หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

  บทเทศน์ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ
โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ลมีชัย กิจบุญชู  56 k | dsl

  กล่าวไว้อาลัย ต่อ เคียร่า ลูบิค
โดยพระสมณทูต ซัลวาตอเร เปนนักคีโอ 56 k | dsl

  กล่าวไว้อาลัย ต่อ เคียร่า ลูบิค ( แปล )
โดยพระสมณทูต ซัลวาตอเร เปนนักคีโอ 56 k | dsl

  กล่าวไว้อาลัย ต่อ เคียร่า ลูบิค
โดยพระสังฆราช เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช  56 k | dsl

กล่าวขอบคุณต่อผู้มาร่วมงาน
โดยตัวแทนคณะโฟโคลาเร่    56 k | dsl

ประมวลภาพพิธีมิสซา อาสนวิหารอัสสัมชัญ

หลังจากการทราบข่าว การเสียชีวิตของ เคียร่า ลูบิค ผู้ก่อตั้งคณะโฟโคลาเร และได้มีการจัดพิธีปลงศพเคียร่า ลูบิคไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2008 ที่่ผ่านมา ประเทศไทยโดย อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  ได้จัดพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณอุิทิศแด่ดวงวิญญาณของ เคียร่า ลูบิค ผู้ก่อตั้งคณะโฟโคลาเร  ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน ค.ศ. 2008 เวลา 10.00 น พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พระอัครสังฆราชกรุงเทพฯ ร่วมกับพระอัครสังฆราชซัลวาตอเร เปนนักคีโอ ฯพณฯ เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย มงซินญอร์เดนนิส คูรัปปัสเซรี เลขานุการเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย  พระสังฆราชเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พระสังฆราช ประธาน ศรีดารุณศิลป์ พระสังฆราชชูศักดิ์ สิริสุทธิ์  บรรดาพระสงฆ์กว่า 50 องค์  อีกทั้งยังมี  ผู้แทนจากคริสตจักร และ พระสงฆ์ในพุทธศาสนาจำนวนหนึ่ง ซิสเตอร์จากคณะนักบวชต่าง ๆ  สัตบุรุษจากคณะโฟโคลาเรในประเทศไทย  ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ จำนวนมากเข้าร่วมพิธีดังกล่าว

เคียร่า ลูบิค เป็นบุคคลที่เสียสละชีวิต ดำเนินตามกระแสเรียกที่ตัดสินใจเลือกทำงานแบบอุทิศตน  ในหนังสือที่ระลึกของเคียร่า ลูบิคมีประโยคหนึ่งที่พูดถึงแนวทางชีวิตของเคียร่าว่า “ เพื่ือให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน” ( ยน.17.21) เราเกิดมาเพื่อประโยคนี้ เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อมีส่วนทำให้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นจริงขึ้นมาในโลก

วันนี้ในพิธีมิสซาผู้ล่วงลับ พระคาร์ดินัลได้กล่าวถึง ชีวิตที่เสียสละและอุทิศตนของเคียร่า ลูบิค สตรีผู้อุทิศตนเพื่อความรักและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  เดินตามกระแสเรียกความรัก แสวงหาความจริง และแสวงหาพระเจ้า

ในโอกาสนี้ พระอัครสังฆราชซัลวาตอเร เปนนักคีโอ ฯพณฯ เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย  ร่วมกล่าวแสดงไว้อาลัย  
ต่อจากนั้น พระสังฆราชเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช  ประธานฝ่ายอภิบาลคริสตชน เป็นตัวแทนสภาพระสังฆราช ในประเทศไทยกล่าวไว้อาลัยกับเคียร่า ลูบิค

ปิดท้ายด้วยตัวแทนขององค์กรโฟโคลาเร่ กล่าวขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงาน และหลังมิสซาจะมีการชุมนุมครั้งใหญ่ ของคณะโฟโคลาเร่ ณ บริเวณ โรงเรียนอัสสัมชัญ และรับประทานอาหารร่วมกัน

เคียร่า ลูบิค เกิดที่เมืองเตร้นท์ ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี  เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1920 ครอบครัวของเธอมีฐานะปานกลาง คุณพ่อทำงานที่สำนักพิมพ์ ขณะนั้นเป็นช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ ครอบครัวของเธอได้รับผลกระทบอย่างมาก เธอจึงเริ่มทำงานเมื่ออายุยังน้อย เป็นครูสอนพิเศษเพื่อหารายได้เป็นค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย เธอได้รับการถ่ายทอดความเชื่อ ความศรัทธาร้อนรนแบบคริสตชนจากคุณแม่ของเธอ และจากคุณพ่อที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยม เธอถูกปลูกฝังการตระหนักถึงความเป็นอยู่ในสังคมตั้งแต่วัยเยาว์ เธอรู้สึกว่าต้องเจริญชีวิตเป็น “คริสตชนที่แท้จริง” เมื่ออายุ 18 ปี เธอเิริ่มเป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษา เธอรู้สึกถึงการเรียกอย่างจริงจังให้แสวงหาความจริง แสวงหาพระเจ้า ด้วยเหตุนี้เธอจึงสมัครเรียนวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยแห่งเมืองเวนีส แต่สงครามทำให้เธอไม่สามารถศึกษาต่อได้ เธอเป็นผู้รักการเรียน เธอมั่นใจว่า “พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นหนทางความจริงและชีวิต จะเป็นอาจารย์ของเธอ”

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ท่ามกลางความเกลียดชังและความรุนแรง เคียร่าได้ค้นพบสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอ คือ “พระเจ้าเป็นองค์ความรัก” เธอได้เลือกพระองค์เป็นอุมการณ์ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1943 เธอได้ถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าตลอดชีวิต เธอมีชื่อรับศีลล้างบาปว่า “ซีลเวีย” แต่ภายหลัีงเธอใช้ชื่อว่า เคียร่า เพราะหลงใหลชีวิตของนักบุญคลารา แห่งอัสซีซี ที่ยึดเอาพระวรสารเป็นชีวิต และหลุมหลบภัยในชีวิตของเธอก็คือ พระวรสารเพียงอย่างเดียว

การเป็นประจักษ์พยานด้านคริสตศาสนสัมพันธ์ ของเคียร่าเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1961 กับกลุ่มเอวันเจลิกัล ลูเธอรัน ในประเทศอิตาลี  เปิดหนทางเสวนาคริสตศาสนสัมพันธ์ในคณะโฟโคลาเร เคียร่าได้พบปะและเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำคริสตจักรต่าง ๆ ในการพบปะที่กรุงลอนดอน ประเทศที่เยอรมนี ที่เมืองอีสตันบูล และได้รับการสนับสนุนให้เผยแผ่จิตตารมณ์ความเป็นหนึ่งเดียว ที่พวกเขาต่างรับรองว่าเป็นจิตตารมณ์แห่งคริสตศาสนสัมพันธ์

เคียร่าเป็นสตรีคริสตชนคนแรกที่บอกเล่าประสบการณ์การเจริญชีวิตตามพระวรสารของเธอในวัดพุทธที่กรุงโตเกียวต่อที่ประชุม 10,000 คน เมื่อปี ค.ศ.1981 และในปีค.ศ. 1997 แก่พระภิกษุ แม่ชี และพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย และในปีเดียวกันนั้นเคียร่าได้รับเชิญไปแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตคริสตชนของเอธที่สุเหร่ามัลคัมเอ็กซ์ ที่กรุงนิวยอร์ก แก่ชาวอเมริกันมุสลิม 3000 คน งานศาสนสัมพันธ์ได้พัฒนาเรื่อยมาทั้งกับชาวยิว มุสลิม ฮินดู เต๋า ซิกซ์ และผู้เชื่อเรื่องวิญญาณ และผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ มากกว่า 30000 คนที่มีส่วนร่วมในจิตตารมณ์ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคณะโฟโคลาเรด้วยวิถีทางที่แตกต่างกัน

ปัจจุบันนี้มีคณะโฟโคลาเร 186 ประเทศ ทั้ง 5 ทวีปทั่วโลกมีสมาชิกกว่า 140,000 มีแนวร่วมีอกจำนวนกว่า 2,5000,000 คน ที่ปรารถนาทำงานเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของมวลมนุษย์ด้วยวิถีทางต่าง ๆ และยัีงมีผู้คนอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่รับจิตตารมณ์นี้ไปถือปฏิบัติ


( คัดย่อบางส่วน จากหนังสือพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณอุิทิศแด่ดวงวิญญาณของ เคียร่า ลูบิค ผู้ก่อตั้งคณะโฟโคลาเร)

วันที่ 14 มีนาคม 2008 เวลา 02.00 น. เคียร่า ลูบิคได้สิ้นสุดการเดินทางบนโลกนี้อย่างสงบในบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์ขณะมีอายุได้ 88 ปี เธอสิ้นใจที่บ้านของเธอที่ร็อกก้า ดิ ปาป้า กรุงโรม เธอได้ออกจากโรงพยาบาลเจเมลลี่ กรุงโรม เมื่อคืนก่อน อันเป็นความปรารถนาของเธอที่ต้องการจะกลับบ้านในช่วงของการรักษาระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาล

ตลอดทั้งวันของการปิดฉากชีวิตการเดินของเธอ มีคนจำนวนมากไม่ว่าญาติพี่น้อง  ผู้ร่วมงานใกล้ชิดและลูกๆฝ่ายจิตของเธอพากันมากล่าวอำลา และเข้าไปสวดภาวนาในวัดน้อยที่ใกล้ๆห้องพักของเธอ เป็นการสวดภาวนาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเคียร่ากำลังอ่อนแรงมากแล้วแต่เธอยังจำบางคนที่เข้ามาทักทายได้

ขณะนี้มีสารไว้อาลัยส่งเข้ามาจากทั่วโลก เพื่อแสดงความรู้สึกมีส่วนร่วมและรับรู้ในการจากไปของเธอ  ทั้งในนามของศาสนา การเมือง การศึกษาและผู้นำท้องถิ่นต่างๆ ข้อความแห่งความรักและความเป็นหนึ่งเดียวเหล่านี้มาจากที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากลูกๆฝ่ายจิตวิญญาณของเธอที่มีอยู่ทั่วไปทุกทวีป

สารจากสมเด็จพระสันตะปาปา
เกี่ยวกับการจากไปของเคียร่า  ลูบิค

สมเด็จพระสันตะปาปาทรงส่งโทรเลขไปถึงคุณพ่อโอเรสเต้ บาสโซ ประธานร่วมของคณะโฟโคลาเร ในโอกาสที่เคียร่า ลูบิค ผู้ก่อตั้งคณะได้ถึงแก่กรรม ขณะมีอายุ 88 ปี ด้วยข้อความดังต่อไปนี้

“พ่อได้ทราบข่าวการจากไปอย่างสงบของเคียร่า ลูบิค และขอร่วมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการจากไปครั้งนี้ ชีวิตอันยาวนานและเต็มด้วยผลงานมากมายอันเกิดจากความรักมิรู้เหน็ดเหนื่อยของเธอต่อพระเยซูเจ้าผู้ถูกทอดทิ้งได้สิ้นสุดลง พ่อขออยู่เคียงข้างพวกเธอ ในช่วงเวลาแห่งความทุกข์ของการจากไปนี้ ขอร่วมใจกับบรรดาญาติพี่น้อง คณะกิจการพระแม่มารี หรือคณะโฟโคลาเรที่เคียร่าได้ก่อตั้งขึ้น รวมทั้งกับบุคคลอื่นที่ชื่นชมการอุทิศตนเองของเธออย่างต่อเนื่องเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวในพระศาสนจักร เพื่อการเสวนาคริสตศาสนสัมพันธ์และภราดรภาพระหว่างประชาชาติทั้งหลาย

พ่อขอโมทนาคุณพระเป็นเจ้าสำหรับประจักษ์พยานชีวิตของเธอในการับฟังความต้องการของคนร่วมสมัยพร้อมด้วยความซื่อสัตย์อย่างสมบูรณ์แบบต่อพระศาสนจักรและต่อพระสันตะปาปา พ่อขอฝากดวงวิญญาณของเธอไว้กับองค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เธอได้รับการต้อนรับเข้าสู่อ้อมอกพระบิดาเจ้าสวรรค์ หวังว่าบุคคลที่รู้จักเธอ ได้เคยพบเธอ จะได้ชื่นชมสิ่งน่าพิศวงที่พระเป็นเจ้าได้ทรงกระทำจากการทำงานอันร้อนรนของเธอ และพวกเขาจะเจริญรอยตามพร้อมทั้งรักษาพระพรพิเศษของเธอให้มีชีวิตชีวาต่อไป

โดยอาศัยคำเสนอวิงวอนของพระแม่มารี พ่อขอมอบพรพระสันตะปาปาแด่ทุกท่านมา ณ โอกาสนี้”
 

“เพื่อทุกคนเป็นหนึ่งเดียว”

คำว่า “โฟโคลาเร” แปลว่า “เตาผิง” ซึ่งมีความหมายถึง “ครอบครัว” เป็นชื่อที่ประชาชนทั่วไปใช้เรียก “ครอบครัว”เหนือธรรมชาติของเคียร่า ลูบิค และเพื่อนๆรุ่นแรกของเธอ ท่ามกลางซากปรักหักพังและความเกลียดชังของสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น พระเจ้าองค์ความรักทรงตั้งตระหง่านขึ้นในฐานะที่เป็นอุดมการณ์เดียวที่ยังคงเหลืออยู่ซึ่ง “ไม่มีระเบิดลูกใดจะสามารถทำลายได้”

ในหลุมหลบภัยนั้น เคียร่าและเพื่อนรุ่นแรกนำเอาพระวรสารเข้าไปด้วย พระวาจาที่บรรจุอยู่นั้นเป็นดั่งแสงสว่างเจิดจ้า พระวาจาที่ว่า “เพื่อทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน” กลายเป็นเป้าหมายชีวิตของพวกเธอ นั่นคือ สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและช่วยเสริมสร้าง”ความเป็นพี่น้องสากล”

คณะโฟโคลาเรได้รับการประกาศรับรองจากพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างเป็นทางการในนามของคณะ “กิจการพระแม่มารีย์” พระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้กล่าวถึงคณะโฟโคลาเรว่าเป็นเสมือน “ต้นไม้ที่ผลิดอกออกใบสะพรั่ง” และพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ให้คำจำกัดความแก่สมาชิกของคณะว่า เป็นเหมือน “ชนชาติ” ชาติหนึ่งซึ่งโอบกอดทุกคนไว้โดยไม่มีการแยกว่ามาจากชนชาติใด มีความเป็นสากลมาตั้งแต่แรกเริ่มแล้วในบรรดาสมาชิกและเพื่อนๆทุกฐานะอาชีพ ทุกเพศทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ศาสนาและทุกๆวัฒนธรรม

จากประสบการณ์การเจริญชีวิตประจำวันตามพระวรสารทำให้เกิดกระแสชีวิตจิตแบบใหม่นั่นคือจิตตารมณ์แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือจิตตารมณ์แห่งชีวิตสนิทสัมพันธ์ ที่พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงแนะนำไว้ในสมณลิขิต “เริ่มสู่สหัสวรรษใหม่” และให้ทุกคนนำไปเจริญชีวิต

จิตตารมณ์แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้มีเอกลักษณ์คือ มิติของการเจริญชีวิตแบบกลุ่มทุกคนปฏิบัติร่วมกัน ถือว่าแต่ละคนเป็นหนทางที่นำไปสู่พระเป็นเจ้า จิตตารมณ์นี้มีรากฐานอยู่บนหลักการแห่งพระวรสาร และชี้ให้เห็นคุณค่าต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันซึ่งมีอยู่ในความเชื่อและวัฒนธรรมต่าง ๆ

และนี่คือหัวข้อพื้นฐานของจิตตารมณ์นี้

  • การค้นพบว่าพระเป็นเจ้าเป็นองค์ความรัก  พระองค์ทรงเป็นบิดาของครอบครัวมนุษยชาติ
  • พระประสงค์ของพระเป็นเจ้า เป็นหนทางสู่ความเป็นผู้ครบครันซึ่งเปิดหนทางให้ทุกคน เป็นวิถีทางที่เราจะตอบรับความรักของพระเป็นเจ้าด้วยชีวิตของเรา
  • พระวรสาร นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นการตอบรับความรักของพระองค์
  • ความรักต่อเพื่อนพี่น้อง  เป็นบทสรุปของกฎ และเป็น”กฎทอง”ของทุกศาสนา
  • ความรักซึ่งกันและกัน เป็นบัญญัติใหม่ของพระคริสตเจ้า เป็น “หัวใจ” ของพระวรสาร
  • การประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าท่ามกลางผู้ที่ชุมนุมกันในนามของพระองค์ ดังที่พระองค์ได้ทรงสัญญาไว้
  • พระเยซูเจ้าผู้ถูกทอดทิ้งและถูกตรึงกางเขน เป็น “กุญแจ” แห่งชีวิตสนิทสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้าและความเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนพี่น้อง เมื่อความทุกข์ยากลำบากได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นความรัก
  • แม่พระ มารดาแห่งความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเราต้องเลียนแบบพระนางโดยการเจริญชีวิตตามพระวาจาของพระเป็นเจ้า และมอบพระเยซูเจ้าให้แก่โลก

คณะโฟโคลาเรนำเสนอกฎแห่งพระวรสารเกี่ยวกับความรักซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์กับทุกคน เป็นหนทางชีวิตที่เปิดทางให้กับสังคมที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความแตกต่างกันถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นการเสริมหนุนที่มั่งคั่งแก่กันและกัน คณะมีแนวทางปฏิบัติเพื่อที่จะบรรลุจุดหมายนี้โดยผ่านทางเสวนาในระดับต่าง ๆ เริ่มต้นจากภายในพระศาสนจักคาทอลิก จากนั้นกับคริสตชนนิกายต่าง ๆ ในความพยายามเพื่องานคริสตศาสนสัมพันธ์ ต่อมาคณะมีการติดต่อกับศาสนาต่าง ๆ รวมทั้งผู้คนที่มีน้ำใจดีแต่ปราศจากความเชื่อทางศาสนา พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ในจดหมายถึงเคียร่า ลูบิค เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปีของคณะ พระองค์ท่านได้ให้คำจำกัดความแก่สมาชิกของคณะคือ “สาวกแห่งการเสวนา”

จิตตารมณ์ของคณะโฟโคลาเรเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1958 โดยมิชชั่นนารีซึ่งได้รู้จักกับคณะโฟโคลาเรในประเทศอิตาลีและรู้สึกประทับในจิตตารมณ์  บ้านโฟโคลาเรแห่งแรกเปิดในปีค.ศ. 1981 และในปีค.ศ. 1997 เคียร่ามาเยี่ยมเยียนประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 ด้วยคำเชิญของพระราชพรหมาจารย์(อาจารย์ทอง สิริมังคโล) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เคียร่าได้ปราศรัยต่อพระภิกษุแห่งมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ถึงการปฏิวัติแห่งความรักแบบคริสตชน ซึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตที่”ตอบรับ”ต่อพระเป็นเจ้าของเธอ และผลที่ตามมาคือสิ่งนี้ได้แพร่ขยายออกไปทั่วทุกมุมโลก

ในการมาเยี่ยมเยียนของเคียร่าในครั้งนั้น มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น กรุงเทพได้มอบปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นหนึ่งในการประกาศเกียรติคุณทางด้านวิชาการที่เคียร่าได้รับ นอกเหนือจากนั้นเธอยังได้รับรางวัลต่าง ๆ ทางฝ่ายบ้านเมือง ตัวอย่างเช่น รางวัลเทมเพลตันจากประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษในด้านความก้าวหน้าทางศาสนา และรางวัลยูเนสโกด้านการศึกษาส่งเสริมสันติภาพ

ในเดือนเมษายน ค.ศ.2004 ที่ผ่านมาทางคณะได้จัดการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระหว่างพุทธศาสนาและคริสตศาสนาเป็นครั้งแรกที่ศูนย์อบรมของคณะ ที่คัสเดลกัลโดลโฟใกล้กรุงโรม พี่น้องชาวพุทธที่รู้จักกับคณะโฟโคลาเรจากทั้งประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นเข้าประชุมครั้งนี้

คณะโฟโคลาเรนำเสนอจิตตารมณ์ที่เป็นหนทางสู่ความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ครบครันสำหรับชายหญิงในยุคปัจจุบันด้วยหนทางแบบกลุ่ม อีกทั้งยังเป็นกระแสเรียกใหม่แห่งการอุทิศตนแด่พระเป็นเจ้า นั่นคือกระแสเรียกสู่บ้านโฟโคลาเรในฐานะสมาชิกที่ผูกมัดตนเองทั้งครบ

ปัจจุบันบ้านโฟโคลาเรคือบ้านธรรมดาๆที่อบอุ่นสำหรับผู้ที่ถวายตัวแด่พระเป็นเจ้า พยายามดำเนินชีวิตอุทิศตนเพื่อพระเป็นเจ้าร่วมกัน ท่ามกลางโลกพร้อมกับการประทับอยู่ฝ่ายจิตของพระเยซูเจ้าท่ามกลางพวกเขา มีชีวิตแบบครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ที่เมืองนาซาเร็ธเป็นแม่แบบ ลักษณะใหม่ของหนทางที่ 4 คือ  บุคคลที่แต่งงานก็ได้รับเรียกมาสู่กระแสเรียกนี้ด้วย

โดยที่บ้านโฟโคลาเรเป็นเหมือนหัวใจ  คณะโฟโคลาเรประกอบด้วยบุคคลทุกสถานภาพ  ทุกวัย  ด้วยข้อผูกมัดที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดเพื่อมุ่งสู่ความเป็นพี่น้องสากล  สมาชิกของคณะก้าวโพ้นความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ

ปัจจุบันคณะโฟโคลาเรมีอยู่ใน 182 ประเทศ ทั้ง 5 ทวีป มีสมาชิกมากกว่า 140,000 คน มีแนวร่วมอีกจำนวน 2,500,000 คนที่ปรารถนาทำงานเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของมวลมนุษย์ด้วยวิถีทางต่าง ๆ และยังมีผู้คนอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่รับจิตตารมณ์นี้ไปถือปฏิบัติ