คุณพ่ออนุชา ไชยเดช และ วัชรี กิจสวัสดิ์

“สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงประกาศแต่ งตั้งคุณพ่อยอแซฟ ลือชัย ธาตุวิสัย ให้เป็นประมุของค์ล่าสุดของสังฆมณฑลอุดรธานี สืบต่อจากพระคุณเจ้ายอร์ช ยอด พิมพิสาร” เมื่อคำประกาศถูกเผยแพร่ออกไป คำถามก็เริ่มขึ้น “ใครเหรอ?”

ไม่น่าแปลกกับคำถามนั้น เพราะชีวิตของพระคุณเจ้าใหม่ของเรากับอายุบวช 20 ปี   11 ปีใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนจนจบปริญญาเอก เป็นด็อกเตอร์ของวิชาพระคัมภีร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นวิชาที่หินที่สุดในการเรียนเ พราะต้องเรียนรู้หลายภาษารวมทั้งในเมืองไทย มีผู้จบด้านนี้จนถึงปริญญาเอกเพียง 2 คนเท่านั้น ส่วน 9 ปีที่เมืองไทย ชีวิตส่วนใหญ่คือการเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยแสงธรรม

“ใครเหรอ?” อย่าทิ้งคำถามให้คาใจ บทสัมภาษณ์นี้จะพาท่านผู้อ่านร่วมสำรวจเส้นทางชีวิตพระสังฆราชใหม่ จากเด็กธรรมดาคนหนึ่ง สู่วิถีชีวิตต่อไปที่ธรรมดาไม่ได้อีกแล้ว

หลังจากที่มีการประกาศพระสังฆราชตามสังฆมณฑลต่างๆ ไปแล้ว ยังเหลือเพียงสังฆมณฑลอุดรธานีแห่งสุดท้าย ในฐานะที่ในตอนนั้นพระคุณเจ้าเป็นพระสงฆ์ท่านหนึ่งของสังฆมณฑลอุดรธานี พระคุณเจ้ามีความคิดเห็นอย่างไร หรือพระสงฆ์ในสังฆมณฑลมีการพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พระคุณเจ้ายอด พิมพิสาร ได้ลาเกษี ยณเนื่องจากอายุครบ 75 ปี ทางสถานทูตได้ออกจดหมายเพื่อสอบถามความเห็นพระสงฆ์สังฆมณฑลอุดรธานี และพระสงฆ์นักบวชที่ทำงานในสังฆมณฑล โดยให้บรรยายสถานการณ์ของสังฆมณฑลในขณะนั้นและเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสม 3 รายชื่อ พ่อเองได้รับจดหมายฉบับนี้เหมือนกัน เมื่อส่งจดหมายกลับไปแล้ว ประมาณ 3 เดือนต่อมา พระสมณทูตได้ให้จดหมายอีกฉบับหนึ่งเพื่อให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ที่ถูกเสนอชื่อ 2 คน พ่อเองก็รู้ตัวว่าถูกเสนอชื่อด้วยเพราะมีคนบอกมา และมีพระสงฆ์มิสชันนารีบางท่านบอ กเป็นนัยๆ เหมือนกัน แต่ตนเองไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะไม่คิดจะเป็นอยู่แล้ว และได้เสนอชื่อคนอื่นที่เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังฆมณฑลและมีความช่ำชองในงานอภิบาลมากกว่าในตอนนั้น แต่ก็มีการพูดในแวดวงพระสงฆ์เหมือนกันว่าอยากได้คนที่เคยทำงานในเขตสังฆมณฑลมาเป็นพระสังฆราชมากกว่าคนอื่น แต่จะเป็นใครพ่อก็ยินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว

ในที่สุดก็มาเป็นพ่อเอง ซึ่งได้รับจดหมายจากพระสมณทู ตเป็นฉบับที่ 3 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2009 ตอนแรกที่ได้รับจดหมายต้องยอมรับว่ากังวลใจเหมือนกัน กลัวว่าจะเป็นเรื่องนี้เพราะเวลาผ่านไปนานมากแล้ว จึงยังไม่กล้าเปิดจดหมายทันที หลังจากสวดภาวนา เฝ้าศีลมหาสนิทแล้วจึงมาเปิดจดหมาย และก็เป็นจริง ตอนนั้นพ่อรู้สึกกังวลใจมากขึ้นเพราะเป็นงานที่หนักและไม่ได้เตรียมตัวมาในด้านนี้ด้วย บอกตรงๆ ว่าไม่พร้อมที่จะรับงานนี้ แต่ด้วยความเชื่อ พ่อมั่นใจว่า เมื่อพระเลือกพ่อให้มาทำหน้าที่นี้ พระจะช่ วยเหลือพ่อ และพ่อเป็นเพียงเครื่องมือของพระ เป็นท่อธารของพระหรรษทานให้กับคนอื่นเท่านั้นเอง คนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังจริงๆ เป็นพระ เมื่อคิดแบบนี้พ่อก็รู้สึกสบายใจ

เส้นทางกระแสเรียกของพระคุณเจ้า

พ่อเป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง เกิดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1962 เป็นลูกคนโต อยู่ที่หมู่บ้านโพนสูง ซึ่งเป็นหมู่บ้านคริสตชนที่ใหญ่ที่สุดในสังฆมณฑลอุดรธานี 99% ของคนในหมู่บ้านเป็นคาทอลิก ตอนที่แม่คลอดพ่อ เมื่อคลอดเสร็จแล้วท่านก็เป็นลมไป เขาเกรงว่าพ่อจะไม่รอดด้วย จึงเชิญคุณพ่อมาล้างบาปให้ วันเกิดกับวันล้างบาปของพ่อจึงเป็นวันเดียวกัน

เมื่ออายุถึงเกณฑ์การศึกษา พ่อเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำ หมู่บ้านซึ่งเดิมเป็นของรัฐบาล ตอนนั้นยังไม่ได้โอนให้วัด เมื่อพ่อขึ้น ป.5 ทางรัฐบาลได้โอนให้เป็นโรงเรียนของวัดแล้วจึงมีซิสเตอร์จากท่าแร่เข้ามาบริหาร ในช่วงที่เป็นนักเรียนได้ไปช่วยมิสซาแทบทุกวัน เนื่องจากเด็กคาทอลิกมีเยอะจึงต้องแย่งกันเพื่อช่วยมิสซา พ่อเองมีความสนใจอยากเป็นพระสงฆ์ เมื่อจบ ป.7 ก็มีโอกาสไปสัมผัสชีวิตเณรที่อุดรฯ เมื่อกลับมาก็ขอคุณพ่อเจ้าวัดเพื่อเข้าเป็นเณร แต่ตอนนั้นคุณพ่อคงเห็นว่าเรายังเด็ก ยังไ ม่พร้อมจึงยังไม่ให้เข้าเป็นเณร จากนั้นจึงไปเรียนต่อ ม.ศ.1-ม.ศ.2 ที่โรงเรียนบ้านดุงวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ หลังจากจบ ม.ศ.2 แล้วพ่อมีโอกาสไปสัมผัสชีวิตเณรอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลับมาจึงไปขอคุณพ่อเจ้าวัดสมัครเข้าบ้านเณร คุณพ่อเจ้าวัดในขณะนั้นเห็นดีด้วย พ่อจึงเรียน ม.ศ.3 จนจบ ม.ศ.5 ที่บ้านเณรฟาติมา ท่าแร่ เนื่องจากสังฆมณฑลอุดรธานียังไม่มีบ้านเณรเล็ก เมื่อปี ค.ศ. 1982 พ่อจึงเข้าบ้านเณรกลางโดยไม่ต้องเป็นครูเ ณรเหมือนคนอื่นๆ จากนั้นปี ค.ศ. 1983-1989 พ่อศึกษาอยู่ที่บ้านเณรใหญ่แสงธรรมจนจบปีที่ 7 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีปีฝึกงานอภิบาล

แรงบันดาลใจของการเข้าบ้านเณร

เนื่องจากหมู่บ้านของพ่อเป็นหมู่บ้านคาทอลิกและเป็นบ้านนอกไม่มีไฟฟ้า จุดสนใจของเด็กๆ ในขณะนั้นจึงอยู่ที่วัด เพราะมีสนามให้เล่น และประทับใจความใจดีของคุณพ่อเจ้าวัด ท่านเป็นมิสชันนารีจากต่างประเทศ คือ คุณพ่อเลโอ เทรวิส เป็นคุณพ่อมิสชันนารีที่ใจดีและศรัทธามาก เป็นคนล้างบาปให้แม่ซึ่งเป็นพุทธมาก่อน ตอนเด็กๆ ก็คลุกคลีกับท่าน ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างความประทับใจกับพ่อมาก แบบอย่างที่ดีของมิสชันนารี ความใจดีของท่านทำให้พ่อสนใจกระแสเรียกการเป็นเณร ท่านเป็นเหมือนวีรบุรุษของพ่อ

ชีวิตตอนเป็นเณรก็เรียบง่าย ไม่หวือหวาอะไร เมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เมื่อตอนจบ ป.7 คุณพ่อเจ้าวัดในตอนนั้นไม่ใช่คุณพ่อเทรวิสเป็นองค์อื่นที่มาแทน ท่านยังไม่ให้เราเข้าบ้านเณร อาจเป็นแผนการของพระที่ต้องการให้พ่อมีความมั่นใจมากขึ้นหรือเปล่าไม่ทราบ ตอนแรกก็เสียใจที่ไม่ได้ไปพร้อมกับเพื่อนๆ

อย่างไรก็ตาม 2 ปี ผ่านไป ส่วนใจก็อยากไปอยู่  คิดว่าเป็ นแผนการของพระที่ต้องการเรียกร้องให้พ่อมั่นใจยิ่งขึ้น และเมื่อผ่านจุดนี้ไปและได้เข้าบ้านเณร พ่อรู้สึกมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น บางคนที่ไปก่อนก็กลับมาเพราะคิดถึงบ้าน เรื่องการตัดสินใจบวชเป็นพระสงฆ์ พ่อคิดว่ามันเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ทุกช่วงชีวิตที่ผ่านมาพ่อมีความมั่นใจขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อจะรับพิธีบวชสังฆานุกรพร้อมกับเพื่อนอีก 3 คน พ่อรู้สึกมีความมั่นใจมากว่าพ่อเดินมาถูกทางแล้วและนี่คือกระแสเรียกของพ่อ

หลังจากทำหน้าที่สังฆานุกรได้ระยะหนึ่ง พ่อก็ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์พร้อมกับคุณพ่อกำจัด เสาะก่าน ณ อาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์ อุดรธานี โดยพระคุณเจ้ายอด พิมพิสาร  เมื่อบวชแล้วงานแรกคือ เป็นผู้จัดการโรงเรียนมหาไถ่ศึกษาชาย ขอนแก่น และเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่บ้านไผ่ด้วย ซึ่งห่างจากขอนแก่น 40 กิโลเมตร ท ำงานโรงเรียนและงานอภิบาลไปพร้อมกัน ประมาณเกือบปี จึงกลับไปเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสอยู่ที่โพนสูงและอยู่ที่นั่น 3 เดือน จากนั้นพ่อมาอยู่ที่บ้านเณรแสงธรรมเพื่อเรียนภาษากรีกและภาษาฮีบรูกับคุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส และเรียนภาษาอิตาเลียนกับคุณพ่อวอลเตอร์ พระสงฆ์คณะกาปูชิน ส่วนภาษาละตินทบทวนเอง มีปัญหาก็ไปถามคุณพ่อทัศไนย์บ้าง หรือคุณพ่อบางคนที่อยู่ที่บ้านเณรใหญ่ในขณะนั้น

ตอนที่เป็นเณร คิดหรือไม่ว่าจะเป็นอาจารย์

ขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 5 คุณพ่อวงศ์สวัสดิ์ แก้วเสนีย์ อธิการบ้านเณรในสมัยนั้นได้เรียกพบและแจ้งให้ทราบว่า ทางบ้านเณรต้องการให้เรียนต่อเพื่อเป็นอาจารย์ ก็ทราบตั้งแต่ตอนนั้น ตอนแรกจะให้ไปเรียนวิชาปิตาจารย์ แต่เนื่องจากพระคุณเจ้ายอดท่านสนใจเรื่องพระคัมภีร์อยู่แล้ว จึงปรึกษาทางแสงธรรมว่า ให้ไปเรียนด้านพระคัมภีร์ได้หรือไม่ ทางแสงธรรมตกลงจึงส่งพ่อไปเรียนพระคัมภีร์

ในปี 1993-1997 ที่กรุงโรม ในระดับปริญญาโท เมื่อจบแล้วพ่อได้ขออนุญาตพระคุณเจ้ายอดไปสัมผัสประสบการณ์งานอภิบาลที่วัดนักบุญฟิลิป อัครสาวก พาซาเดน่า ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1997 อยู่ที่นั่น 11 เดือน เหตุผลอันหนึ่งที่พ่อมาอยู่ที่วัดแห่งนี้คือ พระคุณเจ้ายอดรู้จักคุณพ่อเจ้าวัดเป็นอย่างดีและท่านเคยส่งพระสงฆ์บางคนไปที่นั่นด้วย อีกทั้งสถานที่ก็มีความเหมาะสม วัดและวิทยาลัยที่พ่อเรียนภาษาอังกฤษอยู่ใกล้กันด้วย

เมื่อกลับจากสหรัฐอเมริกา พ่อสอนที่วิทยาลัยแสงธรรมเลย ในปี 1998-2000 สอนพระคัมภีร์เป็นเวลา 2 ปี จากนั้นจึงตัดสินใจไปเรียนเทววิทยาด้านพระคัมภีร์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2000-2006 การศึกษาของพ่อที่ฝรั่งเศสและที่อิตาลีต่างกันเล็กน้อย ที่อิตาลีเป็นเรื่องการตีควา มพระคัมภีร์ แต่ที่ฝรั่งเศสเป็นเรื่องเทววิทยาด้านพระคัมภีร์ ที่อิตาลีพระคัมภีร์เป็นวิชาที่ค่อนข้างหินเพราะต้องรู้ทั้งภาษากรีก ฮีบรู อาราเมอิก ละติน และภาษาตะวันออกอีกหนึ่งภาษาด้วย พ่อเลือกเรียนภาษาอาหรับเพราะท้าทายดี นอกจากภาษาโบราณดังกล่าวแล้วพ่อยังต้องเลือกภาษาสมัยใหม่นอกจากภาษาอังกฤษและอิตาเลียนอีกสองภาษา พ่อเลือกเรียนภาษาเยอรมันและฝรั่งเศส ส่วนที่ฝรั่งเศสหลักสูตรส่วนใหญ่จะเป็นสัมมนาและงานเขียนมากกว่า เมื่อจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งกรุงปารีสแล้ว พ่อ กลับมาสอนที่วิทยาลัยแสงธรรมอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ปีการศึกษา 2007 ถึงปัจจุบันนี้

ความเชื่อของคริสตชนในประเทศไทยแตกต่างจากความเชื่อของคริสตชนในประเทศสหรัฐอเมริกามากน้อยแค่ไหน

 

ในช่วงเวลาที่พ่ออยู่ที่นั่น เท่าที่ได้สัมผัส พ่อคิดว่าความเชื่อของคริสตชนในสหรัฐอเมริกาเติบโตมากกว่าของคนไทย สัตบุรุษมีความรู้มากกว่า หลายคนเรียนพระคัมภีร์จนถึงระดับด็อกเตอร์และสอนในมหาวิทยาลัยคาทอลิกด้วย ระบบการให้ความรู้เรื่องศาสนาของเขาค่อนข้างก้าวหน้ากว่าของเรา เขามีผู้รู้และสื่อหลายอย่าง

สำหรับประเทศไทยเรื่องของศาสนายังเป็นเรื่องของพระสงฆ์นักบวชมากกว่าสัตบุรุษ แต่เวลานี้สัตบุรุษของเราเ ริ่มตื่นตัวในเรื่องศาสนาและมีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมและสัมมนาเกี่ยวกับหลักคำสอนทางศาสนามากขึ้นด้วย วิทยาลัยแสงธรรมเองได้เปิดโอกาสให้สัตบุรุษเข้ามาศึกษาแล้วตอนนี้ พ่อคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ ไปเรื่อยๆ อีกไม่นานความเชื่อทางศาสนาของคริสตชนในประเทศไทยของเราจะเติบโตเทียบเท่ากับของพวกเขา เหมือนกัน

หน้าที่ในบ้านเณรและสังฆมณฑลอุดรธานี

คงเป็นพระประสงค์ของพระที่ให้พ่อมารับใช้พระองค์ในสถาบันแสงธรรมแห่งนี้ พ่อพยายามทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด แบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้กับนักศึกษา พยายามช่วยเขาให้เข้าถึงพระคัมภีร์ได้ง่ายขึ้น สำหรับพ่อแล้ว พระคัมภีร์เป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าที่ต้องแบ่งปันให้คนที่พ่อรู้จัก ในส่วนงานของสังฆมณฑลพ่อไม่ได้รับหน้าที่อะไรพิเศษ เพียงแต่ได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาสามเณรใหญ่ของสังฆมณฑลในช่วงที่พวกเขาอยู่แสงธรรม เมื่อกลับไปที่สังฆมณฑลพ่อก็ไปช่วยอบรมเรื่องพระคัมภีร์บ้าง งานหลักอยู่ที่แสงธรรม และช่วยดูแลคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์ของสภาพระสังฆราชฯ ด้วย

เหตุการณ์ในวันที่ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 2009 พ่อได้รับจดหมายจากพระสมณทูตซึ่งแจ้งให้ทราบว่าสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ได้ทรงแต่งตั้งพ่อให้เป็นพระสังฆราช องค์ใหม่ของสังฆมณฑลอุดรธานี และให้พ่อติดต่อกลับไปหาพระสมณทูตโดยด่วน เมื่อได้รับจดหมายแล้วพ่อไม่สามารถปรึกษาใครได้ในตอนนั้น เพราะทุกอย่างต้องเก็บไว้เป็นความลับ ตอนบ่ายของวันต่อมาพ่อจึงตัดสินใจติดต่อกลับไปหาพระสมณทู ตเพื่อนัดหมายวันที่จะเข้าพบท่าน ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ่อจึงไปพบท่าน และท่านเองมีวิธีการพูดแบบทูตที่ทำให้พ่อไม่รู้สึกกังวลใจ มากนัก เมื่อท่านถามเกี่ยวกับสิ่งที่แจ้งให้ทราบในจดหมาย พ่อบอกท่านตรงๆ ว่าพ่อไม่พร้อม แต่เมื่อเป็นพระประสงค์ของพระ พ่อก็ยินดีรับตำแหน่งนี้ และเพื่อแสดงความสมัครใจครั้งนี้ ท่านให้พ่อเขียนจดหมายถึงสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ฉบับหนึ่ง จากนั้นท่านและที่ปรึกษาจึงคุยกับพ่อเกี่ยวกับเรื่องวันประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็ได้วันที่ 14 พฤศจิกายน 2009 ดังที่เราทุกคนทราบแล้ว

คติพจน์ของพระคุณเจ้า

“A Cruce Salus” หมายความว่า “ความรอดพ้นมาจากกางเขน” พ่อคิดว่าคติพจน์นี้เป็นสัจธรรมของชีวิต ไม่ใช่ในแง่ศาสนาเท่ านั้น แต่ทางโลกด้วย กางเขนซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความรอดพ้นของเรา สรุปประวัติศาสตร์ ของมนุษยชาติทั้งมวล สำหรับเราคริสตชน พระเยซูเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ทั้งก่อนและหลังพระองค์ต่างมุ่งไปหาพระองค์ เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา ยุคแห่งการพิพากษาก็ผ่านไปและยุคแห่งความรอดพ้นได้เริ่มขึ้น พระเยซูเจ้าได้นำความรอดพ้นมาสู่มวลมนุษย์ผ่านทางกางเขนของพระองค์

สำหรับพ่อแล้ว กางเขนบ่งบอกถึงความรักและปรีชาญาณล้ำเลิศของพระเป็นเจ้า ความสุภาพถ่อมตนจนถึงที่สุดของพระเยซูคริสตเจ้า และความรอดพ้นของมวลมนุษย์ด้วย ด้วยเหตุนี้ พ่อจึงเลือกคติพจน์อันนี้ อนึ่ง ในทางโลกแล้ว เส้นทางแห่งความสำเร็จในชีวิตของเรามนุษย์ก็ไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ แต่ต้องผ่านความทุกข์ยากลำบากและอุปสรรคมากมายด้วยกันทั้งนั้น ถ้ากางเขนเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งเหล่านี้ เราต้องพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับมันเพื่อความสำเร็จของชีวิต

 

                 ความหมายของตราประจำตำแหน่ง

หนังสือพระคัมภีร์ เนื่องจากพ่อเป็นอาจารย์สอนพระคัมภีร์และพระคุ ณเจ้ายอดทำงานพระคัมภีร์อยู่แล้ว พ่อจึงเลือกหนังสือพระคัมภีร์เป็นสัญลักษณ์อันหนึ่งเพื่อเป็นการสานต่องานจากท่านด้วย อนึ่งสำหรับพ่อพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นพระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสด้วยภาษาของมนุษย์เพื่อความรอดพ้นของเรา เป็นสัญลักษณ์ของงานแพร่ธรรมด้วย เพราะพระคัมภีร์เป็นข่าวดีที่ต้องประกาศและแบ่งปันให้กับคนอื่น ในที่นี้พระคัมภีร์ยังหมายถึงหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของคริสตชนทุกคนในเขตสังฆมณฑลอุดรธานีด้วย นั่นคือ การรู้จักพระคริสตเจ้า ทั้งนี้เพราะการไม่รู้จักพระคั มภีร์คือการไม่รู้จักพระคริสตเจ้า (นักบุญเยโรม) ตรงกันข้าม ยิ่งเรารู้จักพระคัมภีร์ เราก็ยิ่งรู้จักพระคริสตเจ้ามากขึ้น แล้วเราก็ยิ่งจะรักและเต็มใจที่จะรับใช้พระองค์มากขึ้นด้วย ยิ่งกว่านั้นหนังสือพระคัมภีร์และลูกแกะปัสการวมกันเป็นสัญลักษณ์หมายถึงพันธกิจสำคัญของประมุขสังฆมณฑลอุดรธานี กล่าวคือ การหล่อเลี้ยงชีวิตฝ่ายจิตของคริสตชนด้วยอาหาร “ทั้งจากโต๊ะพระวาจาและจากโต๊ะพระกายพระคริสตเจ้า” (DV 21)

โล่ หมายถึงการปกป้องคุ้มครอง (สดด 3:3) ความโปรดปราน (สดด 5:12) และความซื่อสัตย์ (สดด 91:4) ของพระเจ้า รวมทั้งความเชื่อของคริสตชน (อฟ 6:16) ในเขตสังฆมณฑลอุดรธานีด้วย

สีทองเป็นสีแห่งศักดิ์ศรีและเกียรติรุ่งโรจน์ เจ็ดแฉกหมายถึงความครบบริบูรณ์ของสัญลักษณ์ดังกล่าว

ดวงดาวสีฟ้า หมายถึงพระนางพรหมจารีมารีย์ ผู้ทรงเป็นแบบฉบับของบรรดาคริสตชน ทั้งในเรื่องความนบนอบต่อพระประสงค์และการดำเนินชีวิตตามพระวาจาของพระเจ้า (ลก 1:38) ยิ่งกว่านั้น ดวงดาวห้าดวง ยังเป็นสัญลักษณ์แทนห้าจังหวัดซึ่งอยู่ในเขตสังฆมณฑลอุดรธานี กล่าวคือ อุดรธานี ขอนแก่น เลย หนองคาย และหนองบัวลำภูอีกด้วย

ลูกแกะปัสกาที่ยืนอยู่ หมายถึงพระเยซูเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพแล้ว พระองค์ทรงเป็นเสมือนลูกแกะที่ถูกฆ่าถวายเป็นเครื่องบูชา (วว 5:6) เพื่อช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้นจากบาปอาศัยพระโลหิตที่ไหลหลั่งบนกางเขนของพระองค์ (วว 7:14) ยิ่งกว่านั้น ลูกแกะปัสกายังเป็นสัญลักษณ์หมายถึงศีลมหาสนิท อันเป็นอาหารเลี้ยงชีวิตฝ่ายจิตของคริสตชนอีกด้วย

ธงสีขาว หมายถึงชัยชนะ ด้ามธงที่เป็นกางเขนสีดำ และรูปกางเขนสีแดงหมายความว่าพระเยซูเจ้าทรงได้รับชัยชนะเหนือความตายและบาปโดยผ่านทางการสิ้นพระชนม์ของพระองค์บนกางเขน

ทัศนคติเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์และความประทับใจในชีวิตสงฆ์

ชีวิตสงฆ์ของพ่อส่วนใหญ่คลุกคลีอยู่กับหนังสือและนักศึกษาเป็ นส่วนใหญ่ งานอภิบาลสัตบุรุษค่อนข้างน้อย บวชมา 19 ปีกว่า อยู่ต่างประเทศ 11 ปี อยู่เมืองไทยมาแค่ 9 ปี และส่วนใหญ่อยู่ที่แสงธรรม ความประทับใจคือการได้รับใช้พระ ในฐานะผู้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับพระวาจาทรงชีวิตแก่คนอื่นและผู้ช่วยเหลือคนอื่นให้เข้าถึงขุมทรัพย์ที่ล้ำค่าหาที่เปรียบมิได้ในพระคัมภีร์ พ่อคิดว่าแค่นี้ก็เป็นเกียรติสูงส่งที่สุดสำหรับพ่อแล้ว

แนวทางการบริหารสังฆมณฑล

ช่วงเวลานี้พ่อยังไม่คิดวางแผนงานอะไรเป็นพิเศษ แต่คิดว่างานแรกหลังจาก รับตำแหน่งแล้วคือการเยี่ยมเยียนสัตบุรุษ คณะนักบวชที่ทำงานในสังฆมณฑล และวัดต่างๆ ส่วนงานอื่นๆ จะสานต่อนโยบายของพระคุณเจ้ายอดไปก่อน จากนั้น พ่ออยากจะทำสมัชชาของสังฆมณฑล สักครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการทบทวนงานในอดีตและวางแผนงานสำหรับอนาคตร่วมกัน
 

จุดแข็งของสังฆมณฑลอุดรธานี หรือจุดเด่นในงานอภิบาลคืออะไร

ณ เวลานี้ พ่อคิดว่าสังฆมณฑลอุดรธานีมีจุดเด่นในงานอภิบาลหลายอย่างเหมือนกัน เรามีคณะนักบวชที่มาช่วยทำงานของพระในดินแดนแห่งนี้หลายคณะไม่ต่างจากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เท่าใดนัก ด้วยเหตุนี้ สัตบุรุษของเราจึงมีโอกาสได้สัมผัสกับพระพรของพระเป็นเจ้าที่หลายหลาก ซึ่งล้วนเป็นผลดีและประโยชน์ แก่ชีวิตฝ่ายจิตของพวกเขา

ยิ่งกว่านั้น นอกจากเราจะมีวัฒนธรรมไทยที่ล้ำค่าแล้ว เรายังมีวัฒนธรรมอีสานซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของเราที่ร่ำรวยด้วยปรัชญาชีวิตไม่ด้อยกว่าวัฒนธรรมอื่นๆ ในโลกนี้ คำสอนหลายอย่างที่เราพบในผญาอีสานคล้ายกันและสอดคล้องกับหลักคำสอนที่เราพบในพระคัมภีร์ของเรา สิ่งนี้ทำให้พ่อมองเห็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีที่พระเป็นเจ้าได้ทรงหว่านไว้ในแผ่นดินอีสานแห่งนี้ และที่สำคัญที่สุดพ่อคิดว่า ความเชื่อที่เข้มแข็งของบรรดาคริสตชนที่ได้รับการปลูกไว้โดยบรรดาธรรมทูตในดินแดนแห่งนี้เป็นต้นทุนที่สำคัญและยิ่งใหญ่สำ หรับพ่อและผู้ร่วมงานทุกคนที่สืบสานต่องานอภิบาลจากพวกท่านเหล่านั้น

พระคุณเจ้าคร่ำหวอดอยู่กับพระคัมภีร์ ปีนี้เป็นปีสุดท้ายของปีพระวาจาของพระศาสนจักรไทย พระคุณเจ้าคิดอย่างไรกับเรื่องราวของการเผยแผ่พระคัมภีร์ในประเทศไทย หรือการพัฒนาเรื่องความรู้ความเข้าใจเรื่องพระคัมภีร์แก่สัตบุรุษ

อันที่จริงในประเทศไทยพระศาสนจักรคาทอลิกของเราใช้ พระคัมภีร์เป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีกรรมซึ่งเป็นการนำพระคัมภีร์มาใช้ในภาคปฏิบัติ เป็นการเข้าใจผิดที่คิดว่าคาทอลิกของเราไม่ได้สนใจพระคัมภีร์เหมือนกับพี่น้องคริสตชนกลุ่มอื่น เพียงแต่วิธีการใช้เราอาจจะแตกต่างจากพวกเขา เท่านั้นเอง

เราได้ยินพระวาจาของพระเจ้าในมิสซาทุกวัน พิธีกรรมทางศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของเราล้วนมีพื้นฐานอยู่ในพระคัมภีร์ ยิ่งกว่านั้น เราถือว่าพระคัมภีร์เป็นพื้นฐานของเทววิทยาทุกสาขา เพียงแต่เราไม่ได้เน้นท่องจำพระคัมภีร์และอาจนำใช้ในชีวิตประจำวันค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับพี่น้องคริสตชนกลุ่มอื่นเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ในปีนี้ซึ่งเป็นปีสุดท้าย พ่อคิดว่า สิ่งที่เราน่าจะทำมากเป็นพิเศษ คือส่งเสริมและปลุกเร้าใจคาทอลิกของพวกเราให้พยายามนำพระคัมภีร์มาเจริญชีวิต ให้เป็นรูปธรรมจริงๆ ไม่ใช่แค่ฟังพระวาจาในวัดแล้วออกจากวัดก็จบไป แ ต่นำสิ่งที่พระสงฆ์อธิบายในวัดในมิสซา มาดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับพระวาจาที่เราได้ฟัง

ส่วนบรรดาพระสงฆ์ นักบวช ที่มีหน้าที่แบ่งปันพระวาจา จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องการเตรียมเทศน์เพื่อสัตบุรุษ จะสามารถเข้าใจพระคัมภีร์ได้ง่ายยิ่งขึ้น อันที่จริงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาพระศาสนจักรของเรารณรงค์ ในเ รื่องนี้มาก พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะให้สัตบุรุษของเราเข้าหาพระคัมภีร์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแปล พระคัมภีร์ฉบับคาทอลิก และในเรื่องการอธิบายต่างๆ ที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเราก็ทำกันมาก แต่ละสังฆมณฑล มีกิจกรรมหลายอย่างเพื่อสัตบุรุษของตนได้เรียนรู้และเข้าใจพระคัมภีร์มากยิ่งขึ้นในปีพระวาจา ถ้าเราทำ สิ่งเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าปีพระวาจาจะผ่านไป พ่อคิดว่า คาทอลิกของเราจะมีความรู้ในพระคัมภีร์มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งรู้พระคัมภีร์มาก ก็ยิ่งจะรักพระและเต็มใจรับใช้พระองค์มากยิ่งขึ้น

พระคุณเจ้ามีความหวังอยากเห็นสังฆมณฑลอุดรธานีเป็นอย่างไรบ้าง

พ่ออยากเห็นสังฆมณฑลอุดรธานีเป็นกลุ่มคริสตชน ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเจ้า มีพระคริสตเจ้า เป็นศู นย์กลางของชีวิต เพื่อจะบรรลุถึงเป้าประสงค์อันนี้ พ่อคิดว่ากลุ่มคริสตชนแห่งนี้ต้องรู้จักพระคริสตเจ้าเสียก่อนและที่พวกเขาจะสามารถเรียนรู้จักพระองค์ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งก็คือในพระคัมภีร์นั่นเอง เมื่อพวกเขารู้จักพระองค์แล้ว พวกเขาจะรักและพร้อมที่จะรับใช้พระองค์และเพื่อนมนุษย์ที่อยู่รอบข้าง นี่คือสังฆมณฑลอุดรธานีในอุดมคติของพ่อ

พระคุณเจ้ามีความปรารถนาจะบอกหรือฝากอะไรถึงพระสงฆ์และสัตบุรุษสังฆมณฑลอุดรธานี

สำหรับบรรดาพระสงฆ์และพี่น้องสัตบุรุษที่รักทุกคน ในฐานะประมุขคนใหม่พ่ออยากจะบอกพวกท่านว่าพ่อไม่สามารถทำงานในสังฆมณฑลของเราโดยลำพัง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพวกท่านทุกคนที่จะต้องให้ความร่วมมือและเป็นหนึ่งเดียวกับพ่อในภารกิจต่างๆ ที่พ่อได้รับมอบหมาย เราต้องเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อพระนามและพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเป็นเ จ้าจะกระจายออกไปให้ทุกคนที่อยู่รอบข้างเราได้รู้จักและสัมผัสความรักของพระองค์ที่มีต่อพวกเขาด้วยเหมือนกัน

ฝากความปรารถนาดี ความรู้สึกถึงพระคุณเจ้า ยอด พิมพิสาร

พ่อในฐานะลูกคนหนึ่งที่ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์จากพระคุณเจ้ายอด พิมพิสาร พ่อรู้สึกประทับใจในความเป็นบิดาของท่านมาก สำหรับพวกเราพระสงฆ์ นักบวชชายหญิงและพี่น้องสัตบุรุษของสังฆมณฑลอุดรธานีทุกคน ท่านเป็นวีรบุรุษและนายชุมพาบาลที่ดีของพวกเรา พวกเรามีความภาคภูมิใจในตัวท่านมาก และแน่นอนท่านจะคงอยู่ในดวงใจของพวกเราตลอดไป

ดอกไม้งามมากมาย บนทุ่งแห่งความเชื่อของชีวิตคริสตช น พระเป็นเจ้าทรงเลือกดอกไม้ธรรมดาๆ ดอกหนึ่งในทุ่งชนบทห่างไกล ค่อยๆ ชุบเลี้ยงให้เป็นดอกไม้ที่ทรงคุณค่า และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ด้วยสายพระเนตรเฉียบคมของพระเป็นเจ้า ดอกไม้ดอกนี้ก็ถูกจัดวางไว้บนตำแหน่งอันสูงศักดิ์ ผู้นำแห่งสังฆมณฑลอุดรธานี พระสังฆราชประมุขผู้ถือไม้เท้าค้ำยันความเชื่อแห่งการเป็นนายชุมพาบาลเพื่อนำฝูงแกะคือสมาชิกทุกคในสังฆมณฑลให้ก้าวหน้าในความศักดิ์สิทธิ์สืบไป

“ความรอดพ้นมาจากกางเขน : A Cruce Salus” คติพจน์ที่พระคุณเจ้าลือชัยเลือกเพื่อตอกย้ำว่าบนกางเขน นั้นมีความสมบูรณ์ชัดเจน เป็นคำตอบของทุกคำถาม เป็นหนทางให้เราก้าวเดิน และติดตามต่อไปเพื่อไปสู่ความรอดนิรันดร ขอบคุณพระเป็นเจ้าที่ได้ให้บทเรียนชีวิตกับเราคริสตชนชาวไทยอีกบทหนึ่ง ด้วยการเลือกเด็กธรรมดาๆ คนหนึ่ง เพื่อก้าวขึ้นสู่บัลลังก์สังฆราชา ถ้าจะถามว่า “พระเป็นเจ้าเลือกใครเหรอ?” พระเป็นเจ้าเลือกผู้ที่เลือกพระองค์ให้เป็นผู้นำทางชีวิต ผู้ที่แสวงหาน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าเสมอๆ ผู้ที่ตระหนักชัดว่าแท้จริงแล้ว ความรอดพ้นมีที่มาจากแหล่งกำเนิดเดียวคือบนเส้นทางกางเขนของพระคริสตเจ้านั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย ( อุดมสาร )

ี                                                                      update วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2010

129/18 ม.1 ถ.นิตโย ต. หมากแข้ง  อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000 โทร. 0- 4224- 1564 - 1712 129/18 ม.1 ถ.นิตโย ต. หมากแข้ง  อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000 โทร. 0- 4224- 1564 - 1712