หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระธรรมนูญ พระสมณกฤษฎีกาและ
คำแถลงแห่งสภาสังคายนา  เล่มที่ 5

บทที่  2
เสรีภาพในการถือศาสนาตามที่พระคัมภีร์เปิดเผยให้เราเข้าใจ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คำแถลงของสภาสังคายนาว่าด้วยเสรีภาพในการถือศาสนาสิทธิ์ของบุคคลและคณะบุคคล
ที่จะมีเสรีภาพทางสังคมและบ้านเมืองในเรื่องศาสนา

เสรีภาพในการถือศาสนาตามที่พระคัมภีร์เปิดเผยให้เราเข้าใจคำสอนเรื่องเสรีภาพในการถือศาสนามีรากเง่าอยู่ในการเปิดเผยของพระเป็นเจ้า

๙. เท่าที่สภาสังคายนาวาติกันแถลงว่ามนุษย์มีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการถือศาสนานั้นก็เพราะยึดถือศักดิ์ศรีของตัวบุคคลเป็นรากฐานของคำแถลงนั้น  และประสบการณ์ในเวลาที่ล่วงแล้วมาก็เผยให้เห็นอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นทุกทีว่า  ศักดิ์ศรีของมนุษย์เรียกร้องต้องการอะไร. ยิ่งกว่านั้นคำสอนเรื่องเสรีภาพนี้มีเรียกร้องต้องการอะไร. ยิ่งกว่านั้นคำสอนเรื่องเสรีภาพนี้มีรากเง่าอยู่ในการเปิดเผยของพระเป็นเจ้า นั้นก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่คริสตชนจะต้องมีความเคารพต่อเสรีภาพนั้นมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะแม้ว่าการเปิดเผยของพระไม่ยืนยันอย่างชัดแจ้งว่ามนุษย์มีสิทธิที่จะได้รับความปลอดพ้นจากการถูกบังคับภายนอกในการถือศาสนา แต่ก็ชี้ให้เห็นศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ทุกแง่ทุกมุมและแสดงว่าพระคริสตเจ้าทรงปฎิบัติอย่างไรต่อเสรีภาพของมนุษย์ เมื่อถึงเวลา มนุษย์ต้องแสดงว่าจะเชื่อพระวจนะของพระเป็นเจ้าหรือไม่ อีกทั้งสอนเราว่า ผู้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์องค์นี้จะต้องดื่มด่ำไปด้วยจิตตารมณ์อย่างไรในกิจการทุกอย่าง.  ทั้งหมดนี้แสดงให้เราเห็นหลักใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของคำสอนในคำแถลงเรื่องเสรีภาพในการถือศาสนา. ก่อนอื่นเสรีภาพในการถือศาสนาในสังคมนั้นกลมกลืนเข้ากับเสรีภาพที่จะแสดงความเชื่อถือคริสตชน.

เสรีภาพในการแสดงความเชื่อ

๑๐.  ข้อสำคัญข้อหนึ่งในคำสอนคาทอลิกซึ่งมีอยู่ในพระวจนะของพระเป็นเจ้าและบรรดาพระปิตาจารย์แห่งพระศาสนจักรสอนอยู่เสมอนั้นมีว่า  ถ้ามนุษย์จะแสดงความเชื่อถึงพระเป็นเจ้าก็ต้องทำด้วยความสมัครใจ เพราะเหตุนี้จึงบังคับผู้ใดให้เข้าศาสนาโดยเขาไม่สมัครใจหาได้ไม่.  แท้ที่จริงการแสดงความเชื่อนั้นมีลักษณะเป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยความสมัครใจ เพราะเหตุว่ามนุษย์ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงไถ่และทรงเรียกให้มาเป็นบุตรบุญธรรมนั้น จะยอมรับนับถือพระเป็นเจ้าที่เผยตัวพระองค์ให้เรารู้จักต่อเมื่อพระบิดาชักจูงเขาให้เข้าไปหา แล้วเขาจึงจะเกิดมีความเชื่อในพระเป็นเจ้าด้วยการคิดหาเหตุผลและโดยความสมัครใจ.  ฉะนั้นการที่มนุษย์งดเว้นไม่ทำการบีบบังคับแต่อย่างหนึ่งอย่างใดในการถือศาสนาจึงนับว่าเป็นสิ่งที่ตรงกับลักษณะโดยเฉพาะของความเชื่ออย่างแท้จริง. โดยนัยเดียวกันหลักเกณฑ์ที่ให้เสรีภาพในการถือศาสนา ย่อมมีส่วนอย่างสำคัญช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มนุษย์อาจถูกชักจูงให้เข้าหมาความเชื่อคริสตชนโดยไม่มีอุปสรรค แล้วอาจจะรับความเชื่อนั้นโดยความสมัครใจและถืออย่างร้อนรนจนตลอดชีวิต.

วิธีปฏิบัติของพระคริสตเจ้าและของอัครธรรมทูต

๑๑.  พระเป็นเจ้าทรงเรียกมนุษย์ให้มารับใช้พระองค์ด้วยจิตใจและด้วยความสัตย์จริง. ถ้าพูดในด้านมโนธรรม  การที่พระเป็นเจ้าทรงเรียกนี้เป็นการผูกมัดเขาแต่ไม่ใช่เป็นการบังคับ. ด้วยว่าพระเป็นเจ้าทรงคำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ซึ่งพระองค์เองทรงสร้างมา  และเขาต้องประพฤติตามความเห็นดีเห็นชอบของตนเองกับต้องใช้เสรีภาพ.

ความจริงเรื่องนี้เห็นได้อย่างเด่นชัดที่สุดในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งในพระองค์นั้นพระเป็นเจ้าทรงสำแดงองค์ให้ปรากฏอย่างแจ่มชัด และทรงแสดงวิถีทางเดินของพระองค์ให้มนุษย์รู้. พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นพระอาจารย์และองค์เจ้านายของเรา (เทียบ ยน. ๑๓:๑๓) ผู้อ่อนหวานและมีพระทัยสุภาพถ่อมองค์ (เทียบ มธ. ๑๑:๒๙)  ทรงเชิญชวนและชักจูงบรรดาสานุศิษย์ให้มาหาพระองค์ด้วยความพากเพียร. จริงอยู่พระองค์ทรงทำอัศจรรย์เพื่อสนับสนุนและยืนยันการประกาศเทศนาของพระองค์  แต่ที่ทำนั้นก็เพื่อปลุกความเชื่อของผุ้ที่ฟังพระองค์ให้เกิดและให้มั่นคงขึ้น  มิใช่เพื่อบีบบังคับเขา.

ยังเป็นความจริงที่ว่าพระองค์ทรงตำหนิคนที่ได้ยินพระองค์แล้วก็ยังไม่เชื่อ  แต่พระองค์ทรงรอไว้ให้พระเป็นเจ้าทรงลงโทษเขาในวันพิพากษา.  เมื่อพระองค์ทรงส่งอัครธรรมทูตไปในโลก  พระองค์ตรัสแก่เขาว่า  “ผู้ที่เชื่อและรับศีลล้างบาปก็จะเอาตัวรอด แต่ผู้ที่ไม่เชื่อ  จะถูกลงโทษ” (มก. ๑๖:๑๖).  แต่เมื่อรับรู้ว่ามีเมล็ดข้าวละมานหว่านปนกับเมล็ดข้าวสาลี  พระองค์ก็ยังคงตรัสสั่งให้ปล่อยต้นข้าวทั้งสองชนิดโตขึ้นจนถึงเวลาเกี่ยวเก็บซึ่งจะมีขึ้นในวันสิ้นพิภพ.

พระองค์ไม่ทรงยอมเป็นพระเมสสิยาห์แบบการเมืองซึ่งมีอำนาจเป็นใหญ่ด้วยการใช้กำลัง  พระองค์ทรงชอบเรียกตัวพระองค์เองว่า “บุตรมนุษย์” ซึ่งเสด็จมา “เพื่อรับใช้และพลีชีวิตเพื่อเป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก” (มก. ๑๐:๔๕).  พระองค์ทรงสำแดงองค์เป็นผู้รับใช้ที่ดีพร้อมของพระเป็นเจ้าผู้ซึ่ง “ไม่หักต้นอ้อที่ชอกช้ำแล้ว  และไม่ดับไส้เทียนที่ยังมีควันอยู่” (มธ. ๑๒:๒๐).

พระองค์ทรงยอมรับนับถืออำนาจและสิทธิของฝ่ายบ้านเมือง  สั่งให้เสียส่วยแก่ซีซาร์  แต่เตือนว่าต้องเคารพสิทธิอันสูงกว่าของพระเป็นเจ้า  “จงคืนของที่เป็นของซีซาร์แก่ซีซาร์ และจงคืนของที่เป็นของพระเป็นเจ้าแต่พระเป็นเจ้า” (มธ. ๒๒:๒๑).

ที่สุดเมื่อทำการไถ่มนุษย์สำเร็จบนกางเขนแล้ว  ซึ่งการไถ่บาปนั้นจะทำให้มนุษย์ได้รับความรอดและเสรีภาพแท้  พระองค์ก็ทรงทำการเปิดเผยของพระองค์ให้เสร็จไปด้วย.  พระองค์ทรงประกาศยืนยันความจริง  แต่ไม่ทรงยอมใช้กำลังบังคับให้ผู้คัดค้านพระองค์ยอมรับเอาความจริงนั้น  เพราะอาณาจักรของพระองค์ไม่ป้องกันด้วยดาบ  แต่หากตั้งขึ้นด้วยการที่มนุษย์ฟังความจริงและประกาศยืนยันถึงความจริงนั้น อาณาจักรของพระองค์แผ่ขยายกว้างออกไปอาศัยความรัก  อาศัยความรักนี้แหละ พระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกยกขึ้นบนกางเขน  ทรงนำมนุษย์ทุกคนให้เข้าหาพระองค์.

เมื่อได้ยินพระวาจาและเห็นพระฉบับแบบของพระคริสตเจ้าแล้ว บรรดาอัครธรรมทูตก็เดินไปในทางอันเดียวกับพระองค์.  ตั้งแต่เวลาเริ่มแรกของพระศาสนจักร บรรดาสานุศิษย์ของพระคริสตเจ้าได้ใช้ความพยายามชักจูงมนุษย์ให้มารับนับถือพระคริสตเจ้าเป็นพระสวามีเจ้า  มิใช่ด้วยการบังคับหรือด้วยความเก่งกล้าสามารถอันไม่คู่ควรกับข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้า  แต่หากด้วยพระอานุภาพแห่งพระวจนะของพระเป็นเจ้า.  เขาประกาศอย่างกล้าหาญให้ทุกคนรู้ถึงแผนการของพระผู้ไถ่ “ผู้ทรงปรารถนาให้มนุษย์ทั้งหลายรอดและมารู้ความจริง” (๑ ทธ. ๒:๔).  แต่ในขณะเดียวกันเขาแสดงความให้เห็นว่า “เราแต่ละคนจะต้องให้การต่อพระเป็นเจ้าสำหรับตัวเราเอง” (รม. ๑๔:๑๒) อย่างไร  เพราะฉะนั้นเราจำต้องประพฤติถือตามมโนธรรมของเราเอง.

เช่นเดียวกับพระคริสตเจ้า บรรดาอัครธรรมทูตพยายามเสมอที่จะประกาศยืนยันถึงความจริงของพระเป็นเจ้า เขามีความองอาจที่จะ “ประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้าอย่างไม่สะทกสะท้าน” (กจ. ๔:๓๑) ต่อหน้าประชาชนและหัวหน้าของประชาชน. ความเชื่ออย่างไม่รู้จักหวั่นไหวบันดาลให้เขาถืออย่างแท้จริงว่าข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าเป็นพลังของพระเป็นเจ้าเพื่อความรอดของผู้ที่มีความเชื่อทุกคน. เพราะเหตุนี้เขาจึงละทิ้งอาวุธของเนื้อหนัง  ทุกชนิดตามแบบฉบับความอ่อนโยนและความเสงี่ยมของพระคริสตเจ้า แล้วประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้าโดยเชื่ออย่างแน่วแน่เต็มที่ว่า  พระวาจานั้นเป็นกลังของพระเป็นเจ้าที่สามารถจะทำลายล้างอำนาจที่ขัดสู้พระองค์กับสามารถที่จะชักจูงมนุษย์ให้มาเชื่อถึงพระคริสตเจ้าและรับใช้พระองค์. เช่นเดียวกับพระอาจารย์ของตน  บรรดาอัครธรรมทูตยอมรับนับถืออำนาจอันชอบธรรมของฝ่ายบ้านเมืองให้ทุกคนอยู่ใต้บังคับผู้ที่มีอำนาจปกครอง… ใครขัดขืนผู้มีอำนาจนั้นก็ขัดขืนระเบียบที่พระเป็นเจ้าทรงวางไว้ (รม. ๑๓:๑-๒)  แต่ในขณะเดียวกัน  บรรดาอัครธรรมทูตไม่กลัวที่จะต่อต้านเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ขัดสู้น้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า “ต้องเชื่อฟังพระเป็นเจ้าดีกว่าที่จะเชื่อฟังมนุษย์” (กจ. ๕:๒๙). มารตีและสัตบุรุษจำนวนนับไม่ถ้วนได้เดินทางนี้ในทุก ๆ สมัยและในทุก ๆ สถานที่.

พระศาสนจักรเดินตามรอยพระคริสตเจ้าและอัครธรรมทูต

๑๒.  ฉะนั้นพึงถือว่าพระศาสนจักรถือตามความจริงในข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้า  เดินไปในทางเดียวกับที่พระคริสตเจ้าและบรรดาอัครธรรมทูตได้เดินมาแล้ว  เมื่อพระศาสนจักรรับรู้ว่าหลักการเรื่องต้องมีเสรีภาพในการถือศาสนานั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับศักดิ์ศรีของมนุษย์และตรงกับพระธรรมที่พระเป็นเจ้าทรงเปิดเผยให้รู้และเมื่อพระศาสนจักรส่งเสริมเสรีภาพดังกล่าว.  อันคำสอนข้อนี้ซึ่งได้รับมาจากพระคริสตเจ้าและบรรดาอัครธรรมทูตนั้น  พระศาสนจักรได้รักษาและถ่ายทอดมาตลอดเวลาทุกยุคสมัย. แม้ว่าในชีวิตแห่งประชากรของพระเป็นเจ้าซึ่งเดินไปในท่ามกลางความผันแปรไม่แน่นอนแห่งประวัติศาสตร์มนุษย์  บางครั้งได้มีการปฏิบัติซึ่งไม่สู้ตรงหรือขัดต่อจิตตารมณ์ของพระวรสารก็ตาม แต่พระศาสนจักรสอนเสมอว่า จะบังคับใครให้มาถือความเชื่อไม่ได้.

ดังนี้ ข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าซึ่งเปรียบเป็นเชื้อแป้ง  ก็ได้ออกฤทธิ์เป็นเวลาช้านานในจิตใจของมนุษย์และได้มีส่วนเป็นอันมากช่วยทำให้มีการยอมรับนับถือศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นตลอดเวลาที่ล่วงแล้วมา  กับยังมีส่วนช่วยทำให้มีการเชื่อตระหนักว่า เกี่ยวกับเรื่องศาสนา บุคคลในสังคมต้องปลอดพ้นจากการบังคับของมนุษย์.

เสรีภาพของพระศาสนจักร

๑๓.  ในบรรดาสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของพระศาสนจักรหรือแม้แต่คุณประโยชน์ของบ้านเมืองในโลกเองและซึ่งเราต้องปกป้องคุ้มครองมิให้สิ่งใดมาแผ้วพานในที่ทั่วไปและเสมอไปนั้น  สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พระศาสนจักรต้องมีเสรีภาพในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ตามที่ต้องการเพื่อเอาใจใส่เรื่องความรอดของมนุษย์ทั้งหลาย. อันเสรีภาพซึ่งพระบุตรแต่องค์เดียวของพระเป็นเจ้าประทานแก่พระศาสนจักรที่พระองค์ทรงไถ่มาด้วยพระโลหิตของพระองค์นั้นเป็นเสรีภาพอันศักดิ์สิทธิ์เป็นเสรีภาพที่เป็นของพระศาสนจักรโดยเฉพาะจนว่าใครคิดทำลายเสรีภาพนั้นก็เท่ากับทำการขัดสู้น้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า.  เสรีภาพของพระศาสนจักรเป็นหลักขั้นมูลฐานในการติดต่อของพระศาสนจักรกับผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่ในบ้านเมืองทั่วไปทุกชั้น.

ในสังคมมนุษย์และเมื่อติดต่อกับผู้มีอำนาจในบ้านเมืองทั่วไป  พระศาสนจักรเรียกร้องขอมีเสรีภาพในฐานะเป็นผู้มีอำนาจทางฝ่ายวิญญาณ  ซึ่งพระคริสตเจ้าทรงตั้งและทรงมอบหมายให้ไปประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทุกรูปทุกนามทั่วพิภพ. พระศาสนจักรยังเรียกร้องขอมีเสรีภาพในฐานะที่ยังเป็นสมาคมมนุษย์ ซึ่งมีสิทธิจะดำรงชีวิตในสังคมของบ้านเมืองตามบทบัญญัติแห่งพระคริสตศาสนา.

ดังนั้นที่ใดมีหลักการว่าต้องมีเสรีภาพทางศาสนา  ซึ่งเสรีภาพนั้นมิใช่ประกาศด้วยวาจาหรือเพียงแต่รับรองโดยกฎหมายเท่านั้น หากยังต้องนำมาปฏิบัติอย่างได้ผลและอย่างจริงใจด้วย ที่นั่นพระศาสนจักรก็อยู่ในฐานะเป็นอิสระอย่างมั่นคง ทั้งโดยสิทธิและโดยพฤตินัย  ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับปฏิบัติภารกิจซึ่งพระศาสนจักรได้รับมาจากพระเป็นเจ้า. เสรีภาพนี้แหละผู้มีอำนาจในพระศาสนจักรเคยรบเร้าเรียกร้องในสังคมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ.  ในเวลาเดียวกันสัตบุรุษของพระคริสตเจ้าก็เช่นเดียวกับมนุษย์อื่น ๆ ทรงไว้ซึ่งสิทธิของพลเมืองที่จะไม่ถูกขัดขวางมิให้เจริญชีวิตตามมโนธรรมของตน. เสรีภาพของพระศาสนจักรประการนี้ต้องได้รับการรับรองในกฎหมายและยอมรับนับถือเป็นสิทธิสำหรับมนุษย์ทุกคนและหมู่คณะทุกคณะ.

หน้าที่ของพระศาสนจักร


๑๔.  เพื่อปฏิบัติตามพระบัญชาของพระคริสตเจ้าผู้ตรัสว่า “ท่านจงสอนชนทุกชาติ” (มธ. ๒๘:๑๙) พระศาสนจักรคาทอลิกต้องใช้ความพยายามโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากเพื่อให้พระวาจาของพระเป็นเจ้ารุดหน้าไปจนสำเร็จและได้รับการยกย่อง (๒ ธส. ๓:๑).

ฉะนั้นพระศาสนจักรจึงรบเร้าวอนพวกลูก ๆ ให้มีการอ้อนวอน ภาวนา เสนอวิงวอน และขอบพระคุณ อุทิศแก่มนุษย์ทั้งหลาย… การทำเช่นนี้ดีและสบพระทัยพระเป็นเจ้าพระผู้ไถ่ของเราผู้ทรงปรารถนาให้มนุษย์ทั้งหลายรอดและมารู้ความจริง” (๑ ทธ. ๒:๑-๔).

แต่เพื่อฝึกฝนมโนธรรม สัตบุรุษของพระคริสตเจ้าจะต้องพิจารณาคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์และแน่นอนของพระศาสนจักรอย่างจริงจัง.  โดยน้ำพระทัยของพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรเป็นผู้สอนความจริง  หน้าที่ของพระศาสนจักรคือเผยและสอนความจริงซึ่งเป็นของพระคริสตเจ้าอย่างถูกต้อง และในขณะเดียวกัน ใช้อำนาจของตนแถลงและยืนยันหลักเกณฑ์แห่งระเบียบศีลธรรมอันสืบเนื่องมาจากธรรมชาติของมนุษย์เอง. นอกจากนั้นคริสตชนเดินไปหาผู้ที่อยู่ข้างนอกอย่างสุขุม และ “โดยพระจิต โดยความรักแท้ โดยคำสัตย์จริง” (๒ คร. ๖:๖-๗) ต้องพยายามแผ่กระจายความสว่างแห่งชีวิตด้วยความมั่นใจและกล้าหาญแบบอัครธรรมทูตจนถึงกับหลั่งโลหิต.

สานุศิษย์มีพันธะสำคัญประการหนึ่งต่อพระคริสตเจ้าผู้เป็นพระอาจารย์ คือพันธะจะต้องรู้ความจริงที่ได้รับจากพระองค์อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเสมอ  หน้าที่จะต้องประกาศความจริงนั้นอย่างซื่อสัตย์และป้องกันอย่าเข้มแข็งโดยไม่ยอมใช้วิธีการใด ๆ ที่ผิดต่อจิตตารมณ์แห่งพระวรสาร แต่ความรักต่อพระคริสตเจ้ายังเร่งรัดเขาให้ปฏิบัติการด้วยความรัก ความฉลาดรอดคอบและความเพียรต่อผู้ที่อยู่ในความลุ่มหลงและไม่รู้จักความเชื่อ. ฉะนั้นเราต้องใคร่ครวญพิจารณาทั้งหน้าที่ต่อพระคริสตเจ้า พระวจนาถผู้ประทานชีวิตซึ่งเราต้องประกาศและต้องใคร่ครวญพิจารณา ทั้งสิทธิของบุคคลมนุษย์กับขนาดแห่งพระหรรษทาน ซึ่งพระเป็นเจ้าได้ประทานแก่มนุษย์ทางพระคริสตเจ้า พระองค์นั้นทรงเชิญมนุษย์ให้มารับความเชื่อและประกาศความเชื่อนั้นด้วยความสมัครใจ.