- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

  • พระสังฆราช มารี มีแชล ลังเยร์ (Marie Michel Langer)
    ประมุของค์แรก แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์      ค.ศ.1967-1976 (พ.ศ.2510-2519)

    คุณพ่อมารี มีแชล ลังเยร์ (Marie Michel Langer) เกิดที่ นอร์มังดี  ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1920 ในปี ค.ศ.1938 เข้าสามเณราลัยเล็กที่เอเวรอส์  ค.ศ. 1940 ย้ายไปอยู่สามเณราลัยเมืองการ์มส์ จนถึง ค.ศ.1943 จึงเข้าสามเณราลัยใหญ่คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส จนกระทั่งได้รับศีลบรรพชา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1946 เป็นพระสงฆ์รุ่นเดียวกับ พระสังฆราช อาแลง วังกาแวร์ (Alain Vangavere)

    หลังจาก คุณพ่อมารี มีแชล ลังเยร์ (Marie Michel Langer) บวชได้ 4 เดือน  ก็ได้รับมอบหมายให้มาแพร่ธรรมในสังฆมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ตั้งแต่ เมษายน ค.ศ.1947 ถึง ตุลาคม ค.ศ.1951 และถูกไล่ออกนอกประเทศ เนื่องจากประเทศจีน เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ จึงเดินทางผ่าน แวะพักที่ฮ่องกง ก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อ วันที่ 29  พฤศจิกายน ค.ศ.1951 ในเบื้องต้น ได้มาประจำอยู่ที่วัด บ้านนา-หนองรี จังหวัดนครนายก  ศึกษาภาษาไทย และภาษาจีน (แต้จิ๋ว) เป็นเวลา 1 ปี  หลังจากนั้น ย้ายมาประจำที่วัดกัลหว่าร์  ตลาดน้อย ทำหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ถึงเดือน สิงหาคม  ค.ศ.1957  พระสังฆราช หลุยส์ โชแรง (Louis Chorin)  สร้างวัดเซนต์หลุยส์  สาธร  เสร็จเรียบร้อย จึงได้แต่งตั้งให้ คุณพ่อเป็นเจ้าวัดองค์แรก ต่อมาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ประมุของค์แรก แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1967 (ในขณะดำรงตำแหน่ง เจ้าวัดเซนต์หลุยส์ ก็ยังได้รับตำแหน่ง เจ้าคณะแขวงมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ระหว่าง ค.ศ.1959-1962 ด้วย)

    คุณพ่อมารี มีแชล ลังเยร์ (Marie Michel Langer) ได้รับการอภิเษกให้เป็นพระสังฆราช เมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1967ณ  อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ   โดยพระคุณเจ้ายอแซฟ ยวง  นิตโย อัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  เป็นผู้อภิเษก  ร่วมกับพระคุณเจ้า   เคลาดีอุส

    บาเยต์ (Claudeus Bayet)  จากสังฆมณฑลอุบลราชธานี,   และพระคุณเจ้าอาแลง วังกาแวร์ จากสังฆมณฑลนครราชสีมา พร้อมทั้งพระสังฆราชสังฆมณฑลในประเทศไทย ได้แก่ พระคุณเจ้าฟรังซิส เซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี  สังฆมณฑลจันทบุรี, พระคุณเจ้าเปโตร  คาเร็ตโต  สังฆมณฑลราชบุรี,  พระคุณเจ้ามีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ อัครสังฆมณฑลท่าแร่หนองแสง, พระคุณเจ้าคลาเรนซ์ เจ. ดูฮาร์ด สังฆมณฑลอุดรธานี   และพระคุณเจ้าลูเซียน ลากอส สังฆมณฑลเชียงใหม่

    ในการอภิเษกครั้งนี้ มีพระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง และสัตบุรุษจากกรุงเทพฯ มาร่วมพิธีการอภิเษก อย่างมากมาย โดยเฉพาะสัตบุรุษวัดเซนหลุยส์ ยังได้มาร่วมในพิธีการสถาปนาสังฆมณฑลนครสวรรค์ อย่างเป็นทางการอีกด้วย
    ปฐมฤกษ์การเข้ารับตำแหน่งพระสังฆราช แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์

    พระคุณเจ้ามารี มีแชล ลังเยร์ (Marie Michel Langer) ได้รับตำแหน่งพระสังฆราชของสังฆมณฑลนครสวรรค์ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1967 ณ เวทีชั่วคราว ซึ่งคุณพ่อเรอเน บรีสซอง พ่อเจ้าอาวาสวัดนักบุญอันนา นครสวรรค์ เป็นผู้ดำเนินงาน จัดสร้างเวที เนื่องจากวัดอยู่ในสภาพเก่า  ทรุดโทรมมาก

    การเข้ารับตำแหน่งพระสังฆราช แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์  ของพระคุณเจ้ามารี มีแชล ลังเยร์ (Marie Michel Langer) จัดขึ้นตามลำดับพิธีการ โดยมี พระคุณเจ้ายอแซฟ ยวง  นิตโย เป็นประธานในพิธีแต่งตั้ง พร้อมกับพระสงฆ์ประจำสังฆมณฑล ซึ่งหลังเสร็จสิ้นพิธีมิสซา พระคุณเจ้ายอแซฟ ยวง  นิตโย อ่านสารแต่งตั้งจากกรุงโรม จากนั้น พระสงฆ์ประจำสังฆมณฑล ผู้แทนนักบวชชาย-หญิง  ผู้แทนวัดต่างๆ ของสังฆมณฑล  แสดงความนบนอบต่อพระคุณเจ้า อีกทั้งยังมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เลขานุการสมณทูต โมเรนี พระสงฆ์จากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และสังฆมณฑลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตบุรุษวัดเซนหลุยส์ และ คุณพ่อตาปี พระสงฆ์อาวุโส ในบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย (อายุ 87 ปี) ได้มาร่วมยินดีในพิธีด้วย

    พระคุณเจ้ามารี มีแชล ลังเยร์ (Marie Michel Langer) กับคณะสงฆ์ของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส
    ในการทำงานยุคแรก พระคุณเจ้ามารี มีแชล ลังเยร์ (Marie Michel Langer)  มีผู้ร่วมงานที่สำคัญ คือ พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส  จำนวน 8 องค์ ได้แก่
    1. คุณพ่อวิคตอร์ ลาร์เก (Larque) ประจำอยู่ที่หล่มสัก ซึ่งกำลังสร้างวัด และโรงเรียนที่หมู่บ้านสันติสุข คริสตชนเหล่านี้อพยพมาจากบ้านหนองซ่งแย้ จังหวัดยโสธร เพื่อมาตั้งหมู่บ้านใหม่      
    2. คุณพ่ออิสิโดร์ การ์แรล (Garrel) ทำหน้าที่เจ้าอาวาส วัดเซนต์นิโกลาส พิษณุโลก ก่อนหน้าที่จะมีการสถาปนาเป็นสังฆมณฑลนครสวรรค์
    3. คุณพ่อแวร์ดิเอร์ (Verdiere) ประจำอยู่ที่แม่สอด ได้ร่วมกับ คุณพ่อแกงตารด์ (Quintard) ทำงานกับชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง
     4. คุณพ่อเอเทียน กรางซ์ (Grange) ทำหน้าที่เจ้าอาวาสวัด พระตรีเอกานุภาพ (ปัจจุบัน คือ วัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ จังหวัดตาก)  เป็นเวลา  6 ปี และได้สร้างโรงเรียนมัธโนทัย (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนเซนต์ฟรังซิส เซเวียร์ มัธโนทัย)
    5. คุณพ่อเรอเน บริสซอง (Brisson) เป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญอันนา นครสวรรค์ ในปี ค.ศ. 1965
    6. คุณพ่อฮาซ (Haze) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระนามกรเยซู บ้านแป้ง ที่ไปพักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส
    7. คุณพ่อโรแบรต์ ปีโยต์ (Billot) เจ้าอาวาสวัดนักบุญลูกา บางขาม ในปี ค.ศ. 1965
    8. คุณพ่อยอแซฟ แกงตารด์ (Quintard) ทำงานแพร่ธรรมกับชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง  เขตแม่สอด
                
  • พระสงฆ์ ที่ติดตามมาช่วยงานในภายหลัง และประจำอยู่สังฆมณฑลนครสวรรค์ ในเวลาต่อมา  ได้แก่
    1. คุณพ่อโกลรีโอ (Gloriod) ทำหน้าที่เหรัญญิก และเลขานุการ
    2. คุณพ่อเรอเน เมอนีเอร์ (Meunier) ทำหน้าที่เจ้าอาวาสวัดพระนามกรเยซู  บ้านแป้ง ในปีค.ศ. 1967
    3. คุณพ่อมีแชล บรูซ์ (Broux)
    4. คุณพ่อมีแชล กูตังด์ (Coutand)
    5. คุณพ่อราแปง (Rapin)
    6. คุณพ่อมีแชล โกเชต์ (Gauchet)
    7. คุณพ่ออังตวน เดชังป์ (Deschamps)
    8. คุณพ่อดือฮาร์ท (Duhart) เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ สามพราน (แต่ก่อนเคยทำงานอยู่ที่ประเทศพม่า ก่อนที่จะถูกให้ออกนอกประเทศพร้อมกับเพื่อนอีกหลายคน)
    9. คุณพ่อปีแอร์ ลาบอรี่ (Laborie)
              
    พระสงฆ์มิชันนารี ที่ถูกให้ออกจากประเทศพม่า ได้แก่
    1. คุณพ่อยอแซฟ กียู (Guillou) เริ่มงานแพร่ธรรมกับชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เขตปูแป้
    2. คุณพ่อยัง มอแตง (Mottin) เริ่มงานแพร่ธรรมกับชาวเขาเผ่าม้ง เขตเพชรบูรณ์
    3. คุณพ่อกาเบรียล  ตีเครอัต (Tygreat)  เริ่มงานแพร่ธรรมกับชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง  เขตช่องแคบ
    4. คุณพ่อซาอึก (Sahuc) เรียนภาษาไทย ที่วัดแม่พระฟาติมา กรุงเทพฯ

    คณะนักบวช ชาย-หญิง ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ก่อนหน้าที่จะมีการสถาปนาเป็นสังฆมณฑลนครสวรรค์  ได้แก่
    1. ภคินีคณะพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ ทำงานอยู่ที่โรงเรียนพระหฤทัยสวรรคโลก และวัดเซนต์นิโกลาส  พิษณุโลก, วัดนักบุญอันนา  นครสวรรค์ , วัดพระนามกรเยซู   บ้านแป้ง  และวัดนักบุญลูกา  บางขาม เป็นต้น
    2. ภราดาลาซาล (Lasalle) ทำงานที่โรงเรียนลาซาลโชติรวี ก่อนหน้ามาประมาณ 15 ปีแล้ว ซึ่งในขณะนั้นมีนักเรียนประมาณ  1,500 คน
    3. ภคินีคณะเซนต์ปอล  เดอ ชาร์ตร ทำงานอยู่ที่โรงเรียนวันทามารีย์  (ปัจจุบัน คือ  โรงเรียนเซนต์โยเซฟ  นครสวรรค์)
    วันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1967 พระคุณเจ้ามารี มีแชล  ลังเยร์ (Marie Michel Langer) ได้เช่าบ้านหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ถนนดาวดึงส์  เพื่อใช้เป็นสำนักงานของสังฆมณฑล โดยมีผู้ใจบุญจากวัดเซนต์หลุยส์  กรุงเทพฯ  ส่งเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มาสนับสนุนการทำงาน  (ปัจจุบัน คือสำนักงานมิสซังคาทอลิกนครสวรรค์)

    การปฏิบัติภารกิจ : จิตตารมณ์ของการแพร่ธรรม
                 คุณพ่อโรแบรต์ ปีโยต์ (Billot) ได้เล่าให้ฟังว่า พระคุณเจ้ามารี  มีแชล ลังเยร์  (Marie Michel Langer)   วางแนวนโยบายงานแพร่ธรรม และการปฏิบัติภารกิจ ด้วยการใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อพระเจ้า และเพื่อนมนุษย์ ตามคติพจน์ที่ว่า “ความซื่อสัตย์และอ่อนโยน” IN FIDE ET LENITATE จึงก่อให้เกิดวิธีการแพร่ธรรมในยุคบุกเบิก ดังนี้

    1. เปิดวัดตามหัวเมืองที่ สระบุรี ลพบุรี ตาคลี หล่มสัก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิจิตร และกำแพงเพชร
    2. ทำการแพร่ธรรม กับชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และ ม้ง
    3. ไม่มีแผนการ หรือโครงการใหญ่ ๆ เช่น  การเปิดโรงเรียนแห่งใหม่  ในสังฆมณฑล  เป็นแต่เพียงปรังปรุงโรงเรียนที่มีอยู่ เช่น โรงเรียนพระวรสาร ที่บางขาม โรงเรียนมัธโนทัย ที่จังหวัดตาก โรงเรียนเซนต์นิโกลาส ที่จังหวัดพิษณุโลก  และ โรงเรียนสันติพัฒนา จังหวัดเพชรบูรณ์
    4. ซื้อที่ดินจำกัด ประมาณ 3-4 ไร่ เพื่อนำมาสร้างวัด บ้านพักพระสงฆ์ และบ้านพักซิสเตอร์
    5. พยายามประกาศข่าวดีแก่คนต่างศาสนาตามความถนัดของพระสงฆ์แต่ละคน
     

                 คุณพ่อโรแบรต์  ปีโยต์ (Billot) มีความภาคภูมิใจ ที่ได้ทำงาน กับ พระคุณเจ้า มีแชล ลังเยร์กับการทำหน้าที่มิชชันนารี ในฐานะพระสงฆ์ของมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสในประเทศไทย คุณพ่อ ได้ชี้ให้เห็นถึงความเจริญเติบโตของมิสซังนครสวรรค์ ที่มีวัด มีโรงเรียน และมีกิจกรรมส่งเสริมความเชื่อมากขึ้น

                   ปัจจุบัน คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส มีความภาคภูมิใจที่มีพระสงฆ์ไทย สังฆมณฑลนครสวรรค์ จำนวนมากขึ้น ซึ่งเปรียบเหมือนลูกหลานของมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส  รวมทั้งแนวทางการทำงานกับชาวเขาในฐานะมิชชันนารี  ที่ดำเนินการรวมกลุ่มคริสตชน เพื่อการแพร่ธรรม ด้วยวิธีการใช้ครูคำสอน และหัวหน้าคริสตังชาวเขา มาเป็นผู้นำแกนหลักในการแพร่ธรรม ได้เป็นผลสำเร็จ ถึงแม้ว่าจะไม่มีพระสงฆ์มาอยู่ประจำ แต่พวกเขาทั้งหลายก็สามารถรวมกันปฏิบัติวจนพิธีกรรมได้ทุกวัน และทุกอาทิตย์ แสดงให้เห็นถึงพลังของความเชื่อ และความรักในพระเจ้าที่ คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ได้ปลูกฝังไว้เป็นมรดกสืบไป  

    การส่งต่อภารกิจเพื่อการดูแลประชากรของพระเจ้า

    พระคุณเจ้ามารี มีแชล  ลังเยร์ (Marie Michel Langer)  ได้ปกครองดูแลสังฆมณฑลนครสวรรค์เป็นเวลา 9 ปี จึงได้ขอลาพัก เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ ประกอบกับสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2  มีเจตนารมณ์ที่มุ่งส่งเสริมประมุขเขตมิสซังให้เป็นคนพื้นเมือง

    พระคุณเจ้ามารี มีแชล  ลังเยร์ (Marie Michel Langer)  มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง กับการได้ทำพิธีบวชพระสงฆ์สังฆมณฑลองค์แรก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม  ค.ศ.1975  (ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของพระคุณเจ้ามารี มีแชล  ลังเยร์ Marie Michel Langer) คือ คุณพ่อเบเนดิกต์ มนัส ศุภลักษณ์  สัตบุรุษวัดนักบุญอันนา  นครสวรรค์

    เมื่อพระคุณเจ้ามารี  มีแชล ลังเยร์  (Marie Michel Langer) ขอลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ ในปี ค.ศ.1976 สภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทยได้สนองเจตนารมณ์โดยดำเนินการทูลเสนอแด่องค์สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6  ให้ทรงแต่งตั้ง คุณพ่อยอแซฟ บรรจง อารีพรรค ขณะดำรงตำแหน่งอธิการสามเณราลัยแสงธรรม สามพราน  (Lux  Mundi)  เป็นประมุขสังฆมณฑลนครสวรรค์ สืบภารกิจต่อมา

    พระสังฆราช ยอแซฟ บรรจง อารีพรรค
    ประมุของค์ที่สอง แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์ : ค.ศ.1976-1998 (พ.ศ.2519-2541)

    พระคุณเจ้ายอแซฟ บรรจง  อารีพรรค   เกิดเมื่อวันที่ 27  พฤษภาคม ค.ศ.1927   ตำบล
    จันทนิมิต  อำเภอเมือง  จังหวัดจันทบุรี
    ปี ค.ศ.1945 ได้สมัครเข้าสามเณราลัยพระหฤทัย ศรีราชา
    ปี ค.ศ. 1950 ศึกษาต่อที่กรุงโรม ณ Collegio Propaganda Fide
    ปี ค.ศ.1956 ได้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรม
    ปี ค.ศ.1957 กลับประเทศไทย  เริ่มงานอภิบาลในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และได้รับมอบหมายให้ตั้งคณะบราเดอร์ เซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ เพื่อช่วยงานสังฆมณฑล ท่านทำงานในหน้าที่นี้ 7 ปี

    ปี ค.ศ.1964 ได้ไปศึกษาวิชาครู สาขาจิตวิทยา ที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย หลังจากจบการศึกษา ได้ฝึกงานต่อที่รัฐวิคตอเรีย นครเมลเบิร์นอีก 3 เดือน
    ปี ค.ศ.1966 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น อธิการสามเณราลัยพระหฤทัย ศรีราชา จังหวัดชลบุรี
    ปี ค.ศ.1969 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหารแม่พระปฏิสนธินิรมล จังหวัดจันทบุรี เป็นเวลา 6 เดือน
    ปี ค.ศ.1970 รับหน้าที่เป็นอาจารย์สอน ที่สามเณราลัยใหญ่ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย
    ปี ค.ศ.1971 กลับเมืองไทย และช่วยพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นอธิการสามเณราลัยนักบุญยอแซฟ สามพราน เพื่อเตรียมการก่อสร้างสามเณราลัยแสงธรรม

    ต้นปี ค.ศ.1972 รักษาการตำแหน่งอธิการสามเณราลัยใหญ่ ระดับประเทศ โดยขณะนั้นยังใช้สถานที่ ที่โรงเรียนหัวหินวิทยาลัย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

    ปลายปี ค.ศ.1972 ย้ายสถานที่อบรมสามเณรใหญ่มาที่ สามเณราลัยแสงธรรม (Lux Mundi) อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งถือว่าท่านเป็นอธิการสถาบันแสงธรรมเป็นคนแรก
    วันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1976 ได้รับแต่งตั้งจาก สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ให้เป็นพระสังฆราช ประจำสังฆมณฑลนครสวรรค์ แทนพระสังฆราชมารี มีแชล ลังเยร์ (Marie Michel Langer)

    วันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1976 ได้รับอภิเษก โดยพระอัครสังฆราชไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ณ อาสนวิหารนักบุญอันนา นครสวรรค์ และเข้าดำรงตำแหน่งพระสังฆราช ประมุของค์ที่สอง แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์  ทำหน้าที่นายชุมพาบาลที่คอยดูแลลูกแกะด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ด้วยคติพจน์ ที่ว่า “ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีพระเจ้า” UBI CHARITAS ET AMOR DEUS IBI EST

    การสืบสานภารกิจงานแพร่ธรรม
    พระคุณเจ้ายอแซฟ บรรจง อารีพรรค ได้ส่งเสริมงานแพร่ธรรม ทั้งในด้านการบุกเบิกสถานที่ใหม่    และงานอภิบาลดูแลรักษากลุ่มคริสตชน ให้มีความเชื่อมั่นคง โดยการสรรหาบุคลากรเพื่อร่วมงานแพร่ธรรมเพิ่มมากขึ้น จากคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส  คณะสงฆ์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ พระสงฆ์จากสังฆมณฑลจันทบุรี ภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร  ภคินีคณะรักกางเขน จันทบุรี และครูคำสอน นอกจากนั้นยังได้สนับสนุนกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์ นักบวชมากขึ้น โดยส่งสามเณรเข้ารับการอบรม ที่สามเณราลัยยอแซฟ สามพราน ซึ่งมีพระสงฆ์ที่ได้รับการบวชในวาระสมัยของท่าน ได้แก่
    1.คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ อุดมศักดิ์ วงษ์วุฒิพงษ์ (โอนจากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ)
    2.คุณพ่อราฟาแอล มนตรี เพียรรุ่งเรือง
    3.คุณพ่อยอแซฟ สำราญ ลออสิทธิภิรมย์
    4.คุณพ่อเบเนดิกต์ ศิริชาญ เอียงผาสุข
    5.คุณพ่อมีคาแอล พิทักษ์ ศิลาโคตร
    6.คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ รังสิพล เปลี่ยนพันธุ์
    7.คุณพ่อเปาโล ธวัช สิงห์สา
    8.คุณพ่อเปโตร ศักดา กล่ำชัย
    9.คุณพ่อผจญ คีรีอำรุง
    10.คุณพ่อโทมัส ประเสริฐ หินฝนทอง
    11.คุณพ่อยอห์น สัญญา สิงห์สา

    นอกจากนี้ยังได้อนุมัติการก่อสร้างอาคารที่พักพระสงฆ์ และวัดหลังใหม่ขึ้นหลายแห่ง เช่น  วัดนักบุญลูกา บางขาม จ. ลพบุรี วัดพระนามกรเยซู บ้านแป้ง จ.สิงห์บุรี วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ตาก วัดครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ คลองลาน วัดแม่พระผู้ปฏิสนธินิรมล บ้านแม่พืช รวมไปถึงวัดที่อยู่บนดอยจำนวนมาก ตลอดจนได้อนุมัติสร้างโรงเรียน ยอแซฟ พิจิตร และ โรงเรียนพระกุมารเยซูสิงห์บุรี เป็นต้น

    พระคุณเจ้า ยอแซฟ บรรจง อารีพรรค ได้บูรณาการระบบการทำงานของสังฆมณฑลในรูปคณะกรรมการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ให้ความตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมกระแสเรียก การเป็นผู้รับใช้ของพระศาสนาจักรโดยตรง ด้วยการอนุมัติ การสร้าง สามเณราลัย จอห์น ปอล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ และความหวังของสังฆมณฑล การเตรียมการในเรื่องนี้ พระคุณเจ้าได้ส่ง คุณพ่อเบเนดิกต์ ศิริชาญ เอียงผาสุข ไปศึกษาชีวิตจิต ที่กรุงโรม 
    พระคุณเจ้า ยอแซฟ บรรจง อารีพรรค ปฏิบัติภารกิจในฐานะประมุข แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์ เป็นเวลา 22 ปี จึงขอลาพักเกษียนจากตำแหน่งประมุขสังฆมณฑลนครสวรรค์ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ ในปี ค.ศ.1998 (พ.ศ.2541) ในขณะที่มีอายุได้ 72 ปี

    หลังจาก พระคุณเจ้า ยอแซฟ บรรจง อารีพรรค ลาพักเกษียนจากตำแหน่งประมุขสังฆมณฑลนครสวรรค์ ท่านได้พำนักอยู่ที่ บ้านทรงไทย ภายในบริเวณสามเณราลัย จอห์น ปอล จังหวัดนครสวรรค์ และยังทำน้าที่  เป็นที่ปรึกษาของ สามเณราลัย และคุณพ่อวิญญาณรักษ์ ของสามเณร ในเวลาต่อมา

  • พระสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์
    ประมุของค์ที่สาม แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์  ค.ศ.1999-2005 (พ.ศ.2542-2548)
    หลังจาก พระคุณเจ้า ยอแซฟ บรรจง อารีพรรค ลาพักเกษียนจากตำแหน่งประมุขสังฆมณฑลนครสวรรค์ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทรงโปรดเลือก คุณพ่อหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เป็นพระสังฆราช โดยได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1998 เพื่อสืบต่อภารกิจการทำหน้าที่นายชุมพาบาลในการปกครองดูแล และสานต่องานการพัฒนาสังฆมณฑลนครสวรรค์

    พระคุณเจ้า หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485)  ที่บ้านหนองแสง  อำเภอเมือง  จังหวัดนครพนม  เข้าศึกษาที่ สามเณราลัยฟาติมา  ท่าแร่ ในปีค.ศ.1945-1963 (พ.ศ.2497-2506)  เข้าศึกษาที่ Collegio Propaganda Fide กรุงโรม ปี ค.ศ.1963-1970 (พ.ศ.2506-2513)  บรรพชาเป็นพระสงฆ์ วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ที่กรุงโรม โดยสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6

    พระคุณเจ้า หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ณ อาสนวิหารนักบุญอันนา นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1999  และได้ทำหน้าที่นายชุมพาบาลในการปกครองดูแล และสานต่องานการพัฒนาสังฆมณฑลนครสวรรค์ ด้วยคติพจน์ที่ว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง” ADVENIAT REGNUM TUUM

    ภารกิจและงานการพัฒนา ในฐานะประมุของค์ที่ 3 แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์
    พระคุณเจ้า หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้สานงานต่อ และได้พัฒนางานในสังฆมณฑล ในหลายด้านด้วยกัน ได้แก่
    1.จัดทำคู่มือทิศทางงานอภิบาลของสังฆมณฑลนครสวรรค์
    2.ส่งเสริมสนับสนุนให้พระสงฆ์ นักบวช และฆราวาสที่ทำงานในสังฆมณฑลฯ ได้เรียนรู้ประสบการณ์การจัดกลุ่มคริสตชนย่อย (Basic Ecclesial Community : BEC)  ที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์
    3.ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้ง กลุ่มยุวธรรมทูตในโรงเรียน โดยจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ครู และคณะนักบวชที่ทำงานในสังฆมณฑล
    4.ส่งเสริมและสนับสนุนให้พระสงฆ์พื้นเมืองไปศึกษาต่อที่กรุงโรม
    5.อนุมัติและร่วมก่อสร้างอารามคาร์แมล นครสวรรค์
    6.ส่งเสริมสนับสนุนให้ก่อตั้ง คณะเซอร์ร่า กลุ่มสตรี สุขอนามัย ส่งเสริมชีวิตครอบครัว และ กลุ่มคริสตชนย่อยให้แพร่หลายในสังฆมณฑลฯ
    7.อนุมัติให้สร้างวัดใหม่ ได้แก่

    7.1วัดนักบุญหลุยส์กษัตริย์ บ้านเลโค๊ะ อำเภอแม่สอด  จังหวัดตาก
    7.2วัดนักบุญยอแซฟ  บ้านเบือล่าพอ อำเภอแม่สอด  จังหวัดตาก
    7.3วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์ เข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
    7.4วัดพระมหาไถ่ บ้านขุนห้วย อำเภอแม่สอด และวัดบนดอยเขตแม่สอด เขตแม่ระมาด และเขตท่าสองยาง จังหวัดตาก
    7.5วัดอัครเทวดาคาเบรียล บ้านสันติสุข อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์
    7.6วัดนายชุมพาบาลที่ดี อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
    7.7วัดอัครเทวดามีคาแอล อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
    8.ด้านการศึกษา ได้สนับสนุนให้สร้างอาคารเรียนของโรงเรียนสังฆมณฑล ได้แก่
    8.1โรงเรียนเซนต์นิโกลาส จังหวัดพิษณุโลก
    8.2โรงเรียนยอแซฟพิจิตร จังหวัดพิจิตร
    8.3โรงเรียนพระกุมารสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
    8.4โรงเรียนภัทรวิทยา แม่สอด จังหวัดตาก
    8.5โรงเรียนเซนต์แมรี่อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
    9.จัดระเบียบการบริหารโรงเรียนของสังฆมณฑลใหม่ เพื่อให้ทุกโรงเรียนนำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติเหมือนกัน
    10.จัดตั้งศูนย์ฟรังซิสเซเวียร์ ที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เพื่อให้เด็กชาวเขาได้มาพักและไปศึกษาต่อที่โรงเรียนใกล้เคียง
    11.พัฒนาสามเณราลัย จอห์น ปอล ให้พร้อมสำหรับการอบรมอย่างต่อเนื่อง
    12.บวชพระสงฆ์ของสังฆมณฑล 4 องค์ ได้แก่  คุณพ่อลูกา สันติ  ปิตินิตย์นิรันดร์ คุณพ่อเปโตร ทรงธรรม  สินเจริญ     คุณพ่ออิกญาซิโอ ชวินทร์  เสงี่ยมแก้ว     และคุณพ่อเปาโล พงศ์ศักดิ์   เสงี่ยมแก้ว
    13.จัดพิมพ์หนังสือต่าง ๆ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อใช้ในพิธีกรรม การสอนคำสอน และงานอภิบาล ได้แก่  หนังสือคำสอนคาทอลิก หนังสือภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ บทเพลงสดุดีประจำวันอาทิตย์ ปี A B C บทเพลงสดุดีประจำวันธรรมดา ปี่คู่ และ ปีคี่  บทเพลงสดุดีมิสซาวันธรรมดาในเทศกาล และหนังสือพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ เป็นต้น
    พระคุณเจ้า หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้สานต่อภารกิจ และงานการพัฒนา ในฐานะประมุของค์ที่ 3 แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์ เป็นเวลา 6 ปี

    ในปี ค.ศ. 2005 พระคุณเจ้า หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอัครสังฆราช ประจำสังฆมณฑลท่าแร่ – หนองแสง  และต่อมาคณะที่ปรึกษามีมติให้   คุณพ่อเบเนดิกต์
    ศิริชาญ  เอียงผาสุข  ทำหน้าที่เป็นผู้รักษาการสังฆมณฑล จนถึงปัจจุบัน
     
  • พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
    ประมุของค์ที่สี่ แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์  ค.ศ.2007