หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

เวปไซต์สภาการศึกษาคาทอลิกประเทศไทย

ประวัติการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย

โรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานว่ามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2203 มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส สังกัดคณะมิสซังต่างประเทศ แห่งกรุงปารีส ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าเผยแพร่ศาสนาและได้รับพระราชทานที่ดินที่บ้านปลาเห็ดสำหรับเป็นที่พักอาศัย   สามารถสร้างโบสถ์ สร้างบ้านพัก  และโรงเรียนได้   ดังนั้นในปีพ.ศ.2208 (ค.ศ.1665) โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย ได้ถือกำเนิดขึ้นมา มีชื่อว่า General  College ก่อตั้งโดย ฯพณฯแลมแบร์ เดอ ลา โมทต์ (Bishop Lambert de la Motte) เป็นโรงเรียนสามัญสำหรับเด็กชาย มีการสอนด้านวิชาการและจริยธรรม   หลังจากนั้นมิชชันนารีได้เปิดโรงเรียนจังหวัดต่างๆ ขึ้นอีกหลายแห่ง เป็นต้น จังหวัดภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. 2214 จังหวัดลพบุรี  พ.ศ. 2216 บางกอก พ.ศ. 2217 พิษณุโลก พ.ศ. 2218 และจันทบุรี พ.ศ.2205

ในยุครัตนโกสินทร์นี้มิชชันนารีฝรั่งเศสได้เป็นผู้มาเบิกงานทางด้านการศึกษาอีกครั้ง โรงเรียนคาทอลิกสมัยใหม่แห่งแรกในยุคปัจจุบัน คือ โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ก่อตั้งโดยบาทหลวงเปเร คอลอมเบต์ (Rev. Fr.Pere Colombet) ในพ.ศ. 2428 นับตั้งแต่นั้นมา คณะนักบวชคาทอลิกต่างๆ    ที่อุทิศตนในการให้การศึกาได้เขามาเปิดโรงเรียนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ  ในระยะแรก ๆ แต่ละโรงเรียนต่างมีหลักสูตรของตนเอง โรงเรียนของมิสชันนารีจะสอนเป็นภาษาอังกฤษบ้าง   ภาษาฝรั่งเศสบ้าง   จนกระทั้งเมื่อกระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้หลักสูตร จึงได้มาดำเนินการโรงเรียน โดยอาศัยหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเป็น  แม่บท แต่มีอุดมการณ์ของการให้การศึกษาที่พัฒนาทั้ง ร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และจิตวิญญาณ ตามแนวทางการศึกษาคาทอลิกที่มุ่งเป้าหมาย สัจธรรมและการพัฒนามนุษย์ตามศักยภาพที่มีสู่สัจธรรมนั้น

โรงเรียนคาทอลิกในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ

1.โรงเรียนของสังฆมณฑล ซึ่งปัจจุบันแบ่งเป็น 10 สังฆมณฑล หรือ 10 เขต โรงเรียนที่มีพื้นที่อยู่ในเขตใด   ก็จะมีสังกัดในสังฆมณฑลนั้น และดำเนินการบริหารภายใต้การอำนวยการของพระสงฆ์ของสังฆมณฑลนั้น

2.โรงเรียนของคณะนักบวช ชาย – หญิงในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีคณะนักบวชชาย ทำงานด้านการศึกษาอยู่ 5 คณะ  และคณะนักบวชหญิงที่ทำกิจการโรงเรียนมี 12 คณะ

3.โรงเรียนของฆราวาสคาทอลิก เช่น โรงเรียนในกลุ่มสถาบันเซนต์จอห์น โรงเรียนในเครือสารสาสน์  โรงเรียนเพ็ญสมิทธ์ โรงเรียนแสงอรุณ โรงเรียนเศรษฐบุตรอุปถัมภ์ และโรงเรียนธรรมภิรักษ์ ฯลฯ เป็นต้น

โรงเรียนคาทอลิกมีตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงระดับอาชีวะและอุดมศึกษา ตามสถิติของสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ในปีการศึกษา 2548 ปรากฏว่ามีโรงเรียนคาทอลิกประเภทสามัญทั่วราชอาณาจักร 283 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 452,420 คน เป็นนักเรียนชาย 221,681 คน เป็นนักเรียนหญิง 230,739 คน จำนวนครูรวมเป็นจำนวน 23,489 คน เป็นครูชาย 4,618 คน เป็นครูหญิง18,871คน ในระดับอาชีวะศึกษามีโรงเรียนคาทอลิกอยู่ทั่วราชอาณาจักร 21 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งสิ้น 13,091  คน เป็นนักเรียนชาย 5,927 เป็นนักเรียนหญิง 7,164 คน ครูอาจารย์รวม 944 คน เป็นครูชาย 482 คน   เป็นครูหญิง 462 คน ในระดับวิทยาลัยมีอยู่ 2 วิทยาลัย มีนักศึกษารวม 918 คน เป็นชาย 288 คน เป็นหญิง 630คน มีอาจารย์รวม 93 คน เป็นชาย 42 คน เป็นหญิง 51 คน ในระดับมหาวิทยาลัย มีอยู่ 2 มหาวิทยาลัย มีนักศึกษารวม 20,196 คน เป็นชาย 8,857 คน เป็นหญิง 11,339 คน มีอาจารย์รวม 1,288 คน เป็นชาย 655 คน เป็นหญิง 633 คน

ในปี พ.ศ. 2502 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการโรงเรียนคาทอลิกแห่งประเทศไทยขึ้น และได้เปลี่ยนชื่อเป็น   สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2512  และภายหลังได้จดทะเบียนเป็นสมาคมใน พ.ศ. 2533 มีชื่อว่า “สมาคมสภาการศึกษาคาทอลิก( ประเทศไทย )”

สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ส่งเสริมประสานงานและสนับสนุนการดำเนินการของสภาบันการศึกษาคาทอลิก และผลักดันให้เอกลักษณ์ของโรงเรียนคาทอลิกเป็นที่ปรากฏชัดเจน อันได้แก่การอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนให้เป็นบุคคลที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและความรู้ เป็นผู้ที่เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นพลเมืองดีของชาติ โดยอาศัยหลักคริสตธรรมในการให้ความรัก และเอาใจใส่ดูแลนักเรียน

เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชในปี พ.ศ. 2549 สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย เห็นเป็นการสมควรให้จัดงานเฉลิมฉลอง “ร่วมเทิดไท้องค์ราชัน” ร่วมกับพสกนิกรชาวไทย เพื่อเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเฉลิมฉลองพระชนมายุ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งได้จัดงานเป็นระยะตามโครงการ เช่น พิธีสหมิสซาบูชาขอบพระคุณเปิดงานในวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ณ โรงยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตบางนา การประชุมสัมมนาประจำปีระหว่างวันอาทิตย์ที่ 27 ถึง วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ณ โรงแรมเอเชียพัทยา จ.ชลบุรี การชุมนุมลูกเสือ เนตรนารี ( จัมโบรี ) ของสมาคมสโมสรลูกเสือรัตนโกสินทร์ ในวันจันทร์ที่ 4 ถึง วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ณ ค่ายวชิราวุธ จ.ชลบุรี การจัด “มหกรรมการศึกษาคาทอลิกเฉลิมพระเกียรติ” ในวันจันทร์ที่ 22 ถึง วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2550 ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา สภาการศึกษาคาทอลิก ฯ ถือเป็นศุภวาระแห่งความเป็นมงคลอย่างยิ่ง ที่จะน้อมถวายกิจกรรมการรับใช้สังคมไทยในด้านการจัดการศึกษา เป็นการเทิดพระเกียรติด้วย ความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระประมุขและร่มโพธิ์ทองของปวงชนชาวไทย “ขอจงทรงพระเจริญ”

การจัด “มหกรรมการศึกษาคาทอลิกเฉลิมพระเกียรติ”
ครั้งนี้ประกอบด้วย

1.นิทรรศการเสด็จพระราชดำเนินที่เสด็จไปเยือนโรงเรียนในสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย   ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

2.กิจกรรมด้านวิชาการ

3.กิจกรรมด้านดนตรี

4.พิธีกรรม