของเรา

ผ่านทาง “ความยากลำบาก” ที่พวกเราร่วมทนทุกข์ด้วยกัน หลายๆคนในคณะเดินทางมีอาการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจาก “อาหาร” บ้าง จาก “การพักผ่อนไม่พอเพียง” บ้าง จากอาการ “ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ” บ้าง ฯลฯ การร้องขอ “ยา” ของผู้เจ็บป่วย การนำเสนอยาชนิดต่างๆพร้อมทั้งภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการักษาในรูปแบบต่างๆ นับเป็นภาพของความเอื้ออาทรต่อกันซึ่งสะท้อนถึงความรักของพระเจ้าที่แสดงออกผ่านทางผู้มีน้ำใจดีทั้งหลายที่แสดงน้ำใจให้แก่กัน ทำให้ผมนึกถึงบทสร้อยที่เราร้องกันในพิธีกรรมช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ว่า “เมตตาธรรมและความรักอยู่ที่ใด พระเจ้าก็อยู่ที่นั้น” ยิ่งมองเห็นอาสาสมัครจำนวนมากอุทิศตนเข็นรถนำผู้ป่วยจำนวนมากเข้าร่วมแสวงบุญทั้งตามโรงแรมที่พักและตามลานหน้าถ้ำแม่พระแล้ว ผมว่าพร้อมๆกับการมองเห็นชีวิตที่ต้องผ่านความทุกข์ยากลำบาก เราก็เห็นพระหัตถ์ของพระเจ้าที่อำนวยพระพรของพระเจ้าพระบิดาบนสวรรค์ลงสู่ลูกๆของพระองค์บนโลกนี้ผ่านทางความศรัทธาต่อพระแม่แห่งเมืองลูร์ด

       เย็นวันศุกร์ที่เรามาถึงเมืองลูร์ดนั้นเองประมาณ 6 โมงครึ่งเย็น พวกเราได้ร่วมถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณร่วมกัน ณ อาสนวิหารพระแม่ผู้ปฏิสนธินิรมล ซึ่งอยู่ด้านหน้าก่อนเข้าถึงถ้ำแม่พระ ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเย็นวันนั้น พระคุณเจ้า เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ได้นำเอาชีวประวัติของท่านนักบุญแบร์นาแด๊ตมาประกอบบทเทศน์ของท่านทำให้เห็นว่านักบุญแบร์นาแด๊ตได้เป็นเครื่องมือของพระเจ้าที่ยืนยันถึงข้อความเชื่อที่ว่า “พระมารดาเป็นผู้ปฏิสนธินิรมล” ซึ่งพระศาสนจักรได้ประกาศเป็นข้อความเชื่อก่อนหน้านั้นได้อย่างดียิ่ง หลังพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณแล้วก็ได้เวลารับประทานอาหารเย็นร่วมกันที่โรงแรมที่พัก เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้เวลาจะล่วงไปถึงสองทุ่มแล้ว แสงแดดยังสว่างจ้าเหมือนตอนบ่ายสามหรือสี่โมงเย็นที่บ้านเราอยู่เลย สอบถามจึงได้ความว่าที่นี่ในช่วงจะเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูร้อน   กว่าจะมืดต้องรอจนถึงสามทุ่ม

           เช้าวันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน อันเป็นวันที่คณะของเราจะต้องเดินทางแสวงบุญด้วยเท้าเข้าเยี่ยมสถานที่แสวงบุญทั้ง 4 แห่ง เพื่อรับพระคุณการุณย์ ประกอบด้วย 1.วัดน้อยที่นักบุญแบร์นาแด๊ต ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก 2.วัดที่นักบุญแบร์นาแด๊ต ได้รับศีลล้างบาป 3.บ้านของครอบครัวซูบิรูส์ ที่กาโช (Cachot) 4.ถ้ำมัซซาเบียล สถานที่แม่พระทรงประจักษ์แก่นักบุญแบร์นาแด๊ต

             เริ่มต้นวันเดินทางแสวงบุญด้วยการร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณโดยพระคุณเจ้า พระคาร์ดินัลเป็นประธาน ผมจำได้ว่าพระคุณเจ้าได้ให้บทเทศน์ที่ดีมากกับพวกเราในวันนั้น แต่ที่ติดใจผมมากอยู่ตรงหลังการอวยพรของพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าได้เชิญชวนให้คณะของเราภาวนาให้กับพระสงฆ์ที่ร่วมเดินทางมาแสวงบุญโอกาสครบรอบวันบวช 27 ปี ในวันนั้นพอดี คือคุณพ่อ สุรชัย ชุ่มศรีพันธ์ รวมทั้งผมด้วย ส่วนตัวแล้วการได้ถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณโอกาสครบรอบวันบวชตรงสถานที่ที่แม่พระประจักษ์เป็นช่วงเวลาแห่งความสงบสุขเป็นอย่างยิ่ง จำไม่ได้ว่าได้วอนขออะไรกับแม่พระบ้างในช่วงเวลานั้น รู้แต่ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการภาวนาและสงบสุข หลังจากพระคุณเจ้าขอให้สวดภาวนาให้กับพระสงฆ์ทั้งสองแล้ว (ความจริงยังมีคุณพ่อ วิชุกร เกตุภาพ อีกท่านหนึ่งด้วยที่ฉลองครบรอบ การรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ครบรอบ 21 ปี ในวันเดียวกัน) พระคุณเจ้าได้ขอให้ภาวนาสำหรับความสงบสุขในประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา โดยพระคุณเจ้าได้นำเอาบทภาวนาถวายประเทศไทยที่ใช้สวดในวันฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์มาสวดด้วย ในช่วงเวลานั้นผมรู้สึกจริงๆว่า เรื่องความสงบสุขในประเทศไทยของเรา ทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการชุมนุมที่ยืดเยื้อในกรุงเทพฯ จะหวังเพียงในน้ำมือของเรามนุษย์เท่านั้นคงไม่เพียงพอแน่ เราต้องพึ่งเบื้องบน และพระแม่แห่งลูร์ด เป็นคำตอบที่เราเข้ามาขอต้องพึ่งท่านให้เข้าช่วยเหลือเพื่อความสงบสุขในประเทศของเรา

หลังจากทานอาหารเช้าแล้ว คณะของเราก็เริ่มต้นเดินเท้าออกแสวงบุญทันที ผมคิดว่ากิจกรรมหลักที่เป็นหัวใจของการแสวงบุญครั้งนี้ก็คือ “การสวดภาวนา” อันประกอบด้วยบทภาวนาที่แต่ขึ้นให้ภาวนาพร้อมๆกันแบบมีเทววิทยาเฉพาะแต่ละสถานที่ๆที่เข้าเยี่ยม จากนั้น สวดบทข้าพเจ้าเชื่อ บทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย บทวันทามารีอา และสิริพิงมีแด่พระบิดาและพระบุตรและพระจิต เพื่อขอรับพระคุณการุณย์ ในช่วงเวลาแห่งการแสวงบุญนี้ การจะจับกลุ่มสวดภาวนาถือเป็นเรื่องธรรมดา มีเห็นอยู่ทั่วไป คณะของเราจึงยืนจับกลุ่มสวดภาวนากันแบบไม่รู้สึกเขินอายแต่อย่างใดท่ามกลางผู้คนที่เดินผ่านไปมารอบข้าง เพราะที่นี่เป็นเมืองแห่งการสวดภาวนาจริงๆ คนที่ไม่ส่วดภาวนาต่างหากที่น่าจะเป็นฝ่ายเขินอาย เป็นที่น่าสังเกตว่า

คณะเตรียมการเพื่อการแสวงบุญได้จัดเตรียมกิจกรรมเพื่อการภาวนาไว้ได้อย่างลงตัวดีมาก เริ่มตั้งแต่บนถนน ได้มีการตีเส้นสีขาวตามถนนสายต่างๆเพื่อบอกเห็นทางการเดินไปสู่สถานที่ที่จะไปเยี่ยมแสวงบุญ ใครเดินตามเส้นที่กำหนดไว้จะไม่มีวันหลง จะสามารถไปถึงสถานที่เข้าเยี่ยมแสวงบุญได้อย่างถูกต้องทุกที่ รวมทั้งจัดทำบัตรห้อยคอพิเศษเพื่อนำสติ๊กเกอร์สถานที่แสวงบุญแต่ละสถานที่มาติดได้เมื่อจบการเยี่ยมในแต่ละสถานที่ ใครที่ไปเยี่ยมครบทั้งสี่แห่งก็จะมีสกิ๊กเกอร์ให้ติดสี่อัน เป็นเครื่องหมายว่าได้เยี่ยมสถานที่ได้ครบทั้งสี่แห่งครบตามเงื่อนไขสำหรับขอรับพระคุณการุณย์ได้ตามเงื่อนไขของการแสวงบุญโอกาส 150 ปีแห่งการประจักษ์ของแม่พระที่เมืองลูร์ดนี้ หลังจากกิจกรรมเดินเยี่ยมสถานที่ที่กำหนดแล้ว ในภาคบ่ายประมาณบ่ายสามโมง ร่วมกันเดินรูปสิบสี่ภาคต่อ แล้วช่วงประมาณ สามทุ่ม ก็ร่วมแห่โคมไฟถวายเกียรติแด่แม่พระที่บริเวณถ้ำ

ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน คณะของเราโบกมืออำลาพระแม่ขึ้นรถไฟอีกประมาณ 6 ชั่วโมงกลับเข้ากรุงปารีสอีกครั้ง เพื่อเข้าร่วมพิธีมิสซาบูขาขอบพระคุณฉลอง 350 ปีการก่อตั้งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) ในเวลา หกโมงเย็นของวันนี้ ที่อาสนวิหาร Norte Dame de Paris หลังจากรถไฟมาถึงกรุงปารีสแล้ว คณะของเราได้พักเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว ณ โรงแรมที่พัก แล้วเดินทางมาที่อาสนวิหารทันที ในช่วงเวลาที่พวกเรามาถึงนั้นเป็นเวลาประมาณ บ่ายห้าโมงครึ่งเห็นจะได้ จำได้ว่าก่อนจะถึงหน้าอาสนวิหารได้เดินผ่านหน้าที่ว่าการนครกรุงปารีส มีผู้ค

นนั่งชมการถ่ายทอดสดการแข็งขันเทนนิสรอบชิงชนะเลิศระหว่างราฟาเอลนาดาล กับ โรเจอร์ เฟ็ดเดอร์เรอร์ อยู่เต็มไปหมด พอมาถึงหน้าอาสนวิหารก็เห็นว่ามีเก้าอี้จัดเรียงเต็มหน้าอาสนวิหาร และภายในอาสนวิหารก็เต็มไปด้วยผู้คนที่มาร่วมงานจนแน่นอาสนวิหาร

เวลา บ่ายหกโมงเย็นตามกำหนดการขบวนพระสงฆ์น่าจะมากกว่า 400 องค์ พร้อมด้วยพระสังฆราชจากพระเทศต่างๆ รวมทั้งพระคาร์ดินัลซึ่งมีทั้งพระคาร์ดินัล ดีอาส และพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ลมีชัยกิบุญชู พระคุณเจ้าของเราก็เดินแห่เข้าสู่อาสนวิหารเพื่อเริ่มพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ตลอดเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเห็นจะได้ที่ร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ต้องยอมรับว่าภาษาฝรั่งเศสที่เคยเรียนมาในชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 4-5 ช่วยอะไรไม่ได้เลย คงมีเพียงคำสองสามคำที่เอ่ยชื่อ “บางกอก” “ไทยแลนด์” ที่กล่าวถึงทำให้พอเดาได้ว่ากำลังมีการกล่าวอ้างถึงประเทศไทยของเราอยู่ อย่างไรก็ตามตั้งแต่เริ่มแห่เข้าหน้าอาสนวิหารได้สังเกตว่าชาวกรุงปารีสได้ให้ความสนใจกับพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในครั้งนี้เป็นอย่างมาก ขณะที่เดินแห่เข้าสายตาของผู้คนจับจ้องขบวนพระสงฆ์อย่างชื่นขม บ้างก็ถ่ายรูป บ้างก็จ้องมองอย่างไม่ละสายตา ในอาสนวิหารที่เห็นสัตบุรุษนั่งอยู่เต็มนั้นเชื่อแน่ว่าเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศต่างๆซึ่งบรรดามิสชันนารีของคณะนี้ได้เข้าไปทำงานเป็นส่วนมาก เห็นมีทั้งจากประเทศลาว เวียดนาม อินเดีย ฯลฯ รวมทั้งคณะของเราจากเมืองไทยซึ่งได้รับเกียรติให้นั่งอยู่ในแถบหน้าๆของอาสนวิหารเลยทีเดียวนั่งอยู่เต็มอาศนวิหาร อย่างที่บอกในข้างต้นว่าพิธีกรรมและพิธีการใช้ภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด แต่ในบทอ่าน บทภาวนาเพื่อมวลชนมีภาษาท้องถิ่นของประเทศต่างๆแทรกเข้ามาด้วย โดยเฉพาะ ในบทภาวนาก่อนเสกศีลมหาสนิท พระคุณเจ้าพระคาร์ดินัลของเราได้ร่วมภาวนาเป็นภาไทยตอนหนึ่งด้วย และในตอนท้ายของพีมิสซาบูชาขอบพระคุณก่อนประธานในพิธีจะอวยพร ประธานในพิธีได้กล่าวแสดงความชื่นชมสั้นๆแก่พระคุณเจ้าพระคาร์ดินัลของเรา โอกาสบวชเป็นพระคาร์ดินัลครบ 25 ปีด้วย

           ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยในเช้าของวันจันทร์ที่ 9 คณะของเราได้มีโอกาสเดินทางไปถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณที่วัดของท่านนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซูที่เมืองลิซิเออร์และเข้าเยี่ยมบ้านของท่านนักบุญด้วย แล้วกลับมาเยี่ยมบ้านของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP)และวัดแม่พระเหรียญอัศจรรย์ เป็นแห่งสุดท้าย

เส้นทางการแสวงบุญที่เริ่มต้นตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน บัดนี้ได้ดำเนินมาจบครบสมบูรณ์แล้ว ในทันทีที่ล้อเครื่องบินแตะสนามบินสุวรรณภูมิอีกครั้งในตอนเช้าของวันพุธที่ 11 มิถุนายน การเดินทางเพื่อแสวงหาได้จบสิ้นแล้ว คงเหลือแต่ประสบการณ์และผลบุญที่เราแต่ละคนได้พบได้เห็นได้สัมผัสมาตลอดหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา

ความจริงในขณะที่พวกเราเดินทางกลับ พระคุณเจ้าพระคาร์ดินัลกับคณะแสวงบุญบางส่วนยังคงเดินทางไปแสวงบุญต่อที่กรุงโรม เพื่อเยี่ยมแสวงบุญ ณ วิหารนักบุญเปาโล โอกาสปีนักบุญเปาโลต่อไปอีก ส่วนพวกเรากลับมา “เสวย” บุญที่เราได้รับจากพระแม่แห่งลูร์ด์ต่อเนื่องกับบุญกุศลเดิมของเราแต่ละคนในพระเทศไทยของเราต่อไป แม้ผมจะไม่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์การแสวงบุญครั้งนี้ได้ครบถ้วนตามประสบการณ์ที่ได้พบเห็นในการแสวงบุญครั้งนี้ แต่ก็หวังว่า ภาพ วี.ดี.โอ.ตอนต่างๆที่แผนกเทคโนโลยีฝ่ายงานอภิบาลและธรรมทูตฯนำมาแทรกประกอบคำเล่าของผมนี้จะมีส่วนช่วยให้ทุกๆท่านได้สัมผัสประสบการณ์การแสวงบุญครั้งนี้ได้มากยิ่งขึ้นอีกไม่มากก็น้อย ขอพระแม่มารีอา พระมารดาแห่งลูร์ดอำนวยพรแด่พี่น้องทุกๆท่านครับ