โดย...คุณพ่อวิชา หิรัญญการ

คำว่า “พระสังฆราช” มาจากภาษากรีกคำว่า episkopos ซึ่งหมายความว่า “ผู้ควบคุม” หรือ     “ผู้จัดการ” ศัพท์คำนี้ได้เคยใช้หลายๆ ครั้งในพระธรรมใหม่เพื่อหมายถึงผู้นำของพระศาสนจักร ตำแหน่งหน้าที่นี้ ต่อมามีบทบาทสำคัญมากคือเป็นศูนย์กลางของพระศาสนจักรท้องถิ่น และได้รับการยอมรับนับถือว่าพระเป็นเจ้าเป็นผู้ทรงแต่งตั้งตำแหน่งนี้ขึ้นมา

บรรดาพระสังฆราชทั้งหลาย คือผู้สืบตำแหน่งต่อมาจากบรรดาอัครสาวกของพระเยซูคริสตเจ้า โดยการแต่งตั้งของพระเป็นเจ้า พวกท่านได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชโดยพระจิตเจ้าซึ่งพวกท่านได้รับ พวกท่านเป็นนายชุมพาในพระศาสนจักร เป็นอาจารย์สอนข้อความเชื่อ เป็นสงฆ์แห่งคารวะกิจอัน    ศักดิ์สิทธิ์ เป็นศาสนบริกรของการปกครอง (มาตรา 375.1) บรรดาพระสังฆราชได้รับตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้ในการอภิเษกเป็นพระสังฆราชของพวกท่านและสามารถบริหารงานตามตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้ได้ต่อเมื่อพวกท่านคงความเป็นอันหนึ่งอันเดียว (in communion) กับคณะพระสังฆราช (College of Bishops) และประมุขของคณะ ซึ่งก็คือสมเด็จพระสันตะปาปาเท่านั้น (มาตรา 375.2)

คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช มีดังนี้
1.เป็นคริสตชนที่ดี กอปรด้วยคุณธรรม ความเชื่อ ศีลธรรมอันดี มีความศรัทธาร้อนรน มีปรีชาญาณ ความสุขุมรอบคอบ ความฉลาดปราดเปรื่องและมีชื่อเสียงที่ดี
2.เป็นพระสงฆ์ที่ได้รับศีลบวชมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
3.เป็นผู้ที่ได้รับปริญญาเอก หรืออย่างน้อยปริญญาโทในด้านพระคัมภีร์ เทววิทยา หรือกฎหมายพระศาสนจักร หรืออย่างน้อยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องระเบียบวินัยเหล่านี้ (มาตรา 378) และทางสันตะสำนักจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดว่าใครจะเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่นี้

พระสังฆราชแบ่งออกกว้างๆ เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ
1.พระสังฆราชประมุขสังฆมณฑล (Diocesan Bishops) คือพวกท่านจะได้รับมอบหมายให้ปกครอง ดูแลสังฆมณฑลใดสังฆมณฑลหนึ่ง
2.พระสังฆราชกิติมศักดิ์ (Titular Bishops) คือพระสังฆราชอื่นๆ ที่เหลือ ที่ไม่ต้องดูแลรับผิดชอบ สังฆมณฑล ดังนั้นพระสังฆราชผู้ช่วยก็ดี พระสังฆราชเกษียณอายุก็ดี ก็จัดอยู่ในประเภทนี้ (มาตรา 376) ผู้ที่สามารถแต่งตั้งพระสังฆราชได้คือสมเด็จพระสันตะปาปา พระองค์สามารถแต่งตั้งได้อย่างอิสระหรือโดยการรับรองผู้ที่ได้รับเลือกมาโดยชอบด้วยกฎหมายก็ได้ (มาตรา 377)

ที่จริงแล้วการส่งรายชื่อผู้ที่เหมาะสมจะได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชนั้น มีกฎว่า บรรดาพระสังฆราชที่อยู่ในเขตปกครองเดียวกัน หรือสภาพระสังฆราช จะต้องส่งรายชื่อพระสงฆ์ที่พวกท่านคิดว่าเหมาะสมสำหรับตำแหน่งนี้ 3 ชื่อ ไปยังสันตะสำนักทุกๆ 3 ปี และต้องรักษาไว้เป็นความลับ ยิ่งกว่านั้นบรรดาพระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลแต่ละท่านมีสิทธิ์จะส่งรายชื่อพระสงฆ์ทั้งหลายที่ท่านคิดว่าเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่นี้ไปยังสันตะสำนักได้อีกด้วย (เทียบมาตรา 377.2)

เมื่อพระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลถึงแก่มรณภาพหรือเกษียณอายุ พระสมณทูตจะเป็นผู้รวบรวมคำแนะนำต่างๆ จากบรรดาพระสังฆราชที่อยู่รายรอบสังฆมณฑลนั้น และจากประธานสภาพระสังฆราชว่าใครน่าจะเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อ ในกระบวนการนี้ พระสมณทูตต้องฟังความเห็นจากสมาชิกของคณะที่ปรึกษาบางท่าน (เทียบมาตรา 502) ท่านอาจจะสอบถามความคิดเห็นจากพระสงฆ์และฆราวาสบางคนก็ได้ จากนั้นพระสมณทูตจะส่งรายชื่อ 3 ชื่อ ตามที่ท่านเห็นชอบไปยังสันตะสำนัก (มาตรา 377.3) ทุกขั้นตอนของกระบวนการนี้เป็นความลับทั้งหมดจนกว่าจะมีการประกาศแต่งตั้งออกมา นั่นคือ หลังจากที่พระสมณทูตได้ทาบทามผู้รับแต่งตั้ง และผู้นั้นยอมรับแล้ว จึงจะประกาศแต่งตั้งให้ทราบโดยทั่วกัน

ในกรณีที่พระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลต้องการจะมีพระสังฆราชผู้ช่วย (Auxiliary Bishop) ท่านจะส่ง 3 รายชื่อที่เห็นว่าเหมาะสมไปยังสันตะสำนักเช่นเดียวกัน (มาตรา 377.4)

พระสังฆราชประมุขสังฆมณฑล (Diocesan Bishops)
พระสงฆ์องค์หนึ่งเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชประมุขสังฆมณฑล จะต้องได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช (เว้นแต่ท่านได้เป็นพระสังฆราชอยู่แล้ว) แล้วนั้นจะต้องขึ้นครองตำแหน่ง แล้วพระสังฆราชองค์ใหม่จึงสามารถบริหารอำนาจของท่านในสังฆมณฑลได้ (มาตรา 375, 382)

พระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลได้รับมอบอำนาจอย่างมากมาย เพราะท่านมีขอบเขตความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ อำนาจของท่านอาจแบ่งได้ดังนี้
1.อำนาจปกติ (ordinary) เป็นอำนาจที่ติดอยู่กับตำแหน่งหน้าที่พระสังฆราช
2.อำนาจเฉพาะ (proper)  เป็นอำนาจที่ท่านบริหารได้ด้วยตัวท่านเอง ไม่ผ่านทางผู้ช่วย
3.อำนาจโดยตรง (immediate)  เป็นอำนาจตรงที่ท่านสามารถมีไปยังทุกๆ คนในสังฆมณฑล

อำนาจต่างๆ เหล่านี้จะเอื้ออำนวยให้การทำงานในตำแหน่งหน้าที่การอภิบาลของท่านสำเร็จ   ลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่มีข้อจำกัดอยู่ด้วยคือ ยกเว้นกรณีที่ตัวบทกฎหมายก็ดี หรือตามทฤษฎีก็ดี สงวนเรื่องเหล่านั้นไว้กับผู้ที่มีอำนาจสูงกว่า (มาตรา 381.1) อย่างไรก็ตาม อำนาจต่างๆ ที่กล่าวมานี้ พระสังฆราชกระทำในฐานะเป็นผู้แทนพระคริสต์ (Vicar of Christ) มิใช่ในฐานะเป็นผู้แทนของพระสันตะปาปา (not as the Vicar of the Pope) ทั้งนี้เพราะถือกันว่าบรรดาพระสังฆราชคือผู้สืบตำแหน่งจากบรรดาอัครสาวกของพระเยซูคริสต์นั่นเอง

ในบรรดางานอภิบาลตามตำแหน่งหน้าที่ของพระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลนั้น กฎหมายพระศาสนจักรได้กำหนดหน้าที่รับผิดชอบหลักๆ ดังนี้

1.ในฐานะเป็นนายชุมพา (Pastor)
พระสังฆราชต้องเอาใจใส่ดูแลทุกคนที่อยู่ในเขตแดนสังฆมณฑลของท่าน ไม่จำกัดเรื่องอายุ เชื้อชาติ ศาสนา หรือจารีต (มาตรา 383) นอกจากนี้ท่านยังต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อบรรดาพระสงฆ์ของสังฆมณฑล คณะสงฆ์เป็นผู้ช่วยของท่านในงานศาสนบริการ ดังนั้นท่านต้องดูแลพวกเขา ฟังเสียงแนะนำของพวกเขา และส่งเสริมให้พวกเขาทำหน้าที่อย่างครบครัน (มาตรา 384)

2.ในฐานะเป็นอาจารย์ (Teacher)
พระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลจะต้องนำความจริงแห่งข้อความเชื่อมาบอกและอธิบายแก่บรรดาคริสตชน ท่านต้องเทศน์เองบ่อยๆ และต้องสอดส่องดูแลงานศาสนบริการด้านพระวาจาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเทศน์สอนที่อยู่ในพิธีกรรมรวมไปถึงการสอนคำสอนด้วยความเอาใจใส่ของท่าน ในเรื่องนี้ต้องเกี่ยวข้องไปถึงความครบครันแห่งความเชื่อ และอิสรภาพของบรรดาผู้ศึกษาข้อความจริงเหล่านี้ด้วย (มาตรา 386, 756.2, 763, 755.1, 802, 806)

3.ในฐานะเป็นผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ (Sanctifier)
พระสังฆราชต้องเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในหมู่คริสตชน ตามกระแสเรียกของแต่ละคน ท่านต้องเป็นแบบอย่างในเรื่องความรัก ความสุภาพและความเรียบง่ายของชีวิต ท่านเป็นผู้แจกจ่ายธรรมล้ำลึกของพระเป็นเจ้าเป็นอันดับแรก เป็นผู้สนับสนุนและคุ้มกันชีวิตทางพิธีกรรมของสังฆมณฑล ท่านต้องช่วยให้คริสตชนเติบโตในพระหรรษทานโดยผ่านทางพิธีกรรมแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ (มาตรา 387, 835.1) พระสังฆราชจึงต้องประกอบพิธีบูชามิสซาสำหรับประชาชนทุกวันอาทิตย์และวันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และท่านต้องเป็นประธานในพิธีบูชาศีลมหาสนิทบ่อยๆ ในอาสนวิหาร หรือในวัดอื่นๆ ของสังฆมณฑล (มาตรา 388, 389)

4.ในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง (Ruler)
พระสังฆราชเป็นเจ้าของอำนาจนิติบัญญัติ (legislative) อำนาจบริหาร (judicial) ซึ่งจำเป็นสำหรับการปกครองสังฆมณฑล (มาตรา 391.1) อำนาจทั้งสามนี้รวมอยู่เบ็ดเสร็จในตัวท่าน ทั้งนี้เพราะในพระศาสนจักรคาทอลิกไม่มีการแบ่งแยกอำนาจขาดจากกัน อย่างไรก็ตาม พระสังฆราชสามารถ่ายทอดอำนาจส่วนใหญ่ได้ เช่น แม้ว่าท่านไม่อาจถ่ายทอดอำนาจนิติบัญญัติให้ผู้อื่น แต่ท่านสามารถแต่งตั้งผู้ช่วย ช่วยงานด้านบริหารกับด้านตุลาการได้ (มาตรา 391.2) พระสังฆราชต้องส่งเสริมให้ถือวินัยรวมๆ ของพระศาสนจักรและคอยป้องกันมิให้ใช้ไปในทางที่ผิด โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวพันกับการประกาศเทศน์สอน การนมัสการพระ และการบริหารศาสนสมบัติ (มาตรา 392)

พระสังฆราชต้องเป็นตัวแทนของสังฆมณฑลในเรื่องนิติกรรมต่างๆ เพราะสังฆมณฑลมีฐานะเป็นนิติบุคคล (มาตรา 393) ความนบนอบของบรรดาศาสนบริกรของสังฆมณฑลที่ได้รับศีลบวช เป็นสิ่งที่ทำให้อำนาจปกครองของท่านเป็นไปได้ง่ายขึ้น (เทียบมาตรา 273, 274)

นอกเหนือจากความรับผิดชอบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว พระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลจะต้องเป็นผู้ประสานงานแพร่ธรรมหลากหลายของสังฆมณฑล และต้องบริหารทรัพย์สินอย่างดี ท่านต้องส่งเสริมกิจกรรมแพร่ธรรมต่างๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล องค์กรต่างๆ ที่ช่วยเหลือสังคม การประกาศเผยแพร่พระวรสาร ฯลฯ และจะต้องกระตุ้นให้คริสตชนเข้ามามีส่วนในงานแพร่ธรรมเหล่านี้ และช่วยเหลือพวกเขาด้วย (มาตรา 394, 678.1, 782) พระสังฆราชต้องรับผิดชอบไม่เพียงเฉพาะกองทุนต่างๆ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้างที่เป็นของสังฆมณฑลเท่านั้น แต่ท่านต้องสอดส่องดูแลทรัพย์สมบัติของนิติบุคคลต่างๆ ที่ขึ้นอยู่กับอำนาจของท่าน เช่น วัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ภายในสังฆมณฑล (มาตรา 1276, 1278)

พระสังฆราชยังมีหน้าที่อีก 3 ประการ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สืบทอดมาเป็นเวลายาวนาน กล่าวคือ

1.ท่านจะต้องอาศัยอยู่ในสังฆมณฑลของท่านอย่างน้อยปีหนึ่งต้องอยู่ในสังฆมณฑล 11 เดือน ในช่วงเวลาที่อยู่นี้จะได้เอาใจใส่งานศาสนบริการของท่านอย่างแข็งขัน
2.ท่านต้องไปเยี่ยมวัดและสถาบันต่างๆ ในสังฆมณฑล ถ้าสามารถทำได้ในแต่ละปีควรไปเยี่ยมทั้งหมด (มาตรา 396-398) การไปเยี่ยมนี้เป็นโอกาสให้ท่านได้รับฟังประชาชน และสามารถประเมินสถานะของคณะต่างๆ รวมทั้งศาสนบริการของพวกเขาด้วย

3.ท่านต้องรายงานสถานะของสังฆมณฑลต่อสมเด็จพระสันตะปาปา ทุกๆ 5 ปี การรายงานนี้ต้องทำแบบเอาจริงเอาจัง มีรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ของสังฆมณฑล รวมถึงการไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาด้วยตัวท่านเองด้วย (มาตรา 399-400)

พระสังฆราชจะครบเกษียณอายุเมื่อครบ 75 ปี บริบูรณ์ หรือเมื่อท่านไม่สามารถทำหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงได้อีกต่อไป ในทั้งสองกรณีนี้ ท่านจะต้องส่งมอบจดหมายลาออกจากตำแหน่งแด่สมเด็จพระสันตะปาปา (มาตรา 401)

พระสังฆราชเกษียณอายุมีสิทธิ์จะอาศัยอยู่ในสังฆมณฑล และจะได้รับการค้ำจุนที่เหมาะสม (มาตรา 402)

อันที่จริง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มุ่งแสดงถึงความรับผิดชอบและภาระหน้าที่ของพระสังฆราชภายในสังฆมณฑลของท่านเป็นส่วนใหญ่ ต่อไปนี้อยากจะให้เห็นอีกมิติหนึ่งที่เป็นความรับผิดชอบขั้นสูงกว่าของบรรดาพระสังฆราช เพราะพวกท่านต่างก็เป็นสมาชิกในคณะพระสังฆราช ซึ่งก็มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อพระศาสนจักรสากล (Universal Church) อีกด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่องของคณะพระสังฆราช และสมัชชาพระสังฆราชเพื่อความเข้าใจที่กว้างขวางยิ่งขึ้น

คณะพระสังฆราช (College of Bishops)

คณะพระสังฆราชซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่สืบทอดมาจากคณะอัครสาวก ก็ถือว่าเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดและอำนาจเต็มเปี่ยมในพระศาสนจักรสากลด้วย (มาตรา 336) ซึ่งกหมายความว่าคณะพระสังฆราชมีอำนาจทั้งในด้านกฎหมาย และด้านศีลธรรม ตลอดจนความพยายามในด้านอภิบาลอย่างเต็มที่ในพระศาสนจักร คณะพระสังฆราชเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีที่สุดถึงความเป็นสหพันธ์ (Communion) พระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นพระศาสนจักรสากล คณะพระสังฆราชเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ด้วยพันธะอันแข็งแกร่งแห่งความเชื่อ ความรัก ศีลศักดิ์สิทธิ์ และระเบียบ ซึ่งผูกพันพระศาสนจักรคาทอลิกเข้าไว้ด้วยกัน

บรรดาพระสังฆราชต่างก็เข้ามาเป็นสมาชิกในคณะพระสังฆราช ในขณะที่ท่านได้รับการอภิเษก ซึ่งทำให้พวกท่านได้รับศีลบวชอันศักดิ์สิทธิ์อย่างครบบริบูรณ์ และโดยที่พวกท่านร่วมสหพันธ์เดียวกันกับบรรดาสมาชิกท่านอื่นๆ และกับพระสันตะปาปา (มาตรา 336) พระสังฆราชแห่งกรุงโรมก็เป็นสมาชิกองค์หนึ่งของคณะนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นหัวหน้าเป็นศูนย์กลางการประสานงาน

คณะพระสังฆราชประกอบกันขึ้นมีอำนาจสูงสุดในการประกาศเทศน์สอนของพระศาสนจักร ซึ่งในภาษาไทยของเราใช้คำว่า “พระอาจาริยานุภาพ” (Magisterium) คณะพระสังฆราชมีหน้าที่ประกาศเทศน์สอนพระวรสารต่อพระศาสนจักรสากล (มาตรา 756) และยังเป็นเจ้าของอำนาจการสั่งสอนที่ไม่ผิดพลั้ง ทั้งขณะที่พวกท่านกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ตราบเท่าที่บรรดาสมาชิกทั้งหมดตกลงร่วมกันว่า อะไรถูกกำหนดให้เป็นข้อความเชื่อแท้จริงที่ต้องถือตาม (มาตรา 749.2) และแม้ว่าไม่ใช่การกำหนดเรื่องข้อความเชื่อ ก็ยังถือว่าคณะพระสังฆราชมีอำนาจในการประกาศเทศน์สอนที่ถูกต้องถ่องแท้ (มาตรา 752)

กฤษฎีกาและธรรมนูญต่างๆ ที่ออกมาโดยคณะพระสังฆราช (เช่น กฤษฎีกาและธรรมนูญต่างๆ ของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2) จะต้องได้รับการปฏิบัติตามโดยคริสตชนทุกๆ คน (มาตรา 754) คณะพระสังฆราชยังต้องช่วยส่งเสริม และนำแนวทางการมีส่วนร่วมของชาวคาทอลิกในขบวนการ            ศาสนสัมพันธ์ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อรื้อฟื้นเอกภาพขึ้นในหมู่คริสตชน (มาตรา 755.1) อีกทั้งยังต้องรับผิดชอบในการนำแนวทาง และประสานงานธรรมทูตของพระศาสนจักร ซึ่งถือว่างานนี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของพระศาสนจักรเอง (มาตรา 781, 782.1)

คณะพระสังฆราชบริหารอำนาจเหนือพระศาสนจักรสากลในรูปแบบที่สง่า ในการประชุมสภาสังคายนาสากล และเมื่อสมาชิกที่แม้ว่ากระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก แต่ได้ทำกิจการที่เป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งกิจการนี้ได้ถูกประกาศหรือได้รับการยอมรับจากพระสันตะปาปา ก็ถือว่าได้บริหารอำนาจเดียวกัน (มาตรา 337)

สภาสังคายนาต่างๆ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ตลอดจนกระแสประวัติศาสตร์เพิ่งจะมีสภาสังคายนาสากลทั้งหมด 21 ครั้งเท่านั้น โดยเฉพาะขณะนี้คณะพระสังฆราชมีสมาชิกมากกว่า 3,000 องค์ การจะมารวมกันในสภาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก และต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตามสภาสังคายนาสากลก็เป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดแจ้งถึงความเป็นเอกภาพและสากลของพระศาสนจักรและเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในการเดินทางของพระศาสนจักรตลอดกระแสประวัติศาสตร์

สมาชิกทุกๆ คนของคณะพระสังฆราช มีสิทธิ์และหน้าที่ที่จะเข้าร่วมในสภาสังคายนาสากลทั่วไปเช่นว่านี้ (มาตรา 339.1) โดยทางกฎหมายแล้ว พระสันตะปาปาทรงควบคุมเหนือสภาฯ เกือบจะโดยสิ้นเชิง เช่นว่า พระองค์ผู้เดียวสามารถเรียกประชุมสภาฯ ทรงเป็นประธานในการประชุม พระองค์ผู้เดียวทรงสามารถพักการประชุมไว้หรือล้มเลิกไปเลย และพระองค์เป็นผู้รับรองกฤษฎีกาของสภาฯ (มาตรา 338-341) แต่สภาฯ เองบางครั้งก็เกิดขึ้นเหมือนกับมีพลังชีวิตของตนเอง ภายใต้การดลใจของพระจิตเจ้าและผลที่ออกมาก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำนายล่วงหน้าหรือวางโปรแกรมไว้ล่วงหน้าได้

สมัชชาพระสังฆราช (Synod of Bishops)
คำว่า “สมัชชา” ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า “synod” เป็นคำที่มาจากภาษากรีกว่า “synodos” หมายความว่า มารวมกัน มาประชุมกัน ในพระศาสนจักรตั้งแต่สมัยเริ่มแรกมักจะใช้คำที่มีความหมายถึงพวกระดับหัวหน้าๆ ในพระศาสนจักรมารวมกัน หรือมาประชุมกัน 2 คำด้วยกัน คือคำว่า “synod” กับคำว่า “council”

การประชุมสมัชชาพระสังฆราชระหว่างชาติก็คือ การที่พระสังฆราชตัวแทนจากพระสังฆราชทั้งหมดทั่วโลกมาประชุมกัน ซึ่งต่างจากการประชุมสภาสังคายนาสากลที่พระสังฆราชทุกองค์ทั่วโลกต้องมาประชุมกัน แต่นี่มาเฉพาะตัวแทนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการเลือกจากสภาพระสังฆราชของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ให้มาเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม การประชุมสมัชชาส่วนมากที่จัดขึ้นมาตั้งแต่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 จะประกอบด้วยจำนวนพระสังฆราชประมาณ 200 องค์ (รวมทั้งอธิการคณะนักบวชอีกประมาณ 10 ท่าน) การประชุมนั้นจัดขึ้นที่กรุงโรมทุกๆ 3 ปี ระยะเวลาการประชุมแต่ละครั้งประมาณ 3-4 สัปดาห์ แต่ละครั้งก็มีหัวข้อเฉพาะแตกต่างกันไป เช่น การประกาศเผยแพร่พระวรสาร  คำสอน ครอบครัว การคืนดี ฆราวาส และพระสงฆ์ เป็นต้น

ในประมวลกฎหมายพระศาสนจักรได้ระบุว่า สมัชชาพระสังฆราชมีจุดหมาย 3 ประการ ด้วยกัน กล่าวคือ
1.เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพระสันตะปาปากับบรรดาพระสังฆราชให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
2.เพื่อให้คำแนะนำแด่พระสันตะปาปาในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อ ศีลธรรม และระเบียบวินัยของพระศาสนจักร
3.เพื่อพิจารณาดูกิจกรรมต่างๆ ของพระศาสนจักรในโลกนี้ (มาตรา 342)

สมัชชาพระสังฆราชในสมัยปัจจุบันไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่อันที่จริงเป็นการรื้อฟื้นการปฏิบัติที่เก่าแก่ในพระศาสนจักร ซึ่งในสมัยนั้นมักจะมีบรรดาพระสังฆราชมาประชุมกันโดยสมัครใจ ซึ่งมีแบบแผนมาจากการประชุมสภาสังคายนาแห่งกรุงเยรูซาแลม ที่เล่าไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวกบทที่ 15 แต่ต่อมาตำแหน่งหน้าที่ของพระสันตะปาปามีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และในเวลาเดียวกันการประชุมสมัชชาค่อยๆ ลดลงจนหมดไป จนกระทั่งสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เพราะว่าทั้งพระสันตะปาปา และบรรดาพระสังฆราชเห็นพ้องต้องกันถึงคุณค่าของการประชุมบ่อยๆ ของกลุ่มย่อยที่ไม่จำเป็นต้องใหญ่ เช่นการประชุมสภาสังคายนาสากล

อย่างไรก็ตามสมัชชาพระสังฆราชนี้ แม้จะเห็นได้ชัดว่าพระสังฆราชผู้เป็นตัวแทนได้รับคัดเลือกมาจากสภาพระสังฆราชทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้กระทำในแบบมีอำนาจเต็มและสูงสุดตามแบบที่คณะพระสังฆราชมี โดยปกติแล้วทำหน้าที่ในการพิจารณาตามหัวข้อเรื่องและเสนอความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ถึงขั้นของการตัดสินปัญหาและออกกฤษฎีกาต่างๆ จริงอยู่พระสันตะปาปาอาจจะทรงขอให้สมัชชาตัดสินเรื่องนั้นๆ โดยมีอำนาจก็ย่อมได้ (มาตรา 343) แต่จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่ทรงเคยขอเช่นนั้น ภาพของสมัชชาที่ ปรากฏชัดก็คือ เป็นผู้ให้คำปรึกษาแด่พระสันตะปาปา

ตามข้อเท็จจริงแล้ว สมัชชาอยู่ภายใต้การควบคุมของพระสันตะปาปาโดยสิ้นเชิง พระองค์ทรงเป็นผู้เรียกประชุม ทรงรับรองรายชื่อพระสังฆราชผู้เป็นตัวแทนร่วมประชุม ทรงเลือกหัวข้อประชุม ทรงเป็นประธานในการประชุม หรือทรงล้มเลิกการประชุมก็ได้ (มาตรา 344)

สมัชชายังแบ่งออกเป็นหลายๆ รูปแบบ เช่น แบบทั่วไปหรือแบบพิเศษ แบบสามัญหรือแบบวิสามัญ รวมทั้งแบบ “รวม” ที่เลือกสมาชิกมาจากหลายๆ แบบที่กล่าวมาข้างต้นก็ได้ (มาตรา 345-346) ในการประชุมมักจะรวมพวกหัวหน้าสำนักงานต่างๆ ของสันตะสำนักที่อยู่ที่ส่วนกลางเข้าไว้ด้วย สมัชชาพระสังฆราชมีสำนักเลขานุการถาวร ซึ่งมีเลขาธิการและสภาของบรรดาพระสังฆราช ทำงานอยู่ภานในขอบเขตจำกัดที่เป็นหน้าที่ในระหว่างประชุมสมัชชานั้นๆ (มาตรา 348) ยังมีรายละเอียดอีกพอสมควรที่จะหาอ่านเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ขอนำมากล่าวไว้ที่นี้

ที่เขียนเกี่ยวกับพระสังฆราชคาทอลิกในที่นี้ก็เพื่อพี่น้องจะได้เข้าใจ และร่วมแสดงความยินดีต่อพระคุณเจ้าพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู อันเป็นที่รัก และเคารพของชาวเรา ทั้งในฐานะพระอัครสังฆราช และบิดาที่รักยิ่งของลูกๆ

(คัดมาจากหนังสือ “บิดาของเรา” พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู, ปีที่พิมพ์ 1998)

--------------------------------